READING

เมื่อลูกเป็นไข้: คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างไรบ้าง...

เมื่อลูกเป็นไข้: คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างไรบ้าง

ถ้าลูกมีไข้ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ลูกจะยังวิ่งเล่นและกินข้าวได้ตามปกติ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบให้ยาลดไข้กับลูกทันที เพียงแค่รอดูอาการต่อไปสักระยะ ถ้าอาการลูกแย่ลง เช่น มีไข้สูงขึ้น ซึม ไม่มีเรี่ยวแรง กินอาหารไม่ได้ ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนปกติ เวลานั้นต่างหากที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ยาและพาลูกไปพบแพทย์

การใช้ยาโดยเฉพาะยาที่มีส่วนประกอบของพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่มากเกินไป อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคหอบหืด ทำลายตับ ไต และหัวใจได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้เด็กๆ ได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไป

เมื่อลูกเริ่มมีไข้ต่ำ (37.5-38 องศาเซลเซียส) สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนรีบทำก็คือป้อนยาลดไข้ แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์อลาสเทียร์ ซัตคลิฟฟ์ (Professor Alastair Sutcliffe)—ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) ได้ออกมาเตือนผ่านการให้สัมภาษณ์กับ Sunday Times ว่าพ่อแม่หลายคนมักให้ลูกกินยาพาราเซตามอลมากเกินไป

คำแนะนำในการใช้ยาลดไข้

สถาบันแห่งชาติด้านความเป็นเลิศทางคลินิก (NICE: National Institute for Clinical Excellence) ให้คำแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กได้รับยาลดไข้ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งเป็นยาลดไข้สูง หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาลดไข้ปกติ พร้อมกันหรือสลับกันไปมา ควรเลือกให้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ากินยาชนิดไหนแล้วไข้ไม่ลดค่อยเปลี่ยนชนิดยา โดยไม่สลับกลับมากินตัวเดิมอีก

เมื่อลูกเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

1. เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น และให้ลูกนอนพัก

fever_web_1

2. ใช้ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกาย ถ้าสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
หรือสัมผัสร่างกายแล้วยังร้อนจัด ควรเช็ดตัวซ้ำอีก

fever_web_2

3. ถ้าไข้ขึ้นสูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ค่อยให้ลูกกินยาลดไข้

fever_web_2

4. พยายามให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชยการเสียน้ำจากไข้สูง และดื่มน้ำระหว่างเช็ดตัวลดไข้

fever_web_4

5. ให้กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพราะเด็กที่เป็นไข้มักจะเบื่ออาหาร

fever_web_5

6. ทำความสะอาดปากและฟัน ป้องกันแผลและการติดเชื้อในปาก
และยังช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ลูกได้อีก

fever_web_6

7. ถ้าลูกมีอาการชัก ให้จับนอนตะแคงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้เสมหะ น้ำมูก และน้ำลายไหลออกมาได้สะดวก ห้ามป้อนยาเด็กในขณะที่ยังมีอาการชักเด็ดขาด หลังจากที่ลูกหยุดชักแล้ว ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจความผิดปกติอื่นๆ ที่ตามมา

fever_web_7

วิธีเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้คือการนำความร้อนออกจากร่างกาย โดยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นให้เปียกหมาดๆ แล้วเช็ดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ร่วมกับการประคบตามจุดที่เป็นจุดรวมของหลอดเลือดใหญ่ใต้ผิวหนัง เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับ เพื่อช่วยให้ถ่ายเทความร้อนจากหลอดเลือดมาสู่ผิวหนังและมาสู่ผ้าเปียก ตามลำดับ

ส่วนอุปกรณ์และวิธีการเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกต้อง มีดังนี้

• อ่างน้ำ 1 ใบ ใส่น้ำอุ่นประมาณ 2 ลิตร (น้ำควรจะอุ่นกว่าอุณหภูมิห้อง แต่เย็นกว่าความร้อนร่างกายเด็ก)

• ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 3 ผืน

• ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน

• ปรอทวัดไข้

 

วิธีเช็ดตัว

1. ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กผืนแรกชุบน้ำ บิดให้หมาด เช็ดบริเวณหน้าและพักผ้าไว้บริเวณซอกคอและหลังหู

2. ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กผืนที่ 2 และ 3 เช็ดบริเวณแขน โดยเริ่มจากปลายแขน เช็ดเข้าหาลำตัวและพักผ้าไว้บริเวณรักแร้ทั้งสองข้าง

3. เปลี่ยนผ้าผืนแรกที่พักไว้บริเวณซอกคอ ชุบน้ำใหม่และบิดหมาดอีกครั้ง เช็ดบริเวณหน้าผากและศีรษะ ก่อนจะพักผ้าไว้บริเวณหน้าผาก

4. เปลี่ยนผ้าผืนที่ 2 และ 3 บริเวณรักแร้ ชุบน้ำใหม่และบิดหมาดอีกครั้ง เช็ดบริเวณลำตัว พักผ้าไว้บริเวณหัวใจ และขาหนีบ

5. เปลี่ยนผ้าบริเวณหน้าผากและขาหนีบ ชุบน้ำใหม่และบิดหมาดอีกครั้ง เช็ดขา โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา และพักผ้าไว้บริเวณข้อเข่าและขาหนีบทั้งสองข้าง

6. หลังจากนั้นให้พลิกตะแคงตัวเด็ก ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด เช็ดตัวด้านหลังตั้งแต่คอจนถึงก้นกบ

 

การเช็ดตัวสามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง หากน้ำที่เตรียมไว้เริ่มเย็นลง ให้เปลี่ยนน้ำอุ่นใหม่ เช็ดเหมือนเดิมจนครบ 15-20 นาที จนรู้สึกว่าอุณหภูมิร่างกายของลูกเย็นลง ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่เช็ดตัวลูกให้แห้งและสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลังเช็ดตัวเสร็จ 30 นาที วัดอุณหภูมิซ้ำด้วยปรอทวัดไข้ ถ้าไข้กลับขึ้นสูง ค่อยเช็ดตัวซ้ำอีกครั้ง


Fon Chalisa

คุณแม่ของเด็กชายวัย 3 ขวบ ที่กำลังคิดว่าตัวเองมีพลังวิเศษ

RELATED POST