READING

เทคโนโลยีอาจทำให้เด็กๆ ‘สมาธิสั้นเทียม’...

เทคโนโลยีอาจทำให้เด็กๆ ‘สมาธิสั้นเทียม’ แล้วเราจะป้องกันภาวะสมาธิสั้นเทียมได้อย่างไร

เคยพูดถึงเรื่องสมาธิสั้นกันไปแล้วในสัญญาณเตือนว่าลูกของคุณอาจเป็นโรคสมาธิสั้นหรือ ADHD แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า ยังมีบางกิจกรรมหรือบางการกระทำที่ทำให้เด็กๆ เป็นโรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD) ซึ่งไม่ได้เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง แต่มาจากการเลี้ยงดูที่ขาดวินัย และปล่อยให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแท็บเลตหรือสมาร์ตโฟนมากเกินไป

 

เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนทำให้เด็กถูกเร้าจากภาพบนหน้าจอที่เปลี่ยนเร็วและบ่อย มีแสง สี เสียงที่กระตุ้นประสาทสัมผัสตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องควบคุมตัวเองให้จดจ่อในสิ่งเร้าที่ไม่มีแสง สี เสียงมากระตุ้นประสาทสัมผัสมากพอ เด็กก็จะไม่ชิน และไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งนั้น คล้ายกับคนสมาธิสั้น

ซึ่งหากผู้ปกครองปรับเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงดูแล้ว เด็กๆ ก็จะควบคุมสมาธิของตัวเองและหายขาดจากภาวะสมาธิสั้นเทียมนี้ได้ โดยแนวทางปฏิบัติทางกุมารแพทย์แนะนำว่า เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูทีวี สมาร์ตโฟน หรือแท็บเลตเลย

มาดูวิธีการป้องกันภาวะสมาธิสั้นเทียมกันดีกว่า

1. เลี้ยงดูอย่างเหมาะสม

technology_ADHD_1

เด็กที่ถูกตามใจมากๆ หรือไม่เคยถูกฝึกให้รอคอย อยากได้อะไรก็ได้ตลอด เมื่อถึงวัยเรียนจึงอาจมีปัญหาเรื่องการทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ตั้งใจเรียน รอไม่เป็น มี อาการคล้ายเด็กสมาธิสั้นได้ ส่วนใหญ่ถ้าปรับวิธีการเลี้ยงดูแล้วก็จะอาการดีขึ้น

ซึ่งผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน โดยต้องมีวินัย หากเราใช้สื่อเทคโนโลยีมากเกินไป ก็จะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ลูก และส่งผลให้เวลาในการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยลงด้วย

2. ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีใช้สื่อและเทคโนโลยี

technology_ADHD_2

เด็กเล็กที่มีอายุไม่ถึง 2 ปี ผู้ปกครองไม่ควรให้เขาใช้สื่อเทคโนโลยีเลย เพราะยังไม่มีความจำเป็น แต่ให้เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก อย่างการพูดคุยหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อพัฒนาด้านการสื่อสารระหว่างกัน เมื่อเขาผ่านพ้นวัยนี้ไป จึงค่อยเปิดโอกาสให้ได้สัมผัสสื่อต่างๆ มากขึ้นตามวัย

3. กำหนดเวลาการใช้สื่อและเทคโนโลยีให้ชัดเจน

technology_ADHD_3

พ่อแม่ผู้ปกครองควรตั้งข้อกำหนดเรื่องเวลาในการใช้สื่อเทคโนโลยีให้กับลูก (รวมถึงตัวผู้ปกครองเอง) อย่างชัดเจน เพราะเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้ตัวเอง ว่าควรเล่นระยะเวลานานเท่าไรจึงจะเหมาะสม เช่น กำหนดให้เล่นได้วันละไม่เกินหนึ่งชั่วโมง และวันหยุดอาจเพิ่มเป็นสองชั่วโมง เป็นต้น

นอกจากนี้ เด็กที่มักจะติดแท็บเลตจนทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ หรือสังคม และทำให้การเล่นแบบใช้จินตนาการอย่างเด็กรุ่นก่อนๆ ขาดหายไป ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ลดลง ดังนั้น ผู้ปกครองควรจัดสรรเวลาให้ลูกอย่างสมดุล โดยให้เขาได้ทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง เช่น เล่นกีฬา เต้น ร้องเพลง วาดรูป สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ เป็นต้น

4. เด็กๆ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ

technology_ADHD_4

ยิ่งเด็กยุคนี้ กว่าจะฝ่ารถติดได้กลับบ้านก็ต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือจนต้องนอนน้อยกันหลายคน พอไปเรียนก็อาจง่วงนอน หงุดหงิด งุ่นง่าน เหม่อลอย ก็ทำให้ดูเหมือนไม่มีสมาธิได้

มีงานวิจัยที่บอกว่าเด็ก 5 ขวบควรจะได้หลับประมาณ 11 ชั่วโมง เด็ก 10 ขวบควรหลับให้ได้ 10 ชั่วโมง และวัยรุ่นอายุ 15 ปี ควรหลับคืนละ 9 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้พบว่าเด็กๆ นอนน้อยลงมาก สาเหตุก็เพราะการเลี้ยงดูที่ตามใจ มีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้นจนไม่ได้นอน

5. ไม่เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน

technology_ADHD_5

แสงสีฟ้าจากจอไอแพด ทีวี และสมาร์ตโฟนจะทำให้ผู้ใช้นอนหลับยากขึ้น เพราะมันอาจรบกวนการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยให้หลับ (เมลาโทนิน) เมื่อเด็กพักผ่อนไม่เพียงพอ เวลาไปโรงเรียนก็ทำให้มีปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมได้บ่อยๆ

6. ใส่ใจและสังเกตพฤติกรรมของลูก

technology_ADHD_6

เด็กที่มีภาวะความเครียด วิตกกังวล มีปัญหาด้านพัฒนาการ หรือมีโรคอื่นแอบแฝงอยู่ ก็อาจแสดงออกด้วยอาการคล้ายสมาธิสั้นด้วย เพราะการแสดงออกของอาการอาจไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องใส่ใจความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และพัฒนาการรอบด้านของลูก ถ้าพบความผิดปกติก็ควรเข้ารับการประเมินจากจิตแพทย์เด็ก หรือกุมารแพทย์พัฒนาการพฤติกรรมเด็ก ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือแก้ไขแบบไม่ตรงกับสาเหตุ เพราะอาจมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเขา ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของเด็กได้เลย


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST