READING

คุยกับ ปรเมษฐ์ สุคนธขจร—โปรดิวเซอร์รายการ The Retu...

คุยกับ ปรเมษฐ์ สุคนธขจร—โปรดิวเซอร์รายการ The Return of Superman Thailand

ต้องยอมรับว่า ก่อนที่เราจะรู้จักกับรายการ The Return of Superman ของประเทศเกาหลี สิ่งที่เป็นเหมือนการ์ดเชิญพาเราเข้าไปทำความรู้จักรายการนั้น กลับไม่ใช่เนื้อหาสาระของตัวรายการ แต่เป็นคลิปและภาพน่ารักๆ ของคุณพ่อคนนึงกับการดูแลลูกชายแฝดสามในวัยที่กำลังซนเต็มเปี่ยม (ตอนนั้นยังไม่รู้จักชื่อของแฝดแต่ละคนด้วยซ้ำ) ต่อจากนั้นก็เห็นจะเป็นความน่ารักซุกซนของเด็กหญิงซารังกับผมหน้าม้าเต่อของเธอ ที่ทำให้ชื่อของรายการ The Return of Superman ถูกบรรจุอยู่ในลิสต์การค้นหา เพื่อติดตามตอนต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ใครจะคิดว่าโจทย์ที่ (ดูเหมือนจะ) ง่าย อย่างการให้คุณแม่ออกจากบ้าน และให้เหล่าซูเปอร์แมน เอ๊ย คุณพ่อ… ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกๆ ตามลำพังเป็นเวลา 48 ชั่วโมง จะกลายเป็นรายการโทรทัศน์ที่สร้างความสนุกสนานและได้รับความนิยม ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศเกาหลีเองเท่านั้น

เพราะเมื่อประมาณต้นปี 2560 ที่ผ่านมา รายการ The Return of Superman ก็มีชื่อปรากฏเป็นรายการน้องใหม่ทางหน้าจอโทรทัศน์ของประเทศไทย และออกอากาศต่อเนื่องมาถึงซีซั่นที่สองในปัจจุบัน

เราเลยต้องหาโอกาสขอเข้าไปพูดคุยกับ คุณเมษฐ์—ปรเมษฐ์ สุคนธขจร โปรดิวเซอร์รายการ The Return of Superman Thailand ถึงความเป็นมาของรายการเวอร์ชั่นประเทศไทย และการทำงานร่วมกับครอบครัวน่ารักๆ ตลอดทั้งสองซีซั่นที่ผ่านมา

ทำไมถึงเลือกซื้อลิขสิทธิ์รายการนี้มาทำ

จริงๆ ผมไม่เคยดูเลยนะ แต่แฟนผมดูตลอดเลย เขาบอกว่าน่ารัก ผมก็ถามว่ามันเกี่ยวกับอะไร เขาก็บอกว่ามันเป็นรายการพ่อเลี้ยงลูก เราก็รู้สึกว่าแล้วมันยังไงวะ เพราะว่ามันดูแบบ… ไม่รู้เพราะแฟนผมอธิบายไม่เก่งหรือเปล่า แต่มันดูไม่เห็นมีพอยต์อะไรเลย มันจะสนุกได้ยังไง มันจะยากยังไง คือผมยังไม่มีลูก แต่น้องสาวผมอายุห่างกันมาก ผมก็เหมือนมีประสบการณ์ดูแลเด็กมาก่อน ก็รู้สึกว่ามันไม่น่าจะยากอะไร เราคิดว่ามันเป็นแบบนี้

จนวันนึง เขาพยายามให้เราดู ตอนนั้นเป็นตอนของซารัง (เด็กหญิงชู ซารัง—ลูกสาวของคุณพ่อนักกีฬา ชู ซังฮุน) ที่พ่อเขาพาไปเล่นยูโด แล้วเรารู้สึกว่าเออ ถึงมันจะเหมือนไม่ได้มีเป้าหมายอะไรมากมาย ไม่ได้เป็นภารกิจ แต่ว่าความเป็นธรรมชาติของเด็กมันน่ารักอยู่แล้ว เราก็เห็นว่ามันน่าสนใจ แล้วก็เลยมาบอกเต็นท์ (เต็นท์—กัลป์ กัลย์จาฤก) ผู้บริหารของที่นี่ ว่าเราซื้อรายการนี้มาทำกันไหมวะ

ตอนนั้นดูไปกี่เทปถึงคิดว่าอยากซื้อมาทำ

คือไม่ได้ดูเยอะเลยครับ ผมดูแบบผ่านๆ มาหลายตอน เพราะแฟนผมชอบสามแฝดมาก (แทฮัน มินกุก มันเซ) แต่ที่เรามาตั้งใจดูจริงๆ ก็ตอนของน้องซารังนี่แหละ

แล้วพอไปบอกเต็นท์ สิ่งที่เต็นท์ตอบกลับมาคือ กูซื้อแล้ว มึงไม่รู้เหรอ (หัวเราะ) เราก็ เอ้า! คือมันกำลังอยู่ในช่วงเจรจาแล้ว เพราะทางเต็นท์เขาก็เพิ่งมีลูกเหมือนกัน เพิ่งเป็นคุณพ่อ เขาก็อิน แล้วแฟนเขาก็คงชอบดูรายการนี้เหมือนกัน พอเขารู้ว่าผมชอบ เขาก็ถามว่าจะทำใช่ไหม เออ งั้นก็ทำ

ตอนที่คิดว่าอยากได้รายการมาทำ ในใจมีครอบครัวที่เล็งไว้หรือยัง

ตอนแรกยังครับ มันเริ่มจากต้องทำรีเซิร์ช หาข้อมูล ก็ปรึกษากับทีมงานว่ามีครอบครัวไหนบ้าง ที่พ่อเขาเป็นเซเลบหรือเป็นที่รู้จัก ก็เอามาพิมพ์แปะไว้เต็มห้อง เอามาหาจุดอ่อน จุดแข็ง หรือคาแรกเตอร์คนไหนเป็นยังไง

เลือกจากอะไรเป็นหลัก

ก็หลายอย่าง เพราะว่ามันต้องแบ่งเป็นสองรอบ รอบแรกคือเรามีธงในใจแล้วว่าเราอยากได้ใคร แล้วพอเซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์รายการกันเรียบร้อย ผมก็ต้องไปคุยกับทางเกาหลี เพื่อขอคำแนะนำพวกขั้นตอน วิธีการทำงาน หรือวิธีคิดทุกอย่าง ก็จะยิ่งเข้าใจว่าทุกอย่างในรายการของเขามันผ่านการคิดยังไง อย่างพ่อที่เลือก เกาหลีเขาก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นดารา อย่างพ่อของซารังนี่ก็ไม่ได้เป็นดาราดัง เขาเพิ่งมาดังเพราะรายการนี้ด้วยซ้ำ แล้วที่เหลือก็ไม่ใช่ระดับพระเอกของเขา

ถ้าดูจากพ่อที่เราเลือกแล้ว ของเราถือว่าใช้ครอบครัวที่เป็นที่รู้จักกว่าเขา

ถ้าเทียบกันก็ใช่ครับ คือเราเลือกจากท็อปลิสต์ แต่เขาก็ให้แนวคิดเรื่องความหลากหลาย ทั้งกลุ่มเป้าหมาย อาชีพ อายุ ทั้งของพ่อและเด็ก ไลฟ์สไตล์ก็พยายามไม่ให้เหมือนกัน อย่างของเกาหลีนี่เขาคิดถึงกระทั่งเรื่องที่อยู่ อย่างซารังจะเห็นชัด เพราะว่าบ้านเขาอยู่ญี่ปุ่น แม่ก็เป็นคนญี่ปุ่น ยิ่งน่าสนใจ แต่ของเรามันหาไม่ได้ (หัวเราะ)

มีครอบครัวที่เราเลือกไว้แต่แรก แล้วเขาปฏิเสธไหม

มีฮะ เขาก็บอกว่าไม่สะดวกจริงๆ เพราะเราต้องเอาทีมงานเข้าไปเฝ้าเขา 48 ชั่วโมง คือไปนอนบ้านเขาด้วย แล้วปกติเราใช้ประมาณบ้านละ 8-10 คน อันนี้แล้วแต่เทปนะ

บางคนเขาไม่รู้จักรายการมาก่อน พอเราติดต่อไปเขาก็ไปหาดูรายการ แล้วพอเราบรีฟคอนเซ็ปต์ว่ามันเป็นอย่างนี้นะ ต้องไปถ่ายที่บ้าน แล้วต้องให้แม่ออกจากบ้าน คุณพ่อต้องเลี้ยงลูกเอง ต้องใช้เวลาถ่ายทำครั้งละกี่วัน ก็จะติดปัญหาเรื่องเวลา เพราะส่วนมากเขามีเวลาให้เราได้แค่วันละ 1-2 ชั่วโมง ส่วนมากจะเป็นแบบนี้

นอกจากเรื่องเวลาแล้ว พอมาถ่ายจริงมีปัญหาอะไรอีกบ้าง

มันก็มีนะ อย่างบางทีคนเป็นแม่เขาก็เป็นห่วงลูก เขาก็สงสัยว่าต้องออกจากบ้านจริงๆ เหรอ อยากขออยู่ด้วยก็มี แต่เราก็… ไม่ได้สิ คือรายการเขาก็มีวิธีคิดมาแล้ว บวกกับผมรู้สึกว่า ถ้าแม่อยู่ เด็กก็จะรู้ว่าแม่อยู่ แล้วเขาก็จะร้องเพื่อไปหาแม่ เราก็ต้องพยายามบอกคุณแม่เลยว่า พี่ต้องบอกลูกนะ ว่าพี่จะไม่อยู่ ต้องออกไปทำงานหรือออกไปธุระอะไรก็ว่าไป

ครอบครัวที่เราติดต่อไป หรือคนที่ตัดสินใจรับหรือไม่รับส่วนมาก เป็นคุณพ่อหรือคุณแม่

ถ้าเขาไม่มีผู้จัดการนะ เราติดต่อแม่ก่อน (หัวเราะ) คือส่วนมากแม่หลายคนจะเคยดูรายการมาก่อน แล้วเขาก็มีความคิดว่า อยากให้สามีตัวเองลองเลี้ยงลูกอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ต้องเอาไปปรึกษากัน

ตัวคุณเมษฐ์เองเคยทำรายการเด็กมาก่อนไหม

เด็กจัดๆ เลยไม่เคย ยังไม่เคยทำเฉพาะทางขนาดนั้น แต่รายการนี้ผมก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นรายการเด็ก สำหรับผมนะ ผมมองว่ามันเป็นสารคดีเป็นเรียลิตี้มากกว่า

เพราะเราไม่ได้คอนโทรลเด็กเลย

ใช่ครับ มันคอนโทรลไม่ได้เลย อย่างแรกๆ ที่เราปล่อยคลิปลงยูทูบ ผมเข้าไปนั่งอ่านคอมเมนต์ ก็มีคนเข้ามาด่าเหมือนกันว่า รายการเฟกหรือว่าเซตหรือเปล่า เราก็แบบ… จะไปเซตเด็กได้ยังไง มันไม่ได้อะ สมมติเราเซตฉากแล้วอยากให้เด็กเดินเข้าประตูมา แล้วเราถ่ายพลาด แล้วจะไปบอกว่า ชูใจเดินเข้ามาใหม่ได้ไหม มันก็ไม่ได้แล้ว

เท่าที่ถ่ายมาครอบครัวไหนจัดการยากที่สุด

ถ้าซีซั่นแรกก็… (คิด) น่าจะเป็นบ้านพี่เต๋า (สมชาย เข็มกลัด) ที่ป่วนหน่อย เพราะว่าลูกเขาซนมาก คือเป็นเด็กโต แล้วก็เป็นแนวอยากทำอะไรก็ทำ แต่ความจริงแต่ละบ้านมันก็ยากง่ายต่างกันไป เพราะเขาจะมีสไตล์ของเขา

อย่างบ้านกาย (รัชชานนท์ สุประกอบ) นี่ก็วัยรุ่นหน่อย เขาจะเลี้ยงแบบห่ามๆ ดิบๆ คือเขาใจถึงกับการเลี้ยงลูกสามคนของเขามาก แต่ว่าเราก็ต้องคิดถึงความปลอดภัยของเด็ก เรามีทีมงานช่วยดูอยู่เยอะมาก เช่น จะมีเทปนึงที่มีเสียงทีมงานตะโกนเรียกกาย เพราะอยู่ๆ เอเดนก็ลุกจากเก้าอี้เองได้ ทีมงานก็ตะโกนเรียกทั้งกายทั้งเอเดน (หัวเราะ) คือจริงๆ แล้วมันก็มีทีมงานต้องวิ่งมาช่วยจับอะไรอย่างนี้ แต่ว่าเราก็ไม่ได้เล่าออกมาไง

หรืออย่างบ้านชูใจนี่ ผมบอกได้เลยว่าน้องเป็นเด็กอินดี้

เราเคยไปสัมภาษณ์บ้านชูใจ น้องเขาเรียกรายการนี้ว่า ‘รายการแม่ไม่อยู่’

(หัวเราะ) เขาเห็นพวกผมเข้าบ้านไปนี่เขารู้เลยว่า ไอ้พวกนี้จะมาพรากแม่เขาไปอีกแล้ว คืออย่างว่าแหละ แรกๆ เขายังไม่ค่อยรู้ แต่มีครั้งนึงผมเคยสังเกตว่าชูใจเขารู้ว่ามีกล้องตามถ่ายเขาอยู่ พอดีคิวนั้นมันเป็นเอาต์ดอร์ ช่างภาพเขาก็เลยต้องถือกล้องเดินตาม เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมชูใจดูไม่ค่อยยอม แต่พี่กอล์ฟเคยบอกว่า ชูใจเป็นเด็กที่ถ้าไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำเลย เราก็เลยต้องทำเป็นเอากล้องวางไว้เฉยๆ บอกเขาว่าเลิกถ่ายแล้ว เขาถึงเอ็นจอยขึ้นมา

เวลาการถ่ายต่อหนึ่งซีซั่นนานแค่ไหน

เราถ่ายเดือนละครั้ง เพราะว่าถ้าถ่ายติดกันเกินไป เราก็จะไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก อย่างเด็กโตไม่ค่อยเท่าไร แต่เด็กเล็กหรือทารกนี่ แต่ละเดือนเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเขาเยอะ จากยังเดินไม่ได้จนเริ่มเดิน เริ่มพูดได้

การเลือกครอบครัวจากซีซั่นแรกมาต่อในซีซั่นสอง เลือกจากอะไร

ที่จริงมันมีเกณฑ์อย่างนึงที่เกาหลีเขาแนะนำมา ว่าเขาคำนึงเรื่องความหลากหลายของอายุเด็กด้วย เพราะว่าพอเด็กโตในระดับหนึ่ง เด็กจะสามารถแสดงได้ เขาจะไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ เช่น เห็นกล้องแล้วจะทำตัวน่ารักอะไรงี้ เราก็เลยใช้เกณฑ์อย่างแรกเลยคืออายุ สองคือครอบครัวเขาโอเคและสบายใจที่จะถ่ายต่อกับเราไหม (หัวเราะ)

หลังเริ่มถ่ายทำไปแล้ว เราได้เห็นว่าครอบครัวเขามีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

คือจริงๆ ผมว่า เราทำให้ความห่างของครอบครัวเขาดีขึ้น เหมือนเราเป็นตัวกลางอะไรสักอย่าง ที่ไปทำให้ครอบครัวเขาแน่นแฟ้นขึ้น

มีเรื่องอะไรที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ระวังดราม่า ผมก็คิดนะว่ามันต้องมี แต่ว่าเราก็จะพยายามเซฟให้มากที่สุด เพราะเราต้องนึกถึงครอบครัวเขาด้วย คือบางอย่างมันไม่ใช่เรื่องไม่ดีอะไร แต่ว่าพอเป็นภาพแล้วคนดูอาจไม่เข้าใจ แล้วคนที่ไม่เข้าใจยังไงเขาก็ด่า เราก็สกรีนให้ หรือไม่ก็ถามครอบครัวเขาก่อน

ยกตัวอย่างเรื่องให้ลูกกินนมผง บางบ้านลูกเขาอาจมีเหตุผลที่กินนมแม่ไม่ได้ หรือจำเป็นต้องให้นมเพิ่ม แต่นมผงเด็กนี่โฆษณาไม่ได้ เราก็ต้องเลี่ยงไม่ให้มีภาพ แล้วก็ไม่อยากให้คนดูที่ไม่รู้รายละเอียดมาวิจารณ์ว่า เฮ้ย ทำไมบ้านนี้ให้ลูกกินนมผง

ส่วนมากคุณพ่อของแต่ละบ้านจะกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด

บางบ้านเขาก็กลัวว่าลูกจะร้องหาแม่ บางบ้านก็กลัวว่าจะเอาลูกเข้านอนไม่ได้ เพราะลูกติดแม่มาก แล้วก็เรื่องความปลอดภัยของลูก เพราะเขาไม่เคยเลี้ยงคนเดียว คือวิธีคิดหรือสไตล์การเลี้ยงของแต่ละบ้านไม่เหมือนกันเลย

สไตล์การเลี้ยงของแต่ละบ้านก็เป็นสิ่งที่รายการหาข้อมูลมาก่อน

ครับ นอกจากดูเวลาเขาไปออกรายการอื่นๆ มันสามารถดูได้จากการคุยตั้งแต่ครั้งแรกเลยนะ อย่างลูกๆ ของกายนี่เข้ากับคนง่ายมากตั้งแต่ครั้งแรก ในขณะที่ชูใจทุกวันนี้เขายังไม่คุยกับผมเลย เขาคงไม่ชอบที่ผมทำให้แม่เขาไม่อยู่ (หัวเราะ)

มีครอบครัวหรือคุณพ่อแบบไหน ที่รายการอยากได้มาถ่ายอีก

อยากได้ระดับพระเอกเบอร์ต้นๆ ประมาณพี่เคนอะไรแบบนี้ เพราะผมก็ไม่เคยเห็นชีวิตเขาด้วย ผมว่าคนที่ไม่ค่อยได้เปิดเผยชีวิตส่วนตัว หรือการใช้ชีวิตออกสื่อ ถ้าได้ทำนี่มันจะสดใหม่มาก

แล้วในแง่ตัวเด็ก

ผมว่าเด็กยังไงก็ได้ เพราะเด็กทุกคนก็มีความน่ารัก หรือถ้าเลือกได้จริงๆ ก็อยากได้คนที่มีวิถีชีวิตที่ต่างออกไป เช่น มีบ้านอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งมันก็หายากนิดนึง ที่จะได้ครอบครัวแบบนั้น แล้วตัวพ่อเป็นเซเลบริตี้ด้วย

ในฐานะโปรดิวเซอร์ นอกจากคนดูจะได้เห็นเด็กๆ น่ารักแล้ว คุณคาดหวังอะไรจากรายการอีกบ้าง

ไม่ว่าจะซีซั่นต่อไปหรือตอนนี้ที่ทำอยู่ เราก็พยายามให้มันอยู่ในจุดที่เด็กๆ กับคุณพ่อของเขามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ บางบ้านเราได้เห็นตั้งแต่พ่อทำอะไรไม่เป็นเลย อย่างพี่กอล์ฟ เขาบอกตลอดว่า มันทำให้เขาสนิทกับลูกมากขึ้น เข้าใจลูกมากขึ้น นี่ก็เป็นสิ่งที่เราอยากบอกทุกครอบครัวว่า เด็กๆ น่ะ ต้องเอาใจใส่เขาทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าซื้อของเล่นมาให้แล้วก็จบ เราต้องให้เวลาที่เป็นคุณภาพกับเขาจริงๆ

อีกอย่าง เราก็มีแก่นของเรา เราไม่ได้อยากให้เห็นแต่ความน่ารัก แต่ผมก็ไม่รู้ว่าคนดูแล้วจะรู้หรือเปล่า ว่าเราก็มีอย่างอื่นที่อยากนำเสนอ แต่ด้วยเวลามันน้อย เราอาจไม่ได้บอกทุกอย่าง ที่สำคัญคือเรามีจิตแพทย์เด็กเป็นที่ปรึกษาด้วย คือเราต้องไปขอคำแนะนำต่างๆ เพื่อเอาไว้ช่วยคุณพ่อด้วย แต่พ่อเขาจะทำหรือไม่ทำมันก็เรื่องของเขานะ มันเป็นวิธีของเขา

ตัวอย่างของคำว่า ‘อย่างอื่นที่อยากนำเสนอ’ เช่นอะไร…

มีเรื่องนึงที่พอทำแล้วผมชอบมาก จนต้องเขียนลงไปในสคริปต์เลย คือตลอดเวลาเราเคยได้ยินคนบอกว่า เด็กเป็นเหมือนผ้าขาว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแต่งแต้มเขาออกมายังไง แต่มันมีความจริงอย่างนึงที่แม้แต่หมอก็บอกเอาไว้ คือเด็กทุกคนเขามีนิสัยติดตัวมาตั้งแต่เกิด แล้วพอเรามาดู เราก็เห็นแบบนั้นจริงๆ แม้แต่เด็กทารก อย่างอลิน-อลันนี่ก็เห็นชัดมากว่าเขาไม่เหมือนกันเลย คือเรารู้สึกว่าข้อนี้เป็นเรื่องที่เราอยากนำเสนอให้หลายๆ ครอบครัวรู้ว่า ถ้าคุณมีลูก ลูกคุณจะมีนิสัยหรือพื้นฐานที่ติดตัวมา เพราะฉะนั้น คุณจะเลี้ยงลูกแบบไหน ก็ต้องปรับให้เข้ากับพื้นฐานเขาด้วย เราคิดเรื่องนี้นะ แต่ส่วนเรื่องความสนุกสนานของรายการ มันเป็นสิ่งที่เขาต้องได้รับอยู่แล้ว

ปิดท้ายการพูดคุย คุณเมษฐ์แอบเล่าให้เราฟังว่า ที่จริงฟีดแบ็กของรายการนอกจากจะเกี่ยวกับเด็กๆ และครอบครัวแล้ว ก็เป็นเรื่องเวลาออกอากาศที่น้อยเกินไป จนตัวเองก็อยากจะเพิ่มเวลารายการให้รู้แล้วรู้รอด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับเรตติ้งของรายการ ที่วัดความนิยมจากการดูรายการทางโทรทัศน์เป็นหลัก

เมื่อเราถามว่า อยากฝากอะไรเป็นเรื่องสุดท้าย คุณเมษฐ์จึงฝากบอกแฟนรายการว่า “ถ้าเป็นไปได้ อย่าลืมดูรายการทางโทรทัศน์ด้วยนะครับ” (หัวเราะ)

สัมภาษณ์วันที่ 1 ธันวาคม 2560

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST