อาการไอของเด็กน้อย บอกอะไรได้บ้าง

เด็กทารกมีอาการ ‘ไอ’ หลายรูปแบบซึ่งคุณแม่ก็ไม่สามารถถามสาเหตุหรืออาการจากลูกน้อยได้เลย

Dr. Howard Balbi กุมารแพทย์โรคติดต่อในเด็กประจำศูนย์การแพทย์ Nassau County Medical Center อธิบายว่าการไอคืออาการที่ร่างกายปกป้องตัวเอง ด้วยการเคลียร์อากาศให้หลอดลม เอาเสมหะออกจากคอ เอาน้ำมูกออกจากโพรงจมูก หรือกระทั่งเอาอาหารออกจากหลอดอาหาร

 

การไอจะมีสองลักษณะ คือ

ไอแห้ง: ไอแบบไม่มีเสมหะ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเย็นหรือมีอาการแพ้ เพื่อช่วยเคลียร์น้ำมูกที่สะสมในคอหรือการระคายเคืองจากการเจ็บคอ

ไอเปียก: ไอมีเสมหะ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อบริเวณหลอดลม ทำให้มีเสมหะ (ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค) ออกมารวมตัวกันที่ทางเดินหายใจ

Dr. Catherine Dundon ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ รัฐเทนเนสซี บอกว่า “ปกติเด็กอายุต่ำกว่าสี่เดือนจะไม่ค่อยไอ ถ้าพวกเขาไอ แปลว่ากำลังมีปัญหาแล้ว” โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว ถ้าทารกไอหนักผิดปกติ เป็นไปได้ว่าเด็กอาจติดเชื้อ RSV (Respiratory Syncytial Virus) ได้

 

แต่ในเด็กอายุหนึ่งขวบขึ้นไป การไอก็จะไม่ใช่สัญญาณเตือนภัยที่น่าตกใจอีกต่อไป

 

เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาก่อนที่จะวางใจเรื่องอาการไอของลูกน้อยได้ พ่อแม่ควรศึกษาวิธีการสังเกตอาการไอของเด็กเล็กเอาไว้ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าลูกน้อยยังแข็งแรงดี หรือเริ่มมีสัญญาณความเจ็บป่วยเข้าให้แล้ว

ไอเพราะไข้หวัดทั่วไปหรือไข้หวัดใหญ่

อาการไอ: ไอแห้ง

สัญญาณร่วม: คัดจมูก น้ำมูกไหล ระคายคอ เจ็บคอ

และอาจมีอาการ: น้ำมูกไหลต่อเนื่อง มีไข้ต่ำๆ กลางดึก

การรักษาเบื้องต้น: ในกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่าหกเดือน สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกาแนะนำว่านอกจากนมแม่แล้ว แม่ไม่ควรให้ลูกกินอย่างอื่นเพื่อบรรเทาอาการไอทั้งสิ้น แต่สำหรับเด็กอายุหนึ่งขวบขึ้นไป น้ำผึ้งบริสุทธิ์ น้ำเกลือ ก็อาจจะช่วยให้เด็กไอน้อยลงได้

ไอเพราะหายใจลำบาก

เด็กๆ อาจตื่นขึ้นมาไอค่อกแค่กกลางดึก การไอเช่นนี้ในเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบมักมาพร้อมกับอาการไข้หวัด

อาการไอ: ไอแห้ง

สัญญาณร่วม: ได้ยินเสียงติดๆ ขัดๆ ขณะที่ลูกหายใจเข้า

การรักษาเบื้องต้น: เปิดฝักบัวทิ้งไว้ให้เกิดไอน้ำในห้องน้ำ แล้วลองให้ลูกหายใจในห้องที่มีไอน้ำ หรือหายใจในห้องที่มีเครื่องทำความชื้น อาการหายใจลำบากของเด็กควรหายไปภายใน 3-4 วัน ถ้านานเกินกว่านั้น ต้องรีบพาเด็กๆ ไปพบแพทย์แล้วล่ะ

ไอเพราะโรคปอดบวม

อาการไอ: ไอเปียก มีเสมหะ

สัญญาณร่วม: เด็กมีอาการไอต่อเนื่องจนหน้าซีดและเหนื่อยหอบ

การรักษาเบื้องต้น: รีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

ไอเพราะโรคหอบหืด หรือหลอดลมอักเสบ

โดยทั่วไปแพทย์มีความเห็นพ้องกันว่าเด็กอายุต่ำกว่าสองปีไม่ควรเป็นโรคหอบหืด เว้นเสียแต่ว่าครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดมาก่อน ส่วนโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอายุต่ำกว่าหนึ่งปีมักมาจากไวรัส RSV ซึ่งถ้าเกิดในเด็กอายุมากกว่าสามปีมันจะเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ในเด็กทารกก็อาจรุนแรงถึงชีวิตได้

โรคหอบหืดในทารกอาจเริ่มจากการมีอาการหวัด ระคายเคืองตา หรือน้ำตาไหล และยังอาจจะมีอาการหอบจนหน้าอกยุบและโป่งจากการหายใจเข้าออกแต่ละครั้ง ส่วนโรคหลอดลมอักเสบที่มักพบในหน้าหนาวมักมาพร้อมกับอาการมีไข้ต่ำและเบื่ออาหาร

 

อาการไอ: ไอร่วมกับเสียงหายใจดังฟืดฟาด

การรักษาเบื้องต้น: สังเกตอัตราการหายใจของลูก หากถี่กว่า 50 ครั้ง/นาที ให้รีบพาไปโรงพยาบาลได้เลย

ไอเพราะโรคไอกรน

โรคไอกรนเคยเป็นโรคที่ทำให้ทารกเสียชีวิตได้ จนกระทั่งวัคซีน DTP ถูกนำมาใช้ โรคนี้ก็ค่อยๆ ถูกกำจัดออกไป ทว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โรคไอกรนก็กลับมาและรุนแรงกว่าเดิม

 

อาการไอ: ไอเสียงดังและไอติดต่อกัน

สัญญาณร่วม: บ่อยครั้งที่อาการไอนี้จะมาพร้อมกับตาเหลือก หน้าซีด หรือไอจนลิ้นออกมานอกปาก

การรักษาเบื้องต้น: โรคนี้ป้องกันง่ายกว่าด้วยการให้ทารกได้รับวัคซีนป้องกันตามที่แพทย์แนะนำ แต่ถ้าไม่ทัน และคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีโอกาสจะเป็นโรคไอกรนก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

ไอเพราะสิ่งแปลกปลอม

สาเหตุของการไอและสำลักในเด็ก ที่พบบ่อยที่สุดก็คืออาหารหรือของเล่นชิ้นเล็กๆ นี่แหละ เพราะฉะนั้นถ้าลูกอ้าปากค้างหรือไอขณะกินอาหาร หรือเล่นของเล่น คุณแม่ต้องรีบมองหาตัวการในปากของลูกก่อนเป็นอันดับแรก

 

อาการไอ: ไอเบาๆ แต่ไอไม่หยุด หรืออ้าปากค้าง

สัญญาณร่วม: เมื่อลูกเริ่มไอ และไอติดต่อกัน จนหายใจลำบากโดยไม่มีทีท่าว่าจะป่วยไข้มาก่อน เป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในหลอดลม

การรักษาเบื้องต้น: ให้ใช้วิธี ‘ตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับกระแทกหน้าอก 5 ครั้ง’ (Five Back Blow and Five Chest Thrust) ตามวิธีการในคลิป

การไอแบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์
• การไอของเด็กอายุต่ำกว่าสี่เดือน
• ไอแห้งๆ ร่วมกับอาการหวัด (มีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้) มากกว่า 5-7 วัน
• ไอและมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
• ไอและหายใจฟืดฟาด
• ไอเป็นชุดต่อเนื่อง

 

และต้องรีบพบแพทย์โดยด่วยเมื่อ

• ลูกหายใจลำบากแบบถี่ๆ หรือหายใจเหมือนเสียงคำราม
• จับสัญญาณการหายใจของลูกไม่ได้
• หน้าเขียว
• ช่องท้องยุบและพองอย่างรวดเร็ว

 

*หมายเหตุ ทุกคำแนะนำข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน ทางที่ดีหากสังเกตว่าลูกมีอาการไอผิดปกติก็ควรปรึกษาแพทย์จะปลอดภัยที่สุดจ้ะ

.

.

.

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.parents.com
เฟซบุ๊ก: ใกล้ชิดมิตรหมอ


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST