READING

ถ้าพ่อแม่ต้องแยกทางกัน จะบอกลูกอย่างไร #ครอบครัว20...

ถ้าพ่อแม่ต้องแยกทางกัน จะบอกลูกอย่างไร #ครอบครัว2018

สถิติการจดทะเบียนสมรสและหย่าร้าง จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า

1. ในปี พ.ศ. 2559 มีคู่รักจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย 308,914 คู่ และมีการจดทะเบียนหย่าร้าง 118,589 คู่ (ที่มา: ระบบสถิติทางการทะเบียน http://stat.bora.dopa.go.th)
2. ในปี พ.ศ. 2560 มีคู่รักจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย 298,164 คู่ และมีการจดทะเบียนหย่าร้าง 121,617 คู่ (ที่มา: ระบบสถิติทางการทะเบียน http://stat.bora.dopa.go.th)

ข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2559 พบว่า มีสถิติการจดทะเบียนสมรสน้อยลง ในขณะที่การจดทะเบียนหย่าร้างในปี พ.ศ. 2559 สูงขึ้นจากปี พ.ศ. 2549 ถึง 33% (ที่มา: https://themomentum.co/momentum-feature-divorce-not-fail)

ต้องยอมรับว่าคำว่า ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว’ และ ‘คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว จากสถิติการจดทะเบียนหย่าร้างของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2549-2559 คู่สมรสในประเทศไทยมีแนวโน้มการหย่าร้างมากขึ้น

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้หลายครอบครัวหย่าร้างกันมากขึ้นและง่ายดายขึ้น อาจเกิดจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน รูปแบบครอบครัวที่สามีภรรยาสามารถทำงานหาเงินและดูแลตัวเองได้

สังคมเริ่มเข้าใจและมองเห็นว่าการหย่าร้างไม่ได้แสดงถึงความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว พ่อแม่หลายคนยังทำหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อลูกได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

แฮชแท็กละคร #เมีย2018 ฮอตฮิตติดเทรนด์ทวิตเตอร์ และเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์มาหลายสัปดาห์ แต่นอกจากความเข้มข้นเรื่องการแย่งชิงความรักระหว่างหนุ่มสาวแล้ว ยังมีตัวละครเล็กๆ ที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าใครในเรื่อง

หากมองชีวิตครอบครัวเป็นละครสักเรื่องที่มีพ่อและแม่เป็นนักแสดงนำ หรือจะเรียกพระเอกนางเอกก็ว่าได้ ลูกก็คือตัวละครเล็กๆ ที่สำคัญที่สุดในละครเรื่องนั้น

ในละคร #เมีย2018 ตัวละครที่รับบทเป็นจิตแพทย์ ให้คำปรึกษากับคนเป็นแม่ว่า “สามีภรรยาที่มีลูก เวลาที่ตัดสินใจเลิกกันก็คิดว่ามันเป็นปัญหาของคนสองคน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มีลูกกี่คน ก็ต้องบวกเข้าไปด้วย เวลาหย่ากัน พ่อกับแม่ตกลงกันเอง ทำเพื่อความสบายใจของตัวเอง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงว่า มีลูกอยู่ในโจทย์นั้นด้วย”

กลับมามองภาพ #ครอบครัว2018 ถ้าพ่อกับแม่จำเป็นต้องหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ ทั้งสองคนควรตกลงและทำความเข้าใจกับลูกอย่างไร

1. พูดความจริงกับลูก

family2018_web_1

หมายถึงพูดความจริงถึงสถานการณ์ภายในบ้านที่เปลี่ยนไป เช่น บอกให้ลูกเข้าใจว่าพ่อกับแม่กำลังจะแยกกันอยู่ พ่ออยู่ที่ไหน แม่อยู่ที่ไหน และลูกจะได้อยู่กับใคร

แต่ไม่ควรพูดถึงข้อเสียหรือความผิดของอีกฝ่ายให้ลูกฟัง เช่น “พ่อไม่รักเราแล้ว” และการหลอกให้ลูกเข้าใจเป็นอื่น เช่น “พ่องานเยอะ พ่อต้องไปทำงาน” ก็ไม่ช่วยให้ลูกเข้าใจได้ในระยะยาวเช่นกัน

2. อธิบายว่าการที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของลูก

family2018_web_2

หากพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือไม่สามารถตกลงเรื่องการดูแลลูกได้ ลูกก็มักจะนึกโทษว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง พ่อกับแม่ต้องพยายามทำให้ลูกเข้าใจว่า เหตุผลที่พวกคุณอยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของลูกแม้แต่น้อย

3. อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก

family2018_web_3

ครอบครัวที่ทะเลาะและลงไม้ลงมือกันต่อหน้าลูก จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะต้องอยู่กับใครก็ตาม

4. แสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อกับแม่ยังรักลูก และพร้อมจะช่วยกันดูแลลูกเหมือนเดิม อาจจะด้วยวิธีการที่ต่างออกไปบ้างเล็กน้อย

family2018_web_4

คุณควรทำให้ลูกมั่นใจว่า ถึงพ่อกับแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ทั้งสองคนยังเป็นพ่อคนเดิมและแม่คนเดิมของเขา ตัวเขาเองก็ยังเป็นลูกที่น่ารักของคุณทั้งคู่ และไม่ควรกีดกันลูกไม่ให้เจออีกฝ่าย

5. ให้ลูกได้ถามสิ่งที่สงสัย และเข้าใจความรู้สึกที่ลูกแสดงออกมา

family2018_web_5

คุณควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ถามสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ เช่น ทำไมพ่อไม่กลับบ้าน ทำไมแม่ไม่พูดกับพ่อ และค่อยๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจเท่าที่จำเป็น อย่าปฏิเสธที่จะตอบ หรือทำให้ลูกเข้าใจว่าเขาไม่มีสิทธิ์เข้าใจปัญหา

และคุณจำเป็นต้องยอมรับและหาทางรับมือกับการแสดงความรู้สึกของลูก เช่น ลูกอาจร้องไห้เสียใจ หรือแสดงอาการต่อต้านอื่นๆ ออกมา เพราะเด็กก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

6. วางแผนการใช้ชีวิตและอธิบายให้ลูกเข้าใจเท่าที่จำเป็น

family2018_web_6

เตรียมความพร้อมเรื่องความเป็นอยู่ และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า พ่อแม่จะช่วยกันดูแลลูกอย่างไร เช่น คุณพ่ออาจจะมารับลูกไปเที่ยวในวันหยุด และจะพากลับมาส่งคุณแม่เหมือนเดิม หรือแม่จะไปรับที่โรงเรียนแทนคุณพ่อ

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณควรบอกให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว การปิดบังหรือโกหกอาจทำให้เขารู้สึกดีได้เพียงไม่นาน แต่หากสถานการณ์ระหว่างพ่อกับแม่ยังไม่ดีขึ้น วันหนึ่งลูกก็ต้องรู้ความจริง

และหากไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้รับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ย่อมยากที่ลูกจะเข้าใจในวันที่พบว่า พ่อแม่ไม่มีทางกลับมาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม

 

อ้างอิง
รักลูก
เพจหมอจริง เข้าใจวัยรุ่น
Amarin Baby & Kids

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST