READING

ท้องนี้ ปะป๊าหม่าม้าขอเบิกอะไรได้บ้าง...

ท้องนี้ ปะป๊าหม่าม้าขอเบิกอะไรได้บ้าง

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เตรียมจะมีลูกน้อย เตรียมคำนวณค่าใช้จ่ายกันบ้างหรือยังเอ่ย แต่ถ้าคำนวณออกมาแล้วเห็นว่าเยอะเหลือเกิน ก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งประกันสังคมทุกเดือน สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการคลอดได้ด้วยนะคะ

แต่นอกจากนั้น ตามกฎหมายแรงงานแล้ว สิทธิประโยชน์ในการคลอดบุตรนั้นมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

1. ลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 45 วัน
(สิทธิ์ลาคลอด และการได้รับเงินค่าจ้างจากนายจ้าง)

วิธีการคำนวณ

สมมติ คุณแม่ได้รับเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท ในระหว่างที่คุณแม่ลาคลอด นายจ้างจะต้องจ่ายให้คุณแม่เป็นจำนวน 15,000 บาท

โดย 15,000 บาทนี้ คำนวณมาจากรายได้เฉลี่ยที่คิดเป็นรายวันคือ (10,000 / 30 วัน) x 45 วัน

ตามกฎหมายแล้วคุณแม่มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วัน โดยที่นายจ้างไม่มีสิทธิ์ยับยั้ง และจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างเป็นเวลา 45 วัน

แต่จะจ่ายให้ระหว่างการลา หรือหลังจากกลับมาทำงานแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย

และถ้าคุณแม่กลับมาทำงานก่อนครบวันลา 90 วัน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนวันที่กลับมาทำงานตามปกติอีกด้วย

2. ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
(สิทธิ์รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน ได้รับจากกองทุนประกันสังคม)

ผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยแบบเต็มจำนวนเป็นระยะเวลา 90 วัน

แม้คุณแม่จะลาคลอดไม่ถึง 90 วัน ก็ยังได้เงินเต็มจำนวนนี้อยู่ แต่สิทธิ์นี้ใช้ได้สำหรับการคลอดลูกคนแรกและคนที่สองเท่านั้น

วิธีการคำนวณ

สมมติ คุณแม่ได้เงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท ในระหว่างที่คุณแม่ลาคลอด ประกันสังคมจะต้องจ่ายให้คุณแม่เป็นจำนวน 22,500 บาท

โดย 22,500 บาทนี้ คำนวณมาจากรายได้เฉลี่ยที่คิดเป็นรายวันคือ (15,000 x 3 เดือน) x 0.5

3. เบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้ 13,000 บาท
ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง จากประกันสังคม

ประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ หรือค่าคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง (หมายความว่า ถ้ามีลูกแฝดสี่ก็เบิกได้แค่ 13,000 บาทเท่านั้น) แต่ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (หมายความว่า มีลูกกี่ครั้งก็เบิกได้ตามจำนวนลูกทุกคน) และจะคลอดที่โรงพยาบาลใดหรือห้องพิเศษอย่างไร ก็สามารถเบิกเงินได้จำนวนนี้เท่ากันทั้งหมด

ถ้าคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

แต่! จะได้รับสิทธิ์นี้ก็ต่อเมื่อ คุณแม่หรือคุณพ่อ (หมายความว่า จ่ายครบแค่คนเดียวก็รับสิทธิ์นี้ได้) จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนการคลอดบุตร (ถ้าจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 5 เดือนก็จะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้)

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นขอประโยชน์ทดแทนในรายการที่ 2 และ 3

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 กรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ

2. สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)

3. สำหรับผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรส (กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส)

4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ (รายละเอียดเพิ่มเติม)

4. เงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 400 บาท
จนลูกอายุ 6 ปีบริบูรณ์ จากกองทุนประกันสังคม

คุณแม่ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแบบเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท ต่อบุตร 1 คน โดยบุตรต้องมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ ในจำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

และคุณแม่จะต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนถึงเดือนที่จะได้รับสิทธิ์

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นขอค่าสงเคราะห์บุตร

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)

2. กรณีผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิ์แล้ว และประสงค์จะใช้สิทธิ์สำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิ์บุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ

3. กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ์

+ สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด

4. กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ์

+ สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด

+ สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด

5. กรณีเปลี่ยนชื่อสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด
6. กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทน ให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1 ชุด
7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน
8. เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน (รายละเอียดเพิ่มเติม)

คำถามที่พบบ่อย

1. จะเบิกค่าคลอดบุตร จำเป็นต้องคลอดที่โรงพยาบาลที่เราสังกัดเท่านั้นหรือเปล่า

ไม่จำเป็น แต่ถ้าคลอดที่โรงพยาบาลอื่นให้ทำการสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยทำเรื่องเบิกกับประกันสังคมภายหลัง


2. เงิน 13,000 บาทที่เบิกมา ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่ค่าตรวจและค่ารับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่และค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล (ช่วงหลังคลอดวันแรกๆ) ค่าบริบาลและรักษาพยาบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย และค่าบริการอื่นๆ


3. สามีและภรรยาส่งประกันสังคมทั้งคู่ เบิกทั้งคู่เลยได้ไหม

ไม่ได้ สามารถใช้ได้แค่ 1 สิทธิ์ จากคนใดคนหนึ่งเท่านั้น


4. ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสล่ะ คลอดบุตรโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้หรือไม่

กรณีไม่ได้แต่งงานจดทะเบียน และภรรยาไม่ได้เป็นผู้ประกันตน แต่สามีจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง ภรรยาจะสามารถใช้สิทธิ์สามีในการเบิกได้ โดยใช้แบบฟอร์ม หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส และหนังสือรับรองของบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผย (กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย)


5. ลูกทุกคนสามารถเบิกค่าคลอดบุตร 13,000 บาทได้ ใช่หรือไม่

ใช่ (ตามข้อมูล ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2560) แต่สามารถเบิกได้ 13,000 บาท ต่อการคลอด 1 ครั้ง หมายความว่า หากคลอดลูกแฝดก็เบิกได้แค่ 13,000 บาทเท่านั้น


6. ถ้าคุณแม่เป็นข้าราชการ สามารถเบิกซ้อนกับประกันสังคมได้ไหม

ได้ และยังได้รับสิทธิอื่นๆ ด้วย ดังนี้

มีสิทธิ์ลากิจต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน

สามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท โดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาล

ได้รับเงินสวัสดิการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ 50 บาท ต่อบุตร 1 คน แต่ไม่เกิน 3 คน จนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์

กรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่ท่านใดท่านหนึ่งเป็นข้าราชการ สามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในกรณีคลอดบุตรได้ โดยเบิกจ่ายเงินส่วนเกินจากประกันสังคม แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นการคลอดบุตรในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น, การเบิกส่วนเกินจากสิทธิ์ประกันสังคมจะต้องเบิกผ่านระบบเบิกจ่ายตรงสิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยสอบถามจากหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ และเมื่อคลอดบุตรในโรงพยาบาลแล้ว จะต้องแจ้งขอใช้สิทธิ์รับเงินค่ารักษาพยาบาลเฉพาะส่วนเกินประโยชน์ทดแทนฯ ตามแบบฟอร์ม (แบบ 7106 ถ้าต้องการดาวน์โหลด คลิก)

กรณีที่ภรรยาเป็นผู้ประกันตน (ทำงานเอกชน) ส่วนสามีเป็นข้าราชการ จะต้องเบิกตามสิทธิ์ของภรรยาก่อน ส่วนที่เกินจากประกันสังคม สามารถใช้สิทธิ์สามีในการเบิกได้ แต่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น

กรณีที่ภรรยาเป็นข้าราชการ ส่วนสามีเป็นผู้ประกันตน (ทำงานเอกชน) จะสามารถเบิกได้มากกว่า คือภรรยาสามารถใช้สิทธิ์เบิกค่าคลอดจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ ส่วนสามีก็สามารถเบิกค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ด้วยเช่นกัน

กรณีที่ทั้งภรรยาและสามีเป็นข้าราชการ แต่สามีมีตำแหน่งสูงกว่า ภรรยาจะเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ข้าราชการของตัวเอง ไม่สามารถใช้สิทธิ์ที่มากกว่าของสามี แต่หากสามีเป็นข้าราชการตำแหน่งสูง แต่ภรรยาไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ภรรยากลับสามารถใช้สิทธิ์ของสามีซึ่งเป็นข้าราชการได้เต็มรูปแบบ


7. ถ้าคุณแม่เป็นฟรีแลนซ์หรือทำงานอิสระล่ะ (ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39)

กรณีคุณแม่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ หากไม่มีบัตรทอง สามารถไปทำได้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ขอทำบัตรมีชื่ออยู่ได้

ซึ่งการใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้นี้ คุณแม่สามารถเข้ารับบริการได้ฟรี และชำระ 30 บาท ในส่วนของการฝากครรภ์ และการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของเด็ก พร้อมการตรวจรักษารวมถึงค่าห้องและค่ายา สำหรับการคลอดบุตรไม่เกินสองครั้ง (แต่กรณีการฝากครรภ์สามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)

กรณีคุณแม่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน แต่ลาออกมาทำงานอิสระแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และยังคงส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามปกติ 432 บาท/เดือน ก็จะยังคงได้รับสิทธิ์ขอเบิกค่าคลอดบุตรแบบเหมาจ่าย และค่าสงเคราะห์บุตร ตามปกติ

หากคุณแม่เป็นฟรีแลนซ์และต้องการเข้าเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มและรายละเอียดได้ที่นี่


8. ยื่นเรื่องเบิกย้อนหลังได้หรือไม่

สำหรับสิทธิ์เบิกค่าคลอดเหมาจ่าย ผู้ประกันตนสามารถเบิกสิทธิ์ย้อนหลังได้ หากยื่นเรื่องภายในเวลา 1 ปีนับจากวันที่บุตรเกิด

สำหรับสิทธิ์สงเคราะห์บุตร หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนที่ผ่านมา สามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิ์ได้เช่นกัน โดยเตรียมสูติบัตรบุตร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัญชีธนาคาร ยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ และสั่งจ่ายสิทธิ์ผ่านบัญชีธนาคารตามเงื่อนไข


แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม หรือต้องการรายละเอียดเรื่องการเบิกจ่ายเกี่ยวกับลูกคนแรกในด้านอื่นๆ
สามารถโทร.สอบถามสายด่วนประกันสังคม เบอร์ 1506 หรือที่ เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ได้เลยจ้ะ

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST