READING

25 ปี ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับเทคนิคการสร้างนิทานของ ‘...

25 ปี ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับเทคนิคการสร้างนิทานของ ‘ชีวัน วิสาสะ’

“มีห่านตัวหนึ่ง หน้าบึ้งหน้าบูด
ไม่เอ่ยปากพูด หน้าบูดทั้งวัน
แต่ห่านตัวนั้น ส่งเสียงเป็นเพลง
อีเล้งเค้งโค้ง”

25 ปีก่อน ห่าน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ของ ชีวัน วิสาสะ ตัวนี้ถือกำเนิดในกิจกรรมเวิร์กช็อปของ แอร์นส์ เอ. เอ็กเคอร์—นักเขียนและนักจัดรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กชาวออสเตรีย ผู้นำกระบวนการสร้างเรื่องราวที่เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์และความรู้สึกเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงาน มาแบ่งปันให้กับนักเขียนชาวไทย

วิธีการคือ แอร์นส์ให้ผู้ร่วมเวิร์กช็อปมองภาพหนึ่งภาพ เพื่อสร้างความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาพ แล้วเขียนเรื่องใหม่ออกมาจากความรู้สึกนั้น

หลังการเวิร์กช็อปเสร็จสิ้น มีผลงานนิทานหลายชิ้นที่ได้รับการตีพิมพ์เพื่อวางขายในเวลาต่อมา แต่ที่ยังอยู่ยั่งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการตีพิมพ์มาแล้วกว่า 21 ครั้ง เห็นว่าจะหลงเหลืออยู่เพียงแค่เรื่องราวของเจ้าห่านหน้าบูดอารมณ์บ่จอยตัวนี้เท่านั้นเอง

ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ เดินทางมาอย่างเงียบๆ แต่กลับยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ปกครอง คุณครู และเด็กๆ หลายยุคสมัย จนแตกกิ่งก้านสาขาไปเป็นทูตการท่องเที่ยวของจังหวัดอยุธยา เป็นตัวแทนสอนการใช้เกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดยโสธร หรือย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวตอนตัวมันเองยังเป็นห่านน้อย ทั้งหมดกลายเป็นหนึ่งในหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่ได้รับการพิมพ์ซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง

 

วันนี้เราขอบุกห้องทำงานที่จังหวัดนครปฐมของ ‘ครูชีวัน’ ผู้เขียนและผู้สร้างชีวิตให้อีเล้งเค้งโค้งกลายเป็นที่รู้จักของเด็กๆ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

ครูหลงรักงานอ่าน เขียน วาด มานานแค่ไหน ก่อนจะมี ‘อีเล้งเค้งโค้ง’

ตั้งแต่จำความได้เลยนะ พ่อของครูเป็นครูมัธยม และเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องอย่าง รามเกียรติ์ สังข์ทอง พระอภัยมณี ตำนานพระปฐมเจดีย์ ได้ฟังตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนเลย แล้วเราก็ชอบขีดๆ เขียนๆ มาตลอด พ่อก็ตั้งแผ่นกระดานไม้อัดไว้ให้ดูอักษร ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก อ่านให้ฟัง ชี้ให้ดู สมัยนั้นธรรมชาติยังเยอะ เราก็รู้ว่าตัวไหนเป็นไก่ ตัวไหนเป็นกา มันได้เรียนรู้ ได้ออกเสียง ได้จดจำ ครบกระบวนการตามธรรมชาติด้วยตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็มีวาดภาพตามเศษกระดาษ ตามประตูห้องนอน ยิ่งกว่านั้นคือตอน ป.2 จำได้เลยว่าคุณย่าให้เราอ่าน ‘กฎแห่งกรรม’ ของ ท.เลียงพิบูลย์ ให้ฟังก่อนนอน นี่คือสิ่งที่หล่อหลอมเรามา

แปลว่าก่อน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ จะมา ครูก็อยู่ในวงการขีดๆ เขียนๆ มาตลอด

จริงๆ เป็นครูสอนศิลปะเด็กวัยรุ่นมาก่อน แต่ก็มีไปช่วยทำรายการ สโมสรผึ้งน้อย ทำค่าย ทำสโมสรศิลปะสำหรับเด็กบ้าง จนปี 2531 สมัยนั้นนิทานเล่มละ 12 บาท ก็ลองไปส่งต้นฉบับในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติดู สมัยนั้นจะจัดที่ริมคลองถนนลูกหลวง กระทรวงศึกษาธิการ หอประชุมคุรุสภา เขาจะมีตลาดนัดต้นฉบับ ตลาดนัดนักเขียน มีเจ้าของสำนักพิมพ์ กองบรรณาธิการมาตั้งโต๊ะ มีตารางว่าวันไหนนวนิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ เราก็ดูวันที่เป็นนิทานสำหรับเด็ก ขายต้นฉบับให้ ‘ธีรสาส์น พับลิชเชอร์’ ไป 2 เล่ม ได้มาเล่มละ 1,700 บาท จากนั้นก็วาดมาเรื่อยๆ จนได้มาเป็นกองบรรณาธิการของ ‘สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก’ ช่วงปี 2536

เราต้องทำงานเพื่อสื่อสารกับเด็กให้ได้
มันทำให้เราได้ทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าในขณะที่เราพูด
เราจะใช้คำพูดแค่ไหนที่เด็กเข้าใจได้

เริ่มมาสายงานเด็ก แปลว่าชื่นชอบตรงที่…

มันพอดี มันลงตัวกับการที่เรามีเรื่องอยากจะเล่า แต่ไม่สามารถเล่าแบบยืดเยื้อได้ หนังสือภาพสำหรับเด็กมันเลยเป็นสื่อที่รองรับความคิดเราได้ และมันต้องใช้ประสบการณ์หลายอย่างของเรา อ่านแล้วต้องสังเกต วิเคราะห์อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือไทย ต่างประเทศ เราต้องทำงานเพื่อสื่อสารกับเด็กให้ได้ มันทำให้เราได้ทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าในขณะที่เราพูด เราจะใช้คำพูดแค่ไหนที่เด็กเข้าใจได้ ต่างจากการสื่อสารกับผู้ใหญ่ที่แค่กลั่นกรองเนื้อหา ไม่ต้องกลั่นกรองระดับของถ้อยคำ เช่น เด็กอาจจะไม่เข้าใจว่า ทาน กับ กิน เวลาพูดแล้วมีความหมายเดียวกันนะ เพราะ ทาน ที่จริงแล้วหมายถึง การให้ทานด้วย ภาษาที่ถูกต้องจึงควรเป็น รับประทาน

การเขียนนิทานให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจ มันจึงมีรายละเอียดให้เราได้ใช้ความคิดตลอด

แล้วเทคนิคการสร้างนิทานของครูคืออะไร

ตัวละครถูกใจเด็ก แต่ผู้ใหญ่อาจจะงง มีบางอย่างให้คิด ใช้มิติสัมพันธ์บ้าง หรือให้เด็กเห็นภาพที่เขารู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่สัตว์ชนิดนี้แน่นอน แต่ว่าจะเป็นอะไรล่ะ ให้เดา ให้คิด ให้ทาย มีอารมณ์ของตัวละคร และการสื่อสารโต้ตอบ ให้ดูความรู้สึกของตัวละครและเรียนรู้ โดยเว้นพื้นที่ว่างเพื่อให้พ่อแม่และเด็กคิดคำตอบเอาเอง ไม่ไปตอกย้ำ พวกเขาจะได้คิดมากขึ้น ได้ใช้เวลากับตัวเองและคนที่อ่านนิทานให้ฟัง ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเล่าตั้งแต่ต้นจนจบแต่มีช่องว่างให้เด็กได้คิด ได้มีส่วนร่วมกับหนังสือและคนเล่า

ถ้าอย่างนั้น ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ มายังไง และทำไมต้องเป็นห่าน?

ภาพต้นฉบับที่ครูได้มาจากกิจกรรมตอน ปี 2534 เนี่ย มันน่าจะเป็นนกเพลิแคน นั่งอยู่ริมทะเล แล้วก็มีปลาทำน้ำกระเซ็นมาใส่มัน ซึ่งทั้งภาพมันดูอึกทึก หนวกหู เอะอะ ไม่มีความสุข แล้วครูก็เลยนึกถึงห่าน ที่เป็นสัตว์ไทยๆ หน่อย โจทย์คือเราต้องสร้างตัวละครที่ผนวกเอาความรู้สึกนี้เข้าไป นี่คือจุดเริ่มต้นว่าเวลาจะเขียนอะไรต้องเริ่มจากความรู้สึกก่อน แล้วที่เหลือมันจะตามมาเป็นลำดับขั้นตอน

และแล้ว ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ก็ถือกำเนิดขึ้น

ครูก็คิดถ้อยคำ เพื่อจับเอาความรู้สึกว่า มันจะส่งเสียงเป็นเพลงทุกครั้งที่แสดงความรู้สึก อาจจะเป็นเพราะเราชอบฟังเพลง ไม่ว่าความรู้สึกดี ร้าย บวก หรือลบ สุดท้ายมันก็จะ ‘ส่งเสียงเป็นเพลง…’ อยู่ดี ซึ่งพอรวมกับประสบการณ์ส่วนตัวช่วงวัยรุ่น ต้องมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วไม่ประทับใจ เลยเป็นที่มาของอารมณ์ของตัวละครที่ต้องเดินทาง แต่สุดท้ายก็กลับบ้านดีกว่า เด็กก็จะสนุก ได้เรียนรู้อารมณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละหน้าของ ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ไปด้วย

เป็น ‘อีเค้งโล้งเล้ง’ ได้ไหม? ทำไมต้อง ‘อีเล้งเค้งโค้ง’

(หัวเราะ) มันมาจากคำว่าอีโล้งโช้งเช้ง เป็นความอึกทึก ตะหลิวกระทะก๊องแก๊งกันในครัว แต่เอามาประกอบเป็นคำใหม่ เพราะคนไทยเวลาพูดมักจะยานคาง ทอดเสียง มันคงสบายปากกว่า แต่ ‘อีโล้งโช้งเช้ง’ มันไม่สัมพันธ์กับประโยคก่อนหน้าที่ว่า ‘ส่งเสียงเป็นเพลง’ ก็เลยปรับคำให้มาเป็นสัมผัสใกล้กันหน่อย เป็น ‘ส่งเสียงเป็นเพลง อีเล้งเค้งโค้ง’

ส่งเสียงเป็นเพลงไปๆ มาๆ แล้วเริ่มเข้าไปมีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ยังไง

ก็มันเดินทางแล้วประสบความสำเร็จไง เราก็ไม่อยากทิ้งมันไปดื้อๆ ก็ต้องสร้างเรื่องใหม่ให้ พอมีคาแรกเตอร์แล้วว่าเป็นห่านที่ชอบเดินทาง เด็กก็จะจดจำ ว่าอ่านหนังสือคือการใฝ่รู้ใฝ่เรียน แล้วพออยากจะทำอะไร หรือมีคำถามก็มาค้นคว้า มาอ่านหนังสือ และไปท่องเที่ยว เพื่อเรียนรู้ว่าที่ไหนมีอะไร ส่วนความสนุก มันคือปฏิกิริยาที่ต้องมีในหนังสือเด็ก แต่ไม่ใช่ปลายทาง เราจึงเอาสาระสิ่งที่น่าสนใจมาเป็นตัวนำ แล้วสนุกเพราะเหตุการณ์บางอย่างหรือกลวิธีในการนำเสนอ ทั้งภาพและคำที่ซ่อนอยู่ในนั้น มันต้องสมดุลกัน ไม่ใช่การยัดเยียดความสนุกด้วยถ้อยคำตลกๆ อย่างเดียว

คิดว่ายี่สิบกว่าปีมานี้ ทำไมผู้ใหญ่ยังเลือก ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ให้เด็กๆ

การที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามีความขัดแย้งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับเด็ก คือพ่อแม่อาจจะยังคลุมเครือ เพราะเขาโตแล้วอาจจะลืมความเป็นเด็ก แต่เด็กสัมผัสได้ เชื่อมกับมันได้ เช่น พออ่าน “มีห่านตัวหนึ่ง หน้าบึ้งหน้าบูด” ความเป็นจังหวะจะโคนของถ้อยคำ ความคล้องจองของภาษาไทย เด็กจะซึมซับ จดจำ ทบทวนในสิ่งที่ตัวเองฟังไปได้ดี ทำให้เกิดความภูมิใจ ความมั่นใจ แล้วพออ่านได้ พ่อแม่ชมว่าเก่งจังก็ยิ่งชอบกันไปใหญ่ ก็ตามซื้อเล่มอื่นๆ ต่อให้ลูก ตามวัยที่เขาเติบโตขึ้น

แล้วเด็กล่ะ ถูกใจห่านตัวนี้ตรงไหนอีก

เรื่องเสียงสูงต่ำ ความมีจังหวะจะโคนของภาษาที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานไง เพราะลองนึกถึงความเป็นเด็กนะ ตอนเด็กๆ การได้ปลดปล่อย ได้พูดอะไรที่มันไม่มีความหมาย โวยวายหรือส่งเสียงเปล่งเสียงไปสารพัด มันคือธรรมชาติของมนุษย์ อีเล้งเค้งโค้งเลยช่วยเรื่อง input และ output ตามธรรมชาติของเด็กได้เลยนะ ถ้าเขาไม่รู้จะตะโกนอะไร ก็… อีเล้งเค้งโค้ง!!! ได้เลย

เด็กต้องการเรียนรู้เรื่องชีวิต
ซึ่งชีวิตมันมีอะไรมากกว่าการบอกว่านี่คืออะไร นั่นคืออะไร
แต่ชีวิตต้องการเรียนรู้ว่าชีวิตดำเนินไปอย่างไร
เราจึงต้องเล่าเรื่องออกมา

อันนี้อาจจะเป็นความสำคัญของนิทานที่มากกว่าที่เราเคยรู้ใช่ไหม

จริงๆ นิทานเป็นหนึ่งในหลายๆ อย่างเท่านั้นที่เด็กจะต้องการจากผู้ใหญ่ เพราะจริงๆ แล้ว เด็กต้องการฟังเสียง ต้องการฟังเรื่องราวจากผู้ใหญ่ เพื่อที่จะสื่อเป็นภาษา แต่ถ้าพูดหรือสอนกันตรงๆ มันก็จะกลายเป็นเรื่องไม่น่าสนใจ เพราะเด็กต้องการเรียนรู้เรื่องชีวิต ซึ่งชีวิตมันมีอะไรมากกว่าการบอกว่านี่คืออะไร นั่นคืออะไร แต่ชีวิตต้องการเรียนรู้ว่าชีวิตดำเนินไปอย่างไร มีการเคลื่อนที่ของชีวิตอย่างไร เราจึงต้องเล่าเรื่องออกมา แล้วถ้ามันสนุก เมื่อเขาโตขึ้นพอที่จะสามารถสกัดความไม่จริงออกไปได้ สุดท้ายแก่นที่เราต้องการสื่อสารก็จะตกผลึกอยู่

เพราะอย่างนี้จึงเป็นความ timeless ของนิทานหรือเปล่า

นิทานเรื่องที่ดี มันจะอยู่ได้นาน แต่มันก็ต้องมีเงื่อนไข ความเหมาะสมลงตัว ความประทับใจที่น่าจดจำ และเล่าต่อให้เด็กฟังได้ง่าย ขึ้นอยู่กับคนในแต่ละยุคสมัยด้วยว่ายังพยายามที่จะเล่าเรื่องแบบนี้อยู่ไหม อย่างต่างประเทศ นิทานอีสป นิทานกริมม์กับแอนเดอร์สัน มันก็ถูกเล่าผ่านสื่อ ปากต่อปากจนอยู่เหนือกาลเวลา เช่น ลูกหมูสามตัว หนูน้อยหมวกแดง แต่ที่สำคัญ การคัดสรรที่แข็งแรงก็จะทำให้มีนิทานประเภทที่ timeless ได้ เพราะคนจะส่งต่อจากรุ่นต่อรุ่น สำนักพิมพ์เห็นคุณค่าของหนังสือทั้งแง่วรรณกรรมและธุรกิจก็จะพิมพ์ซ้ำออกมาเรื่อยๆ มันเป็นวิธีคิดของคนที่เข้ามาดูแล ไม่ใช่ timeless ตามธรรมชาติ

ครู ‘ชีวัน วิสาสะ’ กับ ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ วางแผนอะไรไว้ให้เด็กๆ อีกบ้าง

ตอนนี้ที่พยายามทำทุกเดือนคือโครงการนิทานเดินทาง นำหนังสือนิทานภาพที่มีอยู่หรือจากเพื่อนฝูง ไปเล่านิทานตามโรงเรียนและโรงพยาบาล จริงๆ ก็อยากทำร่วมกับองค์กรใหญ่ แต่เขาก็เงียบ เราก็ทำเองต่อไป คือไปอธิบาย แนะนำให้พยาบาลประจำตึก เพราะเราคัดสรรหนังสือที่ไม่ใช่ตลาดทั่วไป ให้ความรู้แนะนำ เอาหนังสือไปเยี่ยมเด็กที่นอนติดเตียง อ่านให้เขาฟัง เพราะพ่อแม่เวลาไปเฝ้าไข้ลูกกว่า 90% ไม่ได้หยิบหนังสือไปอ่านให้ลูก ครูก็เอา ‘ดึ๋งๆ’ (ชื่อนิทาน) ไปอ่านให้เด็กฟัง เขาก็มีปฏิกิริยา ให้ความสนใจ ขยับตามหนังสือเรา ไม่ว่าจะออทิสติก แอลดี ดาวน์ซินโดรมเขาก็สนใจหนังสือกันหมดนะ

 

หลังการพูดคุยจบลง ยังมีอีกโครงการที่ครูชีวันอยากทำเพื่อเด็กๆ ก็คือการกระจายหนังสือนิทานออกไปให้ได้มากๆ เช่น การขายสี่เล่มราคาไม่เกิน 100 บาท เพราะแม้ปัจจุบันผู้ใหญ่จะให้ความสำคัญกับการอ่านของเด็กๆ มากขึ้น จนตลาดนิทานเด็กขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ครูชีวันก็ยังอยากพานิทานของตัวเองให้เข้าถึงเด็กๆ ให้มากขึ้นไปอีก


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST