READING

จะรู้ได้ยังไงว่าลูกของเราปิ๊งกีฬาอะไร...

จะรู้ได้ยังไงว่าลูกของเราปิ๊งกีฬาอะไร

จะให้เล่นเป็นทีมหรือเดี่ยว ต้องเหนื่อย ได้เหงื่อ ได้กล้ามเนื้อ หรือเล่นแบบสบายๆ แค่ให้ได้ยืดเส้นยืดสาย หรือบางกีฬาที่เราอยากให้ผ่อนคลาย ลูกก็ดันจริงจังมากเกินไป

จะทำยังไงให้ช่วงวัยที่พัฒนาการทางร่างกายกำลังไปได้ดี ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลูกก็ชอบมันด้วย มาดูวิธีสังเกตระดับความชื่นชอบในกีฬาแต่ละชนิดของลูกๆ กัน

 

ระดับความยาก: พอประมาณ

ระยะเวลา: 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง (ใช้เวลาสังเกต 2-3 เดือน)

สิ่งที่ผู้ปกครองต้องมี:

– ความอดทน

– เวลาเพื่อจะศึกษากีฬาแต่ละชนิด

– เวลาที่จะฝึกฝนและเล่นไปกับลูกๆ

– เวลาที่จะสนับสนุนลูกในทางที่เขาเลือก

วัยไหนเหมาะกับกีฬาอะไร

sport_kid_0

– การเคลื่อนไหวร่างกาย

3-5 ขวบ กระโดด วิ่ง และการทรงตัว

6-9 ขวบ พัฒนาทักษะพื้นฐานด้านการกระโดด วิ่ง และการทรงตัวจากเดิมให้ดียิ่งขึ้น และลองอะไรที่ยากขึ้น เช่น ฝึกโยนห่วงจากระยะไกลให้เข้าเป้า

– ฝึกสายตา

3-5 ขวบ ฝึกให้ลูกมองตามทิศทางของสิ่งของ หรือมองตามลูกบอลที่เคลื่อนที่เร็วๆ

6-9 ขวบ ลูกจะเริ่มตามความเร็วของลูกบอลที่เคลื่อนที่ได้ทัน แต่อาจจะยังกะทิศทางได้ไม่แม่นยำ

– ฝึกการเรียนรู้

3-5 ขวบ เด็กๆ ยังไม่มีสมาธิมากนัก และเรียนรู้จากการเลียนแบบ

6-9 ขวบ เด็กๆ เริ่มจดจำสิ่งต่างๆ ได้ แต่ยังไม่ค่อยมีสมาธินัก และตัดสินใจทำอะไรๆ เร็วมาก

– ทักษะที่ลูกจะได้เรียนรู้

3-5 ขวบ เรียนรู้ทักษะพื้นฐาน สนุกกับทุกการเล่น ชอบทดลองเล่นอะไรใหม่ๆ ในแนวทางของตัวเองมากกว่าเล่นเพื่อแข่งขัน

6-9 ขวบ ฝึกทักษะพื้นฐานและเรียนรู้เพิ่มเติมจากการเล่นให้ยากหรือซับซ้อนขึ้น

– กีฬาที่แนะนำ

3-5 ขวบ วิ่งเล่น ขว้างของระยะไกล โยนหิน วิ่งไล่จับ ขี่จักรยานสามล้อ

6-9 ขวบ เริ่มเล่นกีฬาที่มีระดับความยากขึ้น เช่น ฟุตบอล เบสบอล ยิมนาสติก สเกต เต้น เทนนิส แบดมินตัน ขี่จักรยาน ศิลปะการป้องกันตัวขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

ทีนี้มาดูกันว่าเราจะช่วยลูกเลือกกีฬายังไงให้เหมาะกับเขาดี

1. กีฬามีความหลากหลาย

sport_kid_1

เปิดโลกกีฬาให้ลูกได้รู้จักทุกรูปแบบ ให้เขามีประสบการณ์ ได้ลองเล่น หรือดูจากโทรทัศน์ ฟังจากสื่อรอบตัวก็ได้ แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือการพูดคุยกันไปเลยว่า ลูกชอบหรือไม่ชอบกีฬาประเภทไหน และลองฟังเหตุผลของเขาดู เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบที่ลูกเข้ากับมันได้ดีที่สุด

2. ดูความกระตือรือร้นของลูก

sport_kid_2

‘แอบดู’ ตอนที่ให้ลูกลองเล่นทีละอย่าง ให้แอบจับสังเกตลูก ว่าเขาตาเป็นประกายกับกีฬาชนิดไหน มีความกระตือรือร้นที่จะได้ไปเล่น หรือขอให้ถึงวันที่จะได้ไปเล่นเร็วๆ

‘แอบฟัง’ ความคิดเห็นและความรู้สึกของลูกที่มีต่อกีฬาชนิดนั้นๆ ซึ่งมันจะบอกเราเองว่าเขาชื่นชอบมันมากแค่ไหน ทั้งผู้ร่วมเล่น กลยุทธ์ ไปจนถึงความคาดหวังของเขา

3. สังเกตการณ์: เดี่ยวหรือทีม?

sport_kid_3

เด็กบางคนจะชอบกีฬาแบบที่เล่นเป็นทีม เพราะพวกเขาจะได้มีบทบาทสำคัญต่างกัน และจะรู้สึกภูมิใจเมื่อตัวเองรับผิดชอบหน้าที่ตำแหน่งนั้นๆ ได้ดี เช่น ฟุตบอล เบสบอล เป็นต้น ซึ่งรวมไปถึงการว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ หรือตีเทนนิสด้วยเช่นกัน

ขณะที่เด็กบางคนชอบที่จะเอาทักษะที่ตัวเองทำได้ดีมาเล่นคนเดียวมากกว่า เช่น ยิมนาสติก ขี่จักรยาน เป็นต้น

ถ้าคุณตั้งใจสังเกตดีๆ จะพบว่าต่อให้ตัวเองไม่มีความรู้เรื่องกีฬาเลยสักนิด ก็ยังรู้ได้ว่าลูกปลื้มอะไร

4. เลือกกีฬาที่เหมาะสมกับขนาดตัวของลูก

sport_kid_4

เด็กๆ ที่ช่วงตัวหรือช่วงขาไม่ยาวนัก อาจเหมาะกับฟุตบอลมากกว่าบาสเกตบอล และคนขายาวก็เหมาะกับกีฬาแบบบาสเกตบอลหรือลู่และลานมากกว่า

แต่ถ้าเป็นกีฬาที่ลูกชอบจริงๆ และเขาฝึกฝนตั้งแต่เด็กๆ ก็อาจไปได้ดีจนโตเลยก็ได้

5. ฝึกทักษะโดยการเล่นตัวต่อตัวกับลูก

sport_kid_5

ใช้เวลาเพื่อฝึกทักษะต่างๆ กับลูก แม้ว่าคุณจะไม่เก่ง แต่ก็ฝึกมันไปพร้อมๆ กับลูกได้ เช่น ฝึกโยนบอลลงห่วงกับลูก ฝึกรับส่งลูกบอลด้วยกัน เป็นต้น และพยายามทำให้มันเป็นบรรยากาศที่สบายๆ เป็นกันเอง

แล้วมันจะเป็นเวลาคุณภาพที่ไม่ใช่แค่คุณและลูกจะได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานไปด้วยกัน แต่ยังสนิทสนมกันมากขึ้นด้วย

6. อย่าลืมตรวจร่างกายกับคุณหมอด้วย

sport_kid_6

เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากความไม่พร้อมของสภาพร่างกาย และการทำอะไรที่เกินขีดความสามารถของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพาลูกๆ ไปเช็กกับคุณหมอก่อน

7. สอนเรื่องความรับผิดชอบ

sport_kid_7

ไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทไหนล้วนต้องการผู้เล่นที่มีวินัย ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกจึงต้องมีวินัยเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกที่บ้าน เล่นแล้วต้องเก็บข้าวของให้ดี การตรงต่อเวลา ไปจนถึงการแบ่งเวลาและความสนใจของตัวเอง การเล่นกีฬาจึงสอนเรื่องความรับผิดชอบที่ดีให้เด็กๆ ได้

ทิปส์เล็กๆ ที่ทำให้ลูกสนใจกีฬา

– ถ้าเด็กๆ ติดที่ ติดหนังสือ หรือไม่ชอบขยับออกไปไหน ลองเริ่มอะไรที่เล็กๆ ง่ายๆ เช่น แทรมโพลีน สเกตบอร์ด ให้เขาได้เคลื่อนไหวและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บ้าง

 

– ลองคิดถึงกีฬาอื่นๆ ที่แปลกใหม่ดูบ้างก็ได้ เช่น ศิลปะการป้องกันตัวแบบต่างๆ วอลเลย์บอล หรือเต้นบัลเลต์ เป็นต้น เพราะพวกเขาอาจจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากมัน

 

– อย่าพยายามเอาความฝันวัยเด็กของตัวเองมาใส่ให้ลูก เพราะทุกคนมีความชอบต่างกัน เพราะการมีส่วนร่วมในการเล่นนั้นสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใดก็ตาม ขอแค่เขาเต็มใจและสนุกกับมันก็เพียงพอแล้ว


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST