READING

มารู้จักนักจิตวิทยาโรงเรียน ตัวกลางผู้ประสานเด็ก ค...

มารู้จักนักจิตวิทยาโรงเรียน ตัวกลางผู้ประสานเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน

การเลี้ยงดูเด็กสักคนให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างถูกทิศถูกทาง นอกจากจะต้องใช้การดูแลทางร่างกายแล้ว ยังต้องใช้ทั้งความเข้าใจและวิธีการที่จะสื่อสารกับเด็กแต่ละคนอย่างเหมาะสมอีกด้วย ซึ่งบางครั้ง เมื่อลูกเติบโตจนถึงวัยเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าเป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องการทำความเข้าใจในตัวลูก แต่จะทำอย่างไร ถ้าทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูเองก็จนปัญญาที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับเด็กๆ ได้

 

ครูพีซ—พราวพิมล เกียรตินาวาปกรณ์ (*Updated วันที่ 19/04/2566: แก้ไขชื่อ ครูพีซ—พริยาณีย์ นุติภัสสร์) นักจิตวิทยาประจำโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จึงขออาสาทำงานเชิงรุก บุกเข้าโรงเรียน เพื่อเปลี่ยนแปลงให้บรรยากาศระหว่างเด็กกับโรงเรียนและครอบครัวให้ผ่อนคลาย และง่ายต่อการใช้ชีวิตให้มีความสุขมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของความสนใจในเด็ก

พีซเริ่มจากการเป็นครูสอนการแสดงที่เชียงใหม่ แต่ก็ชอบงานอาสาสมัครด้วย เลยไปเป็นครูอาสาในมูลนิธิ Kids Home Foundation และใช้ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama) เพื่อพัฒนาเด็ก แล้วก็ค้นพบว่าเราไม่ได้ชอบการแสดงแนวแบบเป็นดารา แต่เราชอบแนวละครบำบัด แนวจิตวิทยา ชอบการใช้ละครเป็นเครื่องมือในการช่วยเสริมความมั่นใจ เสริมความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง

เบนเข็มมาเป็นแนวจิตวิทยาเด็กได้อย่างไร

พอชอบละครเพื่อการพัฒนาเด็ก เราก็เริ่มออกแบบคอร์สต่างๆ เอง แล้วปรากฏว่ามันเวิร์ก แต่ความรู้ที่มีตอนนั้นเริ่มไม่พอแล้ว คือมีโอกาสได้เจอเด็กห้าขวบคนนึง เขาเป็นเด็กแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) แล้วเราก็ไม่รู้จักเลยว่ามันคืออะไร แต่ตอนนั้นคือเขาต้องแต่งชุด Angry Bird มาเรียนทุกวัน

และเรารู้แค่ว่าการใช้ศิลปะและการแสดงสามารถเชื่อมโยงกับเขาได้ มันทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย แต่เราอยากช่วยเขามากกว่านี้ ซึ่งความรู้ด้านการแสดงมันเริ่มตันแล้ว ก็เลยเริ่มหาว่าเราจะเรียนเพิ่มได้ที่ไหน เพราะรู้สึกว่า…

 

“เราต้องรู้มากกว่านี้ ไม่อยากทำไปมั่วๆ
เพราะมันคือทั้งชีวิตเขาเลย”

 

หลักๆ แล้วงานของนักจิตวิทยาโรงเรียนคืออะไร

ดูแลเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียนค่ะ ซึ่งดูแลในที่นี้คือในเชิงป้องกันปัญหา และให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ ทักษะชีวิต ถ้าเจอเพื่อนแกล้ง เราต้องพูดยังไง สื่อสารกับเพื่อนยังไง สิ่งเหล่านี้จะเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคทางจิตในอนาคต

และในอีกมุมคือสำหรับเด็กบางคนที่หาหมออยู่แล้ว เราก็มีหน้าที่ดูแลและเชื่อมโยง คุยกับคุณหมอว่าอาการของน้องคนนี้เป็นยังไงบ้าง หรือเป็นเหมือนตัวแทนของครูที่จะดูแลเด็กในเชิงลึกลงไปมากกว่าเรื่องของเกรด

นักจิตวิทยาโรงเรียนกับเด็กในโรงเรียนจะพบกันได้อย่างไร

พูดถึงในระบบโรงเรียนก็จะเป็นการสื่อสารโดยการให้เด็กที่สนใจ ลงชื่อกับครูแนะแนว แล้วครูแนะแนวก็จะจัดลงตารางมาให้

แต่ในอีกกรณีหนึ่งคือ คุณครูเป็นผู้สังเกตเห็นว่าเด็กคนไหนมีอาการน่าเป็นห่วง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และคิดว่าน่าจะส่งมาให้เราช่วยดูช่วยวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกับคุณครู คุณครูก็สามารถส่งชื่อมาได้เหมือนกัน

อาการน่าเป็นห่วงหมายถึง

เช่น เด็กคนนี้แกล้งเพื่อนบ่อยๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเด็กคนนี้เมื่อก่อนก็ร่าเริงสดใสดี แต่ทำไมช่วงนี้ดูซึม ดูแยกตัว หรือเด็กบางคนไม่ส่งการบ้านเลย ครูพูดเท่าไรก็ไม่ส่งการบ้าน คุณครูก็ไม่รู้ว่าเขามีปัญหาที่สมาธิหรือว่ายังไง

นอกจากเด็กกับครูแล้ว ผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

มีหลายเคสที่เราจะต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย เพราะจริงๆ แล้วอีกปัจจัยสำคัญที่ไปกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้ ทางบ้านก็มีส่วน เราก็จะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ในห้องที่เราเรียกว่าห้องทักษะชีวิต มีโซนของเล่น มีต้นไม้ บรรยากาศสบายๆ ผู้ปกครองเข้ามาก็รู้สึกได้ตัวช่วย เด็กเข้ามาก็รู้สึกมีกำลังใจ

ไม่ได้มาหาครูที่โหดๆ ซึ่งบางโรงเรียนก็จะใช้คำว่าห้องเติมพลังใจ หรือห้องพักใจ ที่เข้ามาแล้วกลับออกไปพร้อมรอยยิ้ม

นอกจากเด็กกับครูแล้ว ผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

มีหลายเคสที่เราจะต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย เพราะจริงๆ แล้วอีกปัจจัยสำคัญที่ไปกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้ ทางบ้านก็มีส่วน เราก็จะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ในห้องที่เราเรียกว่าห้องทักษะชีวิต มีโซนของเล่น มีต้นไม้ บรรยากาศสบายๆ ผู้ปกครองเข้ามาก็รู้สึกได้ตัวช่วย เด็กเข้ามาก็รู้สึกมีกำลังใจ

ไม่ได้มาหาครูที่โหดๆ ซึ่งบางโรงเรียนก็จะใช้คำว่าห้องเติมพลังใจ หรือห้องพักใจ ที่เข้ามาแล้วกลับออกไปพร้อมรอยยิ้ม

เปรียบเทียบกับตอนเข้ามาทำงานแรกๆ ตอนนี้มีเด็กกล้าเข้ามาหาเรามากขึ้นไหม

เด็กที่มาช่วงแรกก็อาจยังมีความกังวลอยู่บ้าง แต่พอมีคนที่มาแล้วกลับไปบอกเพื่อน ทุกคนก็แย่งกันเข้ามา เพราะมันสนุกไงคะ มันผ่อนคลาย

เขาอาจแค่มีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมต้องมา ในครั้งแรก แต่พอคุยกันไปแล้ว ก็ไม่มีคนไหนที่รู้สึกอคติ เหมือนได้มาชาร์จแบตฯ จนบางคนก็อยากกลับมาอีก

แต่กับบางคน ถ้าเราใช้วิธีว่าถ้าเขามีปัญหาแล้วต้องกลับมาอีก เขาจะทำตัวมีปัญหาตลอดเพื่อที่จะได้กลับมาอีก เราก็ต้องรู้ให้ทันว่าเด็กคนนี้มาแนวไหน

เข้ามาในห้องแล้วทำอะไรบ้าง เด็กๆ ถึงติดขนาดนี้

(หัวเราะ) พูดคุยทักทายเด็กตามปกติค่ะ แต่เราจะสังเกตไปด้วยว่าธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเด็กประถมจะให้วาดรูปภาพตัวเอง ภาพคนที่หนูรัก แต่ไม่ได้นั่งจ้องนะคะ เราจะให้พื้นที่เขาวาดรูประบายสีกับตัวเอง แล้วสังเกตจากงานศิลปะของเขา ว่าเขามองตัวเองยังไง แต่บางคนไม่ชอบวาดรูป พีซก็จะเล่นตุ๊กตาหุ่นมือเป็นบทบาทสมมติกับเขา เด็กบางคนที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน บทบาทสมมติที่เขาแสดงออกมาก็จะค่อนข้างบอกถึงเหตุการณ์ที่เขาพบเจอ แต่เขาจะผ่อนคลายที่จะบอกเล่ามันออกมา จากนั้นเราก็อาจนั่งคุย หรือถามอะไรที่ลึกลงไปกว่านั้นตามความพร้อมของเขา

บอกเด็กอย่างไรให้เข้าใจจุดประสงค์ของเรา

บอกว่าวันนี้เราจะมาช่วยกันนะคะ ช่วยกันทำยังไงก็ได้ให้เรามีชีวิตที่มีความสุขขึ้น มีความสุขในการอยู่ที่โรงเรียนมากขึ้น

คือเราจะไม่บอกว่าหนูมีปัญหานะลูก แต่จะออกแนวพัฒนาตัวเองให้เด็กรู้สึกว่ามาในห้องนี้ไม่ใช่ว่าหนูป่วย ไม่ใช่ว่าหนูนิสัยไม่ดีหรือเป็นคนบ้านะ การได้เข้ามาในห้องนี้แสดงว่าคุณครูเขาเห็นว่าหนูพัฒนาได้ พีซมักจะใช้คำนี้ มันก็จะทำให้เด็กค่อนข้างเปิด แล้วเราก็ลุยกันต่อ

ถ้าไม่มีปัญหาอะไร แต่อยากมาเล่นในห้องทักษะชีวิตบ้างได้ไหม

จริงๆ ตอนนี้ก็คิวยาว คิวแน่น คนที่ไม่มีปัญหาแต่อยากมา เราก็จัดคิวให้เขาค่ะ เราจะเปิดห้องตอนกลางวันให้มาได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียน แล้วถ้ามาอย่างสม่ำเสมอก็จะได้ใบประกาศนียบัตร Life Skill Ambassador ให้เขารู้สึกว่ามาห้องนี้แล้วมันเท่ ได้มาร้องเพลงด้วยกัน มาแล้วเหมือนได้เข้ากิจกรรมชมรม เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนที่มาที่นี่ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีปัญหา

เพราะเราว่าทุกคนก็มีปัญหาหมดแหละ แต่เพียงแค่ว่าเขาจะมองว่าฉันมีปมด้อย หรือว่าฉันพัฒนาได้

ความชื่นชอบในงาน

“พีซชอบเห็นคนดีขึ้น พีซชอบเห็นคนที่เขาเติบโตจากข้างใน
เรารู้สึกว่าถ้าเราพอจะมีประโยชน์ในลักษณะนั้นได้ คิดว่าก็ตายตาหลับแล้ว”

 

ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนจำนวนมาก จำนวนเยอะ ขอแค่ดูแลไม่กี่คนที่มีอยู่ให้เต็มที่แล้วเขาดีขึ้น ก็ยินดีแล้วค่ะ

นอกจากเด็กแล้ว พีซก็ชอบสื่อสารกับครูกับผู้ปกครองของเด็กนะคะ เพราะเขาเป็นคีย์สำคัญ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งครูและผู้ปกครองก็เป็นกลุ่มคนที่เหนื่อยและมีภาระมาก เป็นกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่ค่อยมีใครช่วยเขา ทุกคนจะไปพุ่ง มุ่งช่วยแต่เด็ก แต่ว่าไม่ค่อยมีใครซัปพอร์ตพ่อแม่หรือครู

ความท้าทายและความยากง่ายในงาน

เด็กบางคนถึงจุดที่แค่ตัวเขาและคุณครูไม่พอแล้ว ต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง แต่เนื่องจากว่าบางครอบครัว เขาก็ไม่สามารถมาเจอหรือพูดคุยกับเราได้ ซึ่งเราก็ไม่ค่อยอยากเน้นการสื่อสารทางโทรศัพท์ เพราะไม่ได้สบตากัน เดี๋ยวจะแปลความผิดกันเปล่าๆ

แต่มันมีน้อยมากนะคะ ส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็จะเต็มที่ หาเวลามาได้ ส่วนบางเคสที่อาจไม่มีเวลาจริงๆ ความท้าทายก็จะอยู่ตรงนี้

“คือเราสู้จนสุดแล้วต้องปล่อยวางให้ได้ด้วย ทำใจว่าเราไม่สามารถช่วยให้ทุกคนอยู่ในจุดเพอร์เฟกต์ที่สุดได้”

 

ถ้าผู้ปกครองอยากเห็นกิจกรรมที่เราทำกับเด็กๆ

คือเริ่มจากตอนปฐมนิเทศ เราจะมีการเข้าไปพูดคุยหรือเปิดวิดีโอแนะนำว่าห้องนี้คืออะไร เพื่อป้องกันเรื่องทัศนคติทางลบกับนักจิตวิทยา

แล้วก็จะมีเป็นลักษณะกลุ่ม intensive care ช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน ที่ผู้ปกครองสมัครมาให้ลูก 8 คน เป็นกิจกรรมพัฒนาบุคลิกภาพ กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต แล้วเราก็ไลฟ์ในกลุ่ม

ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ขับรถไปที่ทำงานหรืออยู่ที่ทำงาน ก็จะได้เห็นว่าลูกเราก็ยกมือ กล้าแสดงออกนี่หน่า หรือลูกฉันผลักเพื่อนในขณะที่เรียน เขาก็จะเห็นธรรมชาติของลูกที่ปกติไม่มีโอกาสเห็น

พอสอนเสร็จ ก็จะมีวันที่มาไลฟ์คุยกับผู้ปกครองในกลุ่ม ว่าลูกแต่ละคนมีจุดแข็งอะไรบ้าง

ช่วงแรกมีแรงต้านจากคนที่เกี่ยวข้องบ้างไหม

มี แต่ไม่เยอะค่ะ และเราไม่ได้มองว่ามันเป็นแรงต้าน เรามองว่าเขาขาดความเข้าใจเท่านั้นเอง ดังนั้น ถ้าเขายังไม่เปิด มันคือหน้าที่ของเราที่ต้องให้ความรู้เพิ่ม เราต้องเข้าไปหาเขามากขึ้น

เรารู้สึกว่ามันต้องใช้เวลาอยู่แล้ว เป็นเราที่ต้องเข้าหาพวกเขา หาโอกาสเข้าไปแทรกตัวในการประชุมครูบ้าง เนียนๆ บ้าง เดินเข้าไปทักทายคุณครูที่กำลังสอนบ้าง เข้าไปในคาบแนะแนวบ้าง เพื่อจะได้ทำความรู้จัก ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ทำจากความจริงใจของเราค่ะ เพราะการที่เราจะดูแลรักษาใครหรือว่าช่วยเหลือใคร ถ้าเราไม่รู้จักเขา เราก็จะช่วยเขาไม่ได้

ดังนั้น เราก็ต้องหาโอกาสที่จะเข้าไปเจอ ไปพูดคุย ไม่ใช่ว่านั่งรออยู่แค่ในห้อง

ทำไมเมื่อสองปีก่อน โรงเรียนถึงตั้งฝ่ายทักษะชีวิตขึ้นมา

เพราะมีโอกาสคุยกับครูแนะแนว ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในอาชีพกับคณะที่เด็กจะเรียนต่อ สอบ O-Net และ A-Net แต่ครูแนะแนวเขาเริ่มเห็นพฤติกรรมของเด็กที่ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจที่จะจัดการในเชิงพฤติกรรม

ตอนนั้นเราเรียนอยู่ในโรงพยาบาล ก็จะรู้ว่ามีคนไข้สุขภาพจิตแน่นมาก แล้วจะมานั่งรักษาคนไข้ มัวแต่ตั้งรับที่โรงพยาบาลอย่างเดียวเหรอ เราป้องกันก่อนได้ไหม โดยการเอาตัวไปอยู่ในโรงเรียน เราลดความเสี่ยงที่เขาโตขึ้นจะต้องไปโรงพยาบาลได้เยอะเลยนะ

คิดว่าความสำคัญของนักจิตวิทยาโรงเรียนคือ

พีซเชื่อว่าทุกคนต้องการกำลังใจ เด็กก็ต้องการกำลังใจ เด็กก็เรียนหนัก มีภาระเยอะ แล้วถ้าเขาไม่มีกำลังใจเลย มันก็ยากมากที่จะผ่านไป และเวลาที่เด็กมีความเครียดแล้วไม่รู้จะจัดการยังไง หรือไม่มีใครคอยไกด์เขา มันมีความเสี่ยงที่เด็กจะรังแกกันเอง หรือปล่อยความเครียดออกมาในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งภาระหน้าที่ของคุณครูที่สอนวิชาหลัก บางครั้งเขาก็ไม่ได้เหลือพลังที่จะมาช่วยเหลือเด็กในเรื่องซัปพอร์ตจิตใจแล้ว เพราะลำพังตัวเขาเองก็หนักเช่นกัน

นักจิตวิทยาโรงเรียนจึงเป็นตัวเชื่อม ที่ทำให้บรรยากาศในโรงเรียนเบาขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น

เป้าหมายในอนาคต

จริงๆ พีซอยากผลิตนักจิตวิทยา หรือคนที่มีความสนใจด้านจิตวิทยา แล้วเข้าไปอยู่ตามโรงเรียนให้มากขึ้น อยากให้คนเห็นภาพลักษณ์ว่ากลุ่มคนที่ช่วยเหลือสังคมก็มีชีวิตที่สุขสบายได้ อยากเปลี่ยนทัศนคติของคนที่ทำเป็น social enterprise ว่า

“เราทำอะไรเพื่อสังคม เราต้องทำให้คนเห็นว่าทำเพื่อสังคม แล้วเราไม่ได้จน
เรามีรายได้ เราอยู่สบาย 
และเรายังช่วยสังคมได้จริงด้วย”

 

แต่เราต้องทำให้คนเห็นไง เราก็จะค่อยๆ เข้าไปด้วยแนวทางทักษะชีวิต ปรับพฤติกรรม พัฒนาตัวเอง อย่างโรงเรียนอินเตอร์ก็มีอยู่แล้วปกติ เรียกว่า school counselor เป็นที่ปรึกษา เพราะเขาให้ความสำคัญ

แต่ถ้าโรงเรียนไหนอยากมีก็ติดต่อพีซมาได้นะคะ พีซจะหาน้องๆ ที่สนใจไปลง เพราะตอนนี้อยากทำของตัวเองให้ลงตัวก่อน ว่าเราเจอปัญหาอะไร แล้วต้องใช้แบบฟอร์มหรือวางระบบอะไรบ้าง

แต่อีกเป้าหมายของพีซคือ เราอยากให้สักวันนึงพวกเขาดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งเรา เพราะเขามีความรู้ ความเข้าใจ และมีความพร้อมแล้วที่จะดูแลซึ่งกันและกัน ไม่อยากให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก ให้มันเป็นงานที่เขาจะมาขอแค่คำปรึกษาในเรื่องซับซ้อน และไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง คุณครู หรือนักเรียน จะอยู่ที่บ้าน โรงเรียน หรือออฟฟิศก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขค่ะ (ยิ้ม)

 

คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจศึกษาข้อมูลเพื่อการพัฒนาศักยภาพ และดูแลจิตใจของลูก สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก: Kru Peace

หมายเหตุ:
กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) คือกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางการทำงานของระบบประสาท จัดอยู่ในกลุ่มของโรคกลุ่มออทิสติก

 

สัมภาษณ์ ณ วันที่ 30 เมษายน 2018

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST