NEWS UPDATE: ภาพยนตร์ Incredibles 2 มีฉากที่อาจกระตุ้นโรคลมชักของเด็กๆ ได้

Incredibles 2 (2018) เข้าฉายในสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในช่วงสุดสัปดาห์แฟนๆ หลายคนที่รับชมได้โพสต์บนทวิตเตอร์ว่า มีบางฉากที่มีลักษณะเป็นแสงกะพริบ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักที่ไวต่อแสงกระตุ้น (Photosensitive Epilepsy) แสดงอาการได้

 

เพียงวันเดียวหลังจากที่โพสต์นั้นได้รับความสนใจ ก็เกิดประกาศในโรงภาพยนตร์เตือนผู้ชมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังที่คริสติน ซูป—คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ ถ่ายรูปป้ายเตือนดังกล่าวแล้วโพสต์ลงทวิตเตอร์ส่วนตัว

 

“ฉันถ่ายภาพและทวีตถึงป้ายคำเตือนที่ติดที่ประตูและหน้าต่างจำหน่ายตั๋ว เพราะฉันชอบให้นักเรียนเห็นว่า เนื้อหาในชั้นเรียนสามารถนำไปใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงและชีวิตประจำวันได้”

 

“โดยทั่วไปการชักคือปฏิกิริยาทางไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ในสมอง อาการชักอาจมีผลกระทบหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับชนิดความรุนแรงและความเข้มข้น” คริสตินกล่าว แต่โรคลมชักที่ไวต่อแสงกระตุ้นก็ถือเป็นส่วนน้อยในบรรดาสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคลมชัก

 

ป้ายเตือนนี้มีไว้สำหรับร้อยละ 3 ของผู้ป่วยโรคลมชักที่ไวต่อการกระตุ้นด้วยภาพ เช่น ไฟกะพริบ หรือรูปแบบการเคลื่อนไหวบางอย่าง ซึ่งกระตุ้นอาการชักได้

 

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ผู้คนราวๆ 50 ล้านคนทั่วโลกมีภาวะลมชัก “สำหรับคนที่เป็นโรคลมชักประเภทอื่น ที่ไม่ใช่ประเภทไวต่อแสงกระตุ้น ก็อาจทำให้เกิดอาการไมเกรนหรือภาวะอื่นๆ ได้” คริสตินเสริม

 

ด้านเวโรนิกา ลูวิส—นักศึกษามหาวิทยาลัยจอร์จเมสันกล่าวว่า เธอเกิดอาการไมเกรนหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Incredibles 2 เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา และเธอก็โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วในทวิตเตอร์เช่นกัน

 

“ฉันตื่นขึ้นมาและพบว่ามีคนรีทวิตโพสต์นี้มากกว่าพัน ซึ่งฉันประหลาดใจมาก” เวโรนิกา ซึ่งมีอาการไมเกรนเนื่องจากแสงกระตุ้นในภาพยนตร์ ที่เรียกว่าโรค Chiari Malformation กล่าว

 

เธอยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รู้สึกขอบคุณป้ายเตือนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมันทำให้ผู้ชมสามารถตัดสินใจได้ว่า จะเลือกดูหนังในโรงภาพยนตร์หรือรอดูจากดีวีดีที่บ้าน

 

ผู้ที่เป็นโรคลมชักประเภทไวต่อแสงกระตุ้นสามารถลดความเสี่ยงการชัก ด้วยการดูภาพยนตร์ห่างจากหน้าจอหรือแสงไฟ ดร.ชโลโม ชินนาร์—ประธานสมาคมโรคลมชักของอเมริกา และผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคลมชักที่ศูนย์การแพทย์ Montefiore กล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมลที่ส่งไปยัง CNN ว่า

 

“คนที่คิดว่าพวกเขาอาจมีความเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์” และกล่าวเสริมไว้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อภาพยนตร์ของเด็กๆ มีลักษณะที่ทำให้เกิดอาการชักได้ ในปี 1997 แสงวูบวาบในการ์ตูนทีวีอย่าง Pokémon ก็ทำให้เด็กญี่ปุ่นกว่า 600 ราย เกิดอาการชัก อาเจียน ตาระคายเคือง และอาการอื่นๆ เช่นกัน

 

ส่วนโฆษกของมูลนิธิ—แจ็กเกอลีน อาเคอร์กล่าวว่า ในขณะที่เราชื่นชมกับความพยายามที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เราอยากขอให้ทางดิสนีย์พิกซาร์โพสต์คำเตือนเกี่ยวกับแสงแฟลชและแสงวูบวาบในภาพยนตร์ Incredibles 2 ทางดิจิทัลรวมถึงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง และโซเชียลมีเดียด้วย

 

 

อ้างอิง
CNN
พบแพทย์

Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST