READING

INTERVIEW: รอให้ถึงอนุบาล แม่ก็หาโรงเรียนจนเหนื่อย...

INTERVIEW: รอให้ถึงอนุบาล แม่ก็หาโรงเรียนจนเหนื่อยเสียแล้ว

หากปิดเทอมคือช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคน ไม่ต้องปลุกและฉุดกระชากลูกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียนแต่เช้า ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่อีกหลายคนก็กำลังเตรียมหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกโรงเรียนอนุบาลให้กับเจ้าตัวเล็ก และอีกหลายครอบครัวก็กำลังใจจดใจจ่อ ลุ้นว่าลูกจะได้เรียนโรงเรียนที่ต้องการหรือเปล่า

เราถือโอกาสชวน แม่เมย์—จุฑาทิพย์ รวมกิ่งแก้ว กับเด็กชายชิม (ลูกชายวัย 1 ขวบ 3 เดือน) แม่แนล—ชนานาฎ ทองมณี กับเด็กชายจักรวาล (วัย 1 ขวบ 5 เดือน) และแม่นิดนก—พนิตชนก ดำเนินธรรม กับเด็กหญิงณนญ (ลูกสาววัย 8 เดือน) น้องคนเล็กของแก๊งคุณแม่จาก เมียแคสต์—รายการพอดแคสต์พูดคุยเรื่องสามีและครอบครัว (จริงๆ ก็เรียกว่าเมาท์สามีนั่นแหละ) ที่เริ่มรายการกันมาได้ไม่กี่ตอนก็พร้อมใจกันตั้งท้อง จนต้องวางไมค์หันไปจับที่ปั๊มนมแทนทั้งสามคน

พอรู้ว่าตอนนี้ทั้งสามคุณแม่กำลังหมกมุ่นอยู่กับการเตรียมตัวหาโรงเรียนอนุบาลให้กับลูกๆ เช่นกัน เห็นที M.O.M จะต้องชวนมาเมาท์ เอ๊ย มาพูดคุยกันสักหน่อยว่า คุณแม่อารมณ์ดีทั้งสาม มีแนวทางการเลือกโรงเรียนและประสบการณ์สนุกๆ จากการหาโรงเรียนให้ลูกอย่างไรบ้าง

ที่เขาว่ากันว่าเด็กสมัยนี้ต้องจองโรงเรียนกันข้ามปี—จริงหรือเปล่า

และไม่ใช่แค่เราเลือกโรงเรียนให้ลูก แต่เป็นโรงเรียนของลูกต่างหากที่เลือกเรา—จริงไหม…

แม่เมย์ แม่นิดนก และแม่แนล

M.O.M: แต่ละครอบครัวมองโรงเรียนแนวไหนไว้ให้ลูก

แม่เมย์: บ้านนี้เป็นโรงเรียนทางเลือก มันเรียกว่าทางเลือกไหมนะ คือโรงเรียนแบบบูรณาการ โรงเรียนที่ไม่เคร่งว่าจะต้องมีสอบ ไม่ใช่ว่าต้องเรียนต้องติวตลอดเวลา อันนี้หมายถึงอนุบาลก่อนนะ เหมือนเราอยากให้เขาไปเล่น ให้เขารู้จักการอยู่กับคนอื่น

M.O.M: เป็นแนวเดียวที่มองไว้ไหม

แม่เมย์: คิดว่าใช่นะ

แม่นิดนก: ก็คล้ายๆ กัน เราก็มองแนวทางเลือก เพิ่มโรงเรียนอินเตอร์ฯ เข้าไปหน่อย

แม่เมย์: เออจริงๆ ไพรออริตี้ที่สองที่คิดไว้ก็เป็นพวกโรงเรียนสองภาษา แต่พอดูทำเลแถวบ้านแล้ว มันก็น่าจะเหลือแค่โรงเรียนทางเลือก เพราะโรงเรียนสองภาษามันไกลแล้วก็เดินทางยาก

“ตอนแรกอยากให้ลูกเรียนโฮมสกูล
แต่คิดว่าคงไม่ไหว เพราะเคยมีคนบอกว่าโฮมสกูลเนี่ย
นอกจากมันต้องใช้พลังกายของพ่อแม่แล้ว มันยังต้องใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญเลยนะ
พ่อแม่ต้องมีเงินที่จะซัปพอร์ตความโฮมสกูล”
—แม่แนล

M.O.M: ของคุณแม่นิดนก หมายถึงต้องเป็นทั้งโรงเรียนทางเลือกและอินเตอร์ฯ ด้วย หรือว่าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

แม่นิดนก: อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าจะเป็นโรงเรียนทางเลือกก็คือไม่ต้องเน้นภาษาอังกฤษก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ได้เรียนอย่างนั้น ก็คงเป็นอินเตอร์ฯ ไปเลย หรือไม่ก็… เอ่อ อะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่ระบบแบบที่เราเรียนมา (หัวเราะ)

แม่แนล: บ้านนี้ก็อยากให้เรียนโรงเรียนทางเลือกเหมือนกัน แต่จริงๆ ตอนแรก อยากให้ลูกเรียนโฮมสกูล แต่คิดว่าคงไม่ไหว เพราะเคยมีคนบอกว่าโฮมสกูลเนี่ย นอกจากมันต้องใช้พลังกายของพ่อแม่แล้ว มันยังต้องใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญเลยนะ พ่อแม่ต้องมีเงินที่จะซัปพอร์ตความโฮมสกูล

M.O.M: หมายถึงโฮมสกูลมีค่าใช้จ่ายสูงเหรอ

แม่แนล: มันไม่เชิงค่าใช้จ่ายนะ แต่คือถ้าจะโฮมสกูล มันต้องมีเวลาที่อยู่บ้านกับลูก ต้องสอนลูก เพราะมันไม่ใช่สอนแบบเอาหนังสือมาเปิด นับ 1 2 3 แต่มันต้องสอนแบบบูรณาการ เช่น ให้ลูกเล่นทราย ให้เขาได้เรียนรู้จากอุปกรณ์ที่เราประดิษฐ์เอง มันต้องใช้เวลา

อันนี้คือเท่าที่เรารู้มานะ แต่ไม่รู้ว่าบ้านอื่นเขามีวิธีการโฮมสกูลกันยังไง แต่มันต้องเป็นแม่ที่อยู่บ้านจริงๆ แล้วทีนี้ถ้าเป็นครอบครัว ก็คือเราต้องเสียคนทำงานไปหนึ่งคนเพื่ออยู่บ้านสอนลูก

M.O.M: ก็เลยตัดเรื่องโฮมสกูลไป

แม่แนล: ใช่ โรงเรียนทางเลือกก็มองไว้สองแนวคือ วอลดอร์ฟกับนีโอฮิวแมนฯ แต่ถ้าเกิดว่าพลาด ก็มองพวกโรงเรียนสาธิต เพราะว่าตอนนี้โรงเรียนสาธิตเองเขาก็จะเปิดเป็นแนวทางเลือกเยอะ

แม่แนล กับเด็กชายจักรวาล

M.O.M: ปัจจัยในการเลือกโรงเรียนของแต่ละครอบครัวขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง

แม่เมย์: ของเราเลือกทำเลอย่างแรกเลย อยากให้เดินทางไม่เกินครึ่งชั่วโมง ถ้าเกินคือจะเริ่มรู้สึกลำบากแล้ว ถ้าเดินทางสัก 15 นาทีคือดี เราเลือกทำเลก่อน แล้วก็สภาพแวดล้อมโรงเรียน แล้วก็ค่าใช้จ่าย

แม่นิดนก: ของเราคิดว่าทำเลก็ให้มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุด หมายความว่าเราอยู่ตรงไหน เราก็หาโรงเรียนที่เราสะดวกแถวนั้นอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัจจัยหลัก ถึงขนาดว่าจะต้องเรียนทำเลนี้เท่านั้น แต่ของเราหลักๆ น่าจะเป็นค่าใช้จ่าย เอาเงินมาพูดกันเลย ถ้าอันไหนตัดได้ก็ตัดไปเลย ไม่ต้องเสียเวลา

แม่เมย์: เพราะบ้านนิดนกอยู่ในทำเลที่ไปได้หลายทางด้วยแหละ

แม่นิดนก: เออ ก็ใช่ เพราะเราอยู่ตรงนี้ (สาทร) ก็เลยมองโรงเรียนอินเตอร์ฯ ได้ เพราะแถวนี้ก็มีหลายโรงเรียนด้วย

แม่แนล: เราเลือกจากค่าใช้จ่ายก่อนเลย ที่เราไม่ได้มองโรงเรียนอินเตอร์ฯ ไว้ เพราะคิดว่าคงจ่ายไม่ไหว แล้วก็ค่อยมาเป็นทำเล ต้องเดินทางสะดวก เพราะไม่อยากจะต้องนั่งรถนานๆ

แม่นิดนก: เออ แต่ที่จริงทำเลมันก็สำคัญนะ คือเราอยากกลับบ้านมาแล้วก็มาเจอลูก เพราะชีวิตตอนนี้เราทำงานก็จริง แต่มันคือสิบนาทีถึงบ้าน แล้วก็ได้มาเจอลูก ทีนี้ถ้าลูกเข้าโรงเรียน เราก็ยังอยากให้มันเป็นชีวิตแบบนี้ ได้มีส่วนร่วมในชีวิตลูกหน่อย ไม่ใช่กลับมาเจอลูกหลับไปแล้ว

M.O.M: แล้วเริ่มต้นหาโรงเรียนกันยังไง

แม่เมย์: เข้าเว็บโรงเรียนก่อนเลย แล้วก็ดูค่าเทอม ถ้าค่าเทอมโอเคค่อยไปสเต็ปสองคือนัดเข้าไปดูโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนแต่ละที่เขาก็จะมีเงื่อนไขว่าเข้าไปได้ตอนไหน ต้องจองคิวยังไง

M.O.M: เริ่มหาโรงเรียนให้ลูกตั้งแต่ลูกอายุเท่าไร

แม่เมย์: 6 เดือน ประมาณนั้นนะ ที่ดูเหมือนหาเร็วเพราะว่าได้ยินแม่คนอื่นเขาบอกว่า บางโรงเรียนต้องจองล่วงหน้านาน แล้วส่วนใหญ่โรงเรียนเขาจะขายใบสมัครล่วงหน้าประมาณปีนิดๆ แปลว่าถ้าอยากให้ลูกเข้าเรียนสามขวบ พอสองขวบก็ต้องซื้อใบสมัครแล้ว ต้องเลือกได้แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าต้องหาข้อมูลก่อนหนึ่งขวบ แล้วพอลูกขวบนึงจะได้มีเวลาพาเขาไปดูโรงเรียนจริงๆ แล้วก็มีเวลาตัดสินใจก่อนสองขวบ เพราะมันเป็นเวลาที่เราต้องซื้อใบสมัครแล้ว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเราจะได้ซื้อกี่ที่ คือบ้านเราไกลด้วยแหละ ก็เลยต้องใช้เวลาเตรียมตัวนาน เพราะไม่รู้ว่ามันจะมีผลต่อที่อยู่อาศัยไหม

แม่เมย์กับน้องชิม

M.O.M: แปลว่าเริ่มเข้าไปดูโรงเรียนมาแล้ว

แม่เมย์: ตอนนี้เพิ่งไปมาที่เดียว แต่ว่ามีอีกสองโรงเรียนที่น่าจะไปช่วงมิถุนายน เพราะตอนนี้โรงเรียนปิดเทอม คือตอนแรกไปดูโรงเรียนเดียวแล้วก็มั่นใจมาก ว่าที่นี่แหละ ไม่ไปดูที่ไหนแล้ว แล้วก็เพิ่งมาคิดได้ว่า ถ้าไม่ได้ขึ้นมาจะทำยังไงวะ ก็เลยต้องมีออปชั่นสองออปชั่นสาม

ล่าสุดโรงเรียนที่เราอยากได้ เขาขายใบสมัครหมดเร็วมาก สมมติเปิดวันนี้ตอนเช้า ยังไม่สิบโมงใบสมัครก็หมดแล้ว และเขาขายวันเดียวเลยนะ

แม่นิดนก: เคยคิดถึงขั้นว่าจะต้องไปตั้งแคมป์อะ

แม่เมย์: เออ นี่ก็คิดอยู่ว่าถ้าเราจ้างคนไปต่อแถวซื้อใบสมัคร โรงเรียนเขาจะรู้ไหม แล้วเขาจะคิดว่าเราไม่ตั้งใจหรือเปล่า

แม่นิดนก: ไม่ได้นะ เดี๋ยวจะดูเป็นคนไม่มีความพยายามด้วยตัวเอง (หัวเราะ)

M.O.M: ทุกโรงเรียนไหมที่มีวิธีการสมัครแบบนี้

แม่เมย์: ไม่นะ แล้วแต่โรงเรียน มีอีกโรงเรียนนึงเงื่อนไขก็คือจะต้องเคยไปเยี่ยมชมโรงเรียนก่อน ถึงจะมีสิทธิ์ซื้อใบสมัคร คือเขาจะขายใบสมัครให้วันที่ไปเยี่ยมโรงเรียน แต่จะสมัครหรือไม่สมัครก็แล้วแต่ แล้วเขาจะเรียกสัมภาษณ์ตามลำดับของใบสมัคร

แม่นิดนก: แล้วถ้าเราไปดูโรงเรียนเร็วมากล่ะ

แม่เมย์: ก็อยู่ในคิวสัมภาษณ์ก่อน แต่ว่าโรงเรียนเขารับแค่ปีละ 50 คนเองมั้ง แล้วก็เป็นโรงเรียนที่มีเนอร์เซอรี ก็จะรับเด็กเนอร์เซอรีของตัวเองก่อน เพราะงั้นถ้าเด็กที่เรียนเนอร์เซอรีสมัครขึ้นอนุบาลเต็ม ปีนั้นอาจจะไม่มีสัมภาษณ์เด็กใหม่เลยก็ได้ เราก็เลยอยากจะรีบเข้าไปดูโรงเรียนก่อน อย่างน้อยให้ได้อยู่ในคิวสัมภาษณ์ที่โอเค

แม่นิดนก: ต้องเรียกว่าการแข่งขันมันสูงมากเลยนะ

แม่เมย์: ใช่ แต่คงเพราะว่าโรงเรียนก็รับน้อยด้วย

แม่แนล: โรงเรียนที่เราอยากได้ก็โหด อย่างของเมย์ใบสมัครมีจำกัดใช่ไหม แต่โรงเรียนนี้คือใบสมัครมีขายเรื่อยๆ แล้วจับสลาก หมายถึงว่าคนที่ซื้อใบสมัครและสมัครแล้วถึงจะมีสิทธิ์จับสลาก ซึ่งมีพี่ที่รู้จักบอกว่า ปีที่เขาสมัครให้ลูก ใบสมัครพันใบ รับเด็ก 60 คน คือหมายถึงมีแค่ 60 คนที่พ่อแม่จะได้มาสัมภาษณ์ หรือไม่ก็ต้องมีพี่น้องสายเลือดเดียวกันเรียนที่นี่มาก่อนถึงจะได้เรียน

แม่นิดนก: เออ เดี๋ยวนี้โรงเรียนถ้ามีพี่น้องเรียนอยู่ ส่วนมากก็จะได้เลย ถ้าไม่ใช่พวกโรงเรียนที่ต้องสอบเข้า

M.O.M: บ้านนิดนกลูกยังเล็กมาก ทำอะไรไปแล้วบ้าง

แม่นิดนก: ก็หาข้อมูล คือเราชอบหาข้อมูล เข้าพวกเว็บโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่มีลูกอยู่แล้ว ชอบหาไว้เรื่อยๆ ตอนนี้ก็เลยเหมือนเป็นช่วงขุดสิ่งที่เราเคยดูไว้ แล้วก็เข้าไปดูโรงเรียนจริงๆ มาแล้วสองที่ มีที่ที่ไม่ชอบไปแล้วที่หนึ่ง ส่วนอีกที่ก็ยังอยู่ในตัวเลือกที่อยากได้ แล้วก็ยังมีในลิสต์ที่จะไปดูอีก แต่ว่ารอเปิดเทอมเหมือนกัน

M.O.M: แต่ละโรงเรียนมีอายุขั้นต่ำของเด็กที่จะเข้าไปดูไหม

แม่นิดนก: ไม่มีนะ อย่างที่แรกที่เคยไปดูตอนนั้นณนญแค่สามเดือนเอง บางคนเขาก็ไปตั้งแต่ท้องเลยก็มี แต่คือพอมานั่งนึกนะ สมมติถ้าเราจะให้ลูกเข้าเนอร์เซอรีในโรงเรียนที่อยากได้ มันก็คือกรกฎาคมนี้เราต้องซื้อใบสมัครแล้ว เพื่อให้ลูกเข้าเรียนพฤษภาคมปีหน้า ซึ่งลูกจะอายุเกือบสองขวบ ที่คิดเรื่องการเรียนเนอร์เซอรีก็เพราะว่า จะได้เรียนอนุบาลต่อโดยอัตโนมัติ ข้อดีมันคือแบบนี้ แต่ข้อเสียมันคือทำไมเราต้องให้ลูกไปโรงเรียนเร็วขนาดนั้น

แม่เมย์: แต่จริงๆ มันก็เหมือนแค่ให้ลูกไปเล่นนะ เพราะเขาไม่ได้ให้เด็กเรียนอะไรอยู่แล้ว

M.O.M: ลึกๆ แล้วอยากให้ลูกเรียนเนอร์เซอรีไหม

แม่นิดนก: เอาจริงๆ ก็ไม่อยาก ไม่เคยแพลนเรื่องเนอร์เซอรีเอาไว้เลย แต่ตอนนี้ก็เริ่มคิดเผื่อเอาไว้บ้าง เผื่ออนาคตไม่แน่นอน ก็อาจจะต้องให้ลูกเข้าเนอร์เซอรี ซึ่งมันก็ไวกว่าที่เราตั้งใจไว้ เพราะทีแรกก็กะว่าสักสามขวบนี่แหละค่อยไปโรงเรียน

แม่นิดนกกับณนญ

M.O.M: ทำไมไม่อยากให้ลูกเรียนเนอร์เซอรี

แม่นิดนก: อย่างแรกคือกลัวป่วย เพราะลูกยังเด็กมาก แล้วก็มีแต่คนบอกว่าเข้าโรงเรียนยังไงมันก็ต้องป่วย

แม่แนล: ใช่ เด็กแข็งแรงยังไง ไปโรงเรียนก็จะป่วย

แม่นิดนก: หลักๆ เราก็เลยกลัวเรื่องนี้ ส่วนเรื่องเด็กเกินไปสำหรับเข้าสังคมอะไรแบบนี้ไม่มีเลย เราไม่ได้ต่อต้าน เพราะว่าเราไม่ได้ส่งลูกไปเพื่อเรียนหรือไปติว แต่เราให้ลูกไปโรงเรียนเพื่อให้เขาเล่นอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าไม่ได้เสียหาย

แม่เมย์: แต่จริงๆ การเข้าเนอร์เซอรีจะทำให้เด็กมีวินัยมากเลยนะ แล้วก็จะช่วยเหลือตัวเองได้เยอะขึ้นด้วย

M.O.M: แล้วของชิม ได้มองเรื่องเข้าเนอร์เซอรีเอาไว้ไหม

แม่เมย์: ไม่ได้แพลน เพราะว่าเรามีไพรออริตี้ของโรงเรียนในใจอยู่แล้ว ซึ่งโรงเรียนที่อยากได้ที่สุดก็ไม่ได้มีเนอร์เซอรี เขาจะให้เข้าเรียนเมื่อสามขวบเต็มเท่านั้น สมมติโรงเรียนเปิดพฤษภาคม แต่ลูกเกิดหลังพฤษภาคม ถึงเป็นปีที่จะครบสามขวบ แต่ก็ยังไม่สามขวบ เขาก็ไม่รับนะ ต้องรอไปอีกปี

แม่นิดนก: อย่างณนญนี่ก็จะเป็นเด็กโข่ง เพราะเกิดกรกฎาคม กว่าจะได้เข้าเรียนก็เกือบสี่ขวบแล้ว

แม่แนล: ของเราสมัครไปแล้ว คือที่สมัครไปแล้วเพราะว่าโรงเรียนที่เราดูไว้ มันเป็นโรงเรียนแนววอลดอร์ฟ ทีนี้ก็รู้มาว่าแนวนี้ เขาไม่เน้นวิชาการ ติวเข้มข้นเลยนะ แต่เขาเน้นให้เด็กได้ไปสัมผัสของจริง ธรรมชาติชาติจริงๆ เน้นพาเด็กไปทัศนศึกษา คือเราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะโอเคจริงหรือเปล่า มันเหมือนเราอาจจะชอบ แต่เอาเข้าจริงจะรับได้จริงไหม ตอนนี้ก็เลยสมัครเพื่อไปลงคอร์สสำหรับเด็กอายุขวบครึ่งถึงสองขวบ เป็นคอร์สอาทิตย์ละหนึ่งวัน ลองเรียนดูก่อนเทอมนึง

แต่ความยากของที่นี่คือมันเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ค่าเทอมไม่แพง เลยดูเหมือนจะสมัครยาก แล้วก็เลือกเด็กยาก ข้อแม้เยอะหน่อย คือเคยคุยกับพวกแม่ๆ ในกรุ๊ปไลน์ ก็จะมาบอกกันว่าโรงเรียนนี้เขาไม่มีประกาศตามหน้าเพจนะ ว่าเปิดรับสมัครเมื่อไหร่ จะต้องโทร.เข้าไปถามเอง

แม่เมย์: เออ มันมีโรงเรียนแบบที่กว่าจะได้คิวสัมภาษณ์ก็ต้องโทร.เข้าไป แล้วเขาจะเปิดโทรศัพท์เป็นเวลาเท่านั้น แล้วพวกแม่ๆ จะต้องมาคอยถามกันว่าโทร.ติดไหม โทร.ตอนไหน เอาเบอร์อะไรโทร. คือมันก็มีอะไรแบบนี้

แม่แนล: ตอนเราสมัครคอร์สทดลองเรียน เขาก็ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย มีแค่อีเมลว่าถ้าจะสมัครคอร์สนี้ ก็ส่งอีเมลมาที่นี่นะ เราก็เอาวะ อุตส่าห์นั่งเขียนอีเมลยาวมาก สวัสดีค่ะ ดิฉัน… คือแนะนำตัวเองแนะนำลูกอะไรไปเต็มที่เลยเว้ย ทีนี้ส่งไปแล้วเขาก็มีอีเมลตอบกลับมาว่า กรอกรายละเอียดที่ลิงก์นี้ค่ะ…

แม่นิดนก: เอ๊า อุตส่าห์ทุ่มเทอย่างหนัก

แม่แนล: ใช่ คือกว่าจะส่งนี่ถึงกับให้พี่กัส (สามี) อ่าน เธอว่าแบบนี้โอเคไหม อีพ่อก็มาช่วยอีดิต เติมตรงนั้นไหม ตรงนี้อีกนิด พอส่งไปแล้วได้อีเมลกลับมาก็ดีใจมาก เฮ้ย! รับแล้วเหรอ! อ่อ เปล่า กรอกรายละเอียดที่ลิงก์นี้ค่ะ…

ของเราตอนนี้ก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้แหละ ถ้าเขารับก็ไปเริ่มมิถุนายน ลองดูว่าลูกเราจะตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนได้ไหม (ซึ่งหลังจากวันสัมภาษณ์หนึ่งวัน คุณแม่แนลก็ส่งข่าวมาบอกว่า โรงเรียนตอบรับให้จักรวาลได้เข้าเรียนคอร์สนี้แล้ว)

เด็กชายจักรวาล
เด็กชายจักรวาล

M.O.M: นอกจากหาโรงเรียนแล้ว กลับมาที่ครอบครัว แต่ละบ้านเตรียมตัวยังไงบ้าง

แม่แนล: หาที่บน (หัวเราะ) จริงๆ นะ อย่างโรงเรียนที่สมัครเป็นพันแลัวจับสลากสัมภาษณ์ 60 คนนี่ ไม่รู้จะต้องทำยังไงเลย

แม่เมย์: ใช่ มันทำอะไรไม่ได้เลย

แม่นิดนก: เหมือนจับใบดำใบแดงนะ (หัวเราะ)

แม่เมย์: ก็เตรียมฝึกให้ชิมช่วยเหลือตัวเองให้ได้ โต้ตอบกับคนอื่นได้ เราจะได้ไม่เป็นห่วง แล้วบางโรงเรียนเขาจะดูว่าเด็กช่วยเหลือตัวเองได้แค่ไหน จำเงื่อนไขเป๊ะๆ ไม่ได้นะ เช่น ต้องเข้าห้องน้ำเองได้ เลิกแพมเพิร์ส หรือกินข้าวเองได้

แม่แนล: ใช่ เขาเน้นเรื่องนี้ อย่างเรื่องอ่านเขียนในวัยนี้ โรงเรียนทางเลือกมันไม่ต้องอยู่แล้ว

แม่เมย์: แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะพิจารณายังไง เพราะในเมื่อตอนสัมภาษณ์ เด็กมันเพิ่งอายุสองขวบ คือมันไม่ใช่วัยที่ต้องเข้าไปเรียนตอนนั้น แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าลูกเราทำได้ไหม

แม่นิดนก: แปลว่าต้องทำได้ตั้งแต่ตอนนั้นไง (หัวเราะ)

แม่เมย์: เออว่ะ เราก็คงเตรียมตัวเรื่องนี้แหละ ต่อมาก็เตรียมตังค์

แม่นิดนก: ของเราก็คงเหมือนกัน แต่อย่างโรงเรียนที่เราเคยไปดู เขาบอกว่าเขาไม่ซีเรียสเรื่องเด็กต้องช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะเขามีครูผู้ช่วย แต่ถ้าเป็นบางโรงเรียนก็จำเป็นนะ เพราะเขาจะไม่ทำให้เลย ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนอินเตอร์ฯ แบบฝรั่งจ๋า ถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาจจะได้เข้าไปเรียน แต่ลูกก็จะลำบากหน่อย เพราะไม่มีครูมาคอยช่วยเหลือตลอดเวลา

เวลาสัมภาษณ์ เขามีถึงขนาดว่าถ้าเป็นบ้านที่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ก็ต้องเอาคนที่เลี้ยงจริงๆ ไปด้วยนะ เพราะเขาจะได้พิจารณาจากข้อมูลที่ถูกต้อง

แม่เมย์: เออ คือเรายังไม่รู้ว่าถึงขนาดต้องให้เด็กทำให้ดูไหม หรือแค่ถามเฉยๆ อันนี้ไม่รู้จริงๆ

แม่แนล: ที่ตะกี้พูดว่าหาที่บน คือเราหาที่บนจริงๆ นะ ส่วนเรื่องฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองนี่เราก็ฝึกเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะเข้าโรงเรียนทางเลือกหรือไม่ทางเลือก ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ มันก็ดีกว่าอยู่แล้ว

M.O.M: ถ้าเลือกโรงเรียนที่คิดว่าเหมาะที่สุดให้ลูกแล้ว แต่พอเข้าไปเรียนแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

แม่นิดนก: มันก็คงต้องเปลี่ยนนะ แต่จะเสียดายค่าแรกเข้า เพราะค่าแรกเข้าแม่งแพง (หัวเราะ)

M.O.M: จะรู้ได้ยังไงว่า สมมติเราเลือกโรงเรียนทางเลือก แต่จริงๆ แล้วลูกเราอาจจะเหมาะกับสายวิชาการก็ได้

แม่นิดนก: คือเราเดาเองนะว่า โรงเรียนทางเลือกมันน่าจะเหมาะกับเด็กทุกคนได้ เพราะว่ามันคือธรรมชาติของเด็ก มันก็คือเหมือนเขาโตไปตามธรรมชาติที่เขาควรจะเป็น

แม่เมย์: เราว่าเด็กสายวิชาการที่เขานั่งอ่านหนังสือกัน อาจเพราะเขาไม่ได้ถูกพุชให้เล่นไง

แม่นิดนก: ใช่ๆ คือเราคิดว่าโรงเรียนทางเลือกมันน่าจะเป็นแนวที่ใจดีกับเด็กแล้ว

แม่เมย์: แต่ถ้าจะมีปัญหา เราว่าก็อาจมีปัญหาสำหรับพ่อแม่ที่ให้เรียนทางเลือกตอนอนุบาล แล้วย้ายไปเรียนแบบอื่นตอนประถมฯ แต่เรามองว่าถ้าลูกได้โรงเรียนนี้ เราก็จะให้ลูกอยู่ยาว หมายถึงจบ ม.6 เลย แต่ถ้าไม่ได้ โรงเรียนที่สองที่มองไว้เขาก็มีประถมฯ เราก็คิดว่ามันไม่ลำบาก

แม่นิดนก: เออ เรื่องนี้ก็สำคัญนะ เพราะว่าเราก็เคยดูโรงเรียนนึงไว้ เป็นโรงเรียนแนว Project Approach แต่ว่าเขามีแค่อนุบาล เราก็นึกไม่ออกว่าถ้าลูกจบอนุบาลที่นี่แล้วจะต้องไปไหนต่อวะ ก็เลยต้องตัดโรงเรียนนั้นออกไป

แม่เมย์: ใช่ๆ เราก็ตัดโรงเรียนที่มีแค่อนุบาล

แม่นิดนก: จริงนะ คือเราว่าถ้าจะเลือกเรียนสายทางเลือก ก็น่าจะเลือกโรงเรียนที่มันเรียนต่อไปเรื่อยๆ ได้เลย จะได้ไม่ต้องกังวล

และที่สำคัญคือประหยัดค่าแรกเข้าด้วย (หัวเราะ)

เด็กหญิงณนญ

M.O.M: คิดว่าพอถึงเวลาลูกไปโรงเรียนแล้ว เราจะกังวลหรือเป็นห่วงอะไรมากที่สุด

แม่แนล: กลัวลูกไปแกล้งเพื่อนเท่านั้นแหละ ไม่เคยกลัวลูกโดนทำร้ายเลยนะ

แม่เมย์: ถ้าเป็นโรงเรียนที่อยากให้ไปเรียนก็ไม่ค่อยห่วงนะ อาจจะแค่สองเรื่องแหละ คือโดนคนอื่นแกล้งกับไม่สบาย แต่ก็ทำใจ

M.O.M: ห่วงเรื่องการเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอ หรือการที่จะเริ่มมีคนอื่นมาสอนลูกเราไหม

แม่เมย์: ไม่นะ เพราะว่ามันเป็นที่ที่เราเลือกแล้ว

แม่นิดนก: เราว่าคิดตอนนี้ก็อาจจะห่วงนะ แต่ว่าพอถึงเวลา มันก็เหมือนตอนท้องที่เราก็จะห่วงว่าลูกเราจะเป็นยังไง แต่พอถึงหน้างานแล้วมันก็คงเป็นไปเอง อย่างตอนนี้เราก็คิดนะว่า จะมีครูมาตีลูกเราไหม หรือว่าครูจะหลุดพูดอะไรที่ไม่น่าฟังใส่ลูกเราไหม พวกคำหยาบนี่มาฟังจากแม่ก็พอแล้วลูก (หัวเราะ)

“คือการเข้าโรงเรียนของลูกสำหรับเรา
มันคือเหมือนให้เขาได้โตในลูกโป่ง คือมีพื้นที่ว่างรอบๆ เขาอยู่
ไม่ใช่การทำน้ำแข็งที่เอาน้ำใส่บล็อกแล้วก็ออกมาเป็นน้ำแข็งรูปเดียวกันหมด
เราแค่อยากให้เขายังมีคาแรกเตอร์ มีความเป็นตัวเขาเองอยู่”
—แม่นิดนก

M.O.M: สิ่งที่คาดหวังจากโรงเรียนอนุบาล

แม่นิดนก: ของเราคือคิดว่าโรงเรียนนี่ไม่สร้างก็ได้นะ แต่อย่าทำลาย ให้เด็กได้เป็นตัวเขาไป คือการเข้าโรงเรียนของลูกสำหรับเรา มันคือเหมือนให้เขาได้โตในลูกโป่ง คือมีพื้นที่ว่างรอบๆ เขาอยู่ ไม่ใช่การทำน้ำแข็งที่เอาน้ำใส่บล็อกแล้วก็ออกมาเป็นน้ำแข็งรูปเดียวกันหมด เราแค่อยากให้เขายังมีคาแรกเตอร์ มีความเป็นตัวเขาเองอยู่ ภายใต้กรอบอะไรสักอย่าง หรือภายใต้ระเบียบวินัยที่โรงเรียนมีให้ อันนี้คือสิ่งที่เราหวังนะ

แม่แนล: เราว่าคงจะคล้ายๆ กัน เพราะว่าเรามาทางสายโรงเรียนทางเลือกแล้ว แต่ว่าเราคิดว่านอกจากโรงเรียนแล้ว เราก็คงพาลูกไปเรียนอย่างอื่นด้วย เรียนดนตรี เรียนกีฬาอะไรบ้าง เพราะในเมื่อมันไม่เน้นวิชาการแล้ว เราก็อยากรู้ว่าลูกเราจะไปทางไหนได้อีก

แม่เมย์: เรื่องวินัยกับการช่วยเหลือตัวเองเท่านี้ก็พอแล้วนะ วินัยอาจจะแค่หมายถึงรู้หน้าที่ตัวเอง เพราะเราเคยเห็นเด็กที่เล่นจนไม่ยอมกินข้าว ซึ่งมันคือไม่รู้หน้าที่ตัวเอง ติดเล่นจนถึงเวลากินไม่กิน เวลานอนไม่นอน เราก็หวังว่าโรงเรียนจะทำให้เขามีวินัย มีความรับผิดชอบในตัวเองได้

เด็กชายชิม
เด็กชายชิม

M.O.M: อันนี้ถามแม่เมย์ว่า สมมติชิมได้เรียนที่เดิมไปจนถึง ม.6 มันจะโอเคหรือว่าที่จริงแล้ว เด็กก็ควรได้ลองเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมบ้าง

แม่เมย์: ในแง่สังคมอะเหรอ

M.O.M: ใช่ เช่น อาจจะไม่ได้เจอเพื่อนที่หลากหลายพอหรือเปล่า

แม่เมย์: เราคิดว่ามันไม่ได้มีผลขนาดนั้น แล้วก็เด็กเขาก็คงมีเพื่อนข้างนอกบ้างอยู่แล้ว

แม่นิดนก: คือเราอะ เป็นคนที่เรียนโรงเรียนเดียวมาตลอด แล้วมันเป็นโรงเรียนที่ดันมีห้องคิง และเราก็อยู่ห้องคิง คือจะบอกว่าเรียนเก่ง (หัวเราะ) ซึ่งมันทำให้เพื่อน 80% คือเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ ป.4 จนถึง ม.6 ถามว่าแคบไปไหม ก็คิดว่านิดนึงนะ เพราะว่าสังคมมันไม่เคยเปลี่ยนเลย ช่วง ม.ต้น ก็มีที่เรารู้สึกว่า เราไม่ค่อยเข้าใจเพื่อนห้องอื่น เราเข้าไม่ถึงเขา คิดว่ามันก็มีผลนิดนึงเหมือนกัน

แต่เราก็เชื่อว่าด้วยวิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนที่เราเลือกมา มันน่าจะทำให้ลูกเราเข้าใจโลก เข้าใจความแตกต่างได้ดีกว่าเราตอนนั้น ส่วนเรื่องเพื่อน เราก็คงพาเขาไปเจอสังคมอื่นบ้างแหละ อาจจะตามเพลย์กรุ๊ปอะไรแบบนี้

“มีคนถามเหมือนกันว่า เราเลือกโรงเรียนทางเลือกที่มันดูสวยงาม
แล้วเวลาลูกออกมาเจอโลกภายนอกจริงๆ จะทำยังไง
แต่เรามองว่าโรงเรียนมันไม่ใช่โลกของเขาทั้งหมด”
—แม่เมย์

M.O.M: หมายถึงนอกจากลูกจะเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ต้องเตรียมอีกสังคมหนึ่งไว้ให้เขาหรือเปล่า

แม่นิดนก: อาจจะไม่ถึงกับอีกสังคมนะ

แม่เมย์: ที่จริงก็มีคนถามเหมือนกันว่า เราเลือกโรงเรียนทางเลือกที่มันดูสวยงาม แล้วเวลาลูกออกมาเจอโลกภายนอกจริงๆ จะทำยังไง แต่เรามองว่าโรงเรียนมันไม่ใช่โลกของเขาทั้งหมด

แม่นิดนก: เขาก็โตมาเป็นน้องเฌอปรางได้นะ (หัวเราะ)

แม่เมย์: เออ คือเราว่ายังไงเด็กมันก็ต้องหลากหลาย ไม่ใช่ว่าเรียนที่นี่แล้วจะโอ้โห เป็นคนดี๊คนดี เขาก็ต้องได้เจอการโดนเพื่อนแกล้งบ้าง หรือเพื่อนไม่ชอบบ้างอยู่แล้ว เราไม่ได้คิดว่าโรงเรียนที่ดีแล้วมันจะโลกสวยขนาดนั้น มันไม่ใช่สถานปฏิบัติธรรม

แม่นิดนก: ใช่ เราว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนยังไง แต่หลักของชีวิตลูกมันก็ยังอยู่ที่เราอยู่ดี

แม่เมย์: แล้วก็มีคนถามว่า ให้เรียนโรงเรียนทางเลือกแล้วลูกจบ ม.6 ไปจะให้เรียนอะไรต่อ

พ่อน้องชิม: (แบงค์—ณัฐชนน มหาอิทธิดล) เราไม่รู้ว่ากว่าจะถึงวันนั้น ระบบหรืออะไรต่างๆ มันจะเปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว

M.O.M: อาจจะไม่มีระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ได้

แม่นิดนก: ใช่ๆ เราว่าสมัยนี้ที่คนเริ่มหันไปเรียนแฟชั่น เรียนทำอาหาร หรือทำอะไรโดยที่ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย มันก็เริ่มเห็นแล้วนะ และเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าการที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยเป็นความผิดบาป คือการจบประกาศนียบัตรที่มันเฉพาะด้านก็อาจจะเพียงพอแล้ว เราว่าโลกสมัยหน้ามันอาจจะเป็นแบบนี้

แม่แนล: นี่ก็เป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามบอกกับอาม่าของจักรวาลอยู่ (หัวเราะ)

Photo: พ่อจักรวาล
สัมภาษณ์ วันที่ 6 เมษายน 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST