READING

ทำอย่างไรให้ลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพผู้อื่น...

ทำอย่างไรให้ลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพผู้อื่น

การสอนให้ลูกรู้จักเคารพและให้เกียรติทั้งตัวเอง พ่อแม่ และคนอื่น อาจเป็นสิ่งที่ดูไกลตัวสำหรับเด็กเล็ก บางคนคิดว่ารอให้ลูกโตก่อนแล้วค่อยสอนก็ได้ แต่ที่จริงแล้ว เรื่องการเคารพไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถสอนเด็กๆ ด้วยปากเปล่าได้ แต่วิธีที่จะสอนให้เขาเข้าใจ คือพ่อแม่ต้องทำให้เด็กๆ ดูก่อน ด้วยการเคารพต่อสิทธิ ความคิด และการแสดงออกของลูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถปฏิบัติต่อลูกได้ตั้งแต่เขายังเล็ก

การให้ความเคารพต่อเด็กจะทำให้เขาเติบโตไปพร้อมกับรากฐานในการรู้ว่า การเคารพผู้อื่นมีความสำคัญ ทุกคนมีสิทธิ มีศักดิ์ศรี และเด็กๆ ควรให้ความเคารพทั้งต่อพ่อแม่ คนอื่น รวมไปถึงตัวเขาเองด้วย

มาดูกันว่าในฐานะคุณพ่อคุณแม่ คุณควรให้ความเคารพเด็กๆ ในด้านไหนกันบ้าง

1. เคารพร่างกายของลูก

respect_web_1

• การแสดงความรักไม่จำเป็นต้องใช้ร่างกายอย่างเดียว

การแสดงความรักด้วยการกอด การหอม และการสัมผัส เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทารกที่กำลังเติบโต เพราะเป็นวิธีการสื่อสารความรักให้ลูกเข้าใจ เด็กทารกจะรู้สึกอบอุ่น ต้องการการสัมผัส การปลอบโยน

แต่เมื่อลูกเริ่มสื่อสารถึงความต้องการของตัวเองได้ เขาอาจจะไม่อยากแสดงความรักด้วยการสัมผัส ดังนั้น ไม่ควรบังคับให้เขาแสดงความรัก ถ้าเขาไม่พร้อมหรือไม่ต้องการ

ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนทางเลือกอื่นๆ ให้ลูกในการเข้าสังคม ทักทาย แสดงความรักต่อคนอื่นๆ ด้วยการพูดทักทาย การไหว้ แตะมือไฮไฟฟ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องกอดหรือจูบ ถ้าเขาไม่ต้องการ ซึ่งจะทำให้ลูกเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ว่าการแสดงความรักไม่ใช่เรื่องของการบังคับกัน และยังเป็นการแสดงความเคารพต่อสิทธิในร่างกายของเด็กๆ อีกด้วย

• เมื่อพวกเขาพูดว่า “ไม่” ก็คือไม่

การกระตุ้นเด็กๆ ด้วยการแหย่ จักจี้ จับก้น แล้วเด็กๆ หัวเราะคิกคักอาจเป็นเรื่องสนุก แต่ถ้าพวกเขาขอให้คุณหยุด ก็ควรหยุดตามคำขอ เพราะอย่าลืมว่านั่นคือร่างกายของเขา ไม่ใช่ของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งมันจะทำให้เขาเข้าใจว่าร่างกายเป็นของเขา และเขาจะกล้าสื่อสารออกมา เมื่อมีใครมายุ่งกับร่างกายตัวเอง

• เคารพความเป็นส่วนตัวของพวกเขา

ร่างกายบางส่วนก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยในที่สาธารณะ แม้ว่าเขาจะยังเด็กอยู่ก็ตาม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเรื่องการเปลี่ยนเสื้อผ้าลูกในที่สาธารณะ การเข้าห้องน้ำ การอาบน้ำ โดยเฉพาะการเปิดเผยรูปโป๊เปลือยของลูกลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กเลยทีเดียว และยังอาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกได้ด้วย

เคารพความเป็นส่วนตัวของพวกเขาเท่าที่จะทำได้ สิ่งเหล่านี้จะสอนพวกเขาว่า ร่างกายของพวกเขาเป็นของตัวเอง และการดูแลร่างกายตัวเองก็เป็นความรับผิดชอบของพวกเขา

2. เคารพเสียงของลูก

respect_web_2

• ตั้งใจฟังเสียงของลูก ไม่ใช่ฟังแค่ผ่านๆ

คุณเคยไม่พอใจเมื่อคุยกับใครบางคนแต่เขากลับมองไปทางอื่น หรือทำนู่นทำนี่ระหว่างที่คุณพูดหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ชอบแล้วทำไมเรายังทำแบบนี้บ่อยๆ กับลูก

เพราะบางเรื่องที่ลูกพูดอาจดูไม่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่ แต่จริงๆ แล้วทุกเรื่องอาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา ถ้าเราปฏิเสธที่จะฟังเขาบ่อยเข้า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ลูกอาจคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเล่าอะไรให้เราฟัง แม้แต่เรื่องใหญ่ๆ เพราะเราไม่เคยตอบสนองเขาเลย

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดและฟัง เน้นการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูดของคุณ มองเข้าไปในดวงตาของลูก พยักหน้าและถามคำถามเพื่อให้ลูกแน่ใจว่า คุณกำลังฟังและพยายามทำความเข้าใจ

แต่ก็มีบางครั้งที่เด็กๆ พูดไม่หยุด และบางครั้งเขาก็พูดแทรกวงสนทนาของผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กๆ ก็ควรเคารพสิทธิของคนอื่นเช่นกัน คุณสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการตกลงกันระหว่างคุณและลูก แทนที่เขาจะเดินเข้ามาขัดกลางวงสนทนา คุณอาจสอนให้ลูกมายืนข้างๆ หรือจับมือของคุณเมื่อเขามีสิ่งที่จะพูด แล้วคุณจึงหันมาให้ความสนใจโดยเร็วเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กๆ เคารพและอดทนที่จะไม่ขัดจังหวะการสนทนา

3. เคารพอารมณ์ของลูก

respect_web_3

• ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจอารมณ์ของตัวเองโดยไม่หลีกเลี่ยง

อารมณ์ของเด็กๆ วัยหัดเดินและเด็กเล็กเปลี่ยนง่ายยิ่งกว่ารถไฟเหาะ จากที่หัวเราะเฮฮา เขาอาจเปลี่ยนเป็นร้องไห้ได้ในเวลาไม่ถึงนาที

คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยเด็กๆ หาคำอธิบาย ว่าพวกเขากำลังรู้สึกอย่างไร โกรธ อิจฉา หงุดหงิด หรือเบื่อ ซึ่งจะช่วยให้ลูกเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยไม่พยายามหลีกเลี่ยง หรือห้ามไม่ให้เขารู้สึกแบบนั้น เพราะการห้ามไม่ได้ช่วยอะไรหรอกจริงไหม

การช่วยให้ลูกเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง นอกจากจะทำให้เขารับมือกับตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเห็นอกเห็นใจ เข้าใจคนอื่นๆ และสามารถพัฒนาและเติบโตได้

4. เคารพในความแตกต่างของลูก

respect_web_4

• เด็กทุกคนไม่เหมือนใคร

บางทีคุณอาจหวังให้ลูกจะว่านอนสอนง่ายเหมือนกับลูกคนอื่น หรือเรียนดีเหมือนเด็กคนอื่น เก่งกว่าเด็กคนอื่น คุณควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบเหล่านี้ เพราะมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

เด็กๆ แต่ละคนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ไม่เหมือนกัน มันจึงไม่ยุติธรรมและไม่สุภาพที่จะเปรียบเทียบเด็กๆ ด้วยมาตรฐานที่คุณคิดว่าถูกต้อง

แทนที่จะเปรียบเทียบ ควรสนับสนุนให้ลูกเติบโตในเชิงบวก มองหาจุดแข็งแล้วส่งเสริม ในขณะเดียวกันก็พัฒนาจุดอ่อนจะดีกว่า

• หลีกเลี่ยงการตีตรา

ควรหลีกเลี่ยงการตีตราเด็ก เช่น เด็กดื้อ เด็กเกเร เด็กขี้เกียจ ซึ่งจะทำให้ลูกรับรู้และมีภาพจำว่าเขาเป็นเด็กเช่นนั้น เมื่อคุณตีตราเขาบ่อยๆ ลูกก็จะเชื่อว่าเขาเป็นคนเช่นนั้น

หากจะตำหนิลูก ควรตำหนิที่พฤติกรรม ไม่ใช่เหมารวมว่าเขาเป็นคนอย่างไร

5. เคารพศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของลูก

respect_web_5

• หลีกเลี่ยงการพูดถึงลูกในทางลบให้คนอื่นฟัง

เรื่องที่เด็กๆ ทำมักจะตลกอยู่เสมอ มันเลยเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่จะเอาพฤติกรรมขำๆ ของลูกไปเล่าต่อด้วยความเอ็นดู แต่สำหรับเจ้าตัวแล้ว บางทีมันกลับเป็นเรื่องน่าอาย จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเด็กๆ ในทางลบ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

• อย่าหัวเราะเยาะเมื่อลูกกำลังทุกข์ใจหรืออารมณ์เสียกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

บางพฤติกรรมของลูกมันอาจดูตลกมาก อย่างตอนที่ลูกไม่ยอมออกจากห้องเพราะเพิ่งตัดผมมาใหม่ แต่คุณก็ไม่ควรหัวเราะ เพราะตอนนั้นเขาทุกข์ใจจริงๆ โดยเฉพาะการอัดคลิปวิดีโอหรือถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย ยิ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของลูก เพราะเขาอาจไม่พอใจมากๆ เมื่อเห็นภาพตัวเองในตอนโต และมันอาจจะอยู่ในโซเชียลมีเดียไปตลอดก็ได้

เมื่อลูกๆ ไม่สบายใจ แม้จะเป็นเพราะเรื่องเพียงเล็กน้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรแสดงความเห็นใจ และทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณเข้าใจเขา เพราะมันแย่แค่ไหนเวลาที่คุณกำลังทุกข์ใจแล้วมีคนมาหัวเราะใส่คุณ

เมื่อเขาได้เห็นแบบอย่างการเคารพผู้อื่นจากคุณพ่อคุณแม่ และได้รับการเคารพร่างกาย จิตใจ ความคิด และอารมณ์ของเขา มันถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเขาก็จะเห็นความสำคัญของการเคารพผู้อื่นเช่นกัน

อ้างอิง
A Fine Parent

Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST