READING

อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก เพราะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ...

อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก เพราะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจลูกในระยะยาว

เป็นเรื่องธรรมดาที่คู่สามีภรรยาจะมีความเห็นไม่ตรงกัน จนนำมาสู่การถกเถียงหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่เมื่อไหร่ที่อยู่ในสถานะคุณพ่อคุณแม่แล้วละก็ ไม่ควรทะเลาะกันต่อหน้าลูกน้อยโดยเด็ดขาด เพราะผลอาจร้ายแรงเกินกว่าที่คุณจะนึกถึง เพราะฉะนั้นตั้งสติก่อนสตาร์ต ควบคุมอารมณ์ให้ดี แล้วเดินไปหาที่คุยกันให้พ้นสายตาเจ้าตัวเล็กจะดีกว่า

1. ข้อเท็จจริงของการทะเลาะกันต่อหน้าลูก

จริงๆ แล้วการทะเลาะกันต่อหน้าลูกอาจเกิดผลเสียน้อยมาก หรือไม่เกิดผลอะไรกับลูกเลยก็ได้ แต่ผลวิจัยจากหลายประเทศที่สังเกตและติดตามผลมาเป็นเวลาหลายสิบปีชี้ให้เห็นว่า เด็กอายุต่ำกว่าหกเดือนที่สัมผัสได้ถึงความขัดแย้งของคุณพ่อคุณแม่ หัวใจจะมีอัตราการเต้นเร็วขึ้น และส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนความเครียด เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ เจรจาและแก้ปัญหาอย่างนุ่มนวล

ผลกระทบด้านลบต่อสมองที่คล้ายคลึงกันนี้ ยังพบได้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันแบบเบาๆ และไม่เคร่งเครียดอีกด้วย

เด็กทารก เด็กเล็ก และวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครอง จะมีสัญญาณว่าพัฒนาการทางสมองของพวกเขาถูกรบกวน ทำให้สมองบางช่วงต้องหยุดชะงัก อาทิ หลับไม่สนิท วิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า หรือถึงขั้นปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไม่ปกติไปด้วย ไปจนถึงสร้างปัญหาร้ายแรงอื่นๆ

2. พันธุกรรมและการเลี้ยงดูสำคัญแค่ไหน

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจหย่าร้างกัน ก็มักถูกมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อจิตใจเด็ก แต่ความจริงแล้วอาจเกิดจากการทะเลาะกันของคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่ก่อนหย่าร้างก็เป็นได้

มีข้อสันนิษฐานกล่าวว่า พันธุกรรมก็มีส่วนช่วยกำหนดวิธีตอบสนองต่อความขัดแย้งของเด็ก และธรรมชาติของเด็กก็เป็นหัวใจสำคัญต่อสุขภาพจิตของเขาเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือโรคจิตก็เป็นได้

แต่สภาพแวดล้อมภายในบ้าน และการเลี้ยงดูที่พวกเขาได้รับ ก็ยังมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม ที่อาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิต สามารถช่วยให้เขาเป็นปกติ ดีขึ้น หรือเลวลงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัว

ซึ่งจากสถิติสุขภาพจิตของเด็กที่ได้รับอุปการะ หรือเด็กๆ ที่เกิดจากการรับบริจาคไข่หรือสเปิร์มแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

3. พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหลีกเลี่ยง

เมื่อไม่พอใจหรือไม่สบอารมณ์กับพฤติกรรมของคู่ชีวิต หรือครอบครัวของเพื่อนลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติ อย่าเผลอแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกไปเด็ดขาด เพราะมันส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกของลูก

– ให้ลูกเดินไปบอกข้อความลบๆ กับอีกฝ่าย

– ถามคำถามเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของเพื่อนลูก

– สร้างแรงกดดันให้ลูกไม่กล้าพูดความจริง

– สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ลูกไม่กล้าพูดถึงความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กับผู้ปกครองของเพื่อนๆ

– ไม่ให้เกียรติ ดูถูก หรือมองข้ามความสำคัญของคุณพ่อคุณแม่คนอื่นต่อหน้าลูก

4. ผลกระทบของการทะเลาะกันต่อหน้าลูก

ลูกจัดการปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้

quarrel_1

หากคุณพ่อคุณแม่ขัดแย้งกันบ่อยครั้งอย่างรุนแรง และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลูกเห็นไม่ได้ เด็กๆ ก็จะมีคุณเป็นตัวอย่าง และกลายเป็นคนที่จัดการกับปัญหาบางอย่างไม่ได้เช่นกัน

ลูกจะโยนทุกความผิดให้ตัวเอง

quarrel_2

เด็กบางคนจะตำหนิตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของข้อโต้แย้งเหล่านั้น

ลูกไม่รู้วิธีการเข้าสังคม

quarrel_3

ความไม่ลงรอยกันของคุณพ่อคุณแม่ จะส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของลูก เพราะมันทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว และไม่อยากเข้าสังคม

ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อลูก และอาจรบกวนการนอนหลับและการพัฒนาสมองในช่วงต้นของทารก และสะสมเป็นความวิตกกังวล แก้ไขปัญหาไม่ได้ในช่วง 3-5 ขวบ เกิดภาวะซึมเศร้า มีปัญหาด้านวิชาการหรือปัญหาร้ายแรงอื่นๆ เช่น การทำร้ายตัวเองตอนโตและวัยรุ่น โดยในเด็กผู้หญิงอาจส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ และในเด็กผู้ชายอาจมีแนวโน้มที่เขาจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง

สิบกว่าปีที่ผ่านมา เราทราบดีว่าการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังให้มากคือ การแสดงอารมณ์ก้าวร้าวต่อกันเพียงเพื่อจะเอาชนะอีกฝ่าย เพราะในวันที่พวกคุณทำให้ลูกรู้สึกถึงความเย็นชาห่างเหินในครอบครัว มันจะส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของลูก

ซึ่งเด็กไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบต่อชีวิตตัวเอง เพราะงานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีสามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ เพราะฉะนั้นถ้าพวกคุณสร้างครอบครัวที่มีความสุข สังคมรุ่นต่อไปก็จะมีความสุขเช่นกัน

5. ป้องกันการทะเลาะกันต่อหน้าลูกได้อย่างไร

โต้เถียงในพื้นที่ส่วนตัว

quarrel_4

อาจยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่มีผลวิจัยออกมาว่าในเด็กอายุตั้งแต่สองขวบ หรือน้อยกว่านั้น พวกเขาสามารถสังเกตได้แม้แต่ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือพฤติกรรมเพียงเล็กๆ น้อยๆ ของคุณพ่อคุณแม่ได้ แม้จะเป็นเพียงการแอบโต้เถียงที่คุณคิดว่าลูกคงไม่รู้

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเด็กตีความและเข้าใจเหตุและผลของความขัดแย้งนั้นอย่างไร และด้วยประสบการณ์อันน้อยนิด เด็กๆ มักเข้าใจว่าความขัดแย้งนี้เกี่ยวข้องกับพวกเขา ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กกับพ่อแม่แย่ลง และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างในครอบครัวตามมา

อธิบายเหตุและผลของความขัดแย้ง และแก้ไขอย่างเหมาะสม

quarrel_5

เป็นปกติที่คุณพ่อคุณแม่ก็คงรู้สึกกังวลที่เกิดความขัดแย้งกันขึ้น และก็เป็นเรื่องปกติอีกที่จะเผลอเถียงหรือไม่เห็นพ้องต้องกันในบางครั้ง

แต่รู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงเด็กๆ จะตอบสนองและเข้าใจได้ดี เมื่อคุณพ่อคุณแม่อธิบายว่าปัญหาเหล่านั้นเกิดจากอะไร และแก้ไขในทางที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากเขาจะไม่โทษตัวเองหรือกังวลใจแล้ว เด็กๆ ยังจะได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญในเชิงบวก ในการจัดการกับอารมณ์และปัญหา ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาอารมณ์และความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

6. เคล็ดลับแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว

กลูคอฟต์ หว่อง—นักครอบครัวบำบัดจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ (University of California Berkeley) แบ่งปันเคล็ดลับที่ช่วยให้ผู้ปกครองแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เด็กๆ ยังรู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่น

  1. เข้าอกเข้าใจ: เปิดบทสนทนาที่ทำให้อีกฝ่ายรับรู้ว่า คุณพยายามเข้าใจเขาและพูดคุยกันให้เข้าใจจริงๆ
  2. แสดงความรัก: เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ให้คิดไว้ก่อนเสมอว่าอีกฝ่ายไม่ได้ตั้งใจ แล้วสอบถามหรือพูดคุยกันให้ชัดเจน
  3. แก้ปัญหาอย่างสมเหตุสมผล และอยู่กับปัจจุบัน: อย่าขุดคุ้ยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาเพิ่ม จำไว้เสมอว่าพวกคุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีลูกน้อยที่กำลังมองดูอยู่ เพราะฉะนั้นคิดหาทุกวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาออกมาให้ได้ แล้วเลือกวิธีที่ดีที่สุดอย่างมีสติและสันติ
  4. วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์: พูดเพื่อแก้ไข โดยแนะนำเฉพาะสิ่งที่เป็นไปได้ อาทิ ถ้าสามีลืมลงทะเบียนเรียนให้ลูก ก็คุยถึงวิธีที่ต่อไปจะไม่ลืมได้อย่างไร อย่าโทษกันไปมาหรือโยนความผิดให้อีกฝ่าย เพราะมันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรเลย
  5. ให้เกียรติอีกฝ่าย และพูดด้วยความสุภาพ: ไม่ว่าคุณจะกำลังรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผิดหวังหรือโกรธเคืองแค่ไหนก็ตาม ตั้งสติและพูดคุยด้วยความนุ่มนวล

จากทั้งหมดนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจว่า ความสัมพันธ์ของตัวเองมีผลกับพัฒนาการของลูกมากแค่ไหน แก้ปัญหาตัวเองให้ดีและชัดเจน สื่อสารกับลูกให้มาก แล้วพวกเขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีต่อไปในอนาคต


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST