READING

8 ความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่อเมริกันที่ไม่ยอมพาลูกไปฉ...

8 ความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่อเมริกันที่ไม่ยอมพาลูกไปฉีดวัคซีน (ซึ่งจริงๆ มันต้องไปนะจ๊ะ)

ในขณะที่พ่อแม่รุ่นใหม่ในประเทศไทยค่อนข้างกระตือรือร้นกับการให้ลูกได้รับวัคซีนป้องกันโรคให้มากที่สุดเท่าที่คุณหมอจะแนะนำ แต่กระแสต่อต้านวัคซีนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นมานับสิบปี ยังคงมีผลให้พ่อแม่ชาวอเมริกันบางกลุ่มยังคงมีทัศนคติเกี่ยวกับการพาลูกไปฉีดวัคซีนที่ไม่ดีนัก

 

“วัคซีนไม่ได้มีปัญหานะ มุมมองของคนต่างหากที่สร้างปัญหา” Dr. Neal Halsey กุมารแพทย์และผู้อำนวยการประจำสถาบันเพื่อความปลอดภัยทางวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในบัลติมอร์ ให้ความเห็นว่า มันเหมือนการที่เราคิดว่าการขับเครื่องบินน่ากลัว ทั้งที่จริงแล้วขับรถยนต์ยังมีโอกาสได้รับอันตรายมากกว่าเสียอีก วัคซีนก็เป็นแบบนั้น มันอาจจะมาพร้อมผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น เป็นไข้ ผื่นคัน ตัวบวม แต่ผลข้างเคียงอย่างการแพ้วัคซีนขั้นรุนแรงจริงๆ นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

 

แต่ถึงอย่างนั้น พ่อแม่หลายคนที่ยังลังเลกับการพาลูกไปฉีดวัคซีน และไม่สบายใจที่จะให้ลูกได้รับวัคซีน หากแพทย์ไม่สามารถชี้แจงข้อสงสัยได้ แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ก็คือ ในบางกรณีแพทย์อาจปฏิเสธที่จะให้การรักษาเด็กที่เป็นโรคที่เกิดจากการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันได้

 

ดังนั้นสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (AAP) จึงแนะนำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีนตามกำหนด

 

แล้วทำไมพ่อแม่ชาวอเมริกันจึงไม่อยากพาลูกไปฉีดวัคซีน มาดู 8 เหตุผลที่ยังคาใจพวกเขากันดีกว่า

1. “ฉีดวัคซีนมากเกินไป จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของลูก”

ความจริง

พ่อแม่ชาวอเมริกันที่เกิดในยุค 70s-80s อาจจะเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพียงแปดโรค ในขณะที่เด็กสองขวบในปัจจุบันต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคถึง 14 โรค ด้วยจำนวนยาและจำนวนเข็มที่มากกว่า ทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นห่วงว่าการได้รับวัคซีนมากเกินไปจะยิ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของมนุษย์

 

ในขณะที่ Mark H. Sawyer ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยแพทย์ California San Diego School of Medicine และโรงพยาบาลเด็ก Rady Children’s Hospital อธิบายเรื่องนี้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อว่า เขายังไม่เคยพบเด็กคนไหนที่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนดแล้วมีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันมาก่อน

 

ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะกังวลไปทำไมล่ะ พ่อจ๋าแม่จ๋า…

2. “ลูกยังเด็กเกินไปและระบบภูมิคุ้มกันก็ยังไม่ดีพอ ถ้าเลื่อนการรับวัคซีนบางตัวออกไป แล้วเลือกฉีดเฉพาะตัวที่สำคัญจะดีกว่า”

ความจริง

ดร. ฮัลซีย์ บอกว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากของพ่อกับแม่ เพราะการเลื่อนเวลาฉีดวัคซีนออกไป จะยิ่งทำให้เด็กอ่อนแอและมีโอกาสติดเชื้อที่รุนแรงอย่างโรคหัดได้เลย

 

นอกจากนี้ ยังไม่เคยมีการพิสูจน์ด้วยว่า การเว้นระยะการฉีดวัคซีนออกไปนั้นมีผลดีกับเด็กมากกว่า แต่ที่แน่ๆ ก็คือบรรดานักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและหลายๆ โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เขาวิจัยและวางแผนกันมาอย่างดีว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนตามตารางนั่นแหละจะช่วยป้องกันโรคได้ดีที่สุด

3. “ในวัคซีนมีส่วนผสมของสารอันตรายอย่างปรอท อะลูมิเนียม
ฟอร์มาลิน และแอนติฟรีซ”

ความจริง

วัคซีนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเติมสารบางอย่างเข้าไป เพื่อรักษาสภาพหรือเร่งปฏิกิริยาของวัคซีน พ่อแม่จึงมักจะเป็นกังวลที่วัคซีนบางตัวมีส่วนผสมของไทเมอโรซาล (Thimerosal) ซึ่งมีสารปรอทเป็นส่วนผสม แม้จะมีงานวิจัยออกมารับรองว่าสารชนิดนี้จะไม่สะสมในร่างกายมนุษย์ แต่เพื่อการป้องกัน จึงมีการเอาสารจำพวกปรอทออกจากวัคซีนสำหรับเด็กไปตั้งแต่ปี 2001 แล้ว

 

ส่วนอะลูมิเนียม ถูกใช้เพื่อเร่งปฏิกิริยาของวัคซีนมาตั้งแต่ปี 1930 แม้จะมีผลข้างเคียงทำให้แพ้หรือมีผื่นคันบ้าง แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงไปกว่าอาการแพ้แป้งหรือนมวัวของเด็กๆ

 

“มันอยู่ในดิน น้ำ อากาศ ถ้าอยากเลี่ยงสารตัวนี้คงต้องออกไปอยู่นอกโลกแล้ว” Ari Brown กุมารแพทย์จากรัฐเท็กซัส บอกไว้อย่างนั้น และฟอร์มาลิน ก็มีไว้เพื่อกำจัดสารปนเปื้อนในวัคซีน แถมปริมาณที่ใช้ก็น้อยกว่าที่ร่างกายคนเราผลิตขึ้นเองด้วยซ้ำ

 

ส่วนแอนติฟรีซนี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะดันมีชื่อทางเคมีคล้ายกับส่วนผสมหนึ่งของวัคซีนเท่านั้นเอง

4. “วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีที่แล้วยังใช้ไม่ได้ผลเลย”

ความจริง

ที่จริงแล้ววัคซีนจะช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 85-95% แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นเรื่องซับซ้อน ทุกปีทีมนักวิจัยจะต้องคาดการณ์ว่าเชื้อโรคสายพันธุ์ใดจะแพร่ระบาดในปีนั้นๆ และการที่วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในปีที่แล้วมีประสิทธิภาพเพียง 23% ก็เป็นเพราะการคาดการณ์สายพันธุ์เชื้อโรคผิดตัว แต่มันก็ดีกว่าการไม่มีอะไรป้องกันเลยไม่ใช่เหรอ

5. “ถ้าวัคซีนปลอดภัยจริง ทำไมถึงต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศาลวัคซีน”

ความจริง

ที่สหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานรัฐที่รู้จักกันในชื่อ Vaccine Court หรือ ‘ศาลวัคซีน’ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อชดเชยและระงับข้อพิพาทให้แก่ผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในระดับร้ายแรงไปจนถึงเสียชีวิต ทำให้พ่อแม่หลายคนยังสงสัยในแนวคิดของ Vaccine Court ว่าเป็นไปเพื่อปกป้องผู้ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนหรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทผลิตวัคซีนกันแน่

6. “วัคซีนผลิตมาเพื่อทำเงินให้กับบริษัทผลิตยาและแพทย์”

ความจริง

แน่นอนว่าบริษัทผลิตยาต้องได้กำไรจากการผลิตวัคซีน แต่วัคซีนหลายตัวของสหรัฐอเมริกาก็มาจากการผลักดันและเงินสนับสนุนของรัฐบาล

 

ส่วนเรื่องรายได้ของแพทย์นั้น Dr. Nathan Boonstra กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลเด็ก Blank Children’s Hospital บอกไว้ว่า นอกจากจะไม่ทำเงินแล้ว บางครั้งยังขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะวัคซีนมีราคาแพงและยุ่งยากเกินกว่าที่หมอจะซื้อเก็บไว้ขายเอง การทำเงินจากการขายวัคซีนจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของหมอแน่นอน

7. “ผลข้างเคียงบางอย่างของวัคซีนร้ายแรงกว่าโรคจริงเสียอีก”

ความจริง

กว่าจะผลิตวัคซีนป้องกันโรคสักอย่างออกมาได้ต้องใช้เวลาวิจัยและพัฒนาอย่างน้อย 10-15 ปี และที่สำคัญคือในสหรัฐอเมริกา วัคซีนแต่ละตัวยังต้องผ่านการรับรองจากหลายองค์กร กว่าจะสามารถนำออกมาใช้งานได้จริง ดังนั้นจึงไม่มีบริษัทไหนจะยอมเสียเงินไปกับการสร้างโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาแทนที่จะสร้างเครื่องป้องกันหรอก

 

ดร. ฮัลซีย์ บอกไว้ว่าโรคร้ายหลายโรคก็มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหรือถึงตายได้ทั้งนั้น แม้แต่โรคอีสุกอีใสที่พ่อแม่หลายคนเข้าใจว่าการดูแลทางโภชนาการที่ดีจะช่วยได้ แต่ความจริง 80% ของเด็กที่เสียชีวิตจากอีสุกอีใสก็เป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง

 

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของวัคซีนอาจทำให้ลูกๆ ป่วยไข้ หรือร้ายแรงสุดก็คืออาจมีอาการลำไส้อุดตันและต้องผ่าตัดได้ก็จริง แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และไม่มีทางที่ผลข้างเคียงของมันจะร้ายแรงไปกว่าโรคจริงๆ เป็นแน่

8. “การบังคับให้ไปฉีดวัคซีน เท่ากับละเมิดสิทธิเสรีภาพ”

ความจริง

แต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายเกี่ยวกับวัคซีนที่แตกต่างกัน แต่ทุกรัฐจะให้สิทธิเสรีภาพกับเด็กที่ไม่ต้องรับวัคซีนเพราะมีโรคประจำตัว เช่น ลูคีเมีย หรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ

 

ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงไม่ใช่การบังคับหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นความหวังดี เพราะรัฐย่อมอยากให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด ดร. ฮัลซีย์ ทิ้งท้ายเอาไว้อย่างนั้น

การต่อต้านวัคซีนของพ่อแม่ในสหรัฐอเมริกา เป็นแนวคิดที่แพร่ระบาดจากคนกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่งไม่แพ้เชื้อโรคระบาดที่พวกเราหวั่นกลัวกันเท่าไหร่นัก แต่ตราบใดที่ยังไม่มีผลงานวิจัยมาพิสูจน์ว่าวัคซีนทำอันตรายกับเด็กๆ มากกว่าการช่วยป้องกันโรคแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรศึกษา ตารางกำหนดการฉีดวัคซีน แล้วพาเด็กๆ ไปรับวัคซีนให้ครบอยู่ดีนะจ๊ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.sparkonit.com
www.parents.com

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST