READING

ลูกแค่งอแงหรือว่าเป็น ‘ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน ...

ลูกแค่งอแงหรือว่าเป็น ‘ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School Refusal)’

ช่วงเปิดเทอมใหม่เป็นอะไรที่บันเทิงใจสำหรับทั้งคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ เพราะไหนจะต้องกลับไปสู่กิจวัตรประจำวัน ตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ ไหนจะการจราจรที่ติดขัด แล้วยังต้องรับมือกับความงอแงของเด็กๆ (ตกลงมันบันเทิงจริงหรือเปล่าเนี่ย)

 

ถ้าลูกใครเป็นเด็กชอบไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็สบายหน่อย แต่ถ้าลูกใครมักมีอาการปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสียขึ้นมาทันทีที่รู้ว่าต้องไปโรงเรียน บางคนอาจมีท่าทีกังวลถึงขั้นแสดงอาการงอแง อาละวาดจนคุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก กว่าจะพาลูกออกจากบ้านเพื่อไปโรงเรียนได้

อาการเหล่านั้นอาจไม่ใช่การแสดงหรือแกล้งทำ แต่เป็นเพราะลูกของเรากำลังตกอยู่ใน ‘ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School Refusal)’ ก็เป็นได้

School Refusal คืออะไร

 

ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School Refusal) ก็คือการที่เด็กไม่เต็มใจไปโรงเรียน ซึ่งมีที่มาจากความวิตกกังวลในใจ แสดงออกเป็นพฤติกรรมได้หลายรูปแบบ ทั้งอาการทางกาย พฤติกรรม ด้านความคิดและอารมณ์ เช่น ร้องโวยวายไม่อยากไปโรงเรียน อ้างว่าไม่สบาย ไม่ยอมลุกจากเตียงนอนในตอนเช้า และจะพบเด็กที่มีภาวะนี้ได้บ่อยในช่วงอายุ 5-­6 ปี และช่วงอายุ 10-­11 ปี

อาการทางกายที่สังเกตได้

noschool_1-600x600

เด็กจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว ใจสั่น อาการจะเป็นมากในช่วงเช้าก่อนไปโรงเรียน และจะหายไปเมื่อผ่านช่วงเวลาที่ต้องไปโรงเรียน ทําให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดคิดไปว่าลูกแกล้งทํา

แต่ในรายที่อาการรุนแรง เด็กอาจมีอาการเหล่านี้ได้ตลอดทั้งวัน และจะยิ่งเป็นมากเมื่อถูกบังคับให้ไปโรงเรียน เด็กบางคนอาจต้องขออนุญาตไปห้องพยาบาลในระหว่างคาบเรียน แต่หากได้รับอนุญาตให้หยุดเรียนหรือลากลับบ้านได้ อาการต่างๆ ก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว และจะไม่เกิดอาการขึ้นในวันที่เด็กๆ ไม่ต้องไปโรงเรียน

เหมือนแกล้งทำใช่ไหมล่ะ แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะมันอาจเป็นอาการทางกายที่เกิดจากความวิตกกังวลของลูกจริงๆ

การแสดงออกทางพฤติกรรม

noschool_2-600x600

ลูกอาจเริ่มบ่นว่า “ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเรียนหนังสือ” และเริ่มไม่ยอมไปโรงเรียนโดยหาข้ออ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน หรือไม่ต้องอยู่ที่โรงเรียนจนกว่าจะถึงเวลาเลิกเรียน

 

บางคนอาจมีพฤติกรรมปรับตัวไม่ได้ มีปัญหากับเพื่อน บางคนแสดงความดื้อด้วยการโต้เถียง และแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดกับพ่อแม่ แต่เด็กบางคนอาจแสดงความต่อต้านด้วยการนิ่งเฉยไม่พูดจา ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สนใจกิจกรรมที่โรงเรียน บางคนอาจร้องไห้ ไม่ยอมลงจากรถ ไม่ยอมเข้าห้องเรียน หรือไม่ยอมเรียนหนังสือ

อาการกังวล

noschool_4-600x600

ลูกมักแสดงความวิตกกังวลที่ต้องแยกจากพ่อแม่ กลัวการเข้าสังคม หรือกลัวในเรื่องทั่วไปจนเกินเหตุ เช่น เด็กบางคนจะหมกมุ่นอยู่กับความคิด ว่าจะเกิดอันตรายกับพ่อแม่ ในขณะที่ตัวเองต้องอยู่ที่โรงเรียน

 

เด็กบางคนจะแสดงอาการกลัวในเรื่องอื่น เช่น กลัวความมืด กลัวสัตว์ประหลาด กลัวคน กลัวว่าเพื่อนหรือครูจะมองไม่ดี หรือกลัวว่าจะทำงานไม่สำเร็จลุล่วง และความกังวลโดยที่ไม่สามารถรับมือได้เหล่านี้ ทำให้เขาไม่อยากไปโรงเรียน

คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

noschool_4-600x600

สำหรับเด็กที่กลัวการไปโรงเรียน การถูกบังคับให้ไปโรงเรียนยิ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากสำหรับเขา ลองคิดดูว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่คุณกลัวมากที่สุด ลูกก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน

 

และแน่นอนว่าการอนุญาตให้ลูกไม่ไปโรงเรียน ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะมีเด็กจำนวนมากที่คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้แล้ว ไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนได้อีกเลย

ดังนั้น ถ้าลูกของคุณเริ่มปฏิเสธการไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการนัดพบกับคุณครูหรือผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาเด็ก นักจิตวิทยาโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือลูกให้พ้นจากภาวะไม่อยากไปโรงเรียน

แต่ระหว่างนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำกับเด็กที่มีภาวะไม่อยากไปโรงเรียน ก็คือ…

• อย่าดุด่าว่ากล่าวลูก แต่คุณสามารถช่วยเหลือลูกได้ ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง

• พูดคุยเพื่อหาสาเหตุที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียน และหาแนวทางแก้ปัญหา เช่น ลูกถูกเพื่อนรังแกหรือเปล่า คุณครูปฏิบัติต่อลูกดีหรือไม่ ฯลฯ

• พูดถึงแง่บวกของโรงเรียนให้ลูกฟัง เช่น มีเพื่อนหรือวิชาเรียนที่เขาชื่นชอบ แต่ก็ไม่เพิกเฉยความรู้สึกที่ไม่ดีของลูก

• พบคุณครูประจำชั้นหรือเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน เพื่อจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) เพราะเด็กบางคนต้องใช้เวลาในการที่จะค่อยๆ กลับไปเรียนที่โรงเรียน โดยเริ่มจากการไปโรงเรียนน้อยลง จนกว่าเขาจะเริ่มคุ้นเคย และการเรียนที่บ้านหรือมีครูมาสอนพิเศษก็เป็นวิธีที่จะทำให้ลูกเรียนตามเพื่อนที่โรงเรียนได้ทัน

• หากลูกมีปัญหาในการเข้ากับเพื่อน ลองให้เขาได้ทำกิจกรรมใหม่ที่เขารู้สึกสนุก และเพื่อให้ลูกได้พบกับเพื่อนที่รักในสิ่งเดียวกัน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำอย่างไร

 

คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังพฤติกรรมตอบสนองบางอย่างของตัวเอง เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง ถ้าลูกรู้สึกว่าเขาไม่สามารถพึ่งพาคุณได้ จะยิ่งทำให้เขาเครียดและวิตกกังวลมากขึ้น

• บอกเพื่อนของลูกหรือบอกอาการที่ลูกเป็นกับคนอื่น ที่จะทำให้ลูกโดนล้อเลียนได้

• ทำโทษหรือลงโทษ เพราะลูกไม่ยอมไปโรงเรียน

• ใช้การไปโรงเรียนเป็นการข่มขู่

• ล้อลูกและมองการไม่อยากไปโรงเรียนของลูกเป็นเรื่องตลก หรือไม่ว่าอะไรเมื่อมีคนล้อเลียนที่ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน

• บอกว่าเดี๋ยวเหตุการณ์จะดีขึ้น แต่คุณไม่ได้ทำอะไรเลย

 

เด็กที่อยู่ในภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน อาจกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่ คุณครู และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะทำให้เขากลับไปเรียนในโรงเรียนได้เหมือนเดิม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่นี่แหละ จะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญมากสำหรับเขา


Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST