READING

INTERVIEW: แม่ตั้ม—ศิระษา จังธรานนท์ แม่ที่ไม่ปล่อ...

INTERVIEW: แม่ตั้ม—ศิระษา จังธรานนท์ แม่ที่ไม่ปล่อยให้ลูกที่แพ้ (อาหาร) ต้องดูแลตัวเอง

ในโลกของอาหาร มีอาหาร 8 ชนิดที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มตัวท็อปของอาหารที่มีความเสี่ยงจะทำให้คนกินเกิดอาการแพ้ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกอาหารกลุ่มนี้ว่า Big 8 Food Allergens ซึ่งประกอบไปด้วยนม ไข่ ข้าวสาลี ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ปลา และอาหารทะเลเปลือกแข็ง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราพบว่ามีคนที่มีอาการแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออย่างมากก็สัก 3-4 ชนิดจากท็อป 8 อาหารจอมเสี่ยงอยู่ในชีวิตประจำวัน

 

M.O.M ชวนไปคุยกับ คุณแม่ตั้ม—ศิระษา จังธรานนท์ แม่งานใหญ่ของงาน ตลาดนัดเด็กแพ้ ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะเรารู้มาว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณแม่ตั้มหันมาสนใจเรื่องอาหารสำหรับเด็กแพ้อาหารนั้น ก็เพราะน้องยินดี—ลูกสาววัย 6 ปี ที่เคยเกือบเสียชีวิตเพราะอาการแพ้อาหารมาแล้ว ก่อนที่คุณแม่ตั้มจะรู้ว่า ในบรรดาอาหาร Big 8 Food Allergens นั้น น้องยินดีกวาดมาแพ้ไปแล้ว 6 ชนิด และยังเป็น 6 ชนิดที่ดูเหมือนจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารที่เรากินกันในชีวิตประจำวันเสียด้วย

แล้วคุณแม่ตั้มจะรับมืออาการแพ้อาหารของน้องยินดีอย่างไร และมีทางเอาชนะมันหรือไม่ คงต้องให้คุณแม่ตั้มเล่าให้ฟัง

สัญญาณเตือนให้คุณแม่เริ่มรู้ว่าลูกมีอาการแพ้อาหาร

จริงๆ ตอนท้องคุณหมอเคยเตือนแล้วว่าไม่ให้กินนมวัวเยอะ เราก็เคยได้ยินเรื่องแพ้นมวัวมาบ้าง แต่เราก็อยู่ในยุคที่โดนปลูกฝังว่านมมีประโยชน์ ให้กินนมเยอะๆ ก็เลยเป็นคนที่กินนมมาตลอด แล้วตอนท้องก็ยิ่งบำรุงตัวเอง ก็โดปกินโปรตีนแบบชงมาตลอด

ทีนี้พอลูกคลอด เราก็เอ๊ะ ทำไมลูกตัวเป็นผด ไม่มีความเนียนใสเหมือนลูกคนอื่น คุณหมอก็บอกว่าน่าจะเป็นผื่นฮอร์โมน รออีกสักสามเดือนน่าจะหาย ระหว่างนั้นลูกก็กินนมเราตลอด ส่วนเราก็ยังกินนม กินอาหารบำรุงเหมือนเดิม

พอลูกสามเดือน เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ผดธรรมดาแล้ว เพราะมันเริ่มเป็นจ้ำๆ ขึ้นตรงนี้ ยุบแล้วก็ไปขึ้นตรงนั้น สักพักก็จะกลับมาเป็นที่เดิมใหม่ซ้ำๆ เราก็คิดว่ามันไม่ใช่ละ ก็เริ่มหาข้อมูล แล้วก็ไปเจอชมรมเด็กแพ้อาหาร เราก็เริ่มอ่านข้อมูล แล้วก็กัดฟันรอดูอาการจนลูกสี่เดือนกว่า เลยตัดสินใจพาไปหาคุณหมออีกที

คุณแม่กินนมวัว แต่อาการแพ้ตกไปถึงลูกที่กินนมแม่อีกที

คุณหมอเห็นแล้วก็บอกว่า ลูกแพ้นมวัวแน่นอน หยุดให้กินนมแม่ไปเลย แล้วลองเปลี่ยนนมดู

คือต้องบอกว่าเมื่อหกปีก่อน ก็ยังไม่ค่อยมีข้อมูลเฉพาะทางเรื่องเด็กแพ้อาหารเหมือนตอนนี้ คุณหมอก็บอกให้เปลี่ยนนมลูกอย่างเดียว แต่ไม่ได้บอกให้เราลองงดนมวัวหรืองดอาหารอะไร

เราก็เปลี่ยนนม ให้ลูกหยุดกินนมแม่ แล้วอาการเขาก็เริ่มดีขึ้น ผิวก็เริ่มใสขึ้น ตอนนั้นก็เลยโอเค รู้แล้วว่าลูกเราคงจะแพ้นมวัวจริงๆ

“ตักเส้นสปาเกตตีเปล่าให้เขาหนึ่งคำเล็กๆ ไม่ถึงช้อนชาเลยมั้ง
พอกินเข้าไปแล้วเขาก็เริ่มไอ แล้วไม่ถึงสามสิบนาทีเขาก็ตาบวม
แล้วก็คอพับคออ่อน คือถ้าโรงพยาบาลอยู่ไกลกว่านั้นสักห้านาที ก็น่าจะตายไปแล้ว”

อาการแพ้ที่หนักหน่วงในครั้งต่อมา

เราเพิ่งมารู้ว่าเขาไม่ได้แพ้แค่นมวัว แต่แพ้แทบทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ ตอนเขาอายุแปดเดือน ที่จริงเขายังไม่เคยกินอะไรเยอะ เพราะตอนนั้นมันยังไม่ถึงวัยที่เขาจะกินได้

แต่วันนั้นเราก็ออกไปกินข้าวข้างนอกกับครอบครัวตามปกติ แล้วก็ตักเส้นสปาเกตตีเปล่าให้เขาหนึ่งคำเล็กๆ ไม่ถึงช้อนชาเลยมั้ง พอกินเข้าไปแล้วเขาก็เริ่มไอ แล้วไม่ถึงสามสิบนาทีเขาก็ตาบวม แล้วก็คอพับคออ่อน คือถ้าโรงพยาบาลอยู่ไกลกว่านั้นสักห้านาที ก็น่าจะตายไปแล้ว

เป็นครั้งแรกที่รู้ว่าเขาไม่ได้แพ้แค่นมวัว

พอไปถึงโรงพยาบาลก็ต้องแอดมิต คุณหมอฉีดอะดรีนาลีนให้สองเข็ม ซึ่งในเด็กแปดเดือน คุณหมอบอกว่ายังไม่เคยต้องทำให้เคสไหน แต่ว่าเขาเหมือนจะตายแล้ว ปากเขียว ชีพจรต่ำ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ก็ต้องทำแล้ว

หลังจากนั้นคุณหมอก็ให้ตรวจเลือด คือโชคดีที่โรงพยาบาลที่เราพาเขาไป มีแผนกสำหรับโรคภูมิแพ้ แล้วก็มีคุณหมอที่รู้เรื่องการแพ้อาหารจริงๆ เราก็โอเค เจาะเลือด แล้วก็รอผลประมาณสิบวัน

คุณหมอก็โทร.กลับมาบอกผลว่า น้องแพ้อะไรบ้าง และแต่ละอย่างก็จะมีเลเวลความแพ้ของมัน สิ่งที่แพ้หนักที่สุดเลยคือไข่ รองมาก็แป้งสาลี นมวัว ถั่วลิสง… ในอาหารท็อป 8 ยินดีแพ้ไปแล้ว 6 อย่าง ขาดแค่อาหารทะเลกับถั่วเหลือง

เราฟังคุณหมอแล้วก็นั่งมองหน้าลูกว่า แล้วจะเลี้ยงเขายังไง ต่อไปนี้จะกินอะไรดีละลูก คือนึกไม่ออกเลยว่าจะเลี้ยงเด็กคนนึงที่กินไข่ไม่ได้ กินแป้งสาลีไม่ได้ กินนมไม่ได้กันยังไงดี แต่ยังไงก็ต้องพยายามเลี้ยง ก็ค่อยๆ ปรับตัวเองไป

ปัจจัยที่ทำให้ลูกแพ้อาหาร

จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า มีหลายคนก็ถามว่ามันเพราะอะไร แต่คุณหมอก็บอกว่า มันไม่ได้มีงานวิจัยยืนยันว่าการแพ้อาหารมันเกิดจากอะไร แต่ว่าก็พอจะหาปัจจัยได้ จากการพูดคุยกับคนไข้ คุณหมอคิดว่ามันมาจากการกินอะไรซ้ำๆ ของคุณแม่ตอนท้อง หรือการใช้ชีวิตของเรานี่แหละค่ะ อย่างเช่น กินนมยี่ห้อเดิมซ้ำๆ หรือกินอะไรมากเกินไป กินโดป เพราะตอนท้องเรามักจะคิดว่า โอ๊ย กินเข้าไปเถอะ กินนมวันละกี่แก้วก็ได้

ที่จริงคุณหมอจะบอกเสมอว่า ถึงจะท้องก็ให้กินเหมือนเดิม ไม่ต้องโดป เพราะคุณหมอก็จะให้กินโฟเลต และอะไรที่มันบำรุงเพียงพอต่อการที่เด็กจะเจริญเติบโตในท้องแม่อยู่แล้ว คุณแม่กินตามปกติก็พอ

แล้วพอเราไปคุยกับแม่ๆ หลายคนที่เจอปัญหาแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากสาเหตุเดียวกัน

อย่างตั้มเนี่ย แปลกตรงที่ปกติเป็นคนชอบกินปลา แต่ตอนท้องนี่ไม่อยากกินปลาเลย ก็เลยไม่กิน แล้วก็ไม่ได้กินอาหารทะเล ซึ่งปรากฏว่าลูกก็ไม่แพ้ปลา ไม่แพ้อาหารทะเล

แล้วก็ปกติเป็นคนไม่ชอบกินไข่ แต่ว่าตอนท้องสามีบอกว่ากินเข้าไปเถอะ กินไข่วันละกี่ฟองก็ไม่รู้เลย ลูกก็เลยกลายเป็นคนแพ้ไข่รุนแรง แต่ทั้งหมดมันก็คือข้อสันนิษฐานของคุณหมอ ซึ่งทุกอย่างมันก็ตรงกับสิ่งที่เราทำมาจริงๆ

เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

หลังจากนั้นก็ทำอาหารให้เขากินเองทุกอย่าง แยกอุปกรณ์ทุกอย่าง เพราะยินดีแพ้สัมผัสของไข่ขาวด้วย ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเขาแพ้สัมผัสด้วย เราก็ทอดไข่เจียวอยู่ในครัว แล้วเขาเดินเข้ามา สักพักเขาก็เป็นผื่น ซึ่งเด็กที่แพ้แป้งสาลีหรือแพ้ถั่วบางคนก็เป็นแบบนี้ แค่โดนละอองหรือแค่ดมก็ไม่ได้แล้ว

“ก่อนที่จะมาเจอโรงเรียนนี้ เราหาโรงเรียนมาเยอะมากเลยนะ
ส่วนมากเขาจะปฏิเสธว่าเด็กแพ้ขนาดนี้ กลัวจะดูแลไม่ไหว
เราหามาตั้งแต่เขาขวบกว่า หาจนคิดว่าหรือจะโฮมสกูลให้ลูกดีไหม
ไม่อยากให้ลูกไปโรงเรียนแล้ว”

แพ้อาหารหลายอย่างจนโรงเรียนไม่กล้ารับไปดูแล

คือต้องบอกว่าโรงเรียนแรกที่ยินดีไปเข้าตอนนั้นเป็นแบบเดย์แคร์ คือไปอาทิตย์ละ 2-3 วัน เราโชคดีมากที่ลูกของเจ้าของเดย์แคร์ก็แพ้อาหารเหมือนกัน เขาก็เลยยินดีที่จะทำอาหารสำหรับเด็กแพ้เผื่อให้ลูกเราด้วย

แล้วพอเข้าอนุบาล 1 ก็ได้โรงเรียนที่ผู้บริหารค่อนข้างน่ารัก เขาใส่ใจเรื่องอาหารการกินมาก มีนักโภชนาการดูแลเรื่องอาหารให้เด็ก แต่ต้องบอกก่อนว่า ก่อนที่จะมาเจอโรงเรียนนี้ เราหาโรงเรียนมาเยอะมากเลยนะ ส่วนมากเขาจะปฏิเสธว่าเด็กแพ้ขนาดนี้ กลัวจะดูแลไม่ไหว เราหามาตั้งแต่เขาขวบกว่า หาจนคิดว่าหรือจะโฮมสกูลให้ลูกดีไหม ไม่อยากให้ลูกไปโรงเรียนแล้ว

แต่ก็โชคดีที่ได้มาเจอที่นี่ ตอนนั้นยินดีก็สามสี่ขวบแล้ว ที่นี่เขาบอกเราว่าเขาดูแลให้ได้ค่ะ คุณแม่ไม่ต้องห่วง เขามีนักโภชนาการ เขาแยกปรุงอาหารสำหรับกลุ่มเด็กแพ้อาหารโดยเฉพาะอยู่แล้ว จริงๆ ต้องบอกว่าทุกโรงเรียนก็ต้องมีเด็กแพ้อาหารอยู่บ้าง แต่ยินดีแพ้มากหน่อย ก็ต้องกินอาหารที่ปรุงด้วยเกลือ ด้วยน้ำตาล แล้วโรงเรียนเขาก็จะแยกกล่องมาเลยว่า อันนี้อาหารสำหรับเด็กกลุ่มนี้นะ

ตอนนั้นก็เลยเบาใจเรื่องนี้ไปได้

ไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าแพ้อาหารแล้วแปลกแยก

เราโชคดีตรงที่โรงเรียนไม่ได้แบ่งแยกเขาออกจากเด็กคนอื่น คือผู้บริหารเข้าใจมากๆ เขาไม่ให้แยกเด็ก แต่บอกว่าคุณครูจะต้องช่วยดูแลเด็ก เพราะว่าเด็กมีสิ่งที่เขากินไม่ได้ แต่ถึงเวลากิน ก็จะมีสิ่งที่เขากินได้มาให้นั่งกินร่วมกับเพื่อน ไม่ได้จับแยก หรือเพื่อนได้กินแล้วเราไม่ได้กิน คือโรงเรียนนี้จะไม่ทำแบบนั้นเลย

บวกกับเราสอน เราไม่ได้สอนว่าเขาแพ้ แต่เขาก็เรียนรู้ไปเองว่าเขากินอะไรไม่ได้บ้าง แล้วเราก็จะบอกเขาเสมอว่า ถ้าหนูอยากกินอะไร มาบอกแม่เลย ถ้าหนูมาบอก แม่จะทำให้

เป็นที่มาของการลงมือทำอาหารและขนมสำหรับเด็กแพ้อาหาร

เราเริ่มคิดสูตรขนมมาตั้งแต่เขาสองขวบ เพราะเริ่มคิดว่า ลูกเราต้องได้กินขนมบ้างเนอะ เพราะยินดีไม่เคยได้กินขนมเลย ให้เขากินแต่อาหารกับผลไม้มาตลอด จนสองขวบเพิ่งจะได้รู้จักว่าขนมคืออะไร

ถ้าจำไม่ผิด ขนมชิ้นแรกที่เขาได้กิน น่าจะเป็นคุกกี้ทำจากแป้งที่เพื่อนส่งมาให้จากอเมริกา ทำไม่เป็นเลยนะ เพราะเราไม่กินขนม ก็เลยไม่เคยคิดจะทำขนมมาก่อน ทำครั้งแรกนี่โอ้โห แข็งมาก แต่ลูกกินแล้วบอกว่ามันอร่อยมาก เพราะเขาไม่เคยกินขนมมาก่อน เราก็สงสารลูกที่เขากินขนมที่มันไม่อร่อย ด้วยความเข้าใจว่ามันอร่อยมาก

หลังจากนั้นก็เหมือนเป็นอีบ้านั่งดูยูทูบ ลองทำตามเขาเองทุกอย่าง ทำแล้วทิ้ง ทำแล้วทิ้ง จนสามีบอกว่าเปลืองมากเลย เราซื้อเขาเอาดีกว่าไหม แต่จริงๆ ซื้อเอาก็แพงนะคะ คุกกี้กล่องเล็กๆ นี่ก็ 400-500 แล้วกว่าจะส่งมาถึงเรา มันก็ร่วนหมดแล้ว ลูกก็ยังกิน

เราก็คิดว่า เฮ้ย เราต้องทำได้ดิ

ดูแลดีแค่ไหนก็ยังมีพลาด

พลาดไม่บ่อยนะคะ เพราะเราค่อนข้างเอาเขาไว้ใกล้ตัว แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งไปอิเกีย ด้วยกัน เขาก็อยู่บนรถเข็น แล้วเราหันไปหยิบของ แป๊บเดียวก็มีน้องเด็กผู้ชายใจดีคนหนึ่งผ่านมา เขาก็หยิบคุกกี้ของตัวเองยื่นให้ยินดีกิน แล้วยินดีก็คงจะลืมตัว เพราะเขาก็รับมาแล้วเอาใส่ปาก แต่ว่าเขากินเข้าไปแล้วก็รีบหันกลับมาบอกแม่ว่า หม่ามี้คะ หนูกินอันนี้เข้าไป…

ตอนนั้นเขาเพิ่งจะสามขวบ ตอนนั้นคิดว่าเขารู้เรื่องมากที่หันมาบอกเรา

แต่พอลูกบอกปุ๊บ แม่เนี่ยกรีดร้องกลางอิเกีย เราเหมือนคนแพนิก เพราะเราเคยเห็นว่าลูกกำลังจะตายมาแล้ว มันอธิบายไม่ถูกเลย ตกใจมือสั่นไปหมด ร้องเรียกแฟน จนรปภ. ตกใจว่าเป็นอะไรครับๆ เราก็บอกว่าเรียกสามีให้หน่อย แล้วก็ต้องขับรถออกจากอิเกีย

ขึ้นรถปุ๊บก็รีบเอายาแก้แพ้ให้เขากินเลย เราต้องพกยาไว้ตลอด ในกระเป๋าจะมีทั้งยาแก้แพ้ มีเข็มฉีดยาเอาไว้ฉีดอะดรีนาลีนตอนฉุกเฉินที่เขาเป็นหนักจริงๆ มารอที่โรงพยาบาลอยู่สองชั่วโมง ดูว่าเขาเป็นอะไรมากไหม แต่ว่าเขาคงกินไปนิดเดียว เพราะว่ากินยาไปแล้วก็เหลือแค่ผื่นขึ้นรอบปาก

 

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน แพ้อะไรคุณหมอก็จะสั่งให้งด
แต่การงดมันไม่ได้ทำให้หาย มีแต่จะแพ้มากขึ้นเรื่อยๆ
อันนี้คุณหมอบอกว่ามีผลการวิจัยเลยนะ
ว่าถ้าทำการรักษา ร่างกายคนเราจะค่อยๆ ปรับได้ แล้วมันจะดีขึ้น”

 

แพ้อาหารก็พอมีทางรักษา

พวกแพ้ไข่กับนมก็มีคนที่หายแพ้ แต่ที่ยากหน่อยก็แป้งสาลี ตอนนี้ยินดีก็รักษามาสองปีแล้ว ก็อาการดีขึ้นนะคะ ทุกวันนี้เขากินขนมปังได้สองแผ่นครึ่งแล้ว

วิธีการรักษาเรียกว่าทำออรัลเทสต์ คือคุณหมอจะค่อยๆ คำนวณและเพิ่มปริมาณสิ่งที่แพ้ให้ทีละนิด อย่างยินดีตอนแรกๆ คุณหมอให้เขากินเส้นมะกะโรนีตัวเล็กๆ ไม่ใช่ทั้งตัวด้วยนะคะ คือหักออกมาประมาณหนึ่งส่วนสี่ แล้วลองเอาให้เขากินทุกวันๆ ลูกก็น่าจะงงว่านี่มันคืออะไร เพราะมันเล็กมาก

ถ้าเป็นเมื่อก่อน แพ้อะไรคุณหมอก็จะสั่งให้งด แต่การงดมันไม่ได้ทำให้หาย มีแต่จะแพ้มากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้คุณหมอบอกว่ามีผลการวิจัยเลยนะ ว่าถ้าทำการรักษา ร่างกายคนเราจะค่อยๆ ปรับได้ แล้วมันจะดีขึ้น

แต่กับยินดีนี่แม่ไม่ได้รีบ แรกๆ ก็ประมาณสองเดือน ถึงค่อยไปให้คุณหมอเพิ่มโดสครั้งนึง จนหลังๆ คุณหมอบอกว่าให้มาบ่อยๆ ได้แล้ว เพราะลูกจะเริ่มเบื่อแล้ว และเขาก็ยังมีอีกหลายตัวที่ต้องรักษา (หัวเราะ)

เป้าหมายของการรักษา

คุณหมอไม่ได้บอกว่ามันจะหาย แต่มันก็จะมีเคสที่คุณหมอรักษามานานแล้ว ก็จะเริ่มมีพัฒนาการ จากที่ต้องกินทุกวัน ก็เริ่มเป็นสองวันครั้ง หรือหลายวันครั้ง ของยินดีก็กำลังจะไปถึงจุดนั้น คือทุกวันนี้เขากินขนมปังสองแผ่นครึ่งทุกวันเป็นเวลาสามเดือน หลังจากนั้นก็จะเริ่มกินบ้างไม่กินบ้าง แต่ว่าคุณหมอยังไม่แนะนำให้หยุดกิน

คือคำว่ารักษาหาย คุณหมอหมายถึงว่า ถ้าเราหยุดกินมันไปเป็นปี พอกลับมากินใหม่ก็ต้องไม่มีอาการแล้ว

ความอยากกินเป็นอุปสรรค แต่ก็เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่ง

มารู้สึกว่ามีอุปสรรคมากก็ตอนที่ต้องหาโรงเรียนนี่แหละค่ะ แต่ถ้าในชีวิตประจำวันอุปสรรคก็คือร้านอาหาร บางร้านเขาก็ไม่โอเค เพราะเหมือนเราเป็นคุณแม่ที่เยอะ ต้องถามเขาทุกอย่าง ใช้น้ำมันอะไร ใช้อันนี้แทนได้ไหมคะ ทำแยกได้ไหมคะ ก็เป็นแม่ที่มีความเยอะ เลยตัดปัญหาด้วยการทำอาหารลูกพกไปเอง

ยินดีก็อาจจะชิน เพราะเรารู้ว่าเขาแพ้อะไรบ้างตั้งแต่แปดเดือน เขาก็จะชินกับการที่แม่เตรียมอาหารของเขามาจากบ้าน แล้วก็กินข้าวในกล่อง

เป็นห่วงอีกทีก็ตอนเริ่มโตนี่แหละ เพราะไม่รู้วันละกี่ชั่วโมงที่เราจะไม่ได้อยู่กับเขา ต้องไปส่งเขาไว้ที่โรงเรียน แล้วเขาก็จะไม่ได้อยู่ในสายตา เราก็กลายเป็นคนที่คอยถือโทรศัพท์ไว้ในมือตลอดเวลา กลัวโรงเรียนโทร.มาบอกว่าลูกเราเป็นอะไร

แล้วอุปสรรคอีกอย่างคือ ยิ่งเขาโตขึ้น เขาเริ่มเห็นคนอื่นกินอย่างอื่นมากขึ้น จำได้ว่าตอนอนุบาล 2 ก็เริ่มกลับบ้านมาบอกว่า วันนี้หนูเห็นเพื่อนกินขนมจีบค่ะ มันเป็นสีเหลืองๆ หนูอยากกินมากกกก เขากลับมาบอกเรา เราก็เอาละ ต้องหัดทำขนมจีบแล้ว เพราะเคยบอกเขาไว้ว่า ถ้าอยากกินอะไรให้มาบอก แม่จะพยายามทำให้ คือมันอาจจะไม่ได้เหมือนมาก แต่ว่าแม่ก็จะลองทำให้

ตอนนี้ก็ทำอาหารทดแทนให้เขาได้หลายอย่าง แต่ที่ทำไม่ได้เลยก็คือไข่ ทุกวันนี้เหมือนเป็นความใฝ่ฝันของเขา เพราะเขาจะถามคุณหมอเสมอว่า เมื่อไหร่หนูจะกินไข่ได้ หนูอยากกินไข่พะโล้ ไข่เจียว ไข่ตุ๋น เพราะโรงเรียนกับเด็กอนุบาล อาหารประเภทไข่มันต้องมีให้เห็น ก็เลยเข้าใจเขาว่าเห็นแล้วก็ต้องมีความอยากกิน

นี่ก็เลยเป็นสาเหตุให้ต้องเริ่มรีบรักษาแล้ว เพราะก่อนหน้านี้เราชิลมาก ไม่ต้องรีบ กินไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ก็เริ่มอยากให้เขาอัปสเตป ลูกจะได้กินไข่ได้สักที (หัวเราะ)

FYI:
• ติดตามกิจกรรมตลาดนัดเด็กแพ้ที่คุณแม่ตั้มจัดขึ้นเพื่อเด็กแพ้อาหารได้ที่ ตลาดนัดเด็กแพ้
• ติดตามสูตรอาหารสำหรับเด็กแพ้ของคุณแม่ตั้มได้ที่ Folly Kitchen ครัวเด็กแพ้อาหาร by แม่ตั้ม
สัมภาษณ์วันที่ 11 เมษายน 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST