READING

NEWS UPDATE: งานวิจัยพบว่าระดับไอคิวคนรุ่นใหม่เริ่...

NEWS UPDATE: งานวิจัยพบว่าระดับไอคิวคนรุ่นใหม่เริ่มลดลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ระดับไอคิวลดลงอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา และมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่ายีนไม่มีผลต่อระดับไอคิวที่ลดลง แต่อาจเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

 

นักวิจัยชาวนอร์เวย์วิเคราะห์ระดับไอคิวชาวนอร์เวย์ที่เกิดระหว่างปี 1962 และ 1991 พบว่าระดับไอคิวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 3 ในช่วงระหว่างปี 1962-1975 แต่แล้วก็ลดลงอย่างต่อเนื่องในผู้ที่เกิดหลังจากปี 1975 เป็นต้นมา

 

โอล โรกเบิร์ก—นักวิจัยอาวุโสของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแรกนาร์ฟริสช์ (Ragnar Frisch Centre for Economic Research) ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า งานวิจัยที่คล้ายกันในเดนมาร์ก สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเอสโตเนีย ก็พบว่าระดับไอคิวของคนในประเทศตัวเองลดลงเช่นเดียวกัน

 

“สาเหตุที่ระดับไอคิวลดลงเกิดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม” โอลยังกล่าวอีกว่า เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม “ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับคนไม่ฉลาดมีลูกมากกว่าคนฉลาด แต่มันเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม”

 

ซึ่งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอาจรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา สื่อ โภชนาการ การอ่านที่น้อยลง และการใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น

 

สจวร์ต ริตชี—นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระดับไอคิวและความฉลาดกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของระดับไอคิวในช่วงก่อนหน้านี้เรียกว่าฟลินน์เอฟเฟกต์ (Flynn Effect) เป็นคำที่ใช้เรียกระดับสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้น

 

ความฉลาดถือเป็นมรดกตกทอด นักวิจัยคาดว่าผู้ที่มีระดับไอคิวสูงจะให้กำเนิดลูกที่ฉลาดมากกว่าเกณฑ์ นอกจากนี้ยังคาดว่าคนที่ฉลาดน้อยกว่าจะมีลูกมากกว่าคนที่มีระดับไอคิวสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของระดับไอคิวในช่วงเวลาหนึ่งๆ ทำให้ประชากรทั่วไปฉลาดน้อยลงตามที่โอลกล่าว

 

ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Idiocracy (2006) อาจคุ้นเคยกับแนวคิดเหล่านี้อยู่แล้ว ในแวดวงวิทยาศาสตร์ความคิดที่ว่าพ่อแม่ที่ไม่ฉลาดจะมีลูกมากขึ้น และ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่ฉลาดขึ้น เป็นที่รู้จักกันในทฤษฎี Dysgenic Fertility

 

งานวิจัยยังศึกษาระดับไอคิวของพี่น้องที่เกิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยพบว่าแทนที่ระดับไอคิวของพี่น้องจะคล้ายกัน แต่กลับมีระดับไอคิวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

 

สจวร์ตกล่าวว่า “การค้นพบที่น่าตื่นเต้นไม่ใช่การลดลงของระดับไอคิว แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทความนี้ก็คือ มีความแตกต่างของระดับไอคิวภายในครอบครัวเดียวกัน”

 

งานวิจัยไม่เพียงแสดงให้เห็นความแปรปรวนของระดับไอคิวระหว่างเด็กที่มีพ่อแม่เดียวกัน แต่ยังแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ที่มีไอคิวสูงก็มีแนวโน้มที่จะมีลูกมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามทฤษฎี Dysgenic Fertility

 

สจวร์ตกล่าวอีกว่า การเข้าถึงการศึกษาถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการอธิบายถึงความไม่เท่าเทียมกันด้านสติปัญญา ในงานวิจัยย่อยๆ ที่ยังไม่เผยแพร่ เขาและเพื่อนร่วมงานพยายามแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีผลกับระดับไอคิวที่สูงขึ้น

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับความฉลาด โรบิน มอร์ริส—ศาสตราจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาที่วิทยาลัยคิงส์ กรุงลอนดอน แสดงให้เห็นว่าการทดสอบสติปัญญาด้วยวิธีดั้งเดิม เช่น การทดสอบระดับไอคิวอาจล้าสมัย ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

 

“เราต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา สัมพันธ์กับประสบการณ์ทางความฉลาดที่แตกต่างกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้เทคโนโลยี อย่างโซเชียลมีเดีย วิธีการศึกษาจึงต้องปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย” โรบินกล่าว

อ้างอิง
CNN

Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST