READING

แม่เป็นครูคนแรกของลูก—7 เทคนิคที่คุณแม่จะช่วยให้ลู...

แม่เป็นครูคนแรกของลูก—7 เทคนิคที่คุณแม่จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้

การเรียนรู้ของลูกน้อยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ เพราะฉะนั้น เมื่อลูกลืมตาออกมาดูโลกแล้ว คนที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้โลกใบนี้ได้ดีกว่าใคร ก็คงจะเป็นคนอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คุณแม่ที่ดูแล เลี้ยงดู และอยู่กับลูกตลอดเวลา

 

คุณแม่บางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่า ตัวคุณเองนั่นแหละ ที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้และมีพัฒนาการได้ดียิ่งกว่าใคร

1. ร้องเพลง ร้องเพลง และร้องเพลง

01.singasong

รู้หรือไม่ว่าสำหรับลูกแล้ว เสียงของคุณแม่ถือเป็นเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้งที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น การใช้เสียงของคุณสอนลูกน้อยจึงไม่ใช่เรื่องยาก คุณแม่เพียงแค่ใช้ทำนองเพลงที่ง่ายและคุ้นหู เช่น ‘ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า…’ แล้วก็แปลงเนื้อเพลงใส่คำพูดที่คุณอยากจะพูด หรือทำให้ลูกจดจำได้ลงไป ที่สำคัญคือยิ่งตลกมากเท่าไรก็ยิ่งดี!

คุณแม่สามารถใช้วิธีร้องเพลงได้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตอนแต่งตัว ตอนอาบน้ำ ตอนกินข้าว ตอนแปรงฟัน เพราะเพลงจะช่วยให้เด็กรู้สึกสนุก เข้าใจ และสามารถจดจำเรื่องราวนั้นได้ง่ายขึ้น

และถ้าคราวหน้าคุณแม่อยากร้องเพลงและทำกิจกรรมกับลูก ลองใส่ชื่อลูกของคุณลงไปในเนื้อเพลงนะคะ แล้วคุณแม่จะได้เห็นลูกยิ้มหน้าบานเลยเชียวล่ะ

2. คุณมีหน้าที่แค่ช่วยเท่านั้น

02.advice

แทนที่จะคอยควบคุมและออกคำสั่งกับลูกตลอดเวลา ให้คุณลองคิดซะว่าคุณเป็นเพียงคนที่คอยแนะนำลูกเท่านั้น ปล่อยให้ลูกได้เป็นฝ่ายรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตัวเอง เช่น ปล่อยให้ลูกเลือกว่าจะเล่นของเล่นชิ้นไหน และคุณก็แค่เพียงอธิบายรายละเอียดเล็กน้อย ว่าของเล่นชิ้นนั้นเรียกว่าอะไร สีอะไร รูปทรงนั้นเรียกว่าอย่างไร หลังจากนั้นคุณก็ปล่อยให้ลูกทดลองเล่นด้วยตัวเอง เด็กๆ จะมีความสุขกับการได้เลือกสิ่งที่ตัวเองชอบ มากกว่าการเล่นสิ่งที่คุณแม่บอกให้เล่นสิ่งนี้เท่านั้น

และเชื่อเถอะว่า ลูกจะอยากชวนให้คุณเข้ามาเล่นสนุกด้วยกันกับเขาแน่นอน

3. คุณคือของเล่นที่เจ๋งที่สุดของลูก

03.youaretoy

คุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องมานั่งเครียดและเสียเวลาควานหาของเล่น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกก็ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วลูกต้องการคุณนั่นแหละ คุณแค่นำสิ่งของที่มีในบ้านมาประยุกต์เล่นกับลูก อาจจะเป็นสิ่งของง่ายๆ ที่คุณสามารถพูดเกี่ยวกับสี รูปทรง ขนาด ผิวสัมผัส น้ำหนักได้ และก็อย่าลืมพูดถึงหน้าที่ของมันด้วย เช่น “หนูดูลูกบอลสีแดงนั่นสิ มันกลิ้งไปมาได้ เดี๋ยวแม่จะกลิ้งลูกบอลไปหาลูก แล้วหนูก็กลิ้งมันกลับมาให้แม่นะคะ”

4. ทำบันทึกการเรียนรู้ในสมุดหรือปฏิทิน

04.note

คุณแม่ควรจดบันทึกกิจกรรมที่ทำกับลูกและคุณพยายามให้ลูกเรียนรู้เรื่องอะไรลงสมุดบันทึกหรือปฏิทินทุกวัน เพื่อที่จะวางแผนและเห็นผลลัพธ์ของแผนการเรียนรู้ที่คุณใช้กับลูก ว่าได้ผลหรือไม่ อย่างไร

5. มีวาทศิลป์ในการกระตุ้นลูก

05.speak

สิ่งที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเด็กคือคำพูดยกย่องที่มีความเฉพาะเจาะจง ยกตัวอย่าง เช่น แทนที่คุณจะชมลูกว่าเก่งมาก คุณอาจจะพูดว่า “แม่ชอบที่ลูกเรียงรองเท้าได้เป็นระเบียบเรียบร้อย” การยกย่องที่ชัดเจนจะทำให้ลูกเข้าใจว่าการทำอะไรเป็นเรื่องดี และแม่ภูมิใจในตัวเขาเพราะอะไร

6. อ่านหนังสือทุกวัน

06.read

คุณควรจะสร้างนิสัยรักการอ่านติดตัวลูกไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการอ่านเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านภาษา การอ่าน และการเขียน คุณแม่สามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ในท้อง เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกค่อยๆ คุ้นเคยกับการสื่อสาร จดจำน้ำเสียงของคุณแม่ และเรียนรู้ภาษาที่ต้องใช้ในอนาคต

7. การอ่านเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

07.start

ตอนที่คุณอ่านนิทานให้ลูกฟัง คุณอาจจะชี้ให้ลูกเห็นและรู้จักสิ่งต่างๆ ในหนังสือ แนะนำคำศัพท์ใหม่ๆ และลองตั้งคำถามกับลูก อาจจะเริ่มจากคำถามง่ายๆ เช่น สีอะไร รูปทรงเป็นอย่างไร ไปจนถึงคำถามที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น “ถ้าคุณกระต่ายเอาหมวกมาคืนคุณหมี หนูคิดว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร” เป็นต้น

คุณแม่สามารถถามคำถามลูกได้ แม้ลูกจะอยู่ในวัยที่ยังพูดไม่ได้เลยก็ตาม เช่น “หนูเห็นลูกโป่งกี่ลูกคะ” จากนั้นคุณแม่ก็นับลูกโป่งและตอบเองว่า “หนึ่ง สอง สาม อ๋อ… มีลูกโป่งสามลูก” ดูเผินๆ อาจจะเหมือนว่าคุณพูดกับตัวเอง แต่จริงๆ แล้วคุณได้กระตุ้นลูกของคุณให้เข้าใจถึงคอนเซ็ปต์ของการนับสิ่งของต่างหาก

อ้างอิง
Motherly

Fon Chalisa

คุณแม่ของเด็กชายวัย 3 ขวบ ที่กำลังคิดว่าตัวเองมีพลังวิเศษ

RELATED POST