READING

INTERVIEW: ‘เจ้าขุนทอง’ คณะหุ่นในตำนาน ที่ยังคงขยั...

INTERVIEW: ‘เจ้าขุนทอง’ คณะหุ่นในตำนาน ที่ยังคงขยับและขับขานมาจนถึงปัจจุบัน

เจ้าขุนทอง

ถ้าพูดถึงรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ดำเนินรายการเป็นตัวละครหุ่นสัตว์หน้าตาเป็นเอกลักษณ์สักรายการ เด็กยุคนี้อาจไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไรนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อรายการ เจ้าขุนทอง ขึ้นมาแล้วละก็ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ของเด็กๆ ยุคนี้ น่าจะไม่ปฏิเสธว่า เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน แทบไม่มีเด็กคนไหนไม่เคยดูรายการหุ่นเจ้าขุนทองและผองเพื่อนตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน

26 ปีต่อมา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกและการแข่งขันของรายการโทรทัศน์ รายการเด็กคล้ายจะถูกลดความสำคัญ หรือพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ แม้แต่รายการที่เคยโด่งดังและได้รับความนิยมมากในยุคหนึ่ง ก็ต้องโยกย้ายและลดเวลาออกอากาศลง ตามกลไกการแข่งขันทางธุรกิจของสถานีโทรทัศน์

แต่ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้ คุณอ้าว—เกียรติสุดา ภิรมย์ ผู้ก่อตั้งรายการ เจ้าขุนทอง ก็ยังคงยืนหยัดผลิตรายการเล็กๆ ของตัวเองต่อไป ด้วยเหตุผลเดิมก็คือ อยากจะบ่มเพาะสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ ในสังคมไทยของพวกเราต่อไป

เริ่มเป็นรายการเจ้าขุนทองได้อย่างไร

เริ่มด้วยการที่คุณแดง—สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารช่อง 7 ตอนนั้น เขาเคยเป็นครูและทำโรงเรียนมาก่อน เขาเริ่มมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องภาษาไทย เรื่องวัฒนธรรมไทย เพราะเริ่มเห็นว่าเด็กเริ่มพูดผิดพูดถูก ร เรือ ล ลิง ไม่ชัด ในฐานะคนที่ทำงานสื่อสารมวลชน คุณแดงก็เลยอยากได้รายการที่ปลูกฝังเรื่องการใช้ภาษาให้ถูกต้อง บ่มเพาะเด็กตั้งแต่เล็ก

แล้วพี่ก็เป็นคนที่อยู่ในแวดวงคนรู้จักกัน ก็เลยมีคนแนะนำให้ไปคุยกับคุณแดง พอไปคุยแล้วรู้สึกว่า เออ น่าจะทำงานด้วยกันได้นะ

เราโชคดีที่ได้เวลาจากช่องมาฟรี แล้วยังได้เงินค่าจ้างมาทำ
มันอาจจะไม่มากมาย ไม่ได้หรูหรา แต่เรามีพื้นที่ยืน เราก็พอใจแล้ว
ส่วนอย่างอื่นเดี๋ยวค่อยว่ากัน

ตอนนั้นคุณอ้าวทำอะไรอยู่

เป็นฟรีแลนซ์เกี่ยวกับการแสดง พวกละครเวทีค่ะ แต่ทีนี้พอคุณแดงบอกว่าอยากได้รายการเด็กเกี่ยวกับภาษาไทย เราก็คิดกันว่าอยากให้เป็นหุ่น คุณแดงก็คิดตัวละครขึ้นมาตัวนึงเป็นนกขุนทอง ให้ชื่อเจ้าขุนทอง แล้วก็ให้มันเป็นสัญลักษณ์ของการพูด

โจทย์แรกของรายการคือการทำเพื่อช่วยเด็กๆ เรื่องภาษาไทย พี่คิดว่ามันสำคัญมาก เราเลยไม่ได้อยากจะสอนภาษาอย่างเดียว แต่เราอยากสอนเรื่องจิตใจ เรื่องคุณธรรมที่เด็กควรมีด้วย

พอเริ่มต้นด้วยเจ้าขุนทอง เราก็ไปคิดพวกสัตว์ที่เหลือตามมา เช่น ลุงมะตูม (เต่า) หางดาบ (สุนัข) สมัยก่อนมีตัวละครเริ่มแรกประมาณสิบกว่าตัว เพราะเราต้องการตัวละครที่มีหลายอายุ หลากหลายนิสัย และมีตัวละครที่มันอาจจะเกเรบ้าง มันจะได้ผสมผสานกันเหมือนสังคมไทยจำลอง แล้วรายการก็ได้ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 1 ตุลาคม 2534

ตอนนั้นช่อง 7 เขาตั้งใจว่าจะออกอากาศตอนเช้าทุกวัน เพราะยุคนั้นเพิ่งมีการเปิดให้สถานีมีรายการออกอากาศตลอด 24 ชม. เขาเลยเอารายการนี้บรรจุเป็นรายการตอนเช้า

ตอนทำรายการใหม่ๆ ก็เลยมีรายการฉายเจ็ดวัน แล้วเขาก็ให้โรงเรียนเปิดให้เด็กดูตอนเช้าระหว่างรอเข้าแถว ซึ่งทำให้เราได้รับการตอบรับดีมาก เด็กๆ ชอบเพราะว่าเป็นรายการหุ่น และหุ่นก็ตัวใหญ่เหมือนมีชีวิตจริงๆ

อีกอย่างคือเราโชคดีที่มีผู้ร่วมงานที่ดี มีคนพากย์ที่ดี แล้วช่องก็มีพลังส่งให้รายการแรงมากในช่วงนั้น พี่เพิ่งให้สัมภาษณ์กับอีกที่ไปว่า ถ้าไม่มีช่อง 7 เราก็คงไม่ได้ทำ เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วย สปอนเซอร์ก็ไม่ช่วย ต่างคนต่างมีเหตุผลในการทำธุรกิจของตัวเอง ช่องเขาก็ทำธุรกิจนะ แต่เขาเห็นความสำคัญว่ามันต้องมีรายการอย่างนี้ให้เด็กได้เรียนรู้ พอทุกอย่างประกอบกัน เราก็เลยได้ทำมายาวนาน

เจ้าขุนทอง
คุณอ้าว—เกียรติสุดา ภิรมย์ ผู้ก่อตั้งรายการ เจ้าขุนทอง

ตอนนั้นทำไมถึงเริ่มต้นความคิดว่าจะต้องเป็นหุ่น

หุ่นมันไม่แก่ไม่ตาย (หัวเราะ) คือถ้าเราเอาเด็กหรือดารามาทำ วันนึงเด็กเขาก็โต ดาราก็มีวันแก่ และมันก็คงจะวุ่นวาย เช่น ถ้าเราเอาเด็กมาทำงาน พ่อแม่เขาก็ต้องมาด้วย ถ้าเชิญดารามาก็อาจจะยุ่งยาก หรือจะสร้างคนใหม่ มันก็เหนื่อยกว่ากันเยอะ แต่พอเป็นหุ่น แค่ได้คนทำงาน คนเชิด คนพากย์ที่ดีมาอยู่กับเรา แล้วพวกเขาทำกันด้วยจิตใจที่ดีมากๆ เพราะว่ารายได้มันน้อย มันก็พอแล้ว

คือเราโชคดีที่ได้เวลาจากช่องมาฟรี แล้วยังได้เงินค่าจ้างมาทำ มันอาจจะไม่มากมาย ไม่ได้หรูหรา แต่เรามีพื้นที่ยืน เราก็พอใจแล้ว ส่วนอย่างอื่นเดี๋ยวค่อยว่ากัน

ช่วงหลังๆ มันมีอะไรเปลี่ยนไปเยอะ
จนคนก็เริ่มถามว่าเราไม่คิดจะเปลี่ยนรูปแบบ
ไปเป็นการ์ตูน
หรือแอนิเมชั่นบ้างเหรอ
เราไม่เอา เพราะเราอยากยืนหยัดที่จะทำหุ่น”

เป็นรายการที่อยู่มา 26 ปี ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทีมงานเห็นความเป็นไปของรายการว่าอย่างไรบ้าง

คือพี่เสียดายที่เป็นคนที่ไม่ค่อยเก็บหรือสนใจอะไรพวกนี้เลย ขนาดพวกรูปถ่ายยังไม่ค่อยมี คือมันไม่ค่อยมีเวลาทำด้วย เมื่อก่อนพี่เขียนบทคนเดียวทุกตอนเลย เราก็มัววุ่นอยู่กับการเขียนบท แต่ละตัวละคร แต่ละเรื่องราว เรามัวแต่คิดว่าทำยังไงให้สอนเด็กแล้วเขาไม่เบื่อ ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเขาเรียนที่โรงเรียน

ช่วงแรกๆ มันบูมมากเลยนะ ประมาณปี 34 จนถึง 40 ถือว่ายังโอเคอยู่ มีจดหมายเข้ามาที่รายการอาทิตย์ละสามถุงใหญ่ๆ

ตอนนั้นเราให้เด็กเขียนจดหมายเข้ามา คิดแล้วก็ยังรู้สึกเสียดายที่ตอนนั้นเราไม่ค่อยได้ตอบสนองเขา เช่น จดหมายที่เราให้เด็กๆ เล่าถึงสิ่งที่น่าภูมิใจในจังหวัดที่อยู่ของตัวเอง ให้เขาเล่าและถ่ายรูปส่งมา เพราะเราอยากให้เด็กได้มีส่วนร่วม

จนกระทั่งช่วงหลังๆ มันมีอะไรเปลี่ยนไปเยอะ จนคนก็เริ่มถามว่าแล้วเราไม่คิดจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการ์ตูน หรือเป็นแอนิเมชั่นบ้างเหรอ เราไม่เอา เพราะเราอยากยืนหยัดที่จะทำหุ่น เพราะหุ่นมันอยู่ได้ด้วยมือคน ลึกๆ แล้วพี่ว่ารายการเรามันมีอะไรที่ลึกซึ้ง เพราะมันมีการสร้างแรงบันดาลใจ

ส่วนช่วงที่ตกต่ำหรือมีการเปลี่ยนแปลงรายการ ก็คือโดนย้ายไปตอนบ่าย แล้วก็ย้ายไปตอนตีห้าครึ่งอะไรอย่างนี้ อันนี้มันก็เป็นเรื่องธุรกิจ เมื่อก่อนตอนเช้านี่เป็นเวลาที่ไม่มีใครอยากจะเอารายการมาลงเลยนะ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกคนอยากได้เอาไว้ดูข่าว ทุกช่องก็เป็นข่าว ข่าวหมดเลย รายการข่าวก็เลยมาเบียดเรา เพราะช่องก็ต้องสู้กับคนอื่นด้วยข่าวบ้าง เราก็โดนเบียดจนต้องกระเถิบเวลาไปมา

อย่างตอนนี้ก็ได้เวลามาอยู่วันอาทิตย์ แล้วก็ได้ข่าวว่าต้นปีหน้า อาจจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์อีกแล้ว แต่ว่าก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะยังไงก็ยังอยู่ มันก็ยังดีนะ

แล้วก็มีช่วงที่พี่ป่วย แล้วพี่ก็ทำงานไม่ได้ ตอนนั้นมีลูกชายคนที่สองมาช่วยดู แต่ว่าเขาเขียนบทไม่ได้ ก็เลยต้องงดรายการไปเลยปีนึง

พอช่วงปี 51 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรายการและการทำงานเยอะ เช่น เราเคยมีทีมงานเยอะกว่านี้ พอมีการเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องเปลี่ยนเป็นไม่ไปถ่ายทำที่ช่อง 7 แล้ว เมื่อก่อนเราใช้สตูดิโอของเขา เพราะเขามีอุปกรณ์พร้อม ถ่ายเสร็จแล้วก็ตัดต่อให้เสร็จที่นู่นเลย

พอตอนหลังรายการเหลือ 15 นาที คนที่ทำงานด้วยก็เหลือน้อยลง ฝ่ายเทคนิคก็ไม่ได้ใช้ของช่องแล้ว ก็เหลือเบ็ดเสร็จทั้งคนถ่าย คนตัดต่อ แล้วก็คนแสดงประมาณ 3-4 คน รวมลูกชายด้วยที่ทำทุกอย่างเลย ทั้งเชิด ทั้งไปหาซื้อของ ทำพร็อป ทำนู่นทำนี่ แล้วตอนนี้ก็มีลูกชายคนโต (คุณผาล ภิรมย์) ก็มาช่วยเขียนบท

คือที่เรายังทำงานนี่ก็อยากจะบอกว่า เพราะเราไม่มีจะกินค่ะ (หัวเราะ)

เจ้าขุนทอง
คุณผาล ภิรมย์—ลูกชายคนโต และผู้สืบทอดคณะหุ่นและรายการเจ้าขุนทอง

ตอนนี้รายการมีวันเดียวแล้ว

เหลือวันเดียวค่ะ แล้วก็เป็นรายการ 15 นาที เป็นเนื้อรายการจริงๆ ประมาณ 11 นาที มันก็เลยมีปัญหาว่าเราทำต่อได้ แต่เราเลี้ยงคนไม่ได้ เพราะว่าเราไม่สามารถให้เขาเป็นเงินเดือนได้ รายได้มันนิดเดียว

เมื่อก่อนเราออกอากาศทุกวัน แต่ว่าเป็นรีรัน 3 วัน เช่น มีตอนใหม่วันพฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ก็จะเอาไปรีรันวันจันทร์ อังคาร และพุธ ยุคแรกก็เลยทำกัน 4 ตอนต่อสัปดาห์ ต่อมาก็ลดลงเรื่อยๆ

ตอนนั้นเลยมีทีมงานหลายคน แต่เขียนบทนี่ไม่ต้องพูดถึง เขียนคนเดียว แต่เมื่อก่อนยังสาวอยู่ก็เลยมีแรง เขียนได้วันละ 5 ตอนก็มี แล้วตอนนั้นรายการตอนละครึ่งชั่วโมง ก็ถือว่าเยอะมากนะ

ตอนนี้แก่แล้ว เขียนแค่วันละตอนยังยากเลย หัวไม่แล่น เหนื่อย (หัวเราะ)

ขั้นตอนการทำงานคือ

ก็เขียนบทก่อน เรามีตัวละครอยู่แล้ว ก็เริ่มจากหาข้อมูลว่าช่วงนี้จะเสนอเรื่องราวอะไร แล้วก็ทำฟอร์แมตว่าตรงนี้จะเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เปิดรายการแล้วก็จะทักทายช่วงนี้ ช่วงนี้เป็นเพลง แล้วแต่ว่าอยากทำยังไง

ทีนี้เวลาเตรียมงาน เราก็ต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ต้องรู้ว่ามีคนพากย์กี่คน ต้องใช้ของอะไรบ้าง อย่างพวกผลหมากรากไม้ กระจาด กระบุง ถ้าเขียนมาในบทแล้วจะหาของทันไหม เวลาเขียนบทไป บางทีเราก็ใส่ตัวละครใหม่ๆ เข้ามา แล้วน้องๆ ก็จะมาบอกว่า เฮ้ยพี่ มันทำไม่ทัน บางทีเขาก็ต้องเอาตัวนั้นตัวนี้มาดัดแปลง มันก็ต้องมีการแก้ปัญหา แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับบท มันต้องทั้งสนุก ทั้งทำงานได้ เราก็ต้องคิดว่าเขาจะทำงานกันได้ไหม เชิดกันได้ไหม เช่น เราคิดบทที่ต้องมีชาวบ้าน 15 คน จะหาคนมาเชิดเยอะขนาดนั้นไม่ได้

แต่สมัยนี้มันดี เพราะมันใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกช่วยตัดแปะได้

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังคงนำเสนอเรื่องราวแบบสังคมจำลองอยู่

คือโดยเนื้อหา โดยบุคลิกตัวละคร มันมีความเป็นลุงป้าน้าอา มีเด็ก มีความเชื่อมโยงถ้อยทีถ้อยอาศัยและพึ่งพากัน เหมือนสังคมเล็กๆ ที่เราอยากได้ เขาอยู่กันเหมือนหมู่บ้านเล็กๆ ตามต่างจังหวัด เขาช่วยกันดูแลป่า ถ้ามีโจรมา เขาก็จะช่วยกันไล่ นี่คือสังคมที่เราอยากได้ ในขณะที่ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่พอเด็กโตมา เราก็จะส่งเขาไปเรียนหนังสือ พยายามให้เด็กเรียนเก่งๆ ทำงานเยอะๆ แล้วก็ซื้อบ้านซื้อรถ หรือไปเมืองนอก อันนี้คือสังคมที่มันก็ดีเหมือนกัน แต่เราคิดว่า ยังไงเด็กก็ยังต้องอยู่ร่วมและเชื่อฟังผู้ใหญ่

ยังเน้นเรื่องภาษาไทยเป็นหลักเหมือนเดิมไหม

ภาษาก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ไม่เท่าเมื่อก่อน เพราะเมื่อก่อนนี่มันเน้นเรื่องภาษาเป็นหลักเลย มีการอธิบายว่าคำนี้แปลว่าอะไร แต่เดี๋ยวนี้ พี่คิดว่าถ้าจะมัวมาสอน เวลามันก็น้อยไป แต่ก็ยังมีมาเสริมนิดหน่อย เช่น มีพวกสำนวนสุภาษิต หรือมีเรื่องคำที่เขียนผิดบ่อย คะ ค่ะ จ๊ะ จ๋า ซึ่งใช้ผิดกันเยอะมาก ตั้งแต่ตอนนั้นมาจนตอนนี้ก็ยังคงผิดอยู่

แต่ก็อย่างที่บอกว่า เราไม่มีฟอร์แมตแน่นอน อย่างตอนนี้พี่กำลังจะเปลี่ยนช่วงนิดหน่อย คือเราอยากพูดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับป่า เพราะไม่อยากให้เด็กลืมไปว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ มันเริ่มต้นมาจากป่าทั้งนั้นเลย

มีเรื่องอยากเล่าให้ฟังคือ มีเด็กฝรั่งคนนึงเขามาอยู่ที่ภาคอีสานของเรา วันนึงเขาเขียนจดหมายไปบอกแม่ว่า เขาเพิ่งรู้ว่าปลามันมีก้างด้วย คือบ้านเขาอาจจะได้กินปลาแบบที่เขาแล่เป็นชิ้นมาแล้วตั้งแต่เกิด เด็กก็เลยไม่รู้ว่าปลาที่เป็นตัวๆ นี่มันจะมีก้าง

เด็กเดี๋ยวนี้โตมาในคอนโดฯ บ้าง ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัดบ้าง แล้วผู้ใหญ่ก็พยายามทะนุถนอม เพราะงั้นเด็กก็จะไม่รู้อะไรบางอย่าง เช่น ไม่รู้ว่ากระเทียมหน้าตาเป็นยังไง หัวหอมเป็นยังไง เพราะเขาเคยเห็นแต่ที่มันปอกมาแล้วซอยมาแล้ว อีกอย่างคือเด็กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เล่นทราย เมื่อก่อนรุ่นเราแทบจะไม่ต้องมีของเล่น เพราะเราเล่นหินเล่นดินเล่นทราย

การจำลองสังคมก็เลยเป็นที่มาของการกำหนดคาแรกเตอร์ตัวละคร

เริ่มจาก ‘เจ้าขุนทอง’ เราอยากให้เขาเป็นสัญลักษณ์ของการพูด ส่วนสัตว์อื่นๆ มาจากเราต้องการความหลากหลาย หมายถึงหลากหลายทั้งขนาดของรูปร่าง เช่น มีสูง มีเตี้ย มีผอม มีอ้วน มีช้า มีเร็ว และแตกต่างในเรื่องของความคิดจิตใจและวัย คือต้องมีคนแก่ คนรอบรู้ วัยรุ่น เด็กเล็ก เด็กโต ผู้ชาย ผู้หญิง แต่ผู้หญิงนี่เอาจริงๆ แล้วไม่ถนัดเลย ทำบทออกมาก็เลยมีแต่ผู้ชายทั้งนั้นเลย

แล้วเรามีทั้งคนดี คนเลว แต่คนเลวของพี่นี่ก็ไม่ได้เลวบริสุทธิ์นะ เขาอาจจะเลวด้วยความไม่รู้ เล่น ตะกละไปหน่อย ใจร้อนไปหน่อย เห็นแก่ตัวไปนิด หลงผิดไปชั่วคราว แล้วสุดท้ายก็จะมีคนมาสอน พี่จะไม่เขียนให้มีอะไรที่ตายจริงหรือว่ารุนแรงจริงๆ เรื่องความรุนแรงพี่ว่ามันไม่ดี

เริ่มแรกมามีหุ่นทั้งหมดกี่ตัว

เอาเท่าที่นึกออกก่อนนะ ก็มีเจ้าขุนทอง หางดาบ ลุงมะตูม แมวสีสวาด หนอนด้น ช้างบุญทูม ค้างคาววอแว แล้วก็ตัวที่ดังสุดเลยน่าจะเป็นควายฉงน

ฉงนเป็นตัวที่ต้องพูดถึงนิดนึง เพราะเป็นตัวละครที่เราภูมิใจมาก เพราะว่า แต่เดิมหนังสือนิทานก็ดี หรือตุ๊กตาที่เขาทำขายกันก็ดี มันจะเป็นสัตว์น่ารักๆ เป็นหมีบ้าง ยีราฟบ้าง แต่มันไม่ใช่สัตว์ไทย แล้วรายการเรามันไทยอะ มันไทยแบบวิถีไทยนะ ไม่ได้ไทยแบบต้องมารำไทยให้เด็กดู เราก็คิดว่าควายนี่มันมีส่วนสำคัญกับชาติเรานะ ทั้งไถนา ทั้งทำงาน ดังนั้น เด็กควรจะรู้จักแล้วก็เห็นความสำคัญของควาย

พอเปิดตัวฉงนในรายการวันแรก เช้าวันถัดมาปรากฏว่ามีผู้หญิงสาวๆ กรี๊ดฉงนกันเยอะมาก เหมือนเขาเป็นดาราเลย ต่อมาเราก็เริ่มเห็นว่ามีคนทำตุ๊กตาควายออกมาขาย เราก็ดีใจนะที่เราชงให้คนสนใจควายได้สำเร็จ

เจ้าขุนทอง

แล้วก็ ‘ขอนลอย’ (จระเข้) เขาจะมีความเกเรนิดๆ แต่ไม่ได้เกเรที่สุด จระเข้นี่มันเกิดจาก… (คิด) จำไม่ได้ว่าเราเป็นคนถามเด็กๆ ไป หรือมีเด็กๆ เขียนเข้ามาบอกว่าชอบจระเข้ เราก็เลยลองทำหุ่นจระเข้ดู เพราะว่าจระเข้นี่มันน่าสนใจตรงที่ปากมันยาวแล้วก็อ้าได้กว้างเนี่ย เวลาพูดแล้วมันตลก แล้วก็น่าสนใจตรงสีสัน มันมีลายมีความตะปุ่มตะป่ำ แล้วก็มีคนชอบงู อยากให้ลองทำหุ่นงู แต่คิดว่าเด็กน่าจะกลัวมากก็เลยไม่ได้ทำ

แล้วก็มี ‘หนอนด้น’ เมื่อก่อนเรามีช่วงอ่านหนังสือไง หนอนด้นเขาก็เป็นหนอนหนังสือ แต่ตอนนี้เลิกเล่นตัวนี้ไปแล้ว เพราะมันตัวใหญ่มากเลย

‘ป้าไก่’ นี่เป็นตัวละครเก่า เคยเล่นรายการอื่นมาแล้ว

‘ย่น’ คือหมาที่มันแก้มห้อยๆ ตัวนี้จะเกเรกว่าขอนลอย แล้วก็มีหมาอีกตัวคือ ‘หางดาบ’ เขาจะเหมือนเป็นพระเอก แล้วก็มี ‘เป็ดน้อย’ ที่เป็นนางเอ๊กนางเอก

ส่วน ‘ลุงมะตูม’ (เต่า) เขาจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นเจ้าของช่วงที่มันวิชาการ ให้ความรู้ สั่งสอนเด็ก แล้วก็มี ‘คุณตาไฉน’ เป็นคุณตาควายแก่ๆ

คุยเรื่องรายการหุ่น แต่ยังไม่ได้ขอความรู้เรื่องหุ่นเลย

คือหุ่นนี่ตามกลไกการขยับของมัน ก็จะมีอยู่ประมาณ 3-4 ประเภท อันแรกคือพวกหุ่นถุงมือหรือหุ่นถุงเท้า ที่เวลาจะเล่นก็ใส่มือเข้าไปเลย แล้วก็สามารถขยับหัว ขยับแขน หรือปาก เราก็ใช้นิ้วของเราบังคับ แล้วก็มีหุ่นไม้ค้ำ ซึ่งจะเป็นประเภทเดียวกับหุ่นกระบอกของไทย คือมีไม้เอาไว้เชิด อย่างหุ่นในรายการเจ้าขุนทอง ก็จะปนกันระหว่างประเภทแรกกับประเภทที่สอง เพราะว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Muppet Show สมัยพี่มันดังมาก เราก็เลยติดใจแบบนั้น

ส่วนอีกอันก็เป็นหุ่นเงา หรือพวกหนังตะลุง แต่บางคนบอกว่ามีอีกหุ่น คือหุ่นยนต์ (หัวเราะ) พี่ว่ามันไม่ใช่นะ หุ่นมันต้องมีคนบังคับการเคลื่อนไหวของมัน ต้องขยับโดยคน เชิดโดยคน แต่หุ่นยนต์มันไม่ใช่

ก่อนจะมาเป็นหุ่นแต่ละตัวในเจ้าขุนทอง

เราก็ดีไซน์คาแรกเตอร์ แต่เราจะต้องรู้ว่าจะทำอะไรไปเพื่ออะไร และตัวละครแต่ละตัวนี่เราสร้างคาแรกเตอร์อะไรไว้ให้เขา แล้วค่อยเอามาเขียนเป็นแบบ ก็วาดเป็นการ์ตูน 2D ลงกระดาษ

เมื่อก่อนเนี่ย พี่เริ่มต้นจากการมีเพื่อนที่รักกันมาก เขาเก่งมาก เขาเป็นคนที่ดีไซน์หุ่นได้หน้าตาแปลกๆ เป็นคนล้ำมาก หุ่นชุดแรกนี่เขาก็ทำทั้งหมด ส่วนเราเป็นคนตั้งชื่อและกำหนดคาแรกเตอร์ ว่าตัวนี้โง่ ตัวนี้สติแตก ตัวนี้ง่วงนอน แล้วเขาก็จะดีไซน์ออกมาตามที่เราต้องการ ตอนนั้นก็คิดกลไกไปด้วยว่าอยากให้อะไรขยับได้หรือไม่ได้ ที่ต้องคิดตั้งแต่ตอนนั้น เพราะเกิดวาดหน้าตาแบบนี้ออกมา แต่เอามาทำแล้วขยับปากไม่ได้ แบบนี้ก็ไม่ได้นะ

อย่างตอนทำหุ่นแมวออกมาก็มีปัญหาที่สุด เพราะว่าแมวหน้ามันสั้น ปากมันสั้น ถ้าจะให้ปากมันใหญ่ ตัวก็ต้องใหญ่มาก แต่นี่ตัวมันเล็ก ปากก็เล็ก พอทำออกมาแล้วก็ไม่มีที่เชิดปาก ปากก็ขยับได้นิดเดียว ความน่ารักของหุ่นมันอยู่ที่ปากขยับได้นี่แหละ แล้วเราเป็นรายการภาษาไทยด้วย เรายิ่งอยากให้มันขยับปากพูดชัดๆ กว้างๆ

ตอนที่ดีไซน์รูปร่าง กลไก และสีสันแล้ว ก็ต้องคิดเรื่องวัสดุด้วย ของเราส่วนใหญ่ทำด้วยฟองน้ำ แต่บางเจ้าเขาจะมีไม้ มีกระดาษ บางเจ้าก็หล่อยางพารา เราก็เคยลองหล่อยางพาราด้วยนะ แต่มันหนัก ทำยังไงมันก็หนัก ฟองน้ำมันดีตรงที่ยืดหยุ่นได้ แต่มันก็คอนโทรลยากนิดนึง แล้วก็เปื่อยง่ายผุง่าย เมื่อก่อนก็เลยทำด้วยฟองน้ำกับโฟมสองอย่าง แต่โฟมเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว

ที่เล่านี่เป็นขั้นตอนการทำสมัยโบราณนะ แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังโบราณแบบนั้นอยู่ (หัวเราะ)

เจ้าขุนทอง

ปัจจุบันนี้ทีมงานเชิดหุ่นหนึ่งตอนใช้กี่คน

ตอนนี้ก็สามคน แล้วก็ในสามคนนี้จะเชิดได้หมดทุกตัว แล้วก็ยังมีการทำกราฟิกมาแปะช่วยได้ เช่น ในบทมีตัวละครสัก 6 หรือ 9 ตัว เราก็เชิดทีละสามตัวแยกกันแล้วจับมาซ้อนกัน

มีการซักซ้อมกันก่อนไหม

ตอนนี้ไม่ต้องซ้อมแล้ว เพราะเราจะลงเสียงไว้ก่อน ไม่เหมือนพวกการ์ตูนที่ค่อยมาลงเสียงทีหลัง แล้วคนลงเสียงกับคนเชิดก็คนแถวนี้แหละ แต่ว่าพอเราลงเสียงก่อน เขาก็จะรู้จังหวะของหุ่น รู้การเคลื่อนไหว

ปกติคุณอ้าวพากย์เป็นตัวไหนบ้าง

หลายตัว (หัวเราะ) ปกติคนนึงก็ทำเสียงได้ 4-5 เสียง แต่ว่าพี่ตอนนี้เสียงมันแก่แล้ว ก็เลยเล่นตัวที่มันสาวๆ ไม่ค่อยได้ แต่ยังเล่นเป็นเด็กผู้ชาย เป็นแม่มด เป็นคุณยาย เป็นเจ้าขุนทอง จริงๆ แล้วทุกคนจะทำเสียงได้หมด แต่นับวันเสียงก็จะยิ่งแก่ มันก็ไม่มีแรง เพราะพากย์นี่ต้องใช้พลังมากนะ ตอนที่ป่วยถึงทำไม่ได้

โลกมันพัฒนา กระแสมันก็เปลี่ยนไป
แต่เราคิดว่าเราก็ต้องคงความดีเอาไว้
อะไรที่มันดีเราก็ควรจะมีเอาไว้ให้เขาดู ให้เขาเรียนรู้
แต่เขาจะเรียนรู้แค่ไหน มันอยู่ที่การปลูกฝัง

ถ้าถามเด็กในยุคยี่สิบกว่าปีก่อน ใครๆ ก็รู้จักเจ้าขุนทอง เด็กทุกวันนี้ยังเป็นแบบนั้นไหม

เด็กยุคนี้ ยิ่งเด็กกรุงเทพฯ นี่ไม่รู้จักเลย เด็กต่างจังหวัดยังรู้จักอยู่บ้าง เดี๋ยวนี้มันคงมีอะไรให้ดูเยอะขึ้น รายการแบบนี้ก็สามารถหาของเมืองนอกดูเองได้ง่ายขึ้นด้วย ของญี่ปุ่น ของอะไรก็ได้ แต่พี่ไม่ได้ดูมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนะ เพราะว่าดูแล้วเราก็อาย (หัวเราะ)

คนมีทางเลือกมีอะไรให้ดูเยอะขึ้น ซึ่งมันก็มีทั้งดีและไม่ดี อย่างเด็กเดี๋ยวนี้ถ้าเล่นเกม เขาก็จะหลุดเข้าไปในโลกเกมนั้น จะไปบอกให้เขามาดูรายการเจ้าขุนทองสิ มันก็ยาก

เราก็ต้องเข้าใจตามนั้นแหละ เพราะโลกมันพัฒนา กระแสมันก็เปลี่ยนไป แต่เราคิดว่าเราก็ต้องคงความดีเอาไว้ อะไรที่มันดีเราก็ควรจะมีเอาไว้ให้เขาดู ให้เขาเรียนรู้ แต่เขาจะเรียนรู้แค่ไหน มันอยู่ที่การปลูกฝัง

คือพี่เคยเห็นพ่อแม่ที่ไปนั่งกินข้าวด้วยกัน แล้วปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น ส่วนพ่อแม่นั่งเล่นโทรศัพท์ ถามว่าเขารักลูกไหม เขารักนะ แต่เขาลืมไปว่าถ้าเขาไม่เป็นคนที่ชี้นำสิ่งดีๆ ให้ลูกตั้งแต่เล็ก ต่อไปลูกก็จะไม่ค่อยฟังเขา แต่ถ้าครอบครัวยังมีความเหนียวแน่น สังคมก็จะน่ารัก จะมีการรับฟังกัน อธิบายกันได้ ก็จะเอื้ออาทรกันมากกว่านี้ พี่ว่าตอนนี้มันค่อยๆ หายไปแล้ว ซึ่งก็น่าเสียใจ แต่เราอย่าไปหวังว่ารายการโทรทัศน์จะช่วยได้เลย มันก็คงได้แค่บางส่วน

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ยังคงทำรายการอยู่หรือเปล่า

เพราะว่าช่องเขาช่วยเราเยอะด้วย เขาเห็นคุณค่าของมัน เพราะตัวรายการไม่เคยมีสิ่งที่เลวร้าย เรานำเสนอแต่สิ่งที่ดีมาตลอด คือยังไงก็มั่นใจว่าพี่ทำในสิ่งที่ดีออกไป อยู่ที่คนจะเลือกดู ถึงแม้ว่าความสนุกสมัยนี้มันจะไม่เหมือนเมื่อก่อน เด็กก็ไม่ตื่นเต้นกับหุ่นแบบนี้เหมือนเดิมแล้ว

จะมีการปรับเปลี่ยนบ้างไหม

พี่เคยตอบเรื่องนี้มาหลายครั้งมาก คือเรายังเห็นคุณค่าของหุ่นที่มันสร้างโดยคน เชิดโดยคน ใช้เสียงคน มันก็ดีคนละแบบกับพวกการ์ตูนนะ การ์ตูนก็ดี มันสร้างจินตนาการได้เยอะแยะ พี่ก็ชอบดู แล้วพี่ก็ชอบดูอะไรใหม่ๆ เหมือนกัน แต่หุ่นมันคือมนุษย์ และมันก็อบอุ่นกว่า

ส่วนเนื้อหาของมันก็เป็นเสน่ห์นะ ความเชยของมันก็เป็นเสน่ห์ เพราะว่ามันมีอะไรเชยๆ ง่ายๆ อย่างพวกของที่เป็นพร็อป บางทีเราก็หยิบอะไรง่ายๆ มาเล่น

พี่ยอมรับว่าทุกอย่างมันต้องเปลี่ยน ต้องพัฒนา แต่ถ้าเขายังให้เราอยู่ มันอาจจะเพราะถ้าไม่มีรายการเราแล้ว มันก็ไม่มีหุ่นง่อยๆ แบบนี้สิ (หัวเราะ)

มันจะมีการจบเนื้อเรื่องหรือเปลี่ยนตัวละคร เพื่อสร้างเจ้าขุนทองเจเนอเรชั่นใหม่ไหม

เราไม่ได้ทำเป็นซีรีส์ ซึ่งถ้าเป็นซีรีส์มันอาจจะมีการจบได้ แต่เราเป็นรายการโทรทัศน์ที่มันก็จะอยู่ไปอย่างนี้ ไม่แก่ไม่ตาย แต่ในด้านรูปแบบ ถ้าไม่ใช่ตัวละครพวกนี้ ก็คงไม่มีใครรู้จัก ยังไงมันก็ต้องมีพวกเจ้าขุนทอง มีฉงน มันถึงมีการเชื่อมอยู่ได้ ส่วนตัวที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เราก็จะเอาออก แล้วเปลี่ยนเอาตัวใหม่เข้ามา และก็อยู่ที่เงินทุนด้วย ถ้าเราจะสร้างหุ่นใหม่ขึ้นมา มันก็ควรจะมีเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาสร้างความแปลกตา ถ้าเป็นไปได้มันก็ดี แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คิดนะ

เรายังอยากทำอะไรที่เป็นความชำนาญของเราอยู่ ไม่อยากจะหยิบจับอะไรที่ต้องหาความรู้ใหม่ ในวัยนี้พี่ก็ไม่อยากให้คนทำเขาลำบากกันแล้ว

ส่วนตัวคิดว่าจะทำรายการต่อไปถึงเมื่อไหร่

ก็ตอนนี้พี่เองก็ยังทำได้อยู่ ลูกพี่ก็เข้ามาทำได้อยู่ พี่นพ (คนทำหุ่น) ก็ยังแข็งแรงอยู่ เราก็ยังทำไปเรื่อยๆ

 

คุยกับผู้ก่อตั้งและให้กำเนิดคณะหุ่นเจ้าขุนทองและผองเพื่อนมาจนถึงจุดที่เราหายสงสัยว่า ทำไมรายการเล็กๆ อย่างเจ้าขุนทองถึงได้มีอายุยืนยาวมากว่า 25 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังอดสงสัยต่อไม่ได้ว่า ในยุคที่รายการและวงการโทรทัศน์มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เจ้าขุนทองเองก็กำลังจะมีผู้เข้ามารับช่วงดูแลรายการและคณะหุ่นต่อจากคุณอ้าว ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น คุณผาล ภิรมย์—ลูกชายคนโตของคุณอ้าว ที่บอกกับเราว่าตอนนี้เขาเลือกแล้ว ที่จะเดินไปกับคณะหุ่นเจ้าขุนทองอย่างเต็มตัว

เจ้าขุนทอง

ในฐานะลูกชายคนโตแปลว่าได้เห็นคุณแม่ทำเจ้าขุนทองมาตั้งแต่เด็กๆ

คุณผาล: ใช่ครับ แล้วตั้งแต่ก่อนหน้านั้น แม่เขาก็จะทำอะไรเกี่ยวกับรายการเด็กอยู่แล้ว

ตอนเริ่มมีรายการเจ้าขุนทอง คุณผาลอายุกี่ขวบ

คุณผาล: 12 ครับ ตอนนั้นประมาณ ป.6

เรียกว่าใกล้ชิดกับเจ้าขุนทองในระดับไหนดี

คุณผาล: ก็วิ่งเล่นอยู่ในกองถ่ายตั้งแต่เด็ก แล้วก็อยู่กับพี่นพ ตอนนั้นถ่ายที่ช่อง 7 เราก็ได้ไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กผู้ชาย แต่ไม่ได้สนใจหุ่นเลย ไปนั่งเล่นเศษฟองน้ำ ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ออกจะเบื่อด้วย เพราะเหมือนเราต้องอยู่ต้องเห็นมันตลอด

ปัจจุบันบทบาทของคุณผาลในรายการเจ้าขุนทองก็คือ…

คุณผาล: ก็เหมือนเรามาทำแทนแม่ ตั้งแต่เขียนบท การจัดการทั่วไป ไปจนถึงถ้ามีอีเวนต์ เราก็ไปด้วย ไปเล่นด้วย ตอนนี้มันเป็นความชอบแล้ว ก็สนุกแล้ว

ตอนแรกบอกว่าไม่ได้สนใจหุ่นเลย แล้วไปเริ่มสนใจตอนไหน

คุณผาล: ก็ไม่ได้สนใจนะ นี่ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้สนใจหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่มันเป็นสิ่งที่เราทำแล้วสนุกกับมัน แล้วเราก็เชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี่มันเป็นสิ่งดีๆ คือมันเป็นหลายๆ เหตุผล แต่ไม่ใช่ว่าชอบเล่นหุ่นเลยทำให้เรามาทำตรงนี้

เริ่มเข้ามาทำตอนไหน

คุณผาล: ตอนแรกก็มีเข้ามาหลังจบมหา’ลัยเป็นช่วงสั้นๆ แต่ผมยังอยากไปทำนู่นนี่นั่นของเราก่อน ก็เลยไปทำอย่างอื่นก่อน

รายการเจ้าขุนทองเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียนมาไหม

คุณผาล: ผมเรียนวรรณคดีอังกฤษที่ธรรมศาสตร์ ก็ไม่ค่อยเกี่ยว หรือเกี่ยวนิดหน่อย คืออาจจะเอามาเขียนบทได้ แต่ก็ไม่เชิงหรอก เพราะตอนเรียนไม่ได้ตั้งใจเท่าไร มันเหมือนเป็นความชอบส่วนตัวเรามากกว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับที่เรียนมา

พอเรียนจบแล้วก็…

คุณผาล: ก็ไปทำอย่างอื่น (หัวเราะ) เพิ่งมาทำจริงจังและคิดว่าจะเดินทางสายนี้แน่ๆ ก็ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว เริ่มอย่างแรกคือเขียนบท เพราะเป็นอย่างเดียวที่หาคนมาทำแทนไม่ได้ เพราะเราต้องเข้าใจคาแรกเตอร์ทั้งหมด ทั้งของตัวละครและของรายการด้วย ซึ่งเราอยู่มาก่อนก็จะสามารถทำต่อได้เลย แต่ก็ไม่ได้เท่ากับที่แม่ทำไว้นะครับ แต่ก็ต่อไปในทิศทางเดียวกันได้

ทุกวันนี้เป็นคนเขียนบทเองทั้งหมด

คุณผาล: ยังครับ ก็ยังแบ่งกับแม่ครึ่งๆ

ความแตกต่างของบทที่คุณแม่เขียนกับคุณผาลเขียน

คุณอ้าว: ของคนนี้เขาจะวัยรุ่น (หัวเราะ)

คุณผาล: ก็ด้วยฮะ แต่บางทีผมเป็นคนจริงจัง มันก็จะแอบมีอะไรจริงจังอยู่ในเนื้อหาบ้าง

ช่องมีส่วนในการกำหนดหรือตรวจเนื้อหาก่อนไหม

คุณผาล: ไม่ฮะ เขาดูภาพรวมทั้งรายการ เขาค่อนข้างไว้ใจและเชื่อว่าเราจะไม่ทำอะไรเสียหาย

แล้วคุณแม่ต้องตรวจงานลูกไหม

คุณอ้าว: ผาลเนี่ย เราเลี้ยงเขามา เราก็รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง หรือเขาจะนำเสนออะไรก็ไว้ใจเขาอยู่แล้ว

คุณผาล: แต่บางทีก็มีรีเช็กกัน หรือไม่แม่เขาก็จะถามว่ามันแรงไปไหม หรือบางทีเราก็บอกแม่ว่า สมัยนี้เรื่องนี้เขาไม่พูดกันแล้วนะ จะเป็นทำนองนี้มากกว่า

คุณอ้าว: ที่ช่วยเขาดูนอกเหนือจากเนื้อหา จะเป็นเรื่ององค์ประกอบต่างๆ มากกว่า เช่น พร็อปหรือคนเชิด ซึ่งคนเขียนบทจะต้องรู้ว่าเรามีอะไรแค่ไหน ทำไหวไหม ไม่ใช่เขียนอะไรไปเรื่อย อย่างช่วงแรกก็ต้องบอกเขาว่า ตัวละครมันต้องน้อยลงนะ ไม่ใช่เขียนมา 10 ตัว 20 ตัว คนเชิดตายกันพอดี เขาต้องรู้ว่าเรามีข้อจำกัดแบบนี้

เรียกว่าตอนนี้อยู่ในฐานะผู้สืบทอดเจ้าขุนทองเต็มตัว

คุณอ้าว: เราก็ถือว่าเขาเป็นผู้สืบทอดนะ เพราะว่าพี่เองก็ไม่รู้จะทำไปอีกกี่ปี

คุณผาล: ใช่ฮะ เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ค่อยทำแล้ว (หัวเราะ)

คุณอ้าว: ยังทำ (หัวเราะ) แต่ก็ไปทำรายการอื่นบ้าง คราวที่แล้วก็เพิ่งเขียนไปสี่ตอนไง (หัวเราะ) แต่นอกจากในส่วนรายการ พวกงานอีเวนต์ต่างๆ เราก็ให้เขาเป็นคนรับผิดชอบ เพราะว่างานเดี๋ยวนี้มันก็วัยรุ่น เช่น งาน Wonderfruit หรืองานอบรมต่างๆ เขาก็ไปในนามเจ้าขุนทอง

อะไรทำให้เราเลือกที่จะทำสิ่งนี้

คุณผาล: สิ่งที่เราพูด สิ่งที่รายการเราพูด เราได้พูดกับเด็ก ยังไงสิ่งนี้ก็ยังจำเป็น สมมติเราเห็นโลกทุกวันนี้แล้วรู้สึกแย่ว่า ทำไมเด็กถึงบกพร่องเรื่องคุณธรรม ทำไมเห็นแก่ตัว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็คิดว่าถ้าเราพยายามทำรายการที่บอกเขาให้ได้มากที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ อย่างน้อยมันก็อาจช่วยได้บ้าง

แล้วก็ด้วยความเป็นเจ้าขุนทอง มันพูดเรื่องภาษาและวัฒนธรรมอยู่แล้ว ก็ยิ่งดีเลย เพราะเรามีอะไรอยากบอกอยากแก้ไขเยอะ เราก็อาศัยทางนี้บอกออกไป

กลับมาที่เรื่องหุ่น, ทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในการเล่นหุ่นคืออะไร

คุณผาล: ถ้าถามพวกเราทั้งหมด ผมว่าต้องใช้ความเข้าใจ เข้าใจการแสดง เข้าใจการถ่ายทอดความรู้สึก ส่วนเรื่องทักษะอื่นๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ฝึกไปมากกว่า

คุณอ้าว: มันต้องเริ่มจากจิตใจก่อน จิตใจที่เขาอยากจะมาทำ

คุณผาล: กลับมาเรื่องว่าต้องฝึกฝน มันต้องฝึกแน่นอน เพราะว่าถ้าหยิบหุ่นขึ้นมา ระหว่างคนเล่นเป็นกับเล่นไม่เป็นมันดูออกเลยนะ ทั้งที่มันเหมือนจะไม่มีอะไรมาก หุ่นตัวนึงก็แค่ขยับปากขยับมือใช่ไหม แต่สมมติหุ่นตัวนี้จะไปหาของ คนที่เข้าใจมัน เขาจะรู้ว่าหุ่นจะต้องมีท่าเดิน แล้วมันหาของแบบรีบ หรือว่าค่อยๆ หา มันต้องมีการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก

คุณอ้าว: นอกจากเล่นเป็นแล้ว การเล่นเพื่อออกโทรทัศน์มันก็คนละแบบ เพราะโทรทัศน์มันมีกรอบ มีพื้นที่จำกัด จะมาเล่นแล้วหัวโผล่ก็ไม่ได้ มายืนเกะกะกันไม่ได้ ซ้ายเกินไปหรือขวาเกินไปก็ไม่ได้

แบบไหนยากกว่ากัน ระหว่างเล่นเพื่อออกโทรทัศน์กับเล่นให้คนดูสดๆ

คุณผาล: คนละอย่างครับ ข้อดีของโทรทัศน์คือเล่นแล้วเอามาซ่อมได้ แต่ในสายตาคนเล่น ผมว่าเล่นต่อหน้าคนจริงๆ สนุกกว่า เพราะมันไม่มีกรอบ แต่มันมีเสียงหัวเราะ มีการตอบสนอง แล้วมันก็มีความวุ่นวายนะ เวลาเล่นๆ อยู่แล้วต้องเปลี่ยนหุ่นหรือมาเชิดเป็นพร็อปอะไรงี้ มันก็สนุกดี

ในฐานะผู้สืบทอดเจ้าขุนทอง คิดว่าตัวเองจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

คุณผาล: อย่างแรกคือเราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง แล้วก็แวดวงโทรทัศน์ตอนนี้ เราก็ไม่รู้ว่าเจ้าขุนทองจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่ สมมติถ้ามันจบจากการเป็นรายการโทรทัศน์แล้วเราจะไปไหนต่อ

จำเป็นต้องผูกกับการเป็นรายการของช่องไหม

คุณผาล: เราอยากอยู่กับช่องนะ เพราะอย่างแรกคือมันไม่เหนื่อย และเรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องทำยังไง แต่ถ้าไปสื่ออื่น มันก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่ม และแม่เขาก็คงไม่ทำแล้ว เราก็คงต้องมาดูเองว่า ถ้ามันจะต้องย้าย มันไม่ใช่แค่เราเป็นคนบอก แต่มันเป็นเรื่องของสื่อทั้งโลกที่จะบอกเราเอง ถ้าเงินไม่มาที่โทรทัศน์ ช่องก็ไม่มีเงินให้เรา เราก็ต้องไปหาทางอื่น

ถ้าหากช่องไม่สนับสนุนอย่างเดิมแล้ว ยังมีแพสชั่นที่อยากให้เจ้าขุนทองอยู่ต่อในช่องทางอื่นไหม

คุณผาล: อ๋อ อยากแน่นอนฮะ ผมยังอยากทำต่อไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือตราบใดที่คนรุ่นเรายังมีคนรู้จักมัน แล้วเขาบอกลูกได้ว่า รายการนี้ลูกดูได้แน่นอน มันไม่เป็นพิษเป็นภัยแน่นอน ก็ยังอยากให้มีต่อไป

คิดว่ายุคนี้ เด็กกับหุ่นยังไปกันได้ดีเหมือนเมื่อก่อนไหม

คุณผาล: สำหรับผม ผมคิดว่าปลายทางมันเหมือนกัน คือให้ตายยังไง เด็กมาเจอหุ่นแบบนี้มันก็เวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กยุคไหน แต่โดยรวมอาจจะไม่ได้วี้ดว้ายหรือความรู้สึกคงไม่ได้ใหญ่โตเท่ากับเด็กยุคก่อน เพราะเด็กยุคก่อนอาจไม่ได้มีอะไรให้เลือกดูมากนัก พอมาเจอหุ่นหรือตุ๊กตาที่ขยับได้ มันก็เจ๋งสำหรับเขานะ

แต่เดี๋ยวนี้เด็กได้เห็นทุกอย่างในโทรทัศน์ที่มันสมจริงไปหมด เขามาเห็นหุ่นก็คงจะไม่วี้ดว้ายเหมือนก่อน แต่โดยธรรมชาติ ถ้าเราหยิบหุ่นมาเล่นกับเด็ก ยังไงก็เสร็จทุกราย


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST