READING

ให้เด็กๆ กินไปเถอะ ยังไงก็ไม่อ้วน—ไม่จริง! จัดสรรว...

ให้เด็กๆ กินไปเถอะ ยังไงก็ไม่อ้วน—ไม่จริง! จัดสรรวิถีการกินอย่างเข้าใจสำหรับคุณและลูกน้อย

เมื่อส่วนผสม และสารปรุงแต่งในอาหารเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อะไรที่มัน ‘อาจจะ’ มากเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกน้อยกิน ก่อนที่เขาจะกลายเป็นเด็กอ้วน และต้องเผชิญอีกหลายโรครุมเร้า ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หวาดกลัวจนลูกกินไม่ถึงเกณฑ์ที่ร่างกายต้องการพลังงาน ซึ่ง พญ. อมรรัตน์ อาภรณ์วิชานพ—กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ จะมาช่วยแนะนำวิถีการกินอย่างเข้าใจให้คุณและลูกน้อยเอง

1. เด็กกินยังไงก็ไม่อ้วน… ไม่จริง

เคยได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า “ตอนเด็กๆ กินไปเถอะ ยังไงก็ไม่อ้วน” จริงไหม

สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ไม่จริงแล้ว เพราะเด็กอ้วนสมัยนี้เยอะมากค่ะ โดยเฉพาะในประเทศไทย

คุณหมอคิดว่าสาเหตุมาจากอะไร

อาหารสมัยนี้มักจะเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่มีพลังงานจากแป้งจากน้ำตาลในปริมาณสูง พลังงานส่วนที่เหลือก็สะสมเป็นไขมันในร่างกาย ทฤษฎีคนสมัยเก่าใช้สมัยนี้ไม่ได้ เพราะอาหารสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยเดิมเลย

แล้วควรทำตัวยังไงดี

ถ้าจะถามว่ากินไปเหอะ อะไรก็กิน ก็จะต้องสำรวจน้ำหนักด้วย ว่าลูกน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเปล่า หรือเกินเกณฑ์ในระดับไหน ระดับที่กำลังจะอ้วน อ้วน หรืออ้วนมาก

ถ้าเป็นระดับที่อ้วนมาก ควรลด โดยเฉพาะถ้าอ้วนมากแล้วครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรค Metabolic Syndrome อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน อันนี้ต้องควรลด

เกณฑ์ของเด็กที่ ‘อ้วนแล้วนะ’

สมาคมโภชนาการเด็กมีการวิเคราะห์แล้วก็สร้างเกณฑ์ขึ้นมา เป็นกราฟการเจริญเติบโต โดยใช้น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง แล้วคำนวณหาเปอร์เซ็นต์ว่าเด็กคนนี้อ้วนในระดับไหน น้อย ปานกลาง หรือมาก

ซึ่งถ้าเด็กอ้วนในระดับปานกลาง ไม่มาก หมอก็จะเอาไปดูว่ามีความเสี่ยง หรือว่ามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนไหม

ถ้าน้องอ้วนโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร และอายุต่ำกว่าเจ็ดขวบ เราจะแนะนำให้เขาคงน้ำหนักเดิม และก็ติดตามน้ำหนักไปทุก 3-6 เดือน โดยคุณหมอจะเป็นผู้คำนวณให้ เพราะค่อนข้างซับซ้อน ต้องดูอายุ ช่วงเวลา พลอตกราฟ ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เป็นเทเลอร์เมดก็คือตัดตามบุคคล

ผลเสียของมันนอกจากการเป็นโรค

เยอะมาก จริงๆ โรคน่ะมันมีตั้งแต่หัวจรดเท้าเลย

อย่างโรคกลุ่มแรกก็คือ Metabolic Syndrome กลุ่มเบาหวาน ความดัน ต่อมาก็เป็นเรื่องระบบทางเดินอาหาร เช่น มีไขมันแทรกในตับ, ด้านโครงสร้าง เช่น อ้วนมากก็จะไปลงข้อและปวดเข่า ปวดกระดูกสันหลัง ทำให้เข่ามีปัญหา ขาโก่ง คอเสื่อมเร็วกว่าวัย กระดูกสันหลังมีปัญหา, ด้านผิวหนัง เช่น อ้วนเร็วๆ แตกเป็นลาย หรือพวกที่มีความเสี่ยงต่อการดื้อต่ออินซูลิน คือมีภาวะเป็นเบาหวานก็จะคอดำ สุดท้ายก็มีปัญหาที่หัวใจ แล้วก็จะไปลงที่จิตใจเด็กอีก เพราะถูกล้อว่าอ้วน

เพราะฉะนั้นเด็กอ้วนจนกระทั่งไปเป็นผู้ใหญ่อ้วนเนี่ย ก็จะต้องไปเสี่ยงกับเส้นเลือดตีบในสมองและการเป็นมะเร็งในวัยผู้ใหญ่อีก ครบทุกโรค มีหมดค่ะ

พญ. อมรรัตน์ อาภรณ์วิชานพ—กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

2. คุมน้ำหนักอย่างไร ไม่ให้ขัดขวางพัฒนาการ

ประเด็นที่ต้องระวังในการคุมน้ำหนักของลูกน้อย

ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ เป็นเกณฑ์อ้วนที่ต้องลด หรือเป็นเกณฑ์ที่ต้องคงน้ำหนักไว้ หรือเป็นเกณฑ์ที่หนักจนต้องคุมให้ได้อย่างรวดเร็ว ต้องดูก่อนว่าเขาเกณฑ์ไหน

ซึ่งเราจะพูดในประเด็นที่ต้องเจอเยอะสุดคืออ้วนแบบไม่มีปัญหาอะไรนะคะ ก็กินพลังงานเท่าที่เด็กในวัยนั้นๆ ควรกิน แล้วก็การเลือกสัดส่วนของพลังงาน

ให้ระวังไขมัน

แต่ถ้าต่ำกว่าสองขวบ ยังไม่ให้กินนมไร้ไขมัน

เพราะสมองของเขายังต้องการใช้ไขมันในการเจริญเติบโตสูง

การงดไขมันเลยจะทำให้การเจริญเติบโตเขาไม่เต็มที่

และที่สำคัญ การงดไขมันเลยในเด็กก่อนสองขวบเนี่ย จะทำให้เขาไม่ได้รับวิตามินสำคัญที่ละลายในไขมัน เช่น A, D, E และ K ไปด้วย มันจึงไม่สามารถขาดได้เลย เพราะฉะนั้นเด็กต่ำกว่าสองขวบ ให้ระวังว่าอย่าเพิ่งไปงดไขมันเขา

หมวดอื่นๆ ล่ะ

คาร์โบไฮเดรต ถ้าเป็นข้าว หรือแป้ง สองทัพพีต่อหนึ่งวันคือพอนะ สำหรับเด็ก แต่ว่าอาหารสมัยนี้มันไม่ได้มีแต่ข้าว แต่มันยังมีขนมปัง น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมห่อตามร้านสะดวกซื้อ พวกนี้แป้งส่วนเกินจากข้าวทั้งนั้นเลย ตัวนี้ละที่ตัวอ้วน ก็จะต้องแนะนำว่าเรื่องแป้ง นอกจากข้าวหรือว่าขนมปังบางส่วน ให้ระวังน้ำตาลที่เป็นส่วนเกินด้วยค่ะ

แล้วควรกินอย่างไร

ข้าวสามมื้อควรกิน แต่ควรเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินอื่นๆ พยายามอย่าให้ลูกกินน้ำอัดลม

ที่ต้องระวังคือ ‘นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม’

น้ำตาลเยอะมาก บางทีสูงถึง 15%

ซึ่งจริงๆ แล้ว เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพควรมีน้ำตาลน้อยกว่า 10%

แต่ไปเปิดข้างกล่องแล้วส่วนใหญ่เกินสิบตลอดเลย แสดงว่ามีน้ำตาลส่วนเกินเยอะมาก ซึ่งคือพลังงานส่วนเกินล้วนๆ เลย

แปลว่าจริงๆ คาร์โบไฮเดรตจากข้าวคือเพียงพอแล้ว

ค่ะ แถมพวกขนมและน้ำหวานเนี่ย มันคือน้ำตาลล้วนๆ พลังงานน้ำตาลล้วนๆ ไม่มีวิตามินตัวไหนอยู่ในนั้นเลยนะ แต่ในข้าวมันยังมีวิตามิน มีแร่ธาตุต่างๆ

เพราะฉะนั้นในหมวดคาร์โบไฮเดรตที่ดีที่สุด ก็กินข้าวดีกว่า ได้สารอาหารครบกว่า และได้กากอาหารด้วย น้ำตาลเนี่ยกินไปไม่มีกากเลย ได้แต่พลังงาน แถมพลังงานพวกนี้พอเกินแล้วไม่ได้สลายออกจากร่างกายนะ ก็ไปสร้างเป็นไขมันสะสมๆ เข้ามาอีก

เด็กกลุ่มที่ต้องลดน้ำหนัก คุณหมอมีวิธีดูแลอย่างไร

ต้องปรึกษานักโภชนาการเด็กด้วยเลยค่ะ เพราะเราต้องดูอายุ ดูน้ำหนักที่เราต้องการให้เขาเป็น แล้วก็คำนวณเป็นพลังงานแคลอรี เพื่อแบ่งสัดส่วนคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามินต้องครบ หลังจากนั้นค่อยมาดีไซน์เป็นชนิดอาหารแล้วแบ่งเป็นมื้อให้เพียงพอ

เรื่องอาหารสำหรับเด็กค่อนข้างละเอียดอ่อนมากใช่ไหม

คือเด็กๆ จะเว้นช่วงแต่ละมื้อนานก็ไม่ได้ เขาจะหิว ต้องแบ่งให้สม่ำเสมอ เราก็ต้องรันโปรแกรม และเช็กว่าถึงเป้าไหม ต้องลงรายละเอียด เพราะว่าเขาต้องได้รับพลังงานที่เพียงพอ แต่ห้ามเกิน เพื่อให้ได้น้ำหนักลดลงตามเป้าโดยไม่กระทบความสูง การเจริญเติบโต การสร้างอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญ

จะไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่คัดออกไปได้เลยตามใจฉัน เพราะเด็กยังต้องการเจริญเติบโต ซึ่งนักโภชนาการก็ต้องคำนวณต่อไปแล้วให้คนทำอาหารคิดเป็นเมนูออกมา แล้วก็ต้องมีเทคนิคอีกว่าทำยังไงให้เด็กกิน

เพราะฉะนั้นการลดน้ำหนักในเด็ก แนะนำว่าโดยเฉพาะเด็กที่เราตั้งเป้าว่าต้องลง หรือเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนกลุ่มนี้ ควรพบแพทย์และนักโภชนาการค่ะ ไม่ควรไปลดกันเอง

พญ. อมรรัตน์ อาภรณ์วิชานพ—กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

3. ภาวะความอ้วนและการกินอาหารของเด็กไทยปัจจุบัน

ปัจจุบันโรคอ้วนในเด็กไทยปรากฏเร็วแค่ไหน ไวกว่าแต่ก่อนไหม

หมอคิดว่าเร็วขึ้น เพราะสมัยก่อนเราไม่ค่อยได้รักษาเบาหวานเด็ก หรือไขมันสูงในเด็ก แม้กระทั่งวิชาการก็ยังไม่มีกำหนดออกมาชัดเจน ไม่เหมือนโรคอื่นๆ ในเด็กที่มีมาตรฐานกำหนดออกมาแล้วว่าเกณฑ์ไหนให้ปฏิบัติอย่างไร แต่ในขณะที่หลายโรคในเด็กเพิ่งมียา เพิ่งมีเกณฑ์ เพราะแต่ก่อนหมอเด็กจะไม่เคยต้องรักษาบางโรคเลย เพราะเกิดเฉพาะกับผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันต้องมานั่งคำนวณกันใหม่สำหรับเด็กแล้วพบแพทย์เฉพาะทางเลย

ซึ่งก็น่าจะมาจากการกินอาหารใช่ไหม

ใช่ เพราะอาหารสมัยนี้เราเอาสะดวก แป้งเยอะ น้ำตาลเยอะ ไขมันเยอะไว้ก่อน เดินไปจะเลือกอาหารที่มีโปรตีนนี่หายากมากเลย

ปัจจุบันที่ผู้ปกครองหลายคนให้ลูกกินข้าวที่ทำแล้วฟรีซไว้ มันโอเคไหม

ยุคสมัยนี้โอเคนะ แต่วิธีต้องถูก ทำเสร็จต้องแช่ฟรีซเลย เพื่อคงสารอาหารไว้ เพื่อป้องกันแบคทีเรียลงไปในอาหาร ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ และมื้อนึงช่วงแรกๆ เด็กๆ ก็จะกินได้ไม่กี่ช้อน การจะทำทุกมื้อสำหรับเด็กๆ ในยุคสมัยนี้มันก็ยากจริงๆ ทำเตรียมไว้ก็ได้ค่ะ อย่างน้อยก็ได้เลือกของที่มีคุณภาพมาล้างมาปรุงเองกับมือ

แต่ไม่แนะนำให้ทำเก็บเป็นเดือนนะ เก็บเป็นรายสัปดาห์ ให้ทานภายในหนึ่งอาทิตย์จะดีกว่า เช่น ทำงานแล้วมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทุกวันหยุดก็ต้องเคลียร์ของออก แล้วทำใหม่

คุณค่าทางสารอาหารเท่ากินสดหรือไม่

ไม่เท่า ยังไงก็ไม่เท่า มีหลายอย่างที่สลายไปก่อน วิตามินซีนี่สลายไปก่อนอยู่แล้ว แต่วิตามินซีเราหวังจากผลไม้รายวันได้ แล้วสารอาหารทุกตัวก็ต้องลดลงแน่นอน แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้กับยุคสมัย แต่ถ้าครอบครัวไหนทำสดได้ก็อยากให้ทำ เพราะมันดีที่สุด

ซีรีแล็กดีไหม

มันเป็นสารอาหารสำเร็จรูปค่ะ ซึ่งมักจะใส่สารกันบูด เด็กได้รับขนาดนั้นอาจไม่อันตราย แต่มันมีโอกาสสะสมได้ แล้วเขาก็ต้องปรุงให้รสชาติดีเด็กจะได้ชอบ เพราะฉะนั้นก็อาจมีการแอบใส่น้ำตาลหรือเครื่องปรุงอื่น พอเด็กติดรสชาติก็ยากละ

แล้วข้อสำคัญคือ เด็กมีประวัติการแพ้อาหารมากขึ้นจากอาหารเหล่านี้ เพราะมันมีการผสมไข่ นม หรือแป้งบางชนิดลงไป ซึ่งผู้ปกครองหลายคนก็ไม่รู้จนกระทั่งอาการออกก็มี เพราะฉะนั้นถ้าจำเป็นจะต้องใช้อาหารสำเร็จรูป เช่น ในกรณีที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ก็ต้องระวัง

ถ้าอยากปรุงรสชาติให้เด็กๆ กินต้องทำอย่างไร

ก่อนขวบนึงไม่ให้ปรุงเลย! แต่เราจะรู้ว่าอาหารอะไรหวานอะไรไม่หวาน เช่น การต้มแคร์รอต ผักกาด กระดูกหมู จะให้รสหวาน เราก็ใช้รสธรรมชาติเข้ามาปรุงได้ค่ะ

แต่หลังขวบนึง จะแนะนำให้เขาทานอาหารคล้ายผู้ใหญ่ละ มันก็จะมีแฝงบ้าง ก็ต้องยอมรับไป แต่ไม่แนะนำให้ปรุงเพิ่ม เพราะเรากำลังฝึกเขาให้ทานอาหารผู้ใหญ่

เริ่มปรุงได้จริงจังเมื่อไหร่

กว่าไต ตับ ทุกอย่างจะทำงานได้ดี ต้องราวๆ 2-3 ขวบขึ้นไป แต่ถ้าสายสุขภาพจริงๆ เขาไม่ต้องปรุงเลยก็ได้นะ เพราะเพื่อนหมอบางคนก็ยังกินจืดมาจนถึงตอนนี้

แต่ถ้าติดเค็ม ติดหวาน ติดรสชาติ ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคามเข้มแข็งของจิตใจแต่ละคนอีก ว่าโตมาแล้วจะคุมตัวเองได้แค่ไหน แต่ไม่ว่ายังไง ก่อนขวบนึงต้องไม่ปรุงเลย หมอไม่อยากให้ปรุงเลย

ลูกน้อยจะอ้วนไม่อ้วน… จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับพลังงานแคลอรีทั้งวันที่กินเข้าไป ขอเพียงไม่ขาดไม่เกินจากที่ร่างกายต้องการ กินอาหารให้ครบห้าหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับรองว่าลูกจะสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บแน่นอน


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST