READING

INTERVIEW: แม่ตั้ม—ศิระษา จังธรานนท์ “คิดว่า...

INTERVIEW: แม่ตั้ม—ศิระษา จังธรานนท์ “คิดว่าวอลดอร์ฟเหมาะกับเด็กทุกคน แต่อาจไม่เหมาะกับทุกวิถีชีวิตมากกว่า”

คุณแม่ตั้ม—ศิระษา จังธรานนท์ เคยคุยกับเราเรื่องการดูแลน้องยินดีที่แพ้อาหารถึง 6 ชนิด จากบรรดาอาหาร 8 ชนิดที่ทำให้คนแพ้ได้มากที่สุดไปแล้ว แต่นอกจากเรื่องการแพ้อาหารแล้ว เราพบว่าคุณแม่ตั้ม ยังสนุกกับการเล่าเรื่องการเรียนโรงเรียนแนววอลดอร์ฟของน้องยินดี และมีเพจที่เขียนเล่าเรื่องราวในโรงเรียนวอลดอร์ฟ (Yin Dee ยินดีเป็นเด็กโรงเรียนทางเลือก – วอลดอร์ฟ) เอาไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจโรงเรียนแนวนี้เข้าไปเก็บเกี่ยวข้อมูลได้อีก

 

โอกาสเหมาะอย่างนี้ เลยถือโอกาสชวนคุณแม่ตั้มคุยต่อเกี่ยวกับการให้ลูกเรียนโรงเรียนแนววอลดอร์ฟเสียเลย

วอลดอร์ฟสุดโต่งอย่างที่หลายคนสงสัยหรือไม่ ลูกจะแตกต่างจากเด็กที่เรียนโรงเรียนทั่วไปอย่างไร และให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกตามกระแสได้ไหม ฟังคุณแม่ตั้มเล่าแล้ว น่าจะพอได้คำตอบ

“ตั้มคิดว่าวอลดอร์ฟเหมาะกับเด็กทุกคน
เพราะเด็กทุกคนเกิดมา 
เขาพร้อมที่จะโตไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว
แต่อาจไม่เหมาะกับทุกวิถีชีวิตมากกว่า
ไม่ใช่วิถีชีวิตของเด็กนะคะ หมายถึงของพ่อกับแม่”

เหตุผลที่เลือกให้ลูกเรียนโรงเรียนแนววอลดอร์ฟ

ต้องบอกว่าเราเลี้ยงยินดีมาแบบนี้ตั้งแต่เล็ก คือยินดีไม่มีทีวี ไม่มีสื่อมาตั้งแต่เล็กอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยมั่นใจว่า มันจะไปแนววอลดอร์ฟได้จริงหรือเปล่า เราชอบโรงเรียนแนวทางเลือกอยู่แล้ว ชอบมอนเตสซอรี ชอบวอลดอร์ฟ แต่ก็คิดว่ามันฮาร์ดคอร์มากเลย จะเรียนได้ไหม ทั้งที่เราก็เลี้ยงเขามาแบบนี้อยู่แล้วนะคะ

พอไม่มั่นใจก็เลยคุยกับคุณพ่อเขา ว่างั้นเรากลางๆ ก่อนแล้วกัน เราเลี้ยงลูกแนวนี้ที่บ้าน ส่วนโรงเรียนก็ลองเน้นเรื่องภาษาอังกฤษ อันนี้หมายถึงโรงเรียนที่เขาเรียนตอนอนุบาล 1 นะคะ เพราะที่นั่นก็เน้นกิจกรรม ไม่เน้นสื่อ ไม่เน้นเรียนหนังสือ เน้นแค่ภาษาอังกฤษ แล้วก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปเลย

 

แต่ทีนี้พอเขาเริ่มอนุบาล 2 สำหรับคนที่จะให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก อันนี้สำคัญนะคะ เพราะการเลือกโรงเรียนกับวิถีชีวิตที่บ้าน มันต้องสอดคล้องกันมากๆ เพราะตอนแรกเราตั้งมั่นว่า เราจะเข้มแข็งและมีวินัยกับเขาที่บ้าน แต่พอไปโรงเรียนแล้ว ลูกก็ไปเจอคุณครูเปิดทีวี ทำไมล่ะ ที่บ้านแม่ไม่ให้ดูนะคะ เขาก็เกิดความสงสัย ยกมือบอกคุณครูว่า “คุณครูขา คุณแม่ไม่ให้ดูทีวีค่ะ” (หัวเราะ)

คือที่โรงเรียนเขาก็ไม่ได้เปิดการ์ตูนทิ้งไว้ให้เด็กดูนะคะ แต่มันก็มีบางวิชาที่เขาต้องเปิด แต่พอลูกเราเริ่มมีปฏิกิริยา ก็เลยคิดว่ามันคงไม่ใช่ละ ก็เลยตัดสินใจจะเปลี่ยน เราก็ลองดู เริ่มกลับไปสนใจโรงเรียนวอลดอร์ฟ เริ่มเข้าไปดูโรงเรียนจริงจัง

 

โรงเรียนเขาก็บอกว่า “มาได้เลยค่ะ ไม่ต้องรอให้ ป.1” คือตอนแรกเรากะว่าจะให้ลูกเรียนที่เดิมจนจบอนุบาล 3 ก่อน แล้วค่อยย้ายโรงเรียนตอนเข้า ป.1 แต่โรงเรียนใหม่เขาบอกว่าไม่ต้องรอ เพราะยิ่งเด็กโต หรือเด็กได้รับอะไรมาเยอะแล้ว ก็จะยิ่งปรับตัวยาก คุณครูก็จะลำบาก ทุกอย่างมันจะยากไปหมด ก็เลยสมัครและได้สัมภาษณ์เพื่อเข้าเรียนตอนอนุบาล 3 เลย

คิดว่าโรงเรียนเขาเลือกเด็กจากอะไรบ้าง

คิดว่าพื้นฐานที่บ้านสำคัญมาก แต่ก็แอบรู้สึกว่า บางทีโรงเรียนเขาก็มีหลักในการเลือกเด็กที่เราอธิบายไม่ถูก เหมือนเขาใช้ destiny มองว่า เฮ้ย เด็กคนนี้ต้องมีอะไรบางอย่างที่เข้ากันกับโรงเรียนได้ เขาถึงรับ

มองโรงเรียนวอลดอร์ฟไว้กี่โรงเรียน

แถวบ้านมีวอลดอร์ฟแค่สองโรงเรียนที่พอจะเดินทางได้ และสามารถให้เขาเรียนยาวไปจนถึง ม.6 ได้ ที่จริงมีหลายโรงเรียนที่เราชอบ แต่ติดที่ว่า พอโตถึงระดับนึงแล้วเขาก็ต้องย้ายโรงเรียนอีก แต่เราคิดว่า ไหนๆ จะมาทางนี้แล้ว ก็น่าจะให้เขาได้เรียนยาวๆ

แพลนคือให้เรียนแนววอลดอร์ฟไปจนจบ ม.6

แพลนนะคะ ถ้าเขาอยากเรียนต่อไปจนจบ ม.6 ก็ดี แต่ถ้าวันนึงที่เขารู้ว่าชีวิตเขาจะเป็นยังไง เขาจะบอกเราเองว่าเขาจะเรียนอะไร ถึงวันนั้นเราก็คอยซัปพอร์ตเขา

อะไรทำให้คุณแม่มั่นใจในโรงเรียนแนววอลดอร์ฟ

ก่อนที่ยินดีจะย้ายโรงเรียน เราได้เข้าไปดูกิจกรรมที่โรงเรียนหนึ่ง เป็นการพรีเซนต์โปรเจกต์จบของเด็ก ม.6 ทั้งหมด 12 คน เรานั่งฟังแล้วก็เฮ้ย นี่เด็ก ม.6 เหรอ ทำไมเขาคิดได้ มันเก่งมากเลยนะ เราเลยรู้สึกว่า ถ้าวันนึงลูกเราอายุเท่านี้ แล้วเขาคิดอะไรได้แบบนี้ มันก็ดีมากเลยนะ

ยินดีเขาก็ไม่ค่อยเหมือนเด็กคนอื่น คือไม่จำเป็นต้องเรียนวอลดอร์ฟนะคะ หมายถึงถ้าครอบครัวที่เลี้ยงลูกที่บ้านแบบนี้ คือให้ลูกรับสื่อน้อยๆ ลูกก็จะมีความเป็นธรรมชาติ และเป็นตัวของตัวเองมาก เรามักจะมีเพื่อนทักว่า ลูกแกเรียนโรงเรียนอะไร ตั้งแต่เขายังเรียนที่โรงเรียนเดิม ซึ่งไม่ใช่แนววอลดอร์ฟด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการที่เขาเคยได้เรียนโรงเรียนที่ค่อนข้างจะเมนสตรีม คือที่เดิม ยินดียังมีของเล่นพลาสติก แต่ที่วอลดอร์ฟไม่มีเลยนะ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างที่เขาเล่น เขาจะครีเอตมันขึ้นมาเอง ซึ่งเราจะไม่เห็นสิ่งนี้ในเด็กที่เล่นของเล่นสำเร็จรูป หรือของเล่นปลายปิด เช่น จาน ชาม เตาแก๊ส ที่ทุกอย่างเหมือนจริงหมด

แต่ของเล่นของเด็กในวอลดอร์ฟจะไม่มีกรอบ สมมติมีกะละมังหนึ่งใบ เขาสามารถต่อยอดจากมันและก็เล่นมันไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยินดีไม่มีตอนที่เรียนโรงเรียนแรก เราเลยได้เรียนรู้ความแตกต่างตรงนี้

ส่วนตัวคุณแม่คิดว่า โรงเรียนวอลดอร์ฟเหมาะกับเด็กแนวไหน

สำหรับตั้ม ตั้มคิดว่าวอลดอร์ฟเหมาะกับเด็กทุกคน เพราะเด็กทุกคนเกิดมา เขาพร้อมที่จะโตไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่อาจไม่เหมาะกับทุกวิถีชีวิตมากกว่า ไม่ใช่วิถีชีวิตของเด็กนะคะ หมายถึงของพ่อกับแม่ (หัวเราะ) ต้องถามตัวเองดีๆ ว่าวิถีชีวิตของเราเป็นแบบนั้นจริงๆ ไหม หรือถ้าไม่ใช่ แล้วเราพร้อมจะเปลี่ยนจริงๆ ไหม เพราะบางคนอาจจะชอบ เพราะว่ามันเป็นกระแสให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก แต่ตัวเองทำไม่ได้ คือต้องบอกว่า การให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก ครอบครัวก็ต้องทุ่มเท

“ตั้มไม่ปิดกั้นลูก ไม่ทำให้ทุกอย่างมันดูเป็นปีศาจสำหรับเขา
คือมันก็จะมีคนที่เขาห้ามลูกไปหมดทุกอย่าง
แต่เรารู้สึกว่าอย่าไปทำขนาดนั้นเลย
เพราะเจเนอเรชันเขามันเป็นแบบนี้
เราพาเขาออกนอกบ้าน เขาก็ต้องเห็นจออันเบ้อเร่อแล้ว
มันเลี่ยงไม่ได้หรือจะบอกว่าคุณแม่ห้ามใช้โทรศัพท์ให้ลูกเห็น
มันก็ อ้าว เราก็ต้องทำงาน ต้องใช้โทรศัพท์ ต้องใช้คอมพิวเตอร์
ก็เลยรู้สึกว่า เราไม่ควรไปปิดกั้นเขา”

หมายถึงครอบครัวก็ต้องปรับวิถีชีวิตด้วย

ใช่ค่ะ ขนาดตั้มเลี้ยงเขามาแบบนี้แต่แรกอยู่แล้ว ยังมีอะไรให้ต้องปรับเลยค่ะ เช่น ของเล่นที่เป็นพลาสติก ตัวต่อ เลโก้ ทุกอย่างเราต้องเก็บหมด

 

คือก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่เราต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ตอนแรกตั้มเคยคิดว่า เราต้องเปลี่ยนไปใส่ผ้าไทยหรือเปล่า ต้องห้ามแต่งหน้า ห้ามทำสีผมแน่เลย ตอนอนุบาล 1 ที่ยังไม่ได้ให้เขาเรียนวอลดอร์ฟ เพราะรู้สึกว่า เฮ้ย เราต้องทำขนาดนั้นเลยเหรอ เพราะเราไปดูโรงเรียนที่หนึ่งมา เห็นสไตล์ของสังคมที่นั่นแล้วมันรู้สึกว่า ไม่ใช่เราเลย ก็เลยกลับมาถามตัวเองว่า เราต้องทำขนาดนั้นจริงเหรอ ก็เลยยังครึ่งๆ กลางๆ ให้เขาไปทางบูรณาการ แต่วันนึงมันก็เห็นอะไรบางอย่างที่รู้สึกว่าเขาคงต้องเปลี่ยน

แล้วตั้มมาเจอโรงเรียนวอลดอร์ฟในแบบที่ตั้มสัมผัสได้ ไม่ได้แปลว่าที่ไหนดีหรือไม่ดีนะคะ แต่ว่าการเลือกโรงเรียน เราก็ต้องคลิกกับสังคมในโรงเรียนนั้นพอสมควร มีความใกล้เคียงกับเรา เข้าไปแล้วเราก็ยังใช้ชีวิตปกติของเราได้

 

อีกอย่างที่สำคัญคือ ตั้มไม่ปิดกั้นลูก ไม่ทำให้ทุกอย่างมันดูเป็นปีศาจสำหรับเขา คือมันก็จะมีคนที่เขาห้ามลูกไปหมดทุกอย่าง แต่เรารู้สึกว่า อย่าไปทำขนาดนั้นเลย เพราะเจเนอเรชันเขามันเป็นแบบนี้ เราพาเขาออกนอกบ้าน เขาก็ต้องเห็นจออันเบ้อเร่อแล้ว มันเลี่ยงไม่ได้ หรือจะบอกว่าคุณแม่ห้ามใช้โทรศัพท์ให้ลูกเห็น มันก็ อ้าว เราก็ต้องทำงาน ต้องใช้โทรศัพท์ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ก็เลยรู้สึกว่า เราไม่ควรไปปิดกั้นเขา แต่จะอธิบายเขาว่า นี่คืองานของแม่นะ คุณแม่ต้องทำงาน ถ้าวันหนึ่งหนูเรียนมา แล้วหนูต้องใช้ คุณแม่ก็จะให้ใช้ คือเราจะไม่ไปบอกเขาว่ามันไม่ดี เพราะไปบอกเขาว่าไม่ดี แต่เขาเห็นว่าแม่ใช้ มันก็จะยังไง

“คือวอลดอร์ฟเขาถือว่า เมื่อเด็กพร้อม เด็กจะเป็นฝ่ายแสดงออกมาเอง”

หลายครอบครัวลังเลว่า ถ้าให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก วันหนึ่งที่ลูกต้องกลับเข้ามาเรียนในระบบจะเสียเปรียบอะไรหรือเปล่า

โดนถามบ่อยมากค่ะ แต่ตั้มคิดว่าไม่ต้องห่วงเลย เพราะเด็กในโรงเรียนเดียวกับยินดีก็เก่งนะคะ (หัวเราะ) คือตั้มจะบอกว่า ครอบครัวต้องหนักแน่นพอสมควร หรือหนักแน่นเยอะๆ เลยดีกว่า เราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันถูกทางแล้ว มั่นใจในตัวลูกเรา มั่นใจในโรงเรียน มั่นใจในตัวคุณครู แล้วก็เดินต่อไป

อย่างยินดีตอนนี้ เขาก็อ่านหนังสือเองได้ ทั้งที่ไม่ได้มีใครไปสอน เพราะวอลดอร์ฟเขาจะสอนหนังสือให้เด็กตอน ป.1 แต่ยินดีเขารู้จักตัวหนังสือว่ามันเป็นภาพ จำเป็นภาพได้ เพราะเราอ่านหนังสือให้ฟังตลอด แล้วเวลาเขาไปเจอคำที่เคยเห็น เขาก็อ่านมันได้ เราก็ตกใจ เพราะเราไม่ได้สอน คือที่วอลดอร์ฟเขาจะไม่อยากให้ที่บ้านสอนหนังสือให้เด็ก เพราะที่โรงเรียน คุณครูก็จะมีการสอนด้วยวิธีของเขา

ยินดีชอบอ่านหนังสือมาก เขาอ่านเยอะมากจนเราต้องไปปรึกษาคุณครู คุณครูก็บอกว่าถ้าเขาทำของเขาเอง ก็ไม่เป็นอะไร คือวอลดอร์ฟเขาถือว่า เมื่อเด็กพร้อม เด็กจะเป็นฝ่ายแสดงออกมาเอง แต่ว่าคุณแม่ไม่ต้องไปสอนเขานะคะ เดี๋ยวมันจะเป็นการปิดกั้นเขา

 

มีเรื่องหนึ่งอยากเล่าให้ฟังคือ ที่โรงเรียนคุณครูจะให้เด็กวาดรูป แล้วปลายเทอมคุณครูก็เอารูปที่เด็กวาดมาให้ดู รูปวาดของยินดีเขาไม่มีวัตถุอยู่ในภาพเลย คือเราไม่ได้เลี้ยงเขาด้วยวัตถุอยู่แล้วก็ส่วนหนึ่ง ภาพของเขาก็เลยมีแต่ธรรมชาติ มีสัตว์ มีต้นไม้ คุณครูเขาก็เรียนรู้เด็กได้เลยจากรูปที่เด็กวาด เพราะว่าตอนที่เรียนโรงเรียนแรก ภาพที่ยินดีวาดก็ไม่ใช่แบบนี้ ตอนนั้นเขายังวาดรถยนต์ วาดของในห้าง แต่ตอนนี้ พอเราปรับหลายอย่างออกไป ภาพที่เขาวาดก็เปลี่ยนไปเป็นต้นไม้ ภูเขา พระอาทิตย์ สำหรับตั้ม รู้สึกว่ามันสุดยอดมากเลยนะ


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST