READING

EVENT: 5 เรื่องราวดีๆ ที่ ‘ตลาดนัดเด็กแพ้...

EVENT: 5 เรื่องราวดีๆ ที่ ‘ตลาดนัดเด็กแพ้’ (Allergy Flea Market)

ผ่านไปแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมากับงาน ‘ตลาดนัดเด็กแพ้’ (Allergy Flea Market) ที่จัดขึ้นที่ สตูดิโอบ้านหมาไก่ ลาดพร้าว ซอย 35 ผู้ปกครองทุกท่านจะสบายใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าเราจะพาลูก จูงหลานไปชิม ชอป กินอาหารในงานได้โดยไม่ต้องกลัวว่าเด็กๆ จะแพ้อาหารจนต้องพกกล่องข้าวส่วนตัวไปกินเองอีกต่อไป นอกจากนั้นยังมีเวิร์กชอปดีๆ ที่เกิดจากความตั้งใจของ คุณตั้ม—ศิระษา จังธรานนท์ และการร่วมแรงร่วมใจคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าอกเข้าใจสารพัดอาการแพ้ของลูกๆ เป็นอย่างดี

 

ตลาดนัดเด็กแพ้ หรือ Allergy Flea Market จึงเกิดขึ้นเพื่อเติมความสุขให้ชาวภูมิแพ้ทุกคน มั่นใจได้ว่าแม้ปกติแล้วคนที่แพ้จะต้องดูแลตัวเอง แต่ภายในตลาดนัดแห่งนี้ ทุกอย่างถูกเตรียมมาเพื่อเป็นมิตรกับคนขี้แพ้อย่างแท้จริง

1. วางใจได้ ทั้งงานนี้ หนูๆ จะไม่มีอาการแพ้จากอาหารใดๆ

ปกติแล้วผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหาร เวลาจะไปเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ก็มักทำได้ไม่เต็มที่นัก เพราะอาจต้องคอยพะวงเรื่องอาหาร หรือเวลาสั่งอาหารในร้าน ก็จะต้องบอกเงื่อนไขให้เชฟไป สุดท้ายก็เหมือนเลือกได้ไม่สุดนั่นเอง ทีมงานเขาก็เลยอยากได้งานมีตติ้งเล็กๆ ของครอบครัวและเด็กๆ หรือคนแพ้อาหาร ที่ไม่ต้องพกกับข้าวหรือเตรียมของอะไรมาเลย จะได้มีโอกาสเข้ามาเดินเล่น แล้วเลือกซื้ออะไรก็ได้ตามใจเหมือนคนอื่นๆ เดินชิลในตลาดนัด ไม่ต้องกังวลอะไร ดีต่อใจทั้งคุณแม่และคุณลูก

ซึ่งอาหารที่นำมาวางขายก็มีตั้งแต่กล้วยหอมทองทอดกรอบ คุกกี้ แครกเกอร์ และบราวนี่ปราศจากกลูเต็น ไอศกรีมที่ไม่ใส่นมวัว และผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน อาทิ สบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของแป้งข้าวโพด เด็กๆ ใช้แล้วไม่แพ้แน่นอน

2. รับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลเด็กที่แพ้อาหาร

คุณตั้มกำลังสาธิตการทำขนม Gluten Free ให้คุณพ่อคุณแม่ดู

เด็กๆ บางคนมีอาการแพ้หลายอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำกับข้าวเองทุกมื้อ หรือบางครั้งจะขึ้นเครื่องบินก็อาจต้องเขียนจดหมายทำเรื่องแจ้งสายการบินเลยด้วย เพราะความแพ้นี้ บางครั้งก็ไม่ใช่จากแค่อาหาร แต่มันอยู่ในการแพ้อากาศ ไรฝุ่น หรือเกสรดอกไม้ เป็นต้น

ดังนั้น คุณตั้มจึงนำประสบการณ์ของตัวเองที่คลุกคลีอยู่ในวงการเด็กแพ้อาหารมานานกว่าห้าปีมาเล่าสู่กันฟัง และเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มาในงานได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน นอกจากจะรู้ว่าต้องดูแลยังไงแล้ว รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่นำมาพูดคุยกัน อาทิ เด็กที่แพ้สัมผัสอาจต้องแยกชุดเครื่องครัว หรือสบู่บางชนิดมีส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็อาจต้องเปลี่ยนยี่ห้อ และยังได้มาเจอผู้ผลิต ได้พูดคุยกันโดยตรง เชื่อมั่นได้ว่าคนที่ทำเขาใส่ใจ เข้าใจ บางทีไม่ได้รู้จัก แต่คุยเรื่องเดียวกัน เข้าใจกัน ขากลับทุกคนอาจจะได้เพื่อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

3. สังคมแห่งการแบ่งปัน

ทุกร้านที่มาออกบูทในงานคือร้านที่มีสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อยหนึ่งคนมีอาการภูมิแพ้ ผู้คร่ำหวอดอยู่กับการสรรหาวัตถุดิบเพื่อลูกน้อยมานานจนเชี่ยวชาญสามารถปรับสูตรของตัวเองขึ้นมาเพื่อเด็กที่แพ้อาหารได้

งานนี้จึงเป็นงานที่ทุกคนอยาก ‘แชร์’ ตั้งแต่วัตถุดิบในราคาที่เอาไปทำขนมให้เด็กๆ หรือถ้าไม่รู้จะใช้แป้งจากต่างประเทศหรือแป้งไทยยี่ห้อไหน ก็สามารถมาจับมือร่วมงานกันได้อีก เพื่อให้ทุกธุรกิจที่กำลังสรรหาวัตถุดิบเพื่อคนแพ้อาหารได้มารวมตัวกัน ขยายตลาดและเติบโตไปด้วยกันนั่นเอง

4. ไม่ใช่แค่คนแพ้อาหาร แต่สายรักสุขภาพก็ฟินไม่แพ้กัน

คุณตั้มถ่ายภาพกับผู้มาเข้าร่วมงาน

หลังๆ มีคนป่วยที่แพ้อาหารมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงผู้สูงอายุที่แพ้กลูเต็น ไม่ได้จำกัดแค่ในเด็กอีกต่อไป และอาหารเหล่านี้ก็ดีต่อสุขภาพแน่นอนอีกด้วย

ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าไม่ใช่ในงาน ก็สามารถหาซื้อส่วนผสมได้จากร้านค้าออนไลน์เช่นกัน แต่ในระดับร้านเล็กๆ ที่คุณแม่เอามาขายเอง ทำเอง คนขายก็จะได้ลูกค้ามากขึ้น คนซื้อไม่ว่าจะสายไหนก็วางใจ และเพิ่มทางเลือกในการซื้ออาหารสุขภาพให้ตัวเอง

5. เข้าร่วมเวิร์กชอปได้

เด็กๆ กำลังฝึกแต่งหน้าคุกกี้ด้วยกัน

ทุกคนจะสามารถเข้าร่วมเวิร์กชอป และดูการสาธิตทำอาหาร เช่น เมนูรุ้งห่มหมู อาหารกลูเต็นฟรี ไปจนถึงแต่งหน้าคุกกี้ แต่งหน้าคัปเค้ก ซึ่งถ้าใครมีคำถามหรือข้อสงสัยอะไร ก็ถามคุณตั้มที่อาสามาเป็นวิทยากรด้วยตัวเองกันได้เลย เวลาเอากลับไปทำที่บ้านด้วยกัน จะได้ไม่ต้องกังวล และมีความสุขกับการทำให้ลูกกินมากขึ้นด้วย

เอาเป็นว่า ใครพลาดรอบนี้ เตรียมตัวให้ดีไว้ รอบหน้าอาจกลับมาอีกเร็วๆ นี้

Allergy Flea Market
Kitchen Player

 

ขอขอบคุณภาพจากทีมงาน ‘ตลาดนัดเด็กแพ้’

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST