READING

ไม่ต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ก็เซฟชีวิตลูกน้อยได้ 4 วิ...

ไม่ต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ก็เซฟชีวิตลูกน้อยได้ 4 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

แม้ว่าเราจะระวังมากแค่ไหน แต่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เราไม่อยากให้เกิด โดยเฉพาะกับลูกน้อย ทั้งอาหารหรือของเล่นติดคอ ลูกจมน้ำ ลูกถูกไฟช็อต นอกจากตั้งสติแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำอย่างไร มาเรียนรู้สกิลที่คุณพ่อคุณแม่ควรมีเพื่อช่วยเบบี๋ในยามคับขันกัน

ถ้าลูกหยุดหายใจ

ตามหลักแล้วหากคนเราหยุดหายใจเป็นเวลาสี่นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร ถึงแม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วอาจทำให้สติฟื้นคืนกลับมาได้ไม่สมบูรณ์

ดังนั้น สกิลแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้คือการ CPR (Cardiopulmonary  Resuscitation) หรือการปฏิบัติการช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้น หรือคนที่หยุดหายใจอย่างกะทันหัน เพื่อให้หัวใจที่หยุดเต้นกลับมาเต้นใหม่ ให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ กลับมาหายใจ และการไหลเวียนเลือดกลับคืนสู่สภาพเดิม

วิธีการทำ CPR ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

 

1. ประเมิน ประเมินความปลอดภัยโดยรอบ ว่าปลอดภัยต่อการเข้าไปช่วยและกันคนออกไป อย่าให้คนมุง

2. ปลุก ตรวจสอบว่าเด็กหมดสติไม่หายจริงภายใน 10 วินาที ด้วยการใช้มือตบที่ฝ่าเท้าแรงๆ เรียกชื่อ จับแขนและขาแล้วปล่อยเพื่อดูการตอบสนอง สังเกตสีหน้า เด็กที่หมดสติหน้าจะซีดเขียว ถ้าหน้าอกและหน้าท้องไม่มีการกระเพื่อมขึ้นลงแสดงว่าไม่หายใจ

3. โทร.ขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 หรือหน่วยพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

4. ปั๊ม ใช้มือหนึ่งจับศีรษะเด็กไว้ สันมือวางเหนือคิ้ว ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลาง หรือนิ้วกลางและนิ้วนาง กดที่ครึ่งล่างกระดูกหน้าอก หรือกึ่งกลางระหว่างราวนมทั้งสองข้าง กดหน้าอก 30 ครั้ง กดให้หน้าอกยุบลงอย่างน้อยหนึ่งในสามของความหนาทรวงอกเด็กทารก ด้วยอัตราความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที

*กรณีเด็กอายุ 1-12 ปี ให้วางสันมือหนึ่งไว้ที่กึ่งกลางของหน้าอก จากนั้นวางมืออีกข้างหนึ่งไว้ข้างบน และประสานนิ้วด้วยกันในลักษณะคว่ำ กดลึกประมาน 1.5-2 นิ้ว ด้วยอัตราความเร็วและจำนวนเท่ากัน

5. เป่า วางสันมือเหนือคิ้ว นิ้วชี้และนิ้วกลางเชยคางเด็ก ประกบปากของเราครอบปากและจมูกของเด็กทารก เป่าปากสองครั้ง ครั้งละหนึ่งวินาที

*กรณีเด็กอายุ 1-12 ปีให้บีบจมูก ประกบปากของเราครอบเฉพาะปากของเด็ก เป่าปากสองครั้ง ครั้งละหนึ่งวินาที

 

ทำการปั๊มและเป่าปากซ้ำจนกว่าเด็กจะกลับมาหายใจ หรือมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ

DON’T : หากลูกหยุดหายใจจากการจมน้ำ อย่าจับลูกพาดบ่าหรือเอามือกดท้องเพื่อไล่น้ำออก

วิธีการทำ CPR ในเด็กอายุ 1-12

 

*ใครยังไม่มั่นใจหรืออยากฝึก สามารถไปสมัครเรียนการทำ CPR (ผู้ใหญ่) กันได้ที่ CPR ในสวน

เมื่อลูกสำลักเพราะมีบางสิ่งติดคอ

1. ให้คุณพ่อคุณแม่นั่งบนเก้าอี้ประมานครึ่งเก้าอี้ หรือหากนั่งอยู่บนพื้นให้นั่งบนส้นเท้าตัวเอง

2. อุ้มเด็กพาดไปกับหน้าตัก ใช้มือที่อยู่ปลายเท้าเด็กทำมือเป็นลักษณะตัวซี เพื่อประคองที่คางเด็ก จากนั้นจับเด็กพลิกนอนคว่ำตามแนวยาวแขนบนแขนข้างที่เอามือประคองที่คางเด็ก วางแขนข้างนั้นบนหน้าตักข้างเดียวกัน เหยียดขาไปข้างหน้าเพื่อให้ศีรษะของเด็กทารกอยู่ต่ำกว่าลำตัว จับให้มั่นคง

3. ใช้สองนิ้วดันคางของเด็กเพื่อเปิดทางเดินหายใจ และใช้ฝ่ามืออีกข้างหนึ่งตบที่สะบักหลังของเด็ก หรือใช้มือดันห้าครั้ง ใช้มือข้างที่ตบจับทารกนอนหงาย มองดูในปาก

4. ถ้าสิ่งอุดกั้นยังไม่ออก วางเด็กทารกให้นอนหงายบนหน้าตักของเรา เหยียดขาออกไป เพื่อให้ศีรษะของเด็กทารกอยู่ต่ำกว่าลำตัว

5. ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางวางที่กึ่งกลางครึ่งล่างกระดูกหน้าอกหรือกึ่งกลางระหว่างราวนม กดจำนวนห้าครั้ง

6. ทำสลับระหว่างตบสะบักหลังและกดหน้าอก ทำไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นสิ่งอุดกั้นหลุดอยู่ในอุ้งปาก ใช้นิ้วก้อยเขี่ยออกมา หรือทำจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

วิธีการช่วยเหลือเมื่อลูกทารกมีอาการสำลัก

 

ในเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป
วิธีการช่วยลูกกรณีที่สำลักเพราะมีบางสิ่งติดคอ กรณีที่ยังไม่หมดสติ

 

กรณีที่เด็กไม่หมดสติ

1. ไม่ใช้มือเขี่ยสิ่งของออกมาเอง เพราะของอาจจะเลยลึกเข้าไปจนอันตราย

2. ยืนหรือคุกเข่าด้านหลังลูก ใช้แขนสองข้างโอบรอบเอว มือข้างหนึ่งกำอยู่ใต้ลิ้นปี่เหนือสะดือส่วนมืออีกข้างวางทับกำปั้น

3. ออกแรงกดมือทั้งสองเข้าไปในท้อง ดันขึ้นเหนือลิ้นปี่ กดซ้ำๆ ดันขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าสิ่งของจะหลุดออกมาทางปาก

แต่หากทำซ้ำหลายครั้งแล้วยังไม่หลุด หรือลูกหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยหายใจโดยใช้มือบีบจมูกและเป่าลมเข้าปากลูก แล้วรีบพาไปโรงพยาบาล

ในเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป
วิธีการช่วยลูกกรณีที่สำลักเพราะมีบางสิ่งติดคอ กรณีที่หมดสติ

 

DON’T : ใช้มือพยายามเขี่ย หรือจับเด็กเขย่าตัวเพื่อให้ของออกมา

กรณีที่เด็กหมดสติ

1. จับลูกนอนราบกับพื้น กดศีรษะเชยคางลูกขึ้น เปิดปากดูว่ามีสิ่งอุดตันหรือไม่ หากมีสิ่งของติดอยู่ในกระพุ้งแก้มให้ใช้นิ้วเขี่ยออกมา แต่หากสิ่งของอยู่ลึก ไม่ควรพยายามเขี่ยออก เพราะของอาจเข้าไปลึกกว่าเดิม

2. กำมือวางสันมือบนหน้าท้องลูกบริเวณลิ้นปี่เหนือสะดือ มืออีกข้างทับอยู่บนอีกมือ ดันมือให้ขึ้นมาทางหน้าอกเพื่อให้เกิดแรงกระแทก จนสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือทำซ้ำจนกว่าลูกจะไอหรือหายใจได้เอง

แต่หากสิ่งของไม่หลุดหรือลูกไม่หายใจ ให้ช่วยหายใจด้วยการบีบจมูกและเป่าลมเข้าปากสองครั้ง สลับกับการกดที่ท้อง หรือพาลูกไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

ลูกชักจากไข้

หากลูกไข้ขึ้นสูงจนเกิดการชักหรือเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก แขนและขากระตุกเป็นจังหวะ อาจมีน้ำลายฟูมปาก ปลายมือและเท้ามีสีเขียว อาจจะชักไม่เกิน 1-5 นาที

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกมีอาการชัก

 

 

จับเด็กนอนบนพื้นราบ เอาผ้ารองศีรษะและร่างกาย จับเด็กตะแคงให้ใบหน้าตะแคง เพื่อให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไม่สำลักไปในปอด และพาไปหาคุณหมอเพื่อดูว่าน้องชักเพราะอะไร

สังเกตการชักของลูกว่าเริ่มจากส่วนไหน เวลาเท่าไหร่ เพื่อเป็นข้อมูลไปบอกคุณหมอ

DON’T : ห้ามเอาอะไรยัดใส่ปาก ไม่ว่าจะเป็นช้อน ไม้บรรทัด หรือมือ แม้ว่าคุณจะกลัวลูกชักจนกัดลิ้นตัวเอง แต่ที่จริงโอกาสที่เด็กจะกัดลิ้นตัวเองจนขาดมีน้อยมาก แต่ถ้าเอาอะไรยัดใส่ปากลูกอาจทำให้ฟันหักได้

ลูกโดนไฟดูดไฟช็อต

 

1. ยกคัตเอาต์/เบรกเกอร์ลง เพื่อตัดวงจรไฟฟ้า

2. ดึงตัวผู้ที่ถูกไฟดูดออกมา ห้ามสัมผัสโดยตรง โดยใช้วัสดุที่เป็นฉนวน เช่น ผ้า เชือก หรือเข็มขัดที่เป็นสายหนังหรือสายผ้าคล้องเด็กออกมา หรือใช้ไม้เขี่ยสายไฟออกจากลูก

3. สำรวจเด็กที่ถูกไฟดูดว่ามีบาดแผลหรือไม่ โทร. 1669 รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

4. ตรวจดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ โดยใช้นิ้วมือคลำดูจากการเต้นของชีพจรบริเวณคอ ถ้าหัวใจหยุดเต้นต้องทำ CPR ไปพร้อมๆ กับการผายปอด

DON’T : อย่าสัมผัสตัวเด็กโดยตรงทันที เพราะหากตัวคุณเปียก คุณอาจโดนไฟดูดไปด้วย


Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST