Play + Learn เล่นเพลินๆ ที่ ‘โรงเรียนเพลินพัฒนา’

เพลินพัฒนา

ทันทีที่เราก้าวเข้าสู่รั้วประตูโรงเรียนเพลินพัฒนา ตึกเรียนกึ่งปูนกึ่งไม้สไตล์โมเดิร์นที่ออกแบบให้เข้ากับต้นไม้น้อยใหญ่แสนจะร่มรื่น คือภาพแรกที่เตะตาของเรา จากนั้น ตะไคร้หอมก็เป็นกลิ่นถัดมาที่แตะจมูกเรา แล้วเสียงและภาพของการจับกลุ่มฟังนิทาน และวิ่งเล่นอย่างร่าเริง ทั้งสงบและวุ่นวาย ก็ทำให้เรารู้สึกได้ชัดเจนว่า เรากำลังก้าวเข้ามาถึงศูนย์กลางของโรงเรียนเพลินพัฒนา ช่วงชั้นอนุบาลแล้วเรียบร้อย…

ถ้าจะให้นิยามจากความรู้สึกแรกที่เราสัมผัสได้ก็คือ เพลินพัฒนา เป็นโรงเรียนที่ให้เด็กๆ สามารถเล่นกับธรรมชาติได้อย่างอิสระ แต่ใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยในทุกรายละเอียดของพื้นที่ อย่างที่ คุณครูน้อย—จันทนา เภกะสุต (หัวหน้าช่วงชั้นอนุบาล เพลินพัฒนา ) บอกกับเราว่า

“ทุกพื้นที่ในโรงเรียนต้องฝึกเด็กให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณค่า”

เปิดภาคเรียน

โรงเรียนเพลินพัฒนาเกิดจากความร่วมมือของกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มด้วยกัน คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู นักวิชาการ นักการศึกษา ตลอดจนกลุ่มธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ต้องการสร้างโรงเรียนในฝัน ด้วยการทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ จึงเริ่มวางแผนและดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2545 ภายใต้การเรียนการสอนในแนวคิดอิทธิบาทสี่คือ ฉันทะ การสร้างความอยาก ความรักที่จะเรียนรู้ให้เด็ก เร้าให้เด็กเกิดความสนใจ ช่างสังเกต และอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง, วิริยะ ความพากเพียรและสนใจใคร่รู้ มาเรียนด้วยใจที่ตัวเองอยากจะเรียน, จิตตะ การเอาใจจดจ่อ เกิดจากการบ่มเพาะความต้องการเรียนรู้จากภายใน, วิมังสา การประมวล ทบทวน และสรุปทุกอย่างที่ได้เรียนมาตลอดปี เพื่อเติบโตขึ้นในระดับชั้นต่อไป

โรงเรียนมีการแบ่งเป็นสี่ภาคเรียน ภาคเรียนละประมาณ 10 สัปดาห์ ซึ่งการเรียน 10 สัปดาห์แล้วหยุดพักเช่นนี้ จะช่วยให้คุณครูมองเห็นพัฒนาการของเด็กได้ เพื่อให้คุณครูได้ทำข้อมูล ปรับเปลี่ยนแผนการสอนให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

เครื่องแบบนักเรียน

เป็นอีกสิ่งแรกที่เราจะได้เห็นบนตัวเด็กน้อยทันทีที่ก้าวเข้ามาในรั้วโรงเรียน ซึ่งในชั้นเตรียมอนุบาลจะเป็นสีแดงชาด เฉดสีโบราณของไทย และยังเป็นสีเดียวกับสีประจำโรงเรียน เพื่อให้ดูสดใส คงความเป็นไทย ส่วนชั้นอนุบาลจะเป็นสีครีม แต่มีปกเป็นสีแดงชาด เพิ่มความสดใส และยังใช้กระดุมเป็นไม้กับเนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อให้เด็กๆ เล่นได้อย่างสบาย และรู้ประโยชน์ของวัสดุธรรมชาติ

ในหนึ่งสัปดาห์ เด็กๆ จะใส่เครื่องแบบนักเรียนสามวัน และชุดพละหนึ่งวัน ส่วนวันศุกร์จะให้นักเรียนได้ใส่ชุดผ้าไทยตามอัธยาศัย

08.00 น.

ทุกเช้า หลังกล่าวสวัสดีและทำความเคารพคุณครูแล้ว สิ่งแรกที่เด็กนักเรียนในช่วงชั้นอนุบาลของโรงเรียนเพลินพัฒนาต้องทำก็คือ การตรวจสุขภาพเบื้องต้นทุกคน ทุกเช้าวันจันทร์ เช่น ตรวจเล็บ วัดไข้ ดูว่ามีใครไม่สบายที่หน้าโรงเรียน และตามด้วย… การกระโดดโลดเต้น ทางวิชาการอาจเรียกการกระโดดโลดเต้นนี้ว่า Sensory Integration หรือ SI การจัดฐานกิจกรรมเคลื่อนไหวทางร่างกายรูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมพัฒนาการ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกวันก่อนเข้าเรียน แต่จะจัดเป็นชุดเล็ก ชุดใหญ่ เต็มรูปแบบ หรือ 10-15 นาที ขึ้นอยู่กับข้อสรุปของคุณครูแต่ละห้องแต่ละระดับชั้น จากการสังเกตพฤติกรรมเด็กในแต่ละสัปดาห์

ดังนั้น ภาพการกระโดดแทรมโพลีน มุดราว ลอดห่วง ทรงตัว ปีนบันได หรือแม้แต่การช่วยเหลือตัวเองอย่างการหนีบผ้า พับถุงเท้า อย่างเบิกบานสนุกสนาน จึงเป็นกิจวัตรที่เด็กทุกคนจะได้ทำจนเป็นปกติ เด็กๆ จึงไม่เพียงมีความสุขที่ได้มาโรงเรียน แต่ยังได้ฝึกทักษะทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และปรับอารมณ์ไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

08.30 น.

“เข้าแถว เข้าแถว อย่าล้ำแนว ยืนเรียงกัน…” เด็กๆ แต่ละห้องทยอยเดินตามคุณครูออกมาเข้าแถวกัน คุณครูน้อยบอกกับเราว่า พลังของการเข้าแถวจะเชื่อมโยงเด็ก ครู และโรงเรียนเข้าด้วยกัน ดังนั้นเมื่อเข้าแถว คุณครูจึงพูดแต่เรื่องดีๆ จากนั้นจึงแยกย้ายกันเข้าวิชาโฮมรูม ไหว้พระ ทำสมาธิ “วันนี้ครูจะมาเล่านิทานเรื่อง…ให้ฟังนะคะ …เด็กๆ ได้อะไรจากนิทานเรื่องนี้บ้างเอ่ย?”

เป็นธรรมดาที่เช้าวันจันทร์ โรงเรียนอนุบาลจะมีเสียงงอแงดังระงม เพราะเด็กๆ ยังติดบรรยากาศของวันเสาร์อาทิตย์ที่ได้หยุดอยู่บ้าน พอมาโรงเรียนก็ยังร้องหาปะป๊า หม่าม้ากันอยู่ คุณครูใน’ เพลินพัฒนา ‘จึงรับมือด้วยการจัดกิจกรรมเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังทุกเช้าวันจันทร์

เพลินพัฒนา

09.00 น.

หน้าห้องเรียนมีชั้นวางรองเท้าที่เป็นระเบียบเรียงตามชื่อของนักเรียนแต่ละคน พื้นไม้ โต๊ะไม้ และบันไดขึ้นเรือนนอนชั้นสองที่ทำจากไม้สีสว่างก็ปรากฏตัวให้เราเห็น มีโต๊ะอาหารริมระเบียงนอกห้อง มีห้องน้ำสำหรับคุณครูและนักเรียนอยู่ในห้องเรียน เพื่อที่เด็กๆ จะได้อยู่ในสายตาของคุณครูตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งเรียนนั่งเล่นอยู่ในบ้านเพื่อนยังไงอย่างนั้นเลย

กระดานหน้าห้องตั้งแต่ระดับอนุบาลหนึ่งจะแปะบัตรคำพร้อมรูปภาพจริงเรื่องของตัวเรา (หัวข้อหลักของเทอมการศึกษาแรก) ไว้ให้เด็กได้เรียนรู้ ตลอดจนบันได นาฬิกา แก้วน้ำ ทุกอย่างจะมีอักษรกำกับไว้ ซึ่งบางครั้งครูก็จะให้เด็กคิดไปถึงคำอื่นๆ ต่อ เพื่อทำกิจกรรมการเรียนทางภาษา แตกหน่อต่อยอดคำ ได้อีกด้วย

โดยภาพที่สัมพันธ์กับอักษร คำ และความหมายเหล่านี้ เด็กๆ จะเกิดการซึมซับ เรียนรู้ และจดจำได้จากการมองเห็นทุกวัน จึงไม่จำเป็นต้องเร่งให้เด็กๆ รีบเรียนรู้ แต่ใช้วิธีการเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียนรู้ตลอดเวลาแทน

วิชาบูรณาการ (ทักษะ 5 ด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา การใช้ชีวิตรวมกับสาระวิชาต่างๆ)

การผนวกเอาทราย ดิน หิน น้ำ นิทาน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ อารมณ์ สังคม และศาสตร์อื่นๆ อีกมากมายมาใส่ไว้ในการเรียน 45 นาที เด็กๆ จะได้รู้จักอารมณ์และสีต่างๆ จากลูกโป่งที่ครูวาด ได้คุ้ยเขี่ยดินหินทราย ฝึกพัฒนาการของกล้ามเนื้อ

คุณครูยังกระซิบบอกเราอีกว่าอุปกรณ์และขั้นตอนการสอนปรับเปลี่ยนได้ตามวิจารณญาณของผู้สอน มีการพลิกแพลงไปได้ทุกสัปดาห์ เรียกว่า เด็กนักเรียนที่นี่มีโอกาสสนุกกันได้ตลอดเวลา และถ้าวันไหนที่เด็กๆ จะมีการเล่นสนุกที่ต้องเลอะเทอะเปรอะเปื้อน คุณครูก็จะแจ้งผู้ปกครองให้เตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนก่อนเสมอ

กิจกรรมดนตรีชีวิต

ดนตรีคือชีวิต ชีวิตคือดนตรี การดึงศาสตร์ทางดนตรีมาเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างสนุกสนานได้ดีมากทั้งยังก่อเกิดศักยภาพอีกหลายช่องทาง สร้างจินตนาการความคิดสร้างสรรค์การทำงานร่วมกันและความมีวินัย

โดยจะเน้นที่เครื่องดนตรี Orff ซึ่งเป็นเครื่องเคาะจังหวะแบบระนาดสามารถเล่นเพลงได้หลากหลาย และเล่นง่าย โดยครูจะถอดเอาโน้ตบางตัวออกให้เหลือแต่โน้ตที่เด็กๆ สามารถเล่นด้วยกันได้และไม่เพี้ยน เด็กๆ ได้ถูกแบ่งหน้าที่บางคนเล่นจังหวะหลัก บางคนเล่นทํานอง หรือหากเด็กเริ่มสนุกอาจเกิดการอิมโพไวซ์หรือด้นสดดนตรีขึ้นเองได้เลย โดยครูนำจุดเด่นของดนตรี Orff  คือ การสามารถนำเอาคำพูด บทกลอน บทเพลง การเคลื่อนไหว มาเชื่อมโยงกับการเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างกลมกลืน ทำให้เด็กๆ มีความเข้าใจและเล่นดนตรีได้อย่างมีความสุข

กิจกรรมศิลปะ

เรียนรู้ความงดงามผ่านงานศิลป์ ผสมผสานกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เด็กๆ ได้หยิบ จับ สัมผัส คิด ลงมือทำทุกขั้นตอน เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นสีที่ผสมผสานกัน จากสีหนึ่งเปลี่ยนเป็นอีกสีหนึ่ง จากของเหลวเป็นของแข็งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ เช่น การสอนปั้นแป้งโด คุณครูจะช่วยเพียงเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม แต่ทุกคนจะได้ลงมือทำไปพร้อมๆ กัน ด้วยตัวเอง

ภาษาอังกฤษ: ESL (English as a Second Language)

ในระดับชั้นอนุบาล จะมีคุณครูชาวฟิลิปปินส์เป็นผู้ดำเนินการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ผ่านการนั่งเป็นวงกลมให้ทุกคนเห็นกันอย่างชัดเจน และมีการละเล่น ร้องเพลง เต้น หรือหยิบบัตรคำขึ้นมาแล้วประกอบเป็นคำ คิดท่าทางประกอบจากคำหนึ่งเชื่อมโยงไปอีกคำหนึ่ง ฝึกทั้งความกล้าแสดงออกและได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน

10.00 น.

ได้เวลาอาหารว่าง ซึ่งมีทั้งกล้วยน้ำว้าและนม หรือสลับกับของว่างอื่นๆ อย่าง ขนมปังทาแยม เป็นต้น แต่จะเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์กับเด็กๆ เป็นสำคัญ และถ้าวันไหนมีการกินขนมปัง เด็กๆ จะได้ฝึกเก็บจานชามหลังจากกินอาหาร แม้ในเทอมแรกเด็กๆ อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยนัก แต่รับรองว่าพอจบเทอมสุดท้าย เด็กๆ จะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างแน่นอน

12.00 น.

ช่วงเวลาของอาหารกลางวัน วัตถุดิบที่ใช้สำหรับประกอบอาหารให้เด็กๆ อาจจะเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ตั้งแต่อาหารสำหรับระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยม แต่วิธีการทำหรือรายละเอียดในแต่ละเมนูจะแตกต่างกันตามความเหมาะสม หลังท้องอิ่มจากอาหารกลางวันแล้ว ก็จะมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะส่งเด็กๆ เข้านอนกลางวัน

14.30 น.

ได้เวลาโบกมือลาก่อนกลับบ้าน เมื่อเด็กน้อยตื่นนอน ก็จะลุกขึ้นมาอาบน้ำล้างหน้าล้างตา เปลี่ยนเสื้อผ้า กินอาหารว่าง สรุปกิจกรรม บางสัปดาห์อาจจะมี ESL (English as a Second Language) หรือกิจกรรมรักการอ่านช่วงบ่าย และเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ จะได้ทบทวนว่าวันนี้ทำอะไรมาบ้าง ตามด้วยกิจกรรมร้องเพลงลา ก่อนที่เด็กๆ จะพากันสะพายกระเป๋าไปนั่งรอผู้ปกครองมายื่นบัตรรับลูกๆ กลับบ้าน

เพลินพัฒนา

กิจกรรมกับผู้ปกครอง

สมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนเป็นไปอย่างแข็งแรงและเหนียวแน่น มีการสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อให้เข้าใจแนวคิดของทางโรงเรียน มีห้องเรียนพ่อแม่ เพื่อให้ผู้ปกครองได้เห็นวิธีการเรียนการสอน ได้เห็นมุมในวงกลม อบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีทิศทางในการเลี้ยงลูกตามแนวทางของโรงเรียน

บางโอกาสและเทศกาล โรงเรียนก็จะให้ผู้ปกครองเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมกับเด็กๆ หรือหากผู้ปกครองท่านใดยินดีเปิดบ้านให้เยี่ยมชม หรือทำกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น ปลูกข้าวหรือปลูกผักออร์แกนิก โรงเรียนก็ยินดีพาเด็กๆ ไปเรียนรู้นอกสถานที่ได้ตามความเหมาะสม

 


 

แนวคิดการเรียนการสอน

โรงเรียนเพลินพัฒนาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความแตกต่างหลากหลายด้วยยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น และมีจิตสำนึกของการร่วมดูแลสังคมไทย สามารถนำการเรียนรู้เข้าสู่ชีวิต และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาไปปฏิบัติได้จริง ทำให้ทุกช่วงเวลาของชีวิตเกิดการเรียนรู้

การเยี่ยมชมโรงเรียน

ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 09.30 น. และเวลา 13.30 น.
**กรุณาติดต่อวันและเวลาเยี่ยมชมโรงเรียนได้ที่ โทร. 02-885 2670-5 ต่อ 111, 222, 540-542

อัตราส่วนนักเรียนต่อคุณครู

แผนกเด็กเล็ก จำนวนห้องเรียนละ 20 คน ต่อคุณครู 3-4 คน
แผนกอนุบาล จำนวนห้องเรียนละ 25 คน ต่อคุณครู 3-4 คน
แผนกประถม จำนวนห้องเรียนละ 30 คน ต่อคุณครู 2 คน

การรับสมัคร

ระดับชั้นเด็กเล็ก อายุ 1 ปี 6 เดือนขึ้นไป
ระดับชั้นเตรียมอนุบาล อายุ 2 ปีขึ้นไป
ระดับชั้นอนุบาล อายุ 3 ปีขึ้นไป
ระดับชั้นประถม อายุ 6 ปีขึ้นไป

การเปิด–ปิดภาคเรียน

1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ภาคเรียน ภาคเรียนละ 10 สัปดาห์

ติดต่อ
เว็บไซต์ www.plearnpattana.com
เฟซบุ๊ก โรงเรียนเพลินพัฒนา
สถานที่ตั้ง 33/39-40 หมู่ 17 ถนนสวนผัก แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทร. 0-2885-2670-5
โทรสาร 0-2885-2670-5 ต่อ 502
E-mail school@plearnpattana.com

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST