READING

Baby, you changed my life: ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ...

Baby, you changed my life: ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต คุณแม่มือใหม่ 3 คน 3 อาชีพ

…………คุยกับคุณแม่มือใหม่ 3 คน 3 อาชีพ กับเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะเปลี่ยนจาก Working Women มาเป็น Working Mom กับหน้าที่การงานอันแสนโลดโผนโจนทะยาน คุณแม่ทั้งสามจะจัดการบาลานซ์วิถีและวิธีการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างไร

1. โอ่ง—ชลาทิพ จันทร์ชมภู คุณแม่ของน้องออก้า อายุ 1 ขวบ 2 เดือน
อาชีพ: นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“แอบเสียใจตรงที่เราไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับเขา
ไม่ได้เห็นพัฒนาการของเขา
แต่ด้วยภาระหน้าที่ ลักษณะงานของเรา
มันก็จำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตแบบนี้”

“งานของเราคือการศึกษาชีววิทยา ชนิด ความหลากหลาย พฤติกรรมของโลมา วาฬ และกลุ่มเต่าทะเล ลักษณะอาชีพจริงๆ ก็ถือว่าไม่เสี่ยงมาก แต่จะมีบางช่วงของงาน เช่น ต้องออกเรือสำรวจทะเลทั้งวัน ออกจากชายฝั่งประมาณสิบกิโลเมตรไป-กลับทุกวัน ต้องชันสูตรซากสัตว์เพื่อหาสาเหตุการตาย และก็จะมีเคสโลมาป่วย วาฬเกยตื้น ซึ่งสองอย่างนี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อบางอย่างส่งต่อถึงคนได้ เลยต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพราะตอนทำงานแรกๆ ก็เคยติดเชื้อจนต้องเข้าโรงพยาบาล

แต่ความโชคดีคือปกติจะมีสัตวแพทย์มารับผิดชอบงานส่วนนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นบางส่วนของงาน พอท้องก็งดเว้นไปได้ค่ะ”

คุณแม่มือใหม่กับการออกทะเล

1-2 เดือนแรก เราก็ดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ระมัดระวังเรื่องการเดินทาง พยายามเดินทางไม่เยอะ เพราะกังวลด้วยว่าเป็นท้องแรก ไม่อยากจะพลาด ก็งดเดินทางที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง งดสัมผัสซากหรือว่าเข้าตรวจดูสัตว์ต่างๆ แต่งานอื่นๆ ก็ทำได้ปกติ ไปออกเรือ สำรวจ ทำงานภาคสนามได้จนอายุครรภ์ประมาณห้าเดือนหลังจากนั้นก็เริ่มอยู่ประจำที่ออฟฟิศ

จะลุยแค่ไหนก็ต้องมีเรื่องที่ระวังเป็นพิเศษ

ที่ต้องระมัดระวังคือต้องไม่ซุ่มซ่าม อย่าทำอะไรเกินตัว เดินเหินบนเรือที่พื้นลื่น หรือปีนป่ายก็ต้องระวัง แต่ในทางบวก ก็ถือว่าเราได้ออกกำลังกาย เพราะยิ่งเคลื่อนไหวมาก ก็ยิ่งแข็งแรง แล้วเราก็เล่นโยคะด้วย เพราะคิดว่าน่าจะช่วยให้ร่างกายพร้อมสำหรับการคลอดเองตามธรรมชาติ คุณหมอก็ไม่ได้จำกัดหรือห้ามการใช้ชีวิต แค่แนะนำให้ดูแลตัวเอง กินยาบำรุงตามปกติ

ชีวิตหลังคลอด

ลาคลอดได้สามเดือน ไปพักฟื้นที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ที่จังหวัดนครราชสีมา ช่วงสามเดือนแรกให้นมลูกเองตลอด ทำตามทฤษฎีทุกอย่าง ให้นมอย่างเดียว ไม่มีน้ำ ไม่มีอย่างอื่นผสม แล้วก็เริ่มทำสต็อกนมตั้งแต่ช่วงเดือนที่สอง เพราะรู้ว่าต่อไปเราต้องฝากลูกไว้กับตายาย ก็พยายามปั๊มนมให้ได้มากที่สุด

ถึงเวลาที่ต้องกลับไปทำงาน

วันแรก โอ้โห… ต้องรอให้ลูกหลับก่อน แล้วค่อยลาพ่อแม่ออกมา พอขับรถออกจากบ้านก็ร้องไห้ ช่วงที่ต้องอยู่คนเดียวมันก็มีเหงา มีร้องไห้ แต่เราก็มีความมั่นใจว่าลูกอยู่กับตายายเป็นครอบครัว ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องผ่านช่วงเวลาที่ไกลกัน ไม่ได้เจอกันไปให้ได้ แต่ก็แอบเสียใจตรงที่เราไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับเขา ไม่ได้เห็นพัฒนาการของเขา แต่ด้วยภาระหน้าที่ ลักษณะงานของเรา มันก็จำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตแบบนี้

ภารกิจให้นมแม่แบบไม่แคร์ระยะทาง

พอกลับมาก็ทำงานภาคสนาม ออกเรือสำรวจทะเลเหมือนเดิม แล้วก็พยายามวางแผนปั๊มนมให้เป็นเวลา เพราะทุกเย็นวันศุกร์สามีจะมารับและเอานมที่ปั๊มไว้ไปส่งให้ลูก

ปกติเวลาออกเรือสำรวจในทะเล จะใช้เวลาประมาณแปดชั่วโมงต่อวัน ระหว่างที่อยู่บนเรือเราก็จะปั๊มนมเกือบทุกสองชั่วโมง เพราะถ้าไม่ปั๊ม นมก็จะคัดและเจ็บ แต่บางทีบนเรือก็ไม่มีตู้แช่ ไม่มีน้ำแข็ง ก็ต้องทิ้งนมไปบ้าง

เป็นคุณแม่ต้องผ่านทุกด่านได้เพื่อลูก

ทุกอย่างมันจัดการได้ ขอแค่อย่าท้อ แล้วเราจะก้าวข้ามทุกอย่างไปได้ อีกอย่าง คู่สามีภรรยาพอมีลูกจะยิ่งเข้าใจกันมากขึ้น มีจุดมุ่งหมายในชีวิตร่วมกันชัดเจนขึ้น จะทำอะไรก็นึกถึงลูกมากขึ้น ส่วนหนึ่งลูกก็ทำให้ครอบครัวชีวิตคู่สมบูรณ์ คนในครอบครัวก็มีความสุขสดชื่น มีเด็กเล็กๆ ในบ้าน เวลาที่มีปัญหาก็จับเข่าคุยกันมากขึ้น จริงๆ การมีลูกทำให้ชีวิตเราดีขึ้น

ถึงจะมีเหนื่อยบ้าง แต่เหนื่อยกายพอกลับไปเจอลูกแล้วก็มีความสุข เห็นพัฒนาการของเขาก็หายเหนื่อย ระยะทางอาจจะทำให้เราพลาดหลายอย่าง แต่เวลาที่ได้อยู่ด้วยกัน เราก็จะดูแลเขา อยู่กับเขาให้เต็มที่ที่สุด เพราะเวลากับความอบอุ่นที่หายไปมันเอาคืนมาไม่ได้ คนที่มีโอกาสได้อยู่กับลูกทุกวันคือโชคดีมากๆ

.


2. โจ—บุญสิตา จารุประกร คุณแม่ของน้องเวหา อายุ 1 ขวบ 1 เดือน
อาชีพ: หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

“เราต้องสลับกันไปเพื่อสแตนด์บายดูลูก
เพราะว่ายังไม่อยากให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงร้อยเปอร์เซ็นต์
ต้องมีเราคนใดคนหนึ่งอยู่กับลูก ถ้าเราบินเช้า แฟนก็จะบินบ่าย
แทบจะไม่ได้เจอหน้ากันเลย เจอแต่หน้าลูก”

“เป็นแอร์มาหกปีแล้ว มีบินทั้งในและต่างประเทศ (ใกล้ๆ) ตอนท้องยังไม่รู้ตัวเลย แต่จำได้ดีว่าไปบินแล้วรู้สึกเพลียมาก เวียนหัว อยากอาเจียน ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง น้ำหนักก็ลงด้วย แต่คิดว่าช่วงนั้นออกกำลังกายเยอะก็เลยผอมลง แต่ทำไมรู้สึกไม่แข็งแรง

เช้ารุ่งขึ้นเลยพูดกับแฟนเล่นๆ ว่าอาการเราคล้ายคนท้องหรือเปล่า แล้วก็ไปซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจ ปรากฏว่าขึ้นสองขีด ก็ตกใจ แต่ยังไม่เชื่อนะ ไปซื้อมาตรวจซ้ำอีกสามอัน สรุปว่า ท้องค่ะ! ก็เลยไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อฟังจากปากคุณหมอ สรุปว่าตอนนั้นท้อง 1 เดือนแล้ว!!!”

หลังจากนั้น โดยสายงานเราต้องทำยังไงต่อ

ขอบริษัทลางานเลยค่ะ เพราะการขึ้นเครื่องบินมีความเสี่ยง อาจจะแท้งได้ ถ้าเป็นแอร์ฯ พอรู้ตัวว่าท้องส่วนมากจะลางานกันทันทีค่ะ ซึ่งช่วงที่ลา ทางบริษัทจะให้เป็น leave without pay คือการลางานแบบไม่รับเงินเดือน และลาได้จนคลอดค่ะ

9 เดือนกับการพักผ่อนอันยาวนานของผู้หญิงที่เคยอินกับงาน

มันก็มีช่วงที่เบื่อ เพราะสามีเป็นกัปตัน บางทีเขาไปบิน เราอยู่บ้าน ก็มีคิดถึงเขาบ้าง เบื่อเขาบ้าง เป็นอารมณ์ปกติของคุณแม่ นอกนั้นก็ออกไปหาเพื่อน ไปชอปปิ้ง ออกกำลังกายตามแรงที่จะออกไหว หาข้อมูล ซื้อหนังสือเรื่องคุณแม่ตั้งครรภ์ วิธีการดูแลตัวเอง วิธีเลี้ยงลูกมาอ่าน พยายามเตรียมตัวไว้ให้พร้อมที่สุดก่อนลูกจะคลอด

ตั้งใจจะคลอดธรรมชาติ แต่สุดท้ายต้องผ่าคลอด

ก่อนจะถึงสัปดาห์ที่ต้องคลอด คุณหมออัลตราซาวนด์ครั้งสุดท้าย เจอว่าสายสะดือพันคอลูกสองรอบค่ะ คุณหมอก็เลยตัดสินใจว่าผ่าคลอดดีกว่า เพราะปลอดภัยกับลูกมากกว่า

ได้เวลากลับไปทำงาน

พอคลอดแล้วก็ลาคลอดต่ออีกสามเดือน เลี้ยงลูกแล้วก็เตรียมความพร้อมที่จะกลับไปบิน ร่างกายจะต้อง fit to fly ก่อน ต้องตรวจร่างกายก่อน ถึงจะกลับไปบินได้ค่ะ หลังจากนั้นก็ไปเทรน เรียกว่า refresher เพื่อทบทวนเรื่องความปลอดภัย การปฐมพยาบาล การกู้ชีพ ข้อปฏิบัติต่างๆ บนเครื่องบิน เพราะเราเว้นจากงานไปนาน ถึงจะได้ขึ้นบินก็ต้องมีพี่เลี้ยงก่อนประมาณสามวัน ถึงจะได้กลับไปบินเดี่ยวตามปกติ

เจอแต่หน้าลูก แทบไม่เจอหน้าสามี

พอเรากลับมาทำงาน เขาก็ต้องไปบินเหมือนกัน เราต้องสลับกันไปเพื่อสแตนด์บายดูลูก เพราะว่ายังไม่อยากให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องมีเราคนใดคนหนึ่งอยู่กับลูก ถ้าเราบินเช้า แฟนก็จะบินบ่าย แทบจะไม่ได้เจอหน้ากันเลย เจอแต่หน้าลูก ยอมรับว่าค่อนข้างเครียด แต่ก็พยายามหาวันหยุด แลกวันหยุดเพื่อให้ได้อยู่ด้วยกันบ้าง ออกไปเที่ยวบ้าง ไม่ให้รู้สึกว่านอยด์หรือห่างเหินกันเกินไป

ชีวิตคุณแม่แอร์โฮสเทส

เหนื่อยสุดพลังเลยค่ะ ทั้งบิน ทั้งทำงาน แล้วก็พยายามปั๊มนม บางวันปั๊มไม่ทัน ต้องปั๊มระหว่างทางกลับบ้าน

อุปกรณ์จำเป็น—เครื่องปั๊มนมอัตโนมัติแบบพกพา (รวมอุปกรณ์ประกอบการปั๊มและเก็บน้ำนมกว่า 7 ชิ้น)

ช่วงปั๊มนมอย่างแรกเลยคือต้องใส่เสื้อชั้นในสำหรับปั๊มนมหรือให้นมลูกโดยเฉพาะ แล้วก็จะมีกระเป๋าหนึ่งใบ ในกระเป๋าใบนั้นก็จะมี

– เครื่องปั๊มนมอัตโนมัติ เป็นแบบไฟฟ้าสองหัวค่ะ สามารถปั๊มทีเดียวพร้อมกันได้สองเต้า ชาร์จไฟไปและพกแบตเตอรี่ไปด้วยค่ะ

– โคลด์แพ็ก เอาไว้แช่น้ำนม เพื่อน้ำนมจะได้ไม่เสีย

– ถุงใส่น้ำนม เป็นถุงที่ผ่านการสเตอไรล์แล้ว หาซื้อได้ตามห้างหรือแผนกเด็ก

– ทิชชู และสำลีก้อน เอาไว้ทำความสะอาดหัวนม

– ผ้าคลุมปั๊มนม เวลาไปปั๊มนมบนเครื่อง เราจะใส่อุปกรณ์ปั๊มนมทั้งหมดแล้วก็นั่งคลุมผ้า เพื่อความเรียบร้อย

ปั๊มนมได้มากจนต้องมีตู้แช่แข็งขนาด 6 คิวไว้เก็บน้ำนมโดยเฉพาะ

ก่อนจะกลับไปบิน ปกติเราจะปั๊มนมทุกสี่ชั่วโมง เพื่อให้นมมันเกลี้ยงเต้า แล้วก็กระตุ้นให้มีน้ำนมมากขึ้น ช่วงนั้นก็เลยเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกได้เยอะมาก จนต้องตัดสินใจซื้อตู้ไอติมขนาด 6 คิวมาแช่น้ำนม เพราะยิ่งเก็บไว้ในอุณหภูมิติดลบ น้ำนมยิ่งอยู่ได้นาน อย่างตู้ไอติมนี่เก็บน้ำนมได้นานหนึ่งปีเลย ก็ทำสต็อกไว้เผื่อเวลาไปบิน หรือวันที่น้ำนมหมดไปแล้ว เพราะเราตั้งใจไว้ว่าจะให้ลูกกินนมแม่ถึงหนึ่งขวบ

แจกจ่ายน้ำนมให้คุณแม่คนอื่น

ช่วงนั้นน้ำนมเยอะมาก เพราะว่าปั๊มทุกวัน จนตู้ไอติมเริ่มแช่ไม่พอ เลยเริ่มบริจาคน้ำนมที่ปั๊มไว้หลายวันแล้วออกไปให้กับคนที่เขาไม่มีน้ำนม หรือไม่มีทุนทรัพย์ในการซื้อนมผงให้ลูก ซึ่งที่จริงเราพบว่ามีแม่ที่มีปัญหาเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน

(คุณแม่สนใจบริจาคน้ำนม ลองคลิกเข้าไปดูที่กลุ่มเฟซบุ๊ก นมแม่แบ่งปัน)

เพราะทุกวันนี้เขารณรงค์ให้เด็กได้กินนมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็รู้สึกดีมากที่น้ำนมเราก็มีประโยชน์กับเด็กคนอื่นด้วย

แต่ตัวเองกลับต้องหยุดให้นมลูก เพราะอาการ ‘ปลายประสาทอักเสบ’

ตอนที่คลอดน้องใหม่ๆ เราสังเกตว่าทำไมถึงมีอาการมือชา เท้าชา ปวดหลัง ก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะก้มเปลี่ยนแพมเพิร์สลูก หรืออุ้มลูกผิดท่า จนรู้สึกว่ามันชาผิดปกติ ก็เลยตัดสินใจไปหาหมอ คุณหมอก็วินิจฉัยว่าเราเป็นปลายประสาทอักเสบ จะต้องกินยา ซึ่งถ้าเรากินยาตัวนี้ ก็ควรงดให้นมลูก เพราะทุกอย่างที่เรากินเข้าไปมันจะผ่านออกมาทางน้ำนม

ทางเลือกของแม่กับความสุขของลูก

ตอนนั้นก็ลังเลอยู่สักพัก เพราะมันก็รู้สึกผิดที่จะต้องหยุดให้นมลูกแล้วจริงเหรอ แต่มาคิดกลับกันว่าถ้าเกิดเราหาย เราก็จะมีแรงอุ้มลูก เล่นกับลูกได้ ก็เลยตัดสินใจกินยา และค่อยๆ ลดรอบการปั๊มนมลง จากวันละสี่รอบก็เหลือสองรอบ จนเหลือ รอบเดียว หลังจากนั้นน้ำนมก็จะหมดไปเอง

.


3. ข้าวฟ่าง—นุชนาฎ พลอยประเสริฐ คุณแม่น้องยูโร อายุ 4 เดือน
อาชีพ Antigravity Yoga & Pilates Instructor

“ทั้งงานทั้งเงินเรากำลังรุ่ง
สิ่งแรกที่คิดคือจะทำงานยังไง กังวลมาก
เขาจะจ้างเราอยู่ไหม ถ้าเราทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องมีผลแน่ๆ”

“ของฟ่าง ช่วงสามเดือนแรก ต้องงดเว้นการออกกำลังกายไปเลย เพราะน้องยังฝังตัวไม่สมบูรณ์ เป็นช่วงที่ค่อนข้างอันตรายมาก พอประมาณสี่เดือน ฟ่างถึงเริ่มอุ้มท้องสอนโยคะผ้า ซึ่งต้องมีการทำท่าห้อยหัว ก็ห้อยกันจนถึงเจ็ดเดือน ห้อยหัวจนนักเรียนบอกว่า ครูเลิกห้อยหัวได้เแล้ว (หัวเราะ)

จริงๆ ถามว่าทำได้ไหม ก็ทำได้นะ แต่อยู่ที่สุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ ฟ่างทำได้อาจจะเพราะทำมาตลอดจนร่างกายเคยชินเป็นปกติ”

ทันทีที่รู้ว่าเป็นแม่

ต้องบอกก่อนว่าฟ่างเป็นซิงเกิลมัม และก่อนหน้านี้ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมีลูกด้วย แต่พอมีน้องเข้ามา ตอนแรกก็เครียดมาก เพราะทั้งงานทั้งเงินเรากำลังรุ่ง สิ่งแรกที่คิดคือจะทำงานยังไง กังวลมาก เขาจะจ้างเราอยู่ไหม ถ้าเราทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องมีผลแน่ๆ

คนท้องไม่ใช่คนป่วย

ฟ่างเลยปรึกษาหัวหน้า หัวหน้าก็ตอบมาว่า “คนท้องไม่ใช่คนป่วย” เขายังมีตารางให้ฟ่างสอนได้เรื่อยๆ เราเลยตัดสินใจว่าต้องสู้ ถึงจะท้องก็ต้องทำงานให้ดีที่สุด แล้วเราก็ทำได้จริงๆ

ปรับวิธีการสอนของตัวเองยังไง

ช่วง 1-3 เดือนแรกที่ท้อง ในคลาส Antigravity Yoga ฟ่างใช้วิธีบอกท่าทาง แล้วให้นักเรียนทำตาม หรือให้ศิษย์เก่าช่วยทำเป็นตัวอย่างให้ศิษย์ใหม่ ก็สอนได้ต่อเนื่องมาตลอด แต่บางทีเราก็เลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นนักเรียนใหม่หมดเลยทั้งคลาส เราก็ต้องทำให้ดู แต่ต้องรู้สภาวะของตัวเอง รู้ขีดจำกัดของตัวเอง สำหรับนักเรียนถ้าตั้งครรภ์อยู่ ฟ่างจะไม่แนะนำให้ทำเลย เพราะมันมีสิทธิ์แท้งได้

ความเข้มแข็งของคุณแม่

ยอมรับว่าบางครั้งเหนื่อยมาก คนท้องต้องสู้กับฮอร์โมนและอารมณ์ของตัวเองตลอดเวลา เราไปทำงานโดยใช้รถโดยสารทุกวัน ทั้ง MRT และ BTS หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะต้องแข่งกับเวลา แต่จะบอกกับพี่วินทุกคนว่าเราท้อง ขอให้ขับช้าๆ

แต่อีกอย่างที่ต้องเจอคือเวลาขึ้นรถสาธารณะแล้วไม่มีคนลุกให้นั่ง บางทีเราปวดขา ปวดฝ่าเท้า ยิ่งท้องแก่น้ำหนักยิ่งเยอะ ยืนนานๆ มันเมื่อยมาก อันนี้ก็ต้องสตรองไปอีก

ไม่ว่าจะยากแค่ไหน แต่เขาคือเป้าหมายของเรา

เคยคิดนะว่าทำไมเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย แต่พอจับท้องก็กลับมาคิดได้ว่า ‘ไม่เป็นไร’ เราคิดเสมอว่าต้องสู้เพื่อเขา พอมีน้องยูโร จากเมื่อก่อนคือทำงานกินเงินเดือน ชิลๆ ไป แต่ตอนนี้เขาเข้ามาเป็นเป้าหมายของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำก็เพื่อเขา คิดถึงเขาเป็นคนแรก เขาเปลี่ยนเราเป็นคนใหม่

หน้าที่การงานกับรูปร่างที่เปลี่ยนไป

ตอนท้องน้ำหนักขึ้นมา 15 กิโลกรัม แต่ฟ่างโชคดีที่ตัวเองชอบกินผักผลไม้ แล้วปกติเป็นคนไม่กินมั่ว น้ำหนักที่เพิ่มมาเลยไปลงที่ลูกเยอะ เขาคลอดออกมาที่ 3,870 กรัม ค่อนข้างตัวใหญ่ ตอนนี้ที่เราก็ยังเหลืออีก 5 กิโลกรัม แต่ก็กลับมาออกกำลังกายเบาๆ ได้ เน้นสอนนักเรียนไปด้วยทำเองไปด้วย แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

สามเดือนแรกกับลูกคนแรก

พอคลอดก็ลางานได้สามเดือน ฟ่างเลี้ยงลูกคนเดียวไม่มีใครช่วย กังวลเหมือนกันว่าจะเลี้ยงได้ไหม ก็ลองผิดลองถูกบ้าง เพราะเรายังไม่รู้จักเขา ต้องเรียนรู้กันและกัน เราต้องปรับตัวเข้าหาน้อง น้องก็ต้องปรับตัวเข้าหาเรา

ช่วงแรกแทบไม่ได้นอน คือนอนได้ไม่เกินห้าชั่วโมงต่อวัน เวลาเขาร้องเราไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร อันนี้เครียดมาก ก็พยายามเรียนรู้ สังเกต เอานมให้กินก่อน ถ้าลูกไม่ยอมกิน ก็ดูว่าไม่สบายตัวอะไรหรือเปล่า หรือปวดท้อง ต้องแก้ไขไปทีละอย่าง

หันมาสอนออกกำลังกายเพื่อคนท้อง

เมื่อก่อนคนที่ติดตามแฟนเพจส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ออกกำลังกายทั่วไป มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย พอเราท้อง ก็เริ่มทำเรื่องการออกกำลังกายสำหรับคนท้อง ก็จะมีกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์เข้ามาติดตามเพิ่ม กระแสตอบรับก็ค่อนข้างดี แต่ส่วนใหญ่เขาจะสอบถามมาทางอินบ็อกซ์ส่วนตัว ช่วงนี้ยังไม่ค่อยมีเวลา แต่จะพยายามกลับมาให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายอีกแน่นอนค่ะ ฝากเพจ Workout For Health By Fangly Fangly ด้วยนะคะ

—ขอบคุณรูปถ่ายน่ารักๆ จาก คุณแม่โอ่ง คุณแม่โจ และคุณแม่ข้าวฟ่าง

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST