READING

Baby Blue: เป็นแม่ควรจะสดใส แต่ทำไมฉันเศร้า...

Baby Blue: เป็นแม่ควรจะสดใส แต่ทำไมฉันเศร้า

นอยด์ เหวี่ยง พัง เรื่องราวของคุณแม่ที่มาแชร์ประสบการณ์ความซึมเศร้าในช่วงเวลาที่ควรจะแฮปปี้ ทำไมการเวลคัมของเบบี๋กลับทำให้คุณแม่ดราม่าน้ำตาแตกไปซะได้

คุณแม่หญิง (อายุ 25 ปี)

 

ช่วงหลังคลอดใหม่ๆ จะขี้น้อยใจมากกกกกกก น้อยใจสามี แค่เลิกงานแล้วเขากลับมาช้าก็จะนอยด์ว่าเขาไม่คิดถึงลูกเหรอ ไม่รีบมาช่วยเราหน่อยเหรอ มีน้อยใจลูกด้วยนะ ว่าทำไมเราโอ๋แล้วไม่เงียบ แต่พอยายโอ๋แล้วเงียบ มันรู้สึกห่อเหี่ยวมาก แล้วงานที่ออฟฟิศก็เร่งให้กลับไปทำทั้งที่ลาคลอดยังไม่ถึงสองเดือน

“จำได้ว่าทะเลาะกับสามี เราเลยพาลูกกลับมาที่บ้านแม่
แล้วเข้าไปนั่งร้องไห้เอาผ้าอุดปากอยู่ในตู้เสื้อผ้าอยู่เกือบสองชั่วโมง
จนแม่มาเจอ พอออกมาก็กอดลูกร้องไห้”

 

พอกลับไปทำงานก็ค่อนข้างเครียด เพราะกลับมาก็ต้องเลี้ยงลูก พอเขาหลับก็ต้องปั๊มนม สามีก็ไม่เข้าใจเวลาที่เราต้องทำงานล่วงเวลา แค่เขาบอกว่าทำไมไม่รีบกลับบ้าน ไม่อยากอยู่กับลูกเหรอ มันก็เสียดแทงหัวใจเหลือเกิน

เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด รู้แต่ว่ามันเหนื่อย ไม่มีใครเข้าใจ และก็อยากตาย จนปรึกษาเพื่อนที่เรียนจิตวิทยา เพื่อนเลยบอกว่าอาจจะเป็นอาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด ช่วงที่แย่ที่สุดคือช่วงน้องอายุแปดเดือน เข้าไปหลบอยู่ในตู้เสื้อผ้าประมาณสามครั้ง มีครั้งนึงถือสมุดกับดินสอเข้าไปแล้วก็ขีดๆๆๆๆๆ ไม่กล้ากรี๊ดกลัวคนอื่นได้ยิน แล้วก็นอนไม่หลับ บ้าปั๊มนมจนไม่หลับไม่นอน

 

เพื่อนที่ทำงานเขาก็เข้าใจว่าเราเงียบๆ เพลียๆ เพราะอารมณ์ซึมเศร้าหลังคลอด เขาก็จะคอยถาม คอยบอกว่าปั๊มนมในออฟฟิศก็ได้นะ ตอนแรกก็เกรงใจเพราะออฟฟิศเป็นผู้ชายหมด แต่เขาก็เข้าใจ เพราะเราแยกเรื่องงานกับอารมณ์ส่วนตัวได้ ก็ไม่กระทบเนื้องานเท่าไหร่

แต่ก็ไม่เคยไปหาหมอด้วยอาการนี้ ตอนปรึกษาเพื่อนเขาก็ไม่ได้พูดซะทีเดียวว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด แต่เขารับฟังเพื่อให้เราสบายใจก่อน แล้วก็อธิบายว่ามันเป็นเพราะแบบนี้ มึงไม่ได้บ้าหรอก

.

โชคดีที่หลังจากเลิกให้นมลูก แม่ก็มาช่วยดูแลลูกทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ แม่บอกว่าเราไม่ต้องห่วงลูก เพราะแม่ก็รักลูกแม่เหมือนกัน คำพูดแม่ตอนนั้นทำให้เราเบาใจขึ้นว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว แล้วมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

.

หลังจากนั้นก็เริ่มหาสูตรทำกับข้าวให้ลูก ศึกษาวิธีฝึกพัฒนาการให้เขา ออกกำลังกายจนลดน้ำหนักลงมาได้แปดกิโลกรัม ก็รู้สึกภูมิใจมาก ตอนนั้นเราคิดได้ว่าจะไม่เอาเวลามาคิดหยุมหยิมหรือน้อยใจใครอีก น่าจะเป็นความคิดนี้ที่ช่วยให้เราผ่านมาได้

“มีแวบความคิดที่รู้สึกว่าเราตัวคนเดียว ไม่มีใครช่วยเลี้ยงลูก
รู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด และเหวี่ยงใส่คนรอบข้าง แล้วก็ขี้กังวลมาก
อย่างเวลาลูกหลับตอนกลางคืน เราก็จะตื่นเพื่อดูว่าลูกยังหายใจหรือเปล่า
หนักสุดคือเคยแวบคิดขึ้นมาว่าไม่น่ามีลูกเลย”

 คุณแม่ปลา (นามสมมติ) อายุ 29 ปี

 

น่าจะหลังคลอดสักสองอาทิตย์ที่เราเครียด กังวล นอนไม่ค่อยหลับ น้ำหนักลดไปเก้ากิโลกรัมในเดือนเดียว ร้องไห้ง่าย รู้สึกเศร้ากว่าปกติ แต่ไม่ได้เศร้าทั้งวันนะ พอมีคนมาเยี่ยมหรือมีอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจก็จะอยู่ได้ แล้วก็จะเศร้ามากช่วงกลางคืน ยิ่งเวลาที่ลูกร้องไห้ ทำยังไงก็ไม่หยุด

สิ่งที่กระตุ้นอาการเราตอนนั้นคือน้ำนมมาน้อย ทำให้รู้สึกว่าลูกกินนมไม่พอ ก็จะร้องไห้ รู้สึกแย่มากเพราะกลัวลูกไม่โต แล้วเราก็กดดันตัวเองว่ายังไงลูกก็ต้องกินแต่นมแม่เท่านั้น

 

มีแวบความคิดที่รู้สึกว่าเราตัวคนเดียว ไม่มีใครช่วยเลี้ยงลูก รู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด และเหวี่ยงใส่คนรอบข้าง แล้วก็ขี้กังวลมาก อย่างเวลาลูกหลับตอนกลางคืน เราก็จะตื่นเพื่อดูว่าลูกยังหายใจหรือเปล่า หนักสุดคือเคยแวบคิดขึ้นมาว่าไม่น่ามีลูกเลย ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ปกติแล้ว

.

แต่ความจริง ลูกก็น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์แสดงว่าเราก็มีน้ำนมพอ ส่วนเรื่องคนช่วยเลี้ยง พ่อแม่แฟนก็ช่วยเราเลี้ยง เพียงแต่เขาต้องทำงานไปด้วย แล้วเราก็ตัดสินใจเองตั้งแต่แรกว่าจะไม่จ้างพี่เลี้ยง แต่ตอนที่อยู่ในอารมณ์แบบนั้น ความจริงพวกนี้เราไม่เห็นเลย เพิ่งมาคิดได้ตอนหลัง

ตอนนั้นก็ส่งผลหลายอย่างนะ มีเผลอตะคอกลูกบ้างแต่ไม่เคยตีหรือทำร้าย กับแฟนก็จะโดนเราหงุดหงิดใส่ เป็นแบบนี้อยู่ประมาณสองสามเดือน

.

ส่วนเรื่องพยายามกลับสู่สภาวะเดิม เราก็ดูไปทีละเรื่อง เรื่องเครียดน้ำนมไม่พอ ก็ไปปรึกษากับคุณหมอ แล้วก็กระตุ้นน้ำนมเพิ่ม พอลูกน้ำหนักตัวขึ้นดีก็ลดความกังวลได้ เรื่องไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก ก็คุยกับแฟนว่าอยากให้เขาช่วยอะไรบ้าง ช่วงไหนไม่ไหวจริงๆ ก็ไปพักบ้านแม่ หรือเวลาแย่มากๆ ก็โทร.หาเพื่อน (ให้เขาเป็นนักบำบัดส่วนตัว) สุดท้ายเหมือนฮอร์โมนมันกลับมาปกติ ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น

.

ที่แก้ปัญหาได้เพราะมันมีเวลาที่โอเคอยู่บ้าง เราไม่ได้เศร้าตลอดเวลา และด้วยความที่เคยเป็นนักจิตวิทยาคลินิก ก็เลยพอจะรู้ตัว แต่กว่าจะคิดได้มันก็สักพักนะ เพราะช่วงแรกๆ ก็จะนึกไม่ออก รู้แต่ว่ามันเศร้า มันหงุดหงิด พอเป็นบ่อยขึ้นและมากขึ้น ถึงมาคิดได้ว่ามันไม่ปกติแล้ว

.

ช่วงก่อนคลอด เราก็อ่านและหาข้อมูลนู่นนี่ไปเรื่อยๆ เรื่องอาการซึมเศร้าหลังคลอดนี่ก็อ่าน แค่ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็น แต่พอมันมีความรู้ มีข้อมูล แล้วเป็นจริงๆ ขึ้นมา เราก็รับมือได้พอสมควร

อารมณ์ซึมเศร้าหลังคลอดที่เกิดกับแม่ๆ จำนวนไม่น้อยนอกจากกระทบกับตัวเองโดยตรง บางครั้งก็ยังส่งผลกับลูกน้อยและคนรอบตัว เห็นแบบนี้เลยต้องไปขอความรู้จาก คุณหมอวัลลภ อัจสริยะสิงห์ จิตแพทย์โรงพยาบาลศิริราชสักหน่อยว่า ทำไมช่วงเวลาดีๆ ของครอบครัวถึงได้กลายเป็นช่วงเลวร้ายที่สุดของคุณแม่ และอาการที่เรียกกันว่าเบบี้บลู (Baby Blue) โรคซึมเศร้าหลังคลอด และโรคจิตเภทหลังคลอดนั้นสังเกตได้อย่างไร

และคนใกล้ชิดอย่างคุณพ่อหรือญาติพี่น้องจะช่วยกันประคับประคองจิตใจที่อ่อนไหวของคุณแม่ให้กลับมาแข็งแกร่งไร้เทียมทานอีกครั้งได้อย่างไร

คุณหมอวัลลภ อัจสริยะสิงห์

Baby Blue คืออะไร

Baby Blue หรือภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกได้ถึง 30-75% อาการคือคุณแม่จะมีอารมณ์เศร้าและร้องไห้มากกว่าปกติ สับสน อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ และอาการจะดีขึ้นได้เมื่อฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ อารมณ์ซึมเศร้าต่างๆ ก็จะดีขึ้นได้เอง

ทำไมช่วงที่น่าจะมีความสุขดันกลายเป็นเศร้าไปได้

หลายคนคิดว่าหลังคลอดลูกแล้วคุณแม่ทุกคนควรจะมีความสุข แต่ทำไมแม่บางคนถึงมีภาวะซึมเศร้า สาเหตุเพราะหลังคลอดร่างกายคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะฮอร์โมนที่มีผลกับอารมณ์โดยตรง หรือความเครียดที่เกิดจากการคลอด หรือความกังวลกับภาระและความรับผิดชอบหลังคลอด สามอย่างนี้ส่งผลให้คุณแม่มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังคลอดได้

เป็นเองก็หายเอง

เบบี้บลูเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้เองและสามารถดีขึ้นได้เอง เพียงแต่ต้องอาศัยความเข้าใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง ที่จะช่วยแบ่งเบาความเครียดของคุณแม่ให้ได้มากที่สุด การพูดคุยกับแม่คนอื่นๆ ก็จะทำให้อาการดีขึ้น และควรพักผ่อนมากๆ หลีกเลี่ยงสารเสพติดต่างๆ ซึ่งจะทำให้อารมณ์แกว่งมากขึ้น ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายในสองสัปดาห์ หากรุนแรงหรือกินระยะเวลาเกินกว่านั้น อาจเรียกว่าเป็นภาวะโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) ได้

เบบี้บลูต่างกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด เกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดประมาณ 10-15% ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลา 3-6 เดือนหลังคลอด และอาการจะคงอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปีถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ความรุนแรงที่มากกว่าเบบี้บลู

โดยทั่วไปโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะรุนแรงกว่าอาการเบบี้บลู เช่น มีอารมณ์เศร้ามาก กังวลมาก กังวลไปหมดทุกเรื่อง นอนไม่หลับ ไม่มีความสุขกับอะไรในชีวิต รู้สึกผิดและโทษตัวเอง เช่น คิดว่าตัวเองไม่สามารถเป็นแม่ที่ดีได้ และอาจอันตรายถึงขั้นมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง อยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายลูกก็เป็นได้

วิธีการรักษา

มีการรักษาด้วยยาและการพูดคุย (จิตบำบัด) ให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้คุณแม่ปรับมุมมองความคิดให้เป็นเชิงบวกมากขึ้น จัดการกับอารมณ์เศร้าหรือกังวล รวมทั้งช่วยให้จัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น บางรายอาจมีการใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งยาแต่ละตัวอาจส่งผ่านจากน้ำนมไปสู่ลูกได้มากน้อยต่างกัน เรื่องการใช้ยาสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้

Postpartum Psychosis อีกภาวะที่อันตราย

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis) เป็นอีกหนึ่งอาการป่วยทางจิตใจของคุณแม่หลังคลอดที่รุนแรง แต่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1-2 คนในคุณแม่หลังคลอด 1,000 คน และครึ่งหนึ่งของคุณแม่ที่ป่วยจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่คนในครอบครัวเคยมีประวัติของโรคทางอารมณ์มาก่อน

อาการทั่วไปของโรคจิตหลังคลอดจะคล้ายโรคซึมเศร้าหลังคลอด แต่รุนแรงไปจนถึงขั้นมีความคิดหลงผิด (Delusion) เช่น คิดว่าลูกตายแล้ว หรือลูกมีความพิการบางอย่างซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือมีอาการประสาทหลอน (Hallucination) เช่น หูแว่วได้ยินคนสั่งให้ทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายลูก ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมาก

คนรอบข้างช่วยเยียวยาความซึมเศร้าของคุณแม่ได้

ก่อนอื่นคนใกล้ชิดต้องเข้าใจว่าภาวะเบบี้บลูเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังคลอด และสามารถรักษาได้ด้วยการรับฟัง รวมไปถึงการให้กำลังใจและช่วยลดความกังวลต่างๆ ของคุณแม่

ถึงอย่างนั้น ก็ควรสังเกตอาการที่อาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือหากมีความเสี่ยงที่แม่จะทำร้ายตัวเองและทำร้ายลูก ก็ควรได้รับการรักษาจากจิตแพทย์โดยทันที

สังเกตว่าคุณแม่อยู่ในภาวะเบบี้บลูหรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด

ดูที่ความรุนแรงทางอารมณ์ เช่น ไม่มีช่วงเวลาที่มีความสุข เศร้าจนคิดฆ่าตัวตาย กังวลและนอนไม่หลับติดต่อกันหลายวัน หากมีอาการแบบนี้ให้สงสัยว่าไม่ใช่ภาวะเบบี้บลูธรรมดา และถ้ามีอาการหูแว่ว ภาพหลอน หรือหวาดระแวงร่วมด้วย ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคจิตเภทหลังคลอดได้ นอกจากความรุนแรงแล้ว อาจดูจากระยะเวลาที่มีอาการ หากคุณแม่มีอาการทางอารมณ์ผิดปกตินานเกิน 2-3 สัปดาห์ ก็ควรพาไปพบแพทย์เช่นกัน

หากไม่รู้ตัวและไม่ได้พบจิตแพทย์

คุณแม่บางคนสามารถหายจากอาการป่วยเองได้ แต่ปัญหาคือต้องใช้เวลานาน อาจจะเป็นเดือน หลายเดือน หรือเป็นปี ซึ่งระหว่างนั้นจะส่งผลทั้งกับตัวเองและการเลี้ยงดูลูกได้

วิธีการป้องกัน

การช่วยลดความเครียดและความกังวลให้กับคุณแม่ตั้งแต่ช่วงตั้งท้อง ก่อนคลอด และหลังคลอด ก็พอจะช่วยลดความเสี่ยงที่คุณแม่จะต้องเจอกับอาการซึมเศร้าต่างๆ ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กำลังใจจากคนใกล้ชิดในทุกช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องเผชิญหน้ากับความกดดัน และการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ก็สามารถช่วยให้คุณแม่กลับมามีความสุขกับการเลี้ยงลูกน้อยต่อไปได้เช่นกัน


Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST