READING

INTERVIEW: อาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์—โลกของ ‘ของเล่น’...

INTERVIEW: อาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์—โลกของ ‘ของเล่น’ ไม่ได้เล็กอย่างที่เราคิด

คุยเฟื่องเรื่อง ‘ของเล่น’ ที่เป็นทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว กับอาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ผู้แสนจะอารมณ์ดี ที่นอกเวลาราชการ ยังขอควบตำแหน่งผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น และนักเขียนนิทานภาพสำหรับเด็ก

เริ่มจับ เริ่มซื้อ จนมาสะสม ‘ของเล่น’ ตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่ช่วงรับราชการครั้งแรก เป็นครูอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ ของเล่นมันเป็นความหลงใหลส่วนตัวของเรา จนต้องแวะดูแวะซื้อทุกวัน

ยุคนั้นเขาไปซื้อไปดูของเล่นกันแถวไหน

หลังเลิกเรียน พอบ่าย 3-4 โมง ถ้าไม่มีเรื่องรับผิดชอบในโรงเรียนแล้ว เราก็จะไปเดินท่าพระจันทร์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรไปจนถึงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาจะวางแบกันริมทางเท้า เป็นของเก่าพร้อมโละขาย มีทุกอย่างตั้งแต่โปสต์การ์ด กระดาษ ตู้เย็น ข้าวของเครื่องใช้ แต่เราซื้อเฉพาะของที่คิดว่ามันใช่ ก็มีแค่ของเล่นนี่ละ

ที่เดียวได้เยอะขนาดนี้?

(หัวเราะ) ไม่สิ พอเดินท่าพระจันทร์เสร็จ เราก็จะไปเดินตลาดสามแยกตรงยาขมน้ำเต้าทองแถวเยาวราช จะมีตั้งแต่ 5-6 โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม เพราะเขาย้ายที่ไปขายกัน หรืออย่างเสาร์อาทิตย์ก็จะมีที่จตุจักร ส่วนตัวใหญ่ๆ อย่างอุลตร้าแมน (ขนาดเท่าตัวคนจริง) เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วจะมีขายที่ตลาดนัดรถไฟราคา 2,000 บาท คือแพงสำหรับยุคนั้น ตอนนั้นยังบอกคนขายเลยว่าซื้อไม่ไหวแล้ว ถ้ารู้ว่าตอนนี้จะแพงนะ จะบอกให้เขาเอามาอีก แต่ตอนนั้นคือการยอม ต้องตัดใจซื้อมา

แปลว่าของเล่นยุค 20-30 ปีก่อน ราคาถูกมาก

ใช่ ของจะถูกเหมือนกันหมด แล้ววันเสาร์มาเป็นลังปี๊บใหญ่ๆ เลย ชิ้นละ 50 สตางค์ 6 สลึง ไม่มีที่เป็นร้อยๆ แบบสมัยนี้ มีเงินแค่ 70-80 บาทก็ซื้อได้เยอะแยะ เพราะคนอื่นเขาไม่ซื้อแล้ว พอเราซื้อ คนที่เขาไปหาของเขาก็รู้แล้วว่าต้องมีผู้ชายคนนี้มาซื้ออีกแน่ๆ แค่เรายังเดินไม่ถึง คนขายก็จะกวักมือเรียกละ บางทีก็ต้องหนีคนขายด้วยนะ เพราะมันมาจากทั่วทุกสารทิศ เขาไปเอามาจากจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ มันเยอะมาก ต้องบอกคนขายว่าไม่มีตังค์จริงๆ ยังซื้อไม่ได้ คิดดูสิ ของถูกยังต้องหนีคนขาย สมัยนี้เหรอ ชิ้นนึงบางทีก็ต้องแย่งกัน (ยิ้ม)

ไม่ค่อยมีของเล่นที่ได้มาจากต่างประเทศ

ไม่เลย แต่ก็จะมีของที่ผลิตจากเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เพราะของเล่นที่ผลิตในไทยมีน้อยมากยุคนั้น และก็แปลกนะ ที่ในไทยมีของเล่นสัญชาติอื่นหลงเหลือให้เราซื้ออยู่ตลอด แบบที่พออยากได้ก็มีคนมาขาย

ในมุมของนักเล่นของเล่น มีความแตกต่างระหว่างของเล่นในแต่ละประเทศหรือแต่ละยุคไหม

ของเล่นไม่มีต่าง คือมันต้องปลอดภัย เล่นเพื่อสนุก มีความสุข เกิดการทำนุบำรุงรักษา แบ่งปัน มีมนุษยสัมพันธ์ เกิดความรู้ ส่งผ่านความคิดและจินตนาการ ช่วยพัฒนากายภาพ กล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวด้วย แค่นี้มันก็ครบเครื่องเหมือนกันทั่วโลกแล้ว ดังนั้น เชิงพาณิชย์ โรงงานที่ผลิตของเล่นขายทั่วโลก เขาต้องตระหนักถึงข้อนี้ แล้วจึงผลิตออกมา ส่วนแต่ละยุคแต่ละประเทศ ก็แค่เปลี่ยนรูปแบบและวัสดุ อุปกรณ์ไป

ทำไมถึงต้องมีของเล่นแบบเดียวกันหลายๆ ชิ้น

คนขายเขาจะเอามาเป็นลังๆ เราก็เหมามาหมดเลย เวลาไปต่างจังหวัดก็จะไปถามว่าร้านไหนมีของเล่นเก่าปล่อยไหม หรือร้านที่ปิดกิจการแล้วเราก็ไปตามหานะ แต่ยุคนี้ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นก็เลยได้ของมาเยอะ อาจจะซ้ำ กล่องอาจจะไม่สวย แต่ของข้างในยังดี แบบไหนที่เราอยากได้เราก็เอา รับซื้อให้เกลี้ยง ก็เลยได้ของถูก เพราะคิดไว้ว่าจะต้องทำพิพิธภัณฑ์ให้ได้

แสดงว่าของเล่นในพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น อาจารย์เป็นคนซื้อเองทั้งหมด

ใช่ เราจึงจำภาพรวมทุกอย่างได้ทั้งหมด เพราะชิ้นสำคัญๆ หลายชิ้น เราตื่นเต้นมากนะที่มันยังหลงเหลือมาถึงเรา เราจับของเล่นมาจนสามารถจำแนกพีเรียดหรือช่วงอายุของมัน เห็นปุ๊บแล้วรู้เลยว่าอันนี้ 70 ปี อันนี้ 50 ปี อันนี้ 100 ปี เป็นเก่าแบบพิเศษ หายาก หรือหาไม่ได้อีกแล้ว

เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะทำอะไร เราต้องใส่ใจที่จะศึกษาในสิ่งนั้นให้แตกฉาน เราต้องทำการบ้านของเราด้วยใจรัก ให้มันเป็นเรื่องที่เราเข้าใจถ่องแท้

“เขาสุขใจ มาแล้วก็อยากมาอีก
ถึงตอบโจทย์ความเป็นครอบครัว”

แต่นอกจากของเล่น ก็ยังมีเครื่องแก้ว พระเครื่องที่ไม่ใช่ของเล่นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย

เพราะคนไทยชอบอะไรที่ต้องปรุงแต่งให้ถูกจริตของตัวเอง เราเลยต้องทำให้ครบเครื่อง เด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น ผู้สูงอายุมาเห็นแล้วจะได้พอใจทุกคน ของเล่นอย่างเดียวเลยไม่ตอบโจทย์ แต่การทำให้คนทุกกลุ่มพอใจ มาสามรุ่นแล้วแฮปปี้ทั้งสามรุ่น ไม่ต้องไปค้นหาว่ามีของเล่นถึงล้านชิ้นไหม แต่เขาสุขใจ มาแล้วอยากมาอีก ก็ถือว่าตอบโจทย์ความเป็นครอบครัวแล้ว

พิพิธภัณฑ์นี้ต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัว

ทำให้เขาพอใจที่สุด ทำด้วยความตั้งใจ พอคนเข้ามาแล้วเห็นความตั้งใจก็จะให้ใจเราคืนมา นี่คือที่เราคิด ทำ และคาดหวัง ในอยุธยาบางคนพาลูกเข้ามาทุกอาทิตย์จนเราไม่เก็บตังค์แล้ว เขาเป็นเหมือนญาติ มาจนรู้จักแล้ว

แต่ยุคแรกๆ การเก็บเงินก็เหมือนการขอให้ช่วยเหลือ แต่พอคนมาซ้ำ มันก็มีสภาพการหล่อเลี้ยงจากทุกคนให้พิพิธภัณฑ์อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เราก็ไม่ต้องเครียดเรื่องเงิน ก็ไปหาของเล่นมาเติมดีกว่า

“เราอยากทำพิพิธภัณฑ์ของเล่นที่ลงลึกไปในความรู้สึก
และรายละเอียดของอารมณ์ของคนทุกเพศทุกวัย”

คนไทยไม่เคยมีพิพิธภัณ์ของเล่นเป็นรูปธรรมมาก่อน เราทำการบ้านมา 30 กว่าปี เห็นญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เขามีกันหมด แล้วของที่เขามีบางทีเป็นแค่ตุ๊กตาหน้ากระเบื้องอายุ 300 ปี สิบกว่าชิ้นเอามาตั้งโชว์ ก็เก็บค่าเข้าได้หลายร้อยบาท เพราะนั่นคือการจัดแสดงของเล่นที่เป็นของสะสม ของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมอะไรก็ว่าไป ซึ่งจริงๆ ของเล่นมีคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมดซึ่งมันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นทางการ แต่เราอยากทำพิพิธภัณฑ์ของเล่นที่ลงลึกไปในความรู้สึก และรายละเอียดของอารมณ์ของคนทุกเพศทุกวัย ว่าเราเคยอยากเล่น เคยได้เล่น เคยได้จับของเล่นชิ้นนั้น มันเลยทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากทำพิพิธภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ

ของเล่น มีผลกับเด็กๆ อย่างไร

อย่างเมื่อปี 1950 ญี่ปุ่นและเยอรมนีผลิตของเล่นที่ใส่แบตเตอรี่ได้ ดังนั้น ของเล่นจึงเริ่มเคลื่อนไหวได้ด้วยวิธีการแบบหุ่นยนต์ มีไฟ มีเสียง ไม่ใช่ต้องผลักหรือไขลานอย่างในอดีต ตรงนี้แหละที่จุดประกายเทคโนโลยีในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ทางการแพทย์

หรืออย่างบทบาทสมมติที่ได้จากการเล่นของเล่น ก็เป็นจากจินตนาการที่เด็กๆ สามารถต่อยอดจนเป็นแรงบันดาลใจในอนาคตได้

ที่สำคัญคือ มีผลต่อการเติบโตและพัฒนาการของเด็ก

พอจะมีที่เห็นได้ชัดเจนกว่านั้นไหม

ที่นี่เราเก็บทั้งของเล่นเก่าหลายร้อยปีไปจนถึงของใหม่เร็วๆ นี้ พอเด็กๆ เข้ามาก็จะปลื้มว่ามีของที่เขาชื่นชอบด้วย ก็จะประทับใจ พอกลับไปที่บ้าน เขาก็จะเริ่มจัดเก็บของเล่นที่บ้านตามเรา วินัยก็ตามมา เป็นสุนทรียศาสตร์ พ่อแม่ก็สบาย (ยิ้ม) นี่แหละที่เห็นผลไวที่สุด ชัดเจนที่สุด

แต่จะเห็นได้ว่านอกจากเด็กแล้ว ของเล่นที่นี่ก็น่าประทับใจสำหรับผู้ใหญ่ด้วย

ของเล่นเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัยและผู้คนในช่วงนั้น ตอนซื้อเราจึงไม่จำเป็นต้องเลือก เพราะคนที่เข้ามาก็จะถามหาของเล่นในยุคเขา ถ้ามีเขาก็จะตาวาว โอ้โห ดีใจ ปลื้ม เขาจะชอบไม่ชอบจุดไหนก็แล้วแต่ ขอแค่เรามีให้เขาดูตามยุคสมัยของเขา โซนไหนที่เป็นวัยเขา เขาก็จะอยู่นาน

เริ่มจากง่ายสุดนะ วัยรุ่นชอบยืนถ่ายรูป (หัวเราะ) เราก็มีมุมสวยๆ หรือแลนด์มาร์กจัดไว้ให้ หรือไม่เขาก็จะดูของเล่นในยุคเขา อย่างโดราเอมอน

ส่วนเด็กๆ ก็ชอบดูของเล่นแบบที่เขาชอบ บอกไม่ได้เลยว่าจะไปถูกใจอันไหน แต่ที่เหมือนกันคือ ถ้าเด็กๆ ชอบอันไหน เขาก็จะยืนดูอันนั้น ยืนดูนานมาก ดูจริงๆ (ยิ้ม)

ถ้าอายุเกิน 30 ขึ้นไปก็จะเป็นพวก Astro Boy เจ้าหนูปรมาณู, Robocon หรือถ้าวัยเลยไปกว่านั้น ก็มีพระเครื่อง เครื่องเคลือบ เครื่องปั้น เครื่องแก้วให้ดูด้วย

ของเก่าที่ดูขลังมีปัญหากับเด็กๆ ไหม

บางมุมก็เหมือนเด็กจะกลัว แต่เด็กเขาก็ไม่กลัว เพราะตอนเดินเข้ามา เด็กเห็นของเล่นชิ้นอื่นๆ มาเยอะแยะเต็มไปหมดแล้ว พอเดินผ่านของเล่นยุคเก่า เขาก็ยังสนุกกับมันอยู่ แต่ที่สำคัญคือทุกจุดต้องสว่าง สะอาด ถึงจะทำให้เด็กอยากรู้อยากเห็น ใคร่สนใจ เด็กไม่กลัว เดินเองวิ่งเล่นเอง แต่ก็รู้จักระวัง ไม่มีใครเดินชนด้วยนะ ที่นี่ปัญหาอย่างเดียวที่มีก็คือ เด็กอยากได้ของเล่นแล้วพ่อแม่ไม่ซื้อให้ก็เสียใจ เดินออกไปร้องไห้ข้างนอก เลยต้องมีขายอยู่หน่อยนึง (ยิ้ม)

หรือว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของที่นี่คือการจัดวาง

จริงๆ เราแบ่งการวางตามพีเรียดได้นะ แต่พวกของอายุ 40-50 ปี พอมาตั้งรวมกันสีสันมันก็หมอง คนเห็นแล้วก็อยากจะถอยออกมาไกลๆ (หัวเราะ) แต่ถ้าไปตั้งรวมกับของเล่นใหม่ ทุกคนก็จะได้เห็นของเล่นใหม่ แต่ตาก็จะไปเห็นของเล่นเก่าด้วย มันเท่นะ คอนทราสต์กันด้วย แต่ถ้ากองแยกระหว่างของเก่ากับของใหม่ คนก็ไม่ได้ฉุกใจว่าของเล่นยุคเก่าก็น่าสนใจและควรมอง

นี่คือวิธีคิดของอาจารย์เกริก

บางคนไม่เข้าใจก็จะถามว่าทำไมไม่ทำเป็นไทม์ไลน์ เพราะไทม์ไลน์จะทำให้ของเล่นบางชิ้นหดหู่ ไม่แช่มชื่น แต่ถ้าวางปนกันหลายๆ พีเรียด มันจะตื่นตาตื่นใจ มีเก่ามีใหม่ ชี้ชวนกันดู

“โลกของเด็กมันไม่เล็กอย่างที่เราคิด
เราอย่าไปคิดแทนเด็ก
เราต้องให้เด็กเป็นไปตามธรรมชาติ”

 

หรือเป็นกุศโลบายให้เด็กและพ่อแม่ยืนดูของเล่นในตู้เดียวกันได้

แน่นอน เพราะแต่เริ่มแรกเราก็อยากให้เป็นครอบครัวมาเที่ยว พ่อแม่ปู่ย่าตายายหลาน เหมือนเป็นสถานที่รวมครอบครัว อย่างที่สมัยเด็กพ่อแม่เคยพามา พอโตขึ้นมีแฟนก็ชวนแฟนมา เพราะพ่อแม่เคยพามาแล้วชอบ แล้วพอมีลูกก็พาลูกมาอีก เราคิดไปไกลกว่านั้น เราอยากให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นแบบไม่รู้จบ เป็นศูนย์รวมที่จะดึงสายสัมพันธ์ความรักความอบอุ่นมาไว้ด้วยกัน มอบสิ่งดีๆ ให้กับครอบครัว

ของเล่นอาจจะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่

ถ้าเราจับประเด็นเด็กได้ โลกของเด็กมันไม่เล็กอย่างที่เราคิด เราอย่าไปคิดแทนเด็ก เราต้องให้เด็กเป็นไปตามธรรมชาติ แล้วเราจะเข้าใจเขา อยู่กับเด็กก็ต้องเป็นเหมือนเด็กด้วย ไม่ใช่เอาความเป็นผู้ใหญ่ไปใส่หรือคิดแทนเขา

คิดว่าในเมืองไทยควรมีพิพิธภัณฑ์ของเล่นเพิ่มอีกไหม

ควรมากๆ ควรมีทุกจังหวัดเลย และต้องเพิ่มของเล่นท้องถิ่นกับของไทยลงไปเยอะๆ เพราะทุกจังหวัดมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน คนจะได้ตระหนักว่าของเล่นเป็นของสำคัญที่ควรจัดหาให้เด็กได้เล่น เป็นการปลูกฝังให้เข้าไปในความรู้สึกของเด็กๆ การเดินทางของของเล่นก็เป็นประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง และของเล่นไทยพื้นบ้านอย่างหม้อข้าวหม้อแกง ตุ๊กตาดินเผา ก็ช่วยเสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวได้ไม่ต่างจากของเล่นสากลอื่นๆ


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST