READING

ทำอย่างไรให้ลูกฟัง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตะโกนห...

ทำอย่างไรให้ลูกฟัง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตะโกนหรือส่งเสียงดัง

รู้ไหมว่าโดยธรรมชาติแล้ว การสื่อสารของคนเรากว่า 93% เป็นการสื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด และจากการศึกษาและงานวิจัยหลายฉบับของ ดร.เมห์ราเบียน บอกให้เรารู้ว่าลูกรับรู้ข้อความของคุณพ่อคุณแม่ผ่านการแสดงท่าทาง ไม่ใช่ที่คำพูดด้วยซ้ำ!

 

และนี่คือ 9 ท่าทางที่คุณสามารถสื่อสารกับลูกได้เข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องตะโกนหรือส่งเสียงดังอีกต่อไป

1. ชูนิ้วโป้งขึ้นเพื่อชื่นชม หรือคว่ำนิ้วโป้งลงเพื่อตักเตือน

Bawl_web_1

วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกเวลาลูกอยู่ไกล หรือว่าอยู่ในที่เสียงดัง คุณอาจยิ้มและชูนิ้วโป้งขึ้นเวลาที่ลูกคุณนั่งกินข้าวเรียบร้อย หรือคุณอาจส่ายหัวและคว่ำนิ้วโป้งลงเวลาที่ลูกคุณกำลังยืนอยู่บนโต๊ะกินข้าว เพื่อส่งสัญญาณว่าลูกควรทำหรือไม่ควรทำอะไรในเวลานั้น

2. ใช้แขนและมือของคุณส่งสัญญาณแทนข้อความ

Bawl_web_2

เช่น ตบเบาๆ ที่ที่นั่งข้างๆ คุณ เวลาที่อยากให้ลูกมานั่งข้างๆ หรือชี้ไปที่ของเล่นที่คุณต้องการให้ลูกเก็บ หรือใช้สองนิ้วชี้มาที่ตาคุณทั้งสองข้าง และทำกลับไปที่ลูกเพื่อให้ลูกรู้ว่า คุณกำลังจับตามองเขาอยู่

3. ย่อตัวลงต่ำขณะที่ต้องการสื่อสาร

Bawl_web_3

การสื่อสารจะยิ่งได้ผลมากขึ้นเวลาที่คนสองคนยืนอยู่ระดับเดียวกัน ย่อตัวคุณลงเพื่อให้สายตาอยู่ระดับเดียวกับลูก ก่อนที่คุณจะแสดงท่าทางหรือแนะนำอะไร การที่ลูกคุณต้องเงยหน้าฟังคุณพูดนานๆ ลูกอาจปวดคอมากกว่าสนใจฟังสิ่งที่คุณพูดเป็นแน่

4. เอียงคอเพื่อแสดงว่าคุณกำลังให้ความสนใจ

Bawl_web_4

ลองนึกถึงเวลาที่คุณฟังเพื่อนเล่าเรื่องอะไรสักอย่างด้วยความตั้งใจ สังเกตไหมว่าคุณมักจะเอียงคอไปด้านใดด้านหนึ่งเสมอ เช่นเดียวกัน การทำแบบนี้กับลูกจะแสดงให้ลูกเห็นว่า คุณสนใจและกำลังฟังสิ่งที่เขาพูดและทำ นั่นทำให้เขาพร้อมให้ความร่วมมือกับคุณต่อไปทันที

5. ยิ้มเห็นฟัน

Bawl_web_5

การยิ้มเห็นฟันจะทำให้ลูกรู้สึกดีและปลอดภัย การยิ้มเป็นการสื่อสารให้ลูกรู้ว่าคุณรักเขา และการยิ้มจะได้ผลมากขึ้นไปอีก ถ้าคุณยิ้มพร้อมกับสบตาลูกไปด้วย

6. ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรม

Bawl_web_6

การที่คุณแสดงให้ลูกเห็นถึงพฤติกรรมที่คุณต้องการ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างทักษะการฟังที่ดี ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าคุณอยากให้ลูกเก็บของเล่น คุณก็ต้องลงมานั่งที่พื้น โฟกัสกับของเล่นที่วางระเกะระกะ เพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าการเก็บของเล่นต้องทำอย่างไรบ้าง

7. ขยับเข้ามาใกล้อีกนิด

Bawl_web_7

มันยากมากที่เราจะเฉยเมยกับคนที่อยู่ตรงหน้าในระยะประชิด เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ใหญ่ เราต้องการระยะห่างประมาณ 75-120 ซม. ในการสื่อสารระหว่างเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว การขยับเข้าใกล้เขาในระยะประมาณ 30-60 ซม. ก็ช่วยได้มากเลยทีเดียว

8. ส่งสัญญาณตอบรับ เช่น อื้มมมม…

Bawl_web_8

การจะสอนให้ลูกเป็นผู้ฟังที่ดี เราก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน เมื่อลูกพูด คุณอาจจะผงกหัวรับเล็กน้อย ยิ้ม และส่งเสียง อื้มมมม… ออกมา เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณกำลังฟังที่เขาพูด เมื่อลูกรู้ว่าคุณตั้งใจฟังเขา เขาก็พร้อมที่จะรับฟังคุณเช่นกัน

9. เช็กท่าทางของคุณ

Bawl_web_9

คุณกำลังยืนกอดอกและส่ายหน้าตอนพูดกับลูกหรือเปล่า คุณรู้ไหมว่าการที่คุณปล่อยมือลงข้างลำตัว จะทำให้ลูกพร้อมที่จะรับฟังและทำตามสิ่งที่คุณบอกมากกว่า แค่เพียงปรับตำแหน่งแขนและท่าทางของคุณ ก็ทำให้ลูกพร้อมจะรับฟังคุณมากขึ้นเช่นกัน

อ้างอิง
The Military Wife and Mom

Fon Chalisa

คุณแม่ของเด็กชายวัย 3 ขวบ ที่กำลังคิดว่าตัวเองมีพลังวิเศษ

RELATED POST