READING

หนูไม่ได้ขี้เกียจ แต่หนูอาจจะเป็นโรคบกพร่องทางการเ...

หนูไม่ได้ขี้เกียจ แต่หนูอาจจะเป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)

ครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาลูกน้อยไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ยอมทำการบ้าน เรียนอะไรก็ไม่เข้าใจเหมือนเพื่อนคนอื่นซักที ลองใช้เวลาสังเกตลูกให้มากขึ้นอีกนิด ก่อนที่จะโทษว่าเป็นเพราะความขี้เกียจตามประสาเด็กๆ เพราะอาการเหล่านั้นอาจมาจาก โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) สมองของลูกมีการทำงานผิดปกติ และเขากำลังต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ที่สุด

รู้จักโรคบกพร่องทางการเรียนรู้

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) เป็นโรคที่พบได้ในเด็กถึงร้อยละ 7 ของเด็กวัยเรียนทั้งหมด ซึ่งความบกพร่องในการเรียนรู้อาจเกิดกับเด็กที่มีสติปัญญาในเกณฑ์ปกติหรือมากกว่าเด็กอื่น แต่มีการเรียนรู้ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน

และความบกพร่องทางการเรียนรู้นี้ ไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้าน ความพิการทางร่างกาย หรือปัญหาทางอารมณ์อื่นๆ ร่วมด้วย แต่เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก ดังนี้

– การทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา

– กรรมพันธุ์ มีประวัติพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเคยป่วยด้วยโรคเดียวกันมาก่อน

– ความผิดปกติของโครโมโซม

อาการของเด็ก LD

อาการของโรคแอลดีแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือมีปัญหาด้านการอ่าน ปัญหาด้านการเขียน และปัญหาด้านการคำนวณ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถลองสังเกตอาการของลูกด้วยตัวเองได้ ดังนี้

1. ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน

LearningDisabilities_1

ความบกพร่องด้านการอ่าน เป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดในเด็กแอลดีคือ

 

– เด็กจะมีความบกพร่องในการจดจำพยัญชนะ สระ ตัวสะกด และขาดทักษะในการสะกดคำ

– อ่านออกเสียงไม่ชัด

– ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้

– อ่านข้าม เพิ่มคำ ลดคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้

– อ่านกลับคำหรือสลับที่คำ เช่น คาถา อ่านเป็น ทาขา

– อ่านคำควบกล้ำไม่ออก

– อ่านโดยการเดาจากภาพ หรือแทนที่คำอ่านด้วยคำอื่น

– แสดงอาการหงุดหงิด กังวล ไม่สบายใจระหว่างการอ่าน

– หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหามากๆ

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้าปล่อยไปก็จะยิ่งนำไปสู่การอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

2. ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านการเขียน

LearningDisabilities_2

ความบกพร่องด้านนี้ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน

 

– เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง เรียงลำดับอักษรผิด วางสระหรือวรรณยุกต์ผิดตำแหน่ง

– เขียนหนังสือช้า เพราะกลัวสะกดผิด

– เขียนตัวหนังสือกลับด้าน เหมือนภาพสะท้อนจากกระจกเงา หรือเขียนตัวอักษรสลับด้าน เช่น เป็น หรือ เป็น

– เขียนตัวหนังสือสลับที่กัน เช่น เวลา เป็น วเลา

– เขียนตามเสียงที่อ่าน เช่น รูปภาพ เป็น รูปพาบ

– เขียนไม่ตรงบรรทัด ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ไม่เว้นขอบ ไม่เว้นช่องไฟ

– เขียนได้แค่ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ และใช้คำเดิมสั้นๆ สื่อความหมายผ่านการเขียนได้ไม่ดี เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง

– เขียนแล้วลบบ่อยๆ ไม่มั่นใจในสิ่งที่เขียน

– ผัดผ่อนหรือหลีกเลี่ยงการเขียน

 

ซึ่งส่งผลให้เด็กเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ไม่สามารถแสดงออกผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

3. ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านการคำนวณ

LearningDisabilities_3

– ความสามารถด้านการคำนวณจะด้อยกว่าเด็กคนอื่นในชั้นเรียนอย่างมาก

– คิดเลขช้ามาก

– ไม่เข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น บวก ลบ คูณ หาร หรือสูตรต่างๆ ไปจนถึงหลักการยืมการทดเลข

– ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข ไม่รู้ว่าเลขใดมีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน

– คิดเลขตกหล่น ผิดพลาด สะเพร่า

– สับสนและไม่เข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ เช่น > หรือ <

– มีปัญหาในการคิดเลขในใจ

– ตีโจทย์ปัญหาเลขไม่ออก

– ไม่เข้าใจเรื่องเวลา ดูนาฬิกาไม่เป็น

– มีปัญหาในเรื่องของการชั่ง ตวง วัด และการนับเงิน ทอนเงิน

 

ทำให้พวกเขามีความสามารถในการคิดคำนวณต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันอย่างน้อย 2 ระดับชั้นปี

 

ซึ่งเด็กแอลดียังอาจมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ที่พบร่วมกันได้ถึงร้อยละ 40-50 เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร ปัญหาการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตา

เด็กที่เป็น LD มักจะรู้สึกว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง มีปมด้อย เศร้าหมอง เพราะมักถูกบังคับให้ทำงานซ้ำๆ หรือเรียนพิเศษ ทำให้ยิ่งต่อต้านการเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน ในขณะที่พวกเขามักพูดจาฉลาด โต้ตอบได้ดี แต่พอให้อ่าน เขียน คำนวณ กลับทำได้ไม่ดี ทำให้ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ดุว่าเป็นเด็กขี้เกียจ ดื้อ เกเร และอายที่ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่ไม่อยากให้ใครรู้ ก็เลยปฏิเสธการทำสิ่งต่างๆ ที่ทำไม่ได้

 

ครอบครัวและโรงเรียนจึงเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะให้การช่วยเหลือพวกเขาได้

หลักสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก LD

การช่วยเหลือจากครอบครัว

LearningDisabilities_4

– ครอบครัวต้องทราบถึงปัญหาและความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

– เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ เป็นความเข้าใจ สนับสนุน และส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็กในด้านที่เขาทำได้ดี

– ชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จ แม้ในเรื่องเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

การช่วยเหลือทางการศึกษา

LearningDisabilities_5

โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคล ให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก

เน้นการสอนเสริมทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ การอ่าน การเขียน โดยการสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อตัว ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน

การช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง จะทำให้เด็กๆ เข้าใจเนื้อหา และรับรู้ข้อความได้เร็วขึ้น หรืออาจให้เวลาในการทำข้อสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการอ่านโจทย์ ตีความ และเขียนตอบ ซึ่งจะช่วยให้เขาเรียนได้ดีขึ้น

และควรส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ที่เด็กสนใจไปพร้อมกันด้วย เช่น ดนตรี กีฬา หรือศิลปะ เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

การช่วยเหลือทางการแพทย์

LearningDisabilities_6

โดยปกติแล้วโรคแอลดีไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา แต่มักพบอาการร่วมกับโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคสมาธิสั้น ภาวะวิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ดังนั้น ควรให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและวินิจฉัยภาวะต่างๆ ที่เด็กอาจมีร่วมด้วย เพื่อรักษาภาวะเหล่านั้น

หากอยากเข้าใจกลุ่มอาการเหล่านี้มากขึ้น ลองหาภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Like Stars on Earth มาดูกัน เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงเด็กน้อยที่ถูกคนรอบข้างเข้าใจผิด คิดว่าเขาเกียจคร้าน อ่านหนังสือไม่ออก จดจำตัวเลขไม่ได้ พาลให้ไม่อยากไปเรียนหนังสือ แต่จริงๆ แล้วขอเพียงใครสักคนที่เข้าใจ และสอนด้วยวิธีที่เหมาะสม เด็กก็พร้อมจะเรียนรู้ และเปิดรับข้อมูลได้เต็มความสามารถ สุดท้ายเขาจะดึงศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองออกมาได้

ค่อยๆ ทำความเข้าใจและปรับกันไปนะคะคุณพ่อคุณแม่ 🙂

อ้างอิง
หนังสือจิตเวชศิริราช DSM-5 โดยนายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรงพยาบาลมนารมย์

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST