READING

5 วิธีล้างผักผลไม้ให้ห่างไกลสารพิษ...

5 วิธีล้างผักผลไม้ให้ห่างไกลสารพิษ

พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นสารเคมีที่กำลังถูกเรียกร้องให้กลายเป็นสารเคมีช่วยกำจัดศัตรูพืชที่ต้องห้ามในวงการเกษตรกรรม ความรุนแรงของพาราควอตอาจทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นแผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ หากสัมผัสโดยตรง และหากสัมผัสกับพาราควอตเข้มข้นมากๆ โอกาสที่มันจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และอาจอันตรายรุนแรงถึงชีวิต

อาจฟังดูไกลตัว แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวคือ แม้จะไม่ได้สัมผัส แต่แค่รับประทานผ่านพืชผักต่างๆ ที่มีสารเหล่านี้ปนเปื้อนเป็นเวลานาน ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคพาร์กินสันได้

 

อีกทั้งยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับสารพาราควอตจะสามารถถ่ายทอดจากรกไปสู่เด็กในท้องได้ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีโดยตรง แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็มีสิทธิ์ได้รับสารพาราควอตจากพืชผัก และเนื้อสัตว์ที่บริโภคเข้าไปในแต่ละวันอยู่ดี

 

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาการของสมองและระบบประสาท ระดับสติปัญญา การเรียนรู้ ทำให้เกิดปัญหาการเรียน และอาจทำให้มีอาการออทิสติกด้วย

 

ที่น่ากลัวก็คือ ไม่ว่าเราจะหลีกเลี่ยงไม่กินผักผลไม้ที่มีสารเคมีขนาดไหน ก็ยากที่จะหลบพ้น M.O.M เลยชวนมาดู 5 วิธีล้างผักผลไม้ให้ห่างไกลสารพิษ

1. ล้างด้วยน้ำเปล่า

vegetable_1

ล้างผักด้วยน้ำเปล่าเป็นวิธีการล้างเบื้องต้น สำหรับเวลาที่เราไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ แม้ว่าจะสามารถล้างสารพิษออกน้อยกว่าวิธีอื่นๆ แต่มีทริกที่หลายๆ คนยังไม่รู้มาก่อน

 

วิธีการแช่น้ำ: เริ่มด้วยการล้างผักรอบแรกให้เศษดิน ผง และความสกปรกออกไปก่อน หลังจากนั้นเด็ดผักออกเป็นใบๆ แล้วนำมาแช่ในอ่างน้ำที่เตรียมไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้นล้างน้ำอีกหนึ่งรอบ

 

วิธีล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน: โดยเด็ดผักออกเป็นใบๆ นำมาใส่ในตะกร้าหรือตะแกรงโปร่ง แล้วเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ระหว่างล้างใช้มือช่วยคลี่ใบผักและถูไปมาบนผิวใบของผักผลไม้ไปด้วยประมาณ 2 นาที

ระวัง: วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมและได้ผลดีมากวิธีหนึ่ง แต่มีข้อเสียคือต้องใช้เวลานาน และใช้น้ำในปริมาณมากกว่าปกติ

 

*หากเป็นผักที่มีเปลือกชั้นนอกหรือกาบด้านนอกที่ลอกออกได้ เช่น กะหล่ำปลี ควรลอกเปลือกหรือกาบด้านนอกออกทิ้งสัก 2-3 ใบ เพราะสารพิษส่วนใหญ่จะสะสมตกค้างบริเวณเปลือกด้านนอก แล้วจึงนำไปล้างตามแต่ละวิธี

2. ล้างด้วยเบกกิงโซดา

vegetable_2

เบกกิงโซดา (Baking Soda) หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) เป็นสารที่นอกจากใช้ในการทำขนมแล้ว ยังมักนำมาใช้ล้างสารพิษจากผักและผลไม้ได้ โดยใช้เบกิ้งโซดา 1/2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 10 ลิตร แล้วนำผักหรือผลไม้มาแช่ไว้ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นค่อยล้างออกด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง

ระวัง: เบกกิงโซดาจะมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่ และอาจจะดูดซึมเข้าสู่ผักและผลไม้ที่นำไปแช่ได้ เมื่อล้างผักผลไม้ด้วยเบกกิงโซดาแล้ว จึงควรล้างให้สะอาด เพราะถ้าได้รับเบกกิงโซดามากเกินไปก็อาจทำให้ท้องเสียได้

3. ล้างด้วยน้ำส้มสายชู

vegetable_3

เตรียมน้ำส้มสายชูที่มีความเข้มข้น 5% ของกรดน้ำส้ม ผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1:10 ส่วน แล้วนำผักมาแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกหนึ่งรอบ

ระวัง: ภาชนะที่ใส่ผักไม่ควรเป็นพลาสติก และการล้างผักด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผักบางชนิดมีกลิ่นน้ำส้มสายชูติดไปด้วย เช่น ผักกาดขาว ผักกาดเขียว อาจมีการดูดรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู และทำให้ผักมีรสชาติเปลี่ยนไป

4. ล้างด้วยด่างทับทิม

vegetable_4

ด่างทับทิม (Potassium Permanganate) ด่างทับทิมจะมีลักษณะเป็นผลึกหรือเกล็ด สามารถละลายน้ำได้ ใช้ด่างทับทิมประมาณ 20-30 เกล็ด ผสมกับน้ำประมาณ 4 ลิตร นำผักมาแช่ไว้ในน้ำด่างทับทิมประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยสะอาดอีกครั้ง

ระวัง: การสูดดมไอระเหยของด่างทับทิมเข้าไปมากๆ หรือด่างทับทิมสัมผัสเข้าตา อาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและเป็นอันตรายต่อดวงตา อีกอย่างการใช้ด่างทับทิมต้องใช้ในปริมาณน้อย ไม่งั้นผักและผลไม้จะเหี่ยวหรือเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลได้ และมีผลต่อระบบทางเดินอาหารของเรา จึงต้องระมัดระวังในการใช้

5. ล้างด้วยผงถ่าน

vegetable_5

ผงถ่านแอ็กทิเวตชาร์โคล (Activated Charcoal) หรือผงถ่านกัมมันต์  (Activated Carbon) เป็นวัสดุคาร์บอนซึ่งมีเนื้อพรุน มีคุณสมบัติในการดูดซับสูงทำให้สามารถจับสารในปริมาณมากมายไว้ที่ผิว ซึ่งจะช่วยดูดทั้งกลิ่น สี และสารพิษออกจากผัก แต่จะไม่ดูดซับแร่ธาตุออกไป และร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมผงถ่านได้ จึงไม่เป็นอันตราย

ใช้ผงถ่าน 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร แล้วนำผักผลไม้มาแช่ไว้ประมาณ 20 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด แต่หากใช้ในปริมาณน้อยและแช่ไว้ไม่นานพอ ก็จะไม่สามารถดูดซับสารพิษออกมาได้หมด

ถึงแม้ว่าการพยายามล้างผักด้วยสารและวิธีต่างๆ อาจล้างสารเคมีในผักได้ไม่หมด แต่ก็เป็นวิธีที่เราสามารถลดสารพิษได้ด้วยตัวเองในระดับผู้บริโภค สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ควรซื้อผักจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าปลอดภัยจากสารเคมี

โดยเฉพาะการทำอาหารให้เด็กๆ อาจต้องหลีกเลี่ยงผักบางชนิดที่มีข้อมูลว่าปนเปื้อนสารพิษจำนวนมาก เช่น กะเพรา คะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง มะเขือเปราะ และเลือกผักที่มีข้อมูลว่าพบสารพิษเจือปนน้อย เช่น แตงกวา ผักกาดขาว กะหล่ำปลี

หรือคุณพ่อคุณแม่คนไหน จะเลือกปลูกผักไว้กินเองในบ้าน ก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัย มั่นใจได้ว่าสะอาด ปลอดสารพิษ และยังประหยัดอีกด้วย


Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST