READING

อเล็กซ์ เรนเดล—ผู้ชายรักธรรมชาติ กับค่ายอีอีซีของเ...

อเล็กซ์ เรนเดล—ผู้ชายรักธรรมชาติ กับค่ายอีอีซีของเขา ที่ไม่ได้แค่พาเด็กๆ เข้าป่า

การรักษ์ธรรมชาติดูจะเป็นกระแสที่ผ่านมาผ่านไปในชีวิตอันวุ่นวายของเรา แต่ยังมีค่ายหนึ่งที่การรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่แค่กระแส เน้นให้เด็กๆ และครอบครัวเข้าป่าด้วยความเข้าใจในการอนุรักษ์ ที่ไม่ได้ทำได้แค่มีใจรัก

 

เราเลยมาคุยกับ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ที่บทบาทหนึ่งเราอาจคุ้นเคยกับอาชีพนักแสดงของเขา แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Education Centre Thailand (EEC Thailand) ที่จะมาเล่าให้เราฟังว่า เดินเข้าป่ากับอีอีซี ไม่ได้ชิลเหมือนในภาพที่เห็น

เริ่มรักธรรมชาติมาตั้งแต่เมื่อไหร่

จริงๆ ผมเคยเข้าป่ามาแต่เด็ก เคยเข้าค่าย เคยไปช่วยดูแลช้างและสัตว์ป่าอยู่พักนึงตอนเด็กๆ แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรหรอกครับ มันก็เหมือนเราไปเข้าป่า ไปผจญภัย เด็กผู้ชายชอบอะไรแบบนี้ แต่มันเหมือนเป็นการซึมซับไปในตัว โตขึ้นมาก็รู้สึกว่า เราเป็นคนที่ไม่ค่อยอินกับอะไรที่อยู่ในเมืองเท่าไร เราชอบอยู่กับธรรมชาติ ชอบอยู่กับทะเล อยู่กับภูเขา ชอบอะไรที่มันไม่วุ่นวาย ชอบคนน้อยๆ ชอบอยู่กับคนที่เราสบายใจด้วย พอออกไปข้างนอกหรือไปเที่ยวธรรมชาติมันใช่เรามากกว่า

จากผู้ชายรักธรรมชาติกลายเป็นคนก่อตั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม

ผมมาเจอครูที่เคยสอนเรามาตั้งแต่เด็กๆ กำลังสอนเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ของเขาจะรวมตัวกันทุกๆ ปิดเทอม ตอนนั้นผมก็คิดอยากจะทำอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติ อาจจะเปิดร้านดำน้ำ อาจจะเป็นครูดำน้ำอะไรแบบนี้ แค่อยากหาอะไรที่มันเป็นตัวเรานอกเหนือจากการเล่นละคร แล้วเราเห็นเขาสอนเด็กแล้วรู้สึกว่าเด็กเก่ง ครูก็เก่ง พอเรามาทำตรงนี้เราก็เริ่มที่จะศึกษามัน เริ่มเข้าใจมัน เริ่มรู้ว่าผลที่มันได้ในเชิงลึกมันมีอะไรบ้าง แล้วยิ่งคิดมันยิ่งไปได้เรื่อยๆ เราเลยอะ… ตัดสินใจลองทำดู อยากให้เด็กๆ ลองมาเข้าค่ายแบบนี้ เพื่อที่จะเป็นที่พึ่งพาของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ไม่ได้สร้างภาระให้สังคม เราเลยเปิดอีอีซีขึ้นมา

เดินเข้าป่าแบบอีอีซีเป็นแบบไหน

ทุกค่ายจะมีจุดประสงค์ที่ต่างกันไปแม้จะเป็นที่เดียวกัน อย่างสองสามอาทิตย์ที่แล้วเราไปที่ภูหลวง จังหวัดเลย เป็นช่วงที่ดอกกล้วยไม้บาน เราก็พาเด็กๆ ไปศึกษากล้วยไม้ พาเด็กๆ ไปเดินป่าศึกษาสถานที่ตรงนั้น พาเขาไปอยู่ในป่าไปอยู่ในเต็นท์อุณหภูมิต่ำกว่าสิบองศา นึกออกไหมครับ คือเราพาเขาไปรักต้นไม้ที่นั่น

 

อย่างค่ายช้างเราก็พาเด็กไปศึกษาถิ่นที่อยู่อาศัยของช้าง แล้วก็พาเด็กไปส่องแหล่งช้าง ให้เด็กๆ มีความคิดเป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์ เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเขา ให้เขาออกมาจากคอมฟอร์ตโซน เพิ่มทักษะชีวิตและเพิ่มเวทีในการเรียนรู้

ให้เขารู้จักคำว่าอนุรักษ์ในแบบที่มันไม่ใช่แค่คุณคิดอยากทำคุณก็ทำ
คุณต้องมีความรู้ก่อนต้องคิดให้กว้างแล้วก็หาทางออกที่ดีให้กับสิ่งๆ นั้น
นั่นคือแนวคิดของเรา การมอบองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์
เชื่อว่าการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนที่สุดคือเรื่องของการศึกษา

ไม่ใช่แค่เราไปนอนในป่า ไปเดินป่าแล้วจะรักธรรมชาติ

ไม่ใช่ครับ มันค่อนข้างจะต่างกันอยู่มาก มันค่อนข้างจะเกี่ยวกับการเรียนรู้มากกว่า อย่างไปดำน้ำเนี่ย เด็กๆ จะต้องมีวินัยอย่างมาก ไม่ได้ไปเพื่อพักผ่อน แต่ลงไปต้องไปสำรวจ ขึ้นมาต้องออกมาพรีเซนต์ ต้องทำงานส่ง ต้องทำงานกลุ่ม คือมันคือการเรียนการสอนล้วนๆ ไม่ได้มีความสบายอะไรเลย แต่ผมมองว่ามันเป็นการเรียนรู้ของเด็กที่หาไม่ได้ที่ไหนอีกแล้ว ผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน

 

พอเด็กๆ มา เราสอนให้เขาเป็นผู้ใหญ่หมดทุกคน เพราะเรามีกฎกติกาคือ ถ้าเขาไปดำน้ำกับบริษัทดำน้ำทั่วไป เขาจะรู้ว่าดำน้ำมันชิลและสบายมาก แต่ดำน้ำกับเราเรื่องความปลอดภัยเราประเมินหลายชั้นมาก เรื่องของความรู้ เรื่องของงานที่เด็กจะต้องทำมันค่อนข้างลึก มันเหนื่อย ไม่ได้ง่าย ไม่ได้ชิลเหมือนที่เห็นในภาพ

ไอเดียแต่ละค่ายมาจากไหน

ผมจะดูแลพาร์ตการจัดการและการตัดสินใจทั้งหมด ถ้าเป็นเรื่องของค่ายเรามีผู้เชี่ยวชาญ มีครู ครูของอีอีซีหลายคนทำงานอยู่กับป่า อยู่กับทะเลมาเยอะ ถ้าเราจะไปศึกษาอะไร เราจะมีคนที่มาช่วยออกแบบกิจกรรมตลอดเวลา เป็นโปรแกรมไดเร็กเตอร์ คือครูอลงกต ชูแก้ว นี่แหละครับ เป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ของอีอีซี ที่คอยวางแนวทางของกิจกรรม ว่าเด็กๆ ควรเรียนรู้เรื่องอะไร ต้องทำอะไร เขาจะเป็นคนคอยออกแบบครับ แล้วก็เป็นอาจารย์ที่เคยสอนผมตั้งแต่เด็กๆ ด้วย

แต่ละกิจกรรมของเราไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกวัย

ตอนนี้มันก็มีค่ายช้าง ปีนึงเราเปิดสามสี่รอบ รอบนึงก็แบ่งเป็นเด็กเล็ก เด็กกลาง เด็กแอดวานซ์ไปเลย แล้วก็ค่ายรวม มันแล้วแต่ตัวค่าย หรือดำน้ำ ที่รับเด็กสิบขวบขึ้นไป เพราะเป็นอายุขั้นต่ำที่จะมีใบอนุญาตดำน้ำได้ ถ้าเป็นเด็กสี่ขวบก็จะเป็นทริป snorkeling คือมันก็แบ่งแล้วแต่ความสามารถ แล้วแต่อายุของเด็ก บางค่ายก็รวมได้ บางค่ายโหดๆ ก็ต้องเป็นเด็กโตอย่างเดียว มันก็มีสัดส่วนของมันอยู่

เด็กเล็กมีการเรียนรู้ที่ต่างจากเด็กโต แล้วเขาต้องทำงานเหมือนกันไหม

เขาก็ทำครับ แต่เราก็ไม่ได้ต้องการให้เขาออกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญขนาดนั้น แต่จะให้ทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างออกมาวาดรูปแล้วอธิบายว่าที่เขาวาดคืออะไร ให้เขาได้มีโอกาสขึ้นมาพูด เป็นวิธีการปลูกฝังให้เขากล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งมันก็คือการเรียนรู้แล้ว เขาจะไม่เติบโตมาเป็นคนที่ไม่กล้าพูด ในเมื่อสามสี่ขวบเขาก็พูดต่อหน้าคนตั้ง 30-40 คน แล้วก็พูดหลายๆ รอบ มันคือการเพิ่มทักษะชีวิตก่อนที่เขาจะรู้เรื่องด้วยซ้ำ

 

บางคนที่เขาไม่เคยพูด เขาได้เห็นเพื่อนๆ พูด พอถึงเวลาของเขา เขาก็ต้องพูด ก็เป็นอะไรที่ผู้ปกครองเวลามาที่นี่เขาก็จะอึ้งกับลูกเขาเหมือนกัน เวลาอยู่ที่บ้านเป็นแบบหนึ่ง อยู่ที่นี่เป็นแบบหนึ่ง ส่วนตัวงานที่ถูกสอนไป เด็กแต่ละอายุก็จะรับได้ไม่เหมือนกันครับ

ขึ้นอยู่ที่ความยากง่าย

ใช่ครับ เด็กเล็กก็อาจจะเน้นพื้นฐานมากๆ ให้เขาได้เรียนรู้ ได้ทำแอ็กชั่นเยอะๆ พี่โตก็อาจจะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์เยอะหน่อย

ปรัชญาของอีอีซีที่บอกว่า ‘Let nature be our classroom’ จบชั้นเรียนคิดว่าเด็กๆ มีอะไรเปลี่ยนไปไหม

แน่นอนเขาได้ความรู้ที่เพิ่มขึ้น อย่างที่สองเขาได้เรื่องของสังคมที่เพิ่มขึ้น สังคมใหม่ที่ปลอดภัยของอีอีซี สังคมที่เด็กๆ มารวมตัวกัน เขาจะเติบโตไปด้วยกัน จะทำอะไรดีๆ ไปด้วยกัน

 

อย่างที่สามเขาได้พัฒนาระบบการคิดของเขา เขาจะสามารถรู้ได้ว่า วิธีการคิดมันต้องเริ่มหนึ่ง เริ่มสอง เริ่มสาม มันต้องเก็บข้อมูลก่อน ต้องพูดถึงการวิเคราะห์แล้วค่อยทำแอ็กชั่น ไม่ใช่ว่าคุณมีจิตใจที่ดี คุณก็สามารถทำมันได้เลย เพราะความใจดีของคุณอาจไปสร้างภาระให้กับคนอื่นเขาก็ได้ ในการที่คุณไม่มีความรู้ เราไม่ได้สอนให้เด็กโลกสวย เราสอนให้เด็กเจอปัญหาตามความเป็นจริงของโลกใบนี้

 

อย่างตอนเด็กๆ ไปโรงเรียน เขาก็จะเจอหนังสือ เจอโจทย์ ซึ่งตรงนั้นมันเป็นโลกสมมติ แต่การออกมาข้างนอก เขาจะได้เห็นปัญหาในสังคมจริงๆ เขาจะต้องมีความแข็งแกร่งในตัวที่จะเติบโตขึ้นมาอยู่สังคมไหนก็ได้

เราเห็นข่าวคนที่ทำลายสัตว์หรือธรรมชาติ เรามีความคาดหวังไหมว่าเด็กของเราจะไม่ทำ

ไม่ทำแน่นอนครับ ไม่มีความคิดในหัวเลยครับว่าเด็กจะไปทำอย่างนั้น ก็นั่นแหละครับเราถึงเริ่มที่เด็ก

มันไม่มีทางที่นักเรียนของเราจะเข้าป่าไปทำร้ายสัตว์
แค่เด็กออกมาเหยียบแมลงเขายังขอโทษเลยครับ

เวลาที่เราซื้อปลามาจากตลาดเพื่อที่จะผ่าดูโครงสร้างข้างใน พอเราเรียนเสร็จปุ๊บ เราก็ไว้อาลัยแล้วก็ให้ความเคารพกับเขา ให้เด็กรู้จักขอบคุณและขอโทษปลาที่เราอาจทำให้เขาเจ็บ แต่เราก็ขอบคุณที่เขาเป็นครู นึกออกไหมครับ มันไม่มีทางที่เด็กที่เรียนมาแบบนี้จะไปทำร้ายป่า ในที่สุดไม่ว่าจะทิศทางไหนก็แล้วแต่ มันไม่มีทางครับ (เสียงหนักแน่น)

แล้วคาดหวังให้เขาเป็นยังไง

ถ้าเขาโตขึ้นมาเป็นเจ้านายของคนอื่น เขาจะเป็นนักตัดสินใจที่ดีให้กับประเทศชาติเรา โดยที่เขาจะไม่ตัดสินใจอะไรที่กระทบสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในเมื่อเขาอยู่กับสิ่งแวดล้อมมาแต่เด็ก ในเมื่อเขาดำน้ำมาตั้งแต่เด็ก เขาเห็นปะการังมา เขาจะไม่ตัดสินใจทำอะไรที่ทำร้ายทะเล ถึงเขาจะมีบริษัทใหญ่ๆ มีโรงงานใหญ่ๆ แต่เขาจะต้องนึกถึงเรื่องทรัพยากรมากกว่าคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องทะเลตั้งแต่เด็ก คือมันได้ในหลายรูปแบบมาก

ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่แค่การมอบความรู้หรือว่าการคิดอนุรักษ์เฉยๆ แต่ว่ามันคือการสร้างคนดีให้สังคมไทยในระยะยาว ซึ่งมันไม่เห็นผลตอนนี้หรอก อีกสามสิบสี่สิบปีถึงจะเห็นผล

แล้วสิ่งแวดล้อมอื่นๆ นอกป่า

คือสิ่งแวดล้อมในความคิดเรามันไม่ใช่แค่เรื่องป่าหรือสัตว์ มันเป็นเรื่องคนด้วย ไม่ว่าจะดูแลคนกันเอง เด็กที่เกิดมาไม่ได้โชคดีเหมือนเรา ซึ่งอีอีซีก็สอนให้เด็กๆ ได้รู้จักกับเด็กชาวเขา เด็กชาวเลทั้งหลาย พวกชาวบ้านให้เด็กๆ ไปใช้ชีวิตอยู่กับเขา กับเด็กตาบอด เด็กพิการ คือเราทำค่ายอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งมันเป็นสิ่งสำคัญที่เรารู้สึกว่าเด็กจะต้องดูแลคนที่เกิดมาแล้วไม่ได้โชคดีเหมือนเขา

 

ตั้งแต่ทำค่ายมา ค่ายไหนหรือเรื่องไหนที่ประทับใจ

มีเยอะครับ มันก็มีหลายอย่างที่เรารู้สึกมีความสุขกับการเติบโตขององค์กร มันมีหลายเหตุการณ์มาก ทั้งความสัมพันธ์ของเด็กที่เราเห็น ความสัมพันธ์ของแม่กับลูก ครูกับนักเรียน เรารู้สึกว่าเป็นที่ที่อบอุ่น คนจริงใจ ทุกคนที่มามีแต่คนจริงใจ ไม่ว่าจะทีมงาน นักเรียน ผู้ปกครอง ครู คนที่เคยทำงานร่วมกัน แต่ละคนเป็นคนที่มีความคิดที่อบอุ่น มีแต่ใจทั้งนั้นที่ทำทั้งหมด

ขอบคุณภาพจาก  www.eecthailand.com
สัมภาษณ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561

Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST