READING

INTERVIEW: FANTASTIC FOUR คุณแม่น้องแฝดสี่ พรีม เพ...

INTERVIEW: FANTASTIC FOUR คุณแม่น้องแฝดสี่ พรีม เพลิน เพลง พราว

หากพอจะจินตนาการได้ว่า การเลี้ยงลูกหนึ่งคนนั้นเหนื่อยและวุ่นวายแค่ไหน ลองนึกถึงคุณแม่ลูกแฝด ที่ต้องยกระดับความเหนื่อยมากขึ้นเป็นสองเท่า

แล้วถ้าเป็นแฝดที่มากกว่านั้น…

 

เรานัดคุยกับ คุณแม่หนิง—คนึงนิจ มงคลเจริญศรี คุณแม่คนสวยกับน้องๆ แฝดสี่ (ในวัยใกล้จะสี่ขวบเต็มที) เจ้าของแฮชแท็ก #แฝด4พรีมเพลินเพลงพราว จากเพจ Petite4 The Quadruplet ที่คุณแม่หนิงสร้างไว้ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวการเลี้ยงลูกแฝดทั้งสี่กับคุณแม่คนอื่นๆ

แม้ระหว่างสัมภาษณ์ เด็กๆ จะแยกตัวไปเล่นของเล่นกันอีกมุมหนึ่ง แต่การมีเด็กวัยกำลังซนสี่คนวิ่งเล่นสนุกสนานอยู่ในห้อง มีคุณแม่ที่แม้จะวางใจได้ว่าเด็กๆ มีพี่เลี้ยงคอยดูแลอยู่ไม่ห่าง ก็ยังอดไม่ได้ที่จะส่งสายตาและรอยยิ้มไปทักทายลูกทั้งสี่อยู่เป็นระยะ เราจึงได้รู้ว่าความวุ่นวายที่เห็นนั่นแหละ คือบรรยากาศปกติที่แสนจะอบอุ่นและมีความสุขของครอบครัวนี้

เริ่มวางแผนมีลูก

หลังแต่งงานเราก็วางแผนมีลูกเลย ลองปล่อยตามธรรมชาติได้ 2-3 เดือน แล้วก็เริ่มปรึกษาคุณหมอ เพราะรู้ตัวว่าเราเป็น PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) คือประจำเดือนมาไม่ปกติ ก็จะมีลูกยาก แต่เราอยากเป็นคุณแม่ยังสาว อยากรีบมีลูก พอไปปรึกษาคุณหมอก็เริ่มกินยาปรับฮอร์โมน แล้วก็ลองทำ IUI (Intrauterine Insemination) คือฉีดเชื้อโดยตรง ประมาณปีละสองครั้งยังสบายๆ เพราะตอนนั้นยังไม่ได้เร่งมาก

แต่ทำมาเรื่อยๆ ก็ไม่ติดซะที ก็มีไปหาหมออื่นบ้าง อย่างหมอแมะที่มีคนแนะนำเราก็ไป กินยาจีน ฝังเข็ม ทุกวิธีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ พยายามมาได้สามปีกว่า ก็เลยปรึกษาคุณหมอเรื่องการทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) แล้วก็ทำไปครั้งที่สามถึงจะประสบความสำเร็จ

ตั้งใจว่าอยากให้เป็นลูกแฝดหรือเปล่า

ไม่ได้ตั้งใจเลยยยย (หัวเราะ) แต่ปกติการทำ ICSI คุณหมอจะฉีดตัวอ่อนเผื่ออยู่แล้ว อย่างสองครั้งที่ทำแล้วไม่สำเร็จ คุณหมอก็ฉีดไปสองตัว แต่ละครั้งเราทำห่างกันครั้งละหนึ่งปี จนรอบสุดท้ายนี่เราอายุจะ 34 แล้ว มันก็ใกล้จะหมดเวลา (หัวเราะ) เพราะถ้า 35 มันก็จะมีภาวะความเสี่ยงอีกเยอะ คุณหมอก็เลยจะลองฉีดสามตัว

ก่อนฉีดเราก็ถามคุณหมอแล้วว่า ความเป็นไปได้ที่จะฉีดไปสามตัวแล้วได้หมดเลยนี่เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ได้สองตัวกี่เปอร์เซ็นต์ คุณหมอบอกว่าติดสามเลยมีโอกาสไม่ถึงห้าเปอร์เซ็นต์ เราก็โอเคค่ะ เพราะทำมาหลายรอบแล้ว ก็ลองดู

แต่ฉีดสามแล้วได้สี่

ใช่ค่ะ ได้มาสี่เลย (หัวเราะ) คือตอนไปตรวจว่าท้องหรือเปล่า ฮอร์โมนเราขึ้นสูงจนพยาบาลที่ตรวจเขาบอกว่า ต้องไปลุ้นตอนอัลตราซาวนด์ว่าจะเป็นแฝดสองหรือแฝดสาม เพราะดูจากระดับฮอร์โมนแล้ว น่าจะเป็นแฝดแน่ แต่ต้องรออีกสองอาทิตย์ ถึงจะได้อัลตราซาวนด์ เราก็กลับมาหาข้อมูลว่าการท้องแฝดสามจะมีความเสี่ยงยังไงบ้าง แล้วก็เตรียมใจ

พอวันไปอัลตราซาวนด์ ตอนแรกคุณหมอบอกว่าเห็นถุงตั้งครรภ์สามใบ ก็ตกใจแล้ว แต่คุณหมอขออัลตราซาวนด์ที่หน้าท้องเพิ่ม ก็เจอว่ามีถุงนึงที่เป็นคู่แฝดแท้อยู่ข้างใน ก็เลยมีคู่นึงเป็นแฝดที่หน้าตาเหมือนกัน เราก็ยิ่งเซอร์ไพรส์เลย เพราะกว่าจะมีลูกก็ยากแล้ว ฉีดแล้วติดหมดเลยก็ตกใจแล้ว พอมารู้ว่าเป็นสี่ ก็ตกใจด้วย กังวลด้วย เพราะเราหาข้อมูลไว้แค่แฝดสามเอง

ตอนนั้นกังวลอะไร

เรารู้ว่าปกติการตั้งครรภ์มากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปมันก็เสี่ยงมากขึ้น แฝดสองก็มีความเสี่ยง สามก็เสี่ยงมากขึ้นไปอีก แล้วนี่สี่ ก็โอ้โห… แต่คุณหมอก็บอกให้ค่อยๆ ดูกันไป ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

แล้วไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงจริงไหม

คือเราก็ห่วงเรื่องการดูแลตอนเขาอยู่ในท้อง พอมานั่งหาข้อมูลแฝดสี่ที่เป็นคนไทยก็ไม่ค่อยมี เราก็ไปหาอ่านของพวกคุณแม่ต่างประเทศที่มีลูกแฝดสี่ ว่าเขามีปัญหาหรือความเสี่ยงอะไรกันบ้าง

อย่างแรกคือรู้ว่าจะต้องคลอดก่อนกำหนด อันนี้เป็นธรรมดาของท้องแฝด คือถ้าแฝดสองอาจจะอยู่ได้ครบกำหนด แต่ถ้าสามคนขึ้นไป ด้วยพื้นที่ในท้อง แล้วก็เรื่องภาวะการเติบโต การแย่งอาหาร ก็ต้องอยู่ในการดูแลของคุณหมอตลอด แต่เราก็เห็นว่าคุณแม่ที่ต่างประเทศเนี่ย เขาหาหมอกันยาก กว่าจะนัดหมอได้ เขายังไหวเลย แล้วเมืองไทยเรามีหมอดูแลใกล้ชิด ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

แต่จะมีคุณแม่บางคนที่เขาต้อง bed rest คือนอนพักอย่างเดียว ตั้งแต่ท้องได้ 5-6 เดือน เราก็เริ่มกลัว เพราะปกติเป็นคนแอ็กทีฟ ชอบออกกำลังกาย ทำกิจกรรม อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยเป็น โชคดีที่สุดท้ายไม่เป็นอะไรเลย ไม่แพ้ท้อง ไม่ปวดหลัง คือมีเบื่ออาหารนิดหน่อยกับแน่นท้องปกติ แต่อย่างอื่นไม่มีเลย

ถ้าเป็นแฝดจากการทำ ICSI นี่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ไหม

ทางคุณป้าของคุณพ่อเขาก็เป็นแฝด แต่ก็ไม่แน่ใจนะคะ บางคนเขาบอกว่าถ้ามี ก็จะมีเป็นรุ่นเว้นรุ่น แต่เดี๋ยวนี้การทำ ICSI ก็ทำให้คนมีลูกแฝดเยอะ แต่อาจจะได้เป็นแฝดที่หน้าไม่เหมือนมากกว่า

ตอนที่รู้เพศของน้องทั้งสี่

ท้องแฝดจะมีนัดอัลตราซาวนด์ทุกเดือน ของเราเริ่มนัดตอนสามเดือน คู่แฝดแท้เนี่ย คุณหมอดูแล้วบอกมาก่อนเลยว่าน่าจะเป็นผู้หญิง แต่อีกสองคนยังเห็นไม่ชัด พอมาอัลตราซาวนด์เดือนที่สี่ คุณหมอก็บอกว่า อีกคนนึงก็น่าจะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน แล้วก็เหลืออีกคนนึงที่ยังไม่เห็น แต่พอเดือนที่ห้า คุณหมอบอกว่าน่าจะผู้หญิงหมดเลยแน่นอน

เราก็โอเค เพราะตัวเองก็มีพี่น้องเป็นผู้หญิงหมดเลยสี่คน เราก็ชิน แต่จริงๆ ตอนท้องก็มีคนถามเยอะว่า ระหว่างผู้หญิงหมดเลยกับผู้ชายหมดเลย อยากได้แบบไหน ตอนนั้นคิดว่าถ้าเป็นผู้ชายหมดเลยก็ดี เพราะคุณพ่อเขาคงจะช่วยได้บ้าง (หัวเราะ) อาจจะพาไปเล่นกิจกรรมแบบผู้ชายๆ ด้วยกันได้ ถ้าเป็นลูกผู้หญิงแล้วก็กลัวว่าเราต้องพาไปทำกิจกรรม เช่น ดูบัลเลต์อะไรแบบนี้

ตอนวางแผนมีลูก จริงๆ แล้วอยากได้ลูกสาวหรือลูกชาย

จริงๆ เราเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าจะคัดเพศด้วย อยากให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะแค่นี้ก็ต้องพึ่งคุณหมอเยอะแล้ว ก็เลยคิดไว้แต่แรกว่าเพศไหนก็ได้

ความยากลำบากของการตั้งท้องแฝดสี่คน

ท้องโตค่ะ ตอนสามเดือนไปหาคุณหมอ แล้วคุณหมอบอกว่าตอนนี้ดูเหมือนคนท้องห้าเดือน เวลาเจอคนอื่น ตอนที่เรายังไม่ได้บอกว่าท้องแฝดหรือแฝดกี่คน คนก็จะทักว่าท้องกี่เดือนแล้ว ทำไมท้องโตจังเลย

แต่ก็เป็นคุณแม่ที่แข็งแรงดี

ดีค่ะ อยู่บ้านได้จนวันคลอดเลย ตอนเริ่มท้องแก่ก็ยังทำงานได้ เพราะบ้านกับออฟฟิศอยู่ติดกัน ยังเดินไปออฟฟิศได้ คุณแม่คนอื่นเขาอาจจะมีปัญหานั่งนอนลำบากตอนใกล้คลอด แต่เราเหมือนเป็นคนท้องแก่มากมาตั้งแต่ห้าเดือน ก็เลยชิน (หัวเราะ)

เตรียมตัวหรือวางแผนการเลี้ยงไว้เป็นพิเศษไหม

ส่วนตัวไม่ได้เตรียมอะไรมาก ไม่ได้กังวลว่าจะเลี้ยงไม่ไหวเลยนะ เราคิดว่า อย่างแม่เราก็มีลูกสี่คน เขาก็เลี้ยงมาได้ ยังไงถ้าคลอดมาแล้วก็ต้องเลี้ยงได้ ไม่ได้คิดมากเลย คิดแต่ว่าเราคงทำได้ หรือมันก็ต้องทำให้ได้ (ขำ)

ไม่ซีเรียสเรื่องเตรียมพี่เลี้ยงหรือคนมาช่วยเลี้ยง

จริงๆ เราก็มีเตรียมว่าจะหาพี่เลี้ยง แต่ว่าไม่ได้ซีเรียสว่าถ้าหาไม่ได้แล้วจะทำยังไง เราไม่อยากคิดว่าต้องพึ่งพาคนอื่น เพราะบางทีพี่เลี้ยงมาแล้วเขาอาจจะอยู่ไม่ได้ เราคิดว่าเราเอาตัวเองเป็นหลักดีกว่า

เด็กๆ คลอดก่อนกำหนดมากไหม

น้องคลอดตอน 33 วีกค่ะ คุณหมอนัดผ่าหลังจากที่ดูว่าน้องมีอวัยวะครบแล้ว และคู่ที่เป็นแฝดแท้ คนนึงเขาเริ่มน้ำหนักไม่ขึ้นมาหลายวีก เพราะมีการแย่งอาหารกัน คุณหมอก็คิดว่าน่าจะผ่าได้แล้ว เพราะถ้าอยู่ต่อแล้วมีปัญหา ก็อาจจะส่งผลต่อคนอื่นในท้องด้วย

แต่คลอดแล้วทุกคนแข็งแรงดี

ก็ดีค่ะ น้ำหนักคนที่หนักสุดก็ประมาณพันเจ็ดร้อยกว่า มีสองคนที่พันห้า ก็ถือว่าโอเค แต่ว่าคนที่โดนแย่งอาหารจะตัวเล็กสุด คือหนักไม่ถึงพัน แต่ว่าเขากลายเป็นคนที่แข็งแรงที่สุด ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แค่ตัวเล็กเฉยๆ

มีอะไรต้องดูแลเป็นพิเศษ

ก็มีสามคนต้องอยู่ตู้อบอีกสามอาทิตย์กว่าๆ ส่วนคนตัวเล็กสุดต้องอยู่ห้าอาทิตย์ เพราะคุณหมอจะทำน้ำหนักให้ถึงสองกิโลกรัม ถ้าเขาตัวเล็กหรือน้ำหนักน้อยเกินไป จะไม่มีแรงดูดนม

“ไม่ได้เหนื่อยกว่าที่คิด เพราะก็คิดไว้แล้วว่าต้องเหนื่อยมาก”

วันแรกที่พาลูกกลับบ้าน

พาลูกกลับมาก่อนสามคน เราคิดว่าเราสบายกว่าคนอื่นตรงที่มีคนช่วยดูแลเขามาตั้งสามอาทิตย์ที่อยู่ในห้อง NICU (ห้องดูแลเด็กแรกเกิด) เราแค่ไปหาลูกทุกวัน แต่คนอื่นเขาคลอดใหม่ๆ ก็ต้องเลี้ยงลูกเองแล้ว เรายังมีเวลาได้กลับมาเตรียมตัวก่อน

ส่วนตัวรู้สึกว่าเขาเลี้ยงไม่ยาก อาจจะเพราะตอนที่อยู่โรงพยาบาล เหมือนเขามีการเซตระบบของตัวเองมาแล้วว่า ต้องตื่นมากินนมทุกสองชั่วโมง ก็เลยไม่ยุ่งยาก

แต่เขาตื่นทุกสองชั่วโมงพร้อมกันทุกคน

ใช่ค่ะ (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นก็มีพี่เลี้ยงช่วยแล้ว ส่วนเราก็คอยปั๊มนม ก็ไม่ได้เหนื่อยกว่าที่คิด เพราะเราคิดไว้แล้วว่าต้องเหนื่อยมาก

มีปัญหาเรื่องจำลูกแต่ละคนไม่ได้บ้างไหม

ก่อนคลอดเราก็เคยคิดว่าจะจำลูกได้ไหมเนี่ย เพราะเคยเห็นเพื่อนที่เขาเป็นแฝด แล้วรู้สึกว่าเขาเหมือนกันมาก ขนาดเพื่อนแฝดหรือลูกแฝดของคนอื่นเรายังจำเขาแบบแยกแยะไม่ได้เลย แล้วนี่สี่คน จะจำลูกตัวเองได้ไหม

เคยคิดกับคุณยายว่า เราจะต้องผูกข้อมือหรือเขียนเบอร์ไหม กลัวให้นมผิด หรือเวลาต้องให้วิตามินเสริม กลัวให้ซ้ำคนที่ให้ไปแล้ว แต่เอาจริงๆ พอคลอดแล้วเราก็จำได้เลย

มีแค่วันที่พาน้องแฝดแท้กลับบ้านเป็นคนสุดท้าย ก็แอบผูกข้อมือไว้ เพราะกลัวจะจำสลับกับคู่แฝดของเขา แต่เอาเข้าจริงเราก็จำได้

คนอื่นในบ้านจำได้เหมือนกันไหม

พี่เลี้ยงเขาก็จำได้นะคะ คุณยายเขาก็จำได้ ถ้าเป็นคนใกล้ชิดกันจริงๆ ก็จะแยกความต่างของเขาได้

“อยากเลี้ยงให้เขาเป็นตัวของตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร
ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเหมือนๆ กัน”

 

เรื่องยากหรือหนักที่สุดตั้งแต่เลี้ยงเด็กสี่คนมา

เวลาเขาป่วยพร้อมกัน แต่โชคดีมากที่เขาไม่ค่อยเจ็บป่วย จะมีแค่ตอนเล็กๆ มีสามคนแพ้นมวัว ช่วงที่ให้กินนมแม่เราก็เลยต้องงดอาหารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทุกอย่าง ต้องจดเมนูที่กินเข้าไปทุกมื้อ เพราะว่าน้ำนมของเราเป็นนมสต็อก ต้องจดเอาไว้ดูว่าเป็นนมที่มาจากมื้อไหน เพราะเขาแพ้ไม่เหมือนกัน

แต่เขาเพิ่งจะป่วยกันจริงจังตอนเริ่มโตและพาไปไหนมาไหน หนักที่สุดคือตอนที่เป็นโรคมือเท้าปาก ตอนแรกเป็นคนเดียว แต่อาการไม่หนักมาก คุณหมอเลยให้กลับมาอยู่ที่บ้าน เราก็แยกเขาออกจากกันแล้ว ให้คนป่วยอยู่ชั้นล่าง แต่พอวันรุ่งขึ้นก็เริ่มเป็นอีกคน แล้วก็เป็นครบสี่คนพร้อมกัน ครั้งนั้นหนักที่สุดเพราะดูแลยากมาก

พอเด็กๆ เริ่มโต ต้องมีวิธีการเลี้ยงอะไรเป็นพิเศษไหม

ก็อยากเลี้ยงให้เขาเป็นตัวของตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเหมือนๆ กัน อย่างเรื่องแต่งตัว เอาจริงๆ เวลาให้เขาแต่งเหมือนกัน ก็เพราะออกไปข้างนอก แล้วจะมองเห็นเขาง่าย แต่จริงๆ วันไหนคนไหนอยากจะแต่งตัวอะไรยังไงก็จะปล่อยตามที่เขาชอบ

เขาตกลงเรื่องเสื้อผ้ากันหรือเปล่าว่าอยากแต่งตัวเหมือนกัน หรือต่างคนต่างแต่ง

เขาไม่ได้ตกลงกันนะคะ แต่จะมีพอเห็นคนนึงใส่ชุดไหน เขาก็อยากใส่เหมือนกัน

แสดงว่ายังไม่มีปัญหาเรื่องความชอบของแต่ละคน

ยังไม่มีค่ะ จริงๆ เราเคยเห็นบางบ้านที่คนนึงชอบใส่กางเกง แต่อีกคนไม่ยอม ส่วนของเรายังไม่มี เขายังชอบอะไรคล้ายๆ กัน

แต่ก็เริ่มเห็นความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคน

จริงๆ ความต่างเราเห็นมาตั้งแต่เล็กๆ แล้วว่าเขาไม่เหมือนกันเลย อย่างน้องพรีม (คนโต) เป็นคนพูดเก่ง แล้วก็ร้องเพลงได้ทั้งวัน ส่วนน้องเพลินกับน้องเพลง (แฝดเหมือน) คู่นี้เขาจะอึดมาก ซนมาก ชอบปีนป่าย และก็ไม่ค่อยกลัวอะไร แต่น้องพราว (คนเล็ก) จะค่อนข้างระวังตัว ช่างสังเกต เวลาเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เขาจะคอยมองก่อน ว่าปลอดภัยแล้วเขาถึงจะเข้าไป แต่คนอื่นอาจจะเจอปุ๊บแล้ววิ่งใส่เลย

เด็กๆ ทะเลาะกันไหม

ทุกวันค่ะ แต่เรื่องโกรธกันหรืองอนกันจริงๆ ยังไม่มี อาจจะด้วยอายุของเขาก็มีแค่เรื่องแย่งของเล่นกัน พอทะเลาะเสร็จก็หันมาเล่นกันต่อ

เวลาเห็นเขาเล่นกันก็น่ารักนะคะ แต่เวลาทะเลาะกันก็โอ้โห… เราก็พยายามค่อยๆ สอน การเลี้ยงลูกมันคือการค่อยๆ ศึกษากันไป บางทีใช้วิธีนี้แล้วมันไม่ใช่ก็ต้องลองเปลี่ยน ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไปว่าวิธีไหนใช้ได้ผล

แล้ววิธีการเดียวกันใช้ได้ผลกับทุกคนไหม

ไม่เลยค่ะ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่ได้แยกกันชัดเจนขนาดนั้น เพราะนิสัยของแต่ละคน เขาก็จะตอบสนองไม่เหมือนกัน เวลาจะดุหรือสอนเขา ก็ต้องให้เขาเย็นลงก่อนแล้วค่อยเรียกมาพูดกัน จะไปดุต่อหน้าทุกคนไม่ได้ เขาจะยิ่งต่อต้าน

ทุกวันนี้ เวลาเขางอแงเราก็จะเรียกมาปรับทัศนคติทุกวัน

ทีละคน…

ใช่ค่ะ ต้องทีละคน ไม่ค่อยอยากไปว่าเขาต่อหน้าคนอื่น คิดว่าเขาคงไม่ชอบ

เด็กๆ เข้าใจความเป็นพี่น้องฝาแฝดของตัวเองไหม

เขาก็ไม่ได้ถามอะไร คิดว่าคงรู้ว่าเขาเกิดมาพร้อมกันตามธรรมชาติ แล้วก็อยู่ด้วยกัน เพราะที่โรงเรียนเขาก็มีเพื่อนที่เป็นแฝดเหมือนกัน

ที่โรงเรียนเขาเรียนด้วยกันทั้งสี่คนไหม

เขาแยกกันคนละห้องค่ะ เราเคยอ่านมาว่าปัญหาของการเลี้ยงดูเด็กแฝดคือเขาอาจจะโดนเปรียบเทียบ หรือการอยู่ด้วยกันมากเกินไป เขาอาจจะทำตามกันโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือว่าบางทีตัวเองทำได้ไม่ดีเท่าอีกคน เขาก็จะไม่มั่นใจ เราก็บอกกับทางโรงเรียนและโรงเรียนเองก็แนะนำแบบนี้ด้วย

แล้วที่บ้าน เด็กๆ เริ่มแยกกันหรือยัง

จริงๆ ตั้งแต่ตอน 1-2 ขวบ เราก็จะเริ่มพาลูกไปไหนด้วยทีละคน เวลาไปทำธุระ ไปกินข้าวที่ต้องมีความคล่องตัว ก็จะพาไปคนเดียวก่อน ไม่งั้นเราต้องไปเป็นทีมใหญ่ ต้องมีพี่เลี้ยง พอโตอีกนิดก็เริ่มพาไปทีละสองคน เขาก็จะเริ่มคิดถึงและถามว่าอีกสองคนอยู่ที่บ้านทำอะไร แต่ไม่ถึงกับร้องไห้งอแง กลับมาบ้านเขาก็มากอดกัน มาเล่าให้ฟังว่าไปทำอะไรมา น่าจะเหมือนพี่น้องปกติ

เวลาที่ต้องพาไปข้างนอกพร้อมกันทั้งสี่คน

ก็จะมีพี่เลี้ยงไปด้วยตลอด ยังไม่เคยไปกันเองแบบพ่อแม่สองคนแล้วลูกสี่คนเลย (หัวเราะ)

วางแผนเรื่องแยกโรงเรียนกันในอนาคตไหม

ถ้าเขามีความชอบที่จำเป็นต้องเรียนโรงเรียนเฉพาะทาง ก็คงแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน แต่เราไม่ได้วางแผนว่าเขาต้องแยกกันตอนไหน

ถ้าจะเรียนด้วยกันไปเรื่อยๆ จนโตก็ได้

ก็สะดวกเรื่องไปรับไปส่ง และดูแลได้ทั่วถึงดีนะคะ แต่เราก็ไม่รู้อนาคตว่าคนไหนจะมีอะไรพิเศษ เช่น อาจจะมีคนที่ถนัดกีฬาหรือดนตรี ที่ต้องส่งเสริมเป็นพิเศษ ก็คงต้องแล้วแต่เขา

แล้วส่วนตัวคุณแม่ส่งเสริมด้านไหน

ไม่เน้นวิชาการ แต่ให้ความสำคัญกับกีฬาและสุขภาพ เพราะถ้าเขาสุขภาพดี เขาจะเรียนรู้อย่างอื่นได้ดี

เป็นครอบครัวที่สอนให้เด็กๆ มีความเป็นพี่น้อง หรืออยากให้เขาเป็นเพื่อนกัน

อยากให้เขามีความเป็นพี่น้องที่ต้องดูแลเทกแคร์กัน อย่างที่ให้ทุกคนแทนตัวเองว่าพี่ เพราะอยากให้เขามีความเป็นพี่ ไม่อยากให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กแล้วต้องมาเอาใจตลอดเวลา อยากให้เขามีความเป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยดูแลกัน

 

เราเคยแกล้งถามเขาว่า
“รู้ไหมมี้รักใครที่สุด” เขาจะบอกว่ารักเท่ากัน
“แล้วอยากให้มี้รักใครมากที่สุด” เขาก็บอกว่าอยากให้รักเท่ากัน
เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

 

แต่จริงๆ เขารู้กันใช่ไหมว่าใครเป็นพี่เป็นน้อง

รู้ค่ะ เขาจะรู้ว่าใครเกิดก่อน ก็จะเป็นคนโต แต่เราก็ไม่เคยใช้ความเป็นพี่มาบอกว่าต้องยอมให้น้อง เพราะทุกคนเท่ากัน พ่อแม่รักเท่ากัน

เราเคยแกล้งถามเขาว่า “รู้ไหมมี้รักใครที่สุด” เขาจะบอกว่ารักเท่ากัน, “แล้วอยากให้มี้รักใครมากที่สุด” เขาก็บอกว่าอยากให้รักเท่ากัน เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

ดูเหมือนเรื่องความเท่าเทียมก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล

จริงๆ ตัวเองไม่ได้กังวลมาก เพราะเราให้ความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่เรื่องการเปรียบเทียบเนี่ย เรารู้ว่าพอไปอยู่ในโลกภายนอก เขาต้องเจอคนบอกว่า “อุ๊ยคนนี้น่ารักจัง” หรือ “คนนี้เก่งที่สุด” มันเป็นเรื่องที่เราไปห้ามคนอื่นพูดไม่ได้ แต่เราคิดว่าถ้าเขาแข็งแกร่งทางด้านจิตใจ หรือให้ความมั่นใจกับลูกว่าเขาไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกันก็ได้ ก็คงไม่มีปัญหา

 

สัมภาษณ์วันที่: 21 / 08 / 17

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST