READING

คุยกับแพท—พณิตา อาโอกิ การเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น กั...

คุยกับแพท—พณิตา อาโอกิ การเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น กับเป้าหมายอ่านหนังสือให้ลูกฟังครบหนึ่งหมื่นเล่มก่อนสามขวบ

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าหนังสือคู่มือการเลี้ยงลูกที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น ได้รับความนิยมในกลุ่มคุณแม่คนไทยเป็นอย่างมาก จนแอบนึกสงสัยว่า การเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่นนั้นมีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ

 

โชคดีที่ M.O.M มีโอกาสได้คุยกับ คุณแพท—พณิตา ซื่อสุวรรณ หรือตอนนี้ต้องเรียกว่า คุณแม่แพท—พณิตา อาโอกิ เพราะคุณแพทย้ายไปสร้างครอบครัวกับสามีชาวญี่ปุ่น จนกระทั่งมีน้องริโตะ เด็กชายวัยใกล้หนึ่งขวบ ออกมาเป็นทายาทลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นสุดน่ารัก

เราชวนคุณแม่แพทคุยถึงเรื่องราวตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ การคลอด ไปจนถึงการเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น ประเทศที่มีทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตเฉพาะตัว

เพื่อคลายข้อสงสัยที่ว่า คุณแม่ญี่ปุ่นเลี้ยงลูกกันอย่างไร และคุณแม่ไทยในประเทศญี่ปุ่นอย่างคุณแพท พบเห็นอะไรจากการเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่นเหล่านั้นบ้าง

คุณแพทเล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจไปสร้างครอบครัวที่ประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย แล้วเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น จึงได้รู้จักกับสามีผ่านการแนะนำจากเพื่อนคนไทย และเป็นเพราะทั้งคู่เรียนจบด้านสถาปัตย์มาเหมือนกัน จึงทำให้พูดคุยกันถูกคอ และตัดสินใจคบหากันในที่สุด

“ก็ Skype คุยกันทุกวัน เขาก็มาเมืองไทยปีละสองครั้ง แพทก็บินไปหาเขาปีละสองครั้ง ก็นับว่าเจอกันบ่อยเหมือนกัน ปีใหม่ สงกรานต์อะไรก็ไป ตลอดช่วงเวลาประมาณสองปี หลังจากนั้น ก็เริ่มจะมีเงินไม่พอค่าตั๋วเครื่องบินแล้วค่ะ แฟนก็เลยบอกว่า ไม่ต้องบินไปมาแล้ว แต่งงานเลยแล้วกัน”

เรื่องราวเริ่มจากตรงนั้น…

พอตกลงว่าจะแต่งงานกัน การอยู่คนละประเทศก็ต้องมีการวางแผนครอบครัว

เราก็คุยกันค่ะ คิดกันว่าหลังแต่งงาน เขาก็อยากลองมาอยู่เมืองไทย แต่พอลองหาข้อมูลแล้ว รายได้หรือค่าตอบแทนบ้านเราน้อยกว่าที่ญี่ปุ่น เขาก็ทำใจไม่ได้ กลัวว่าตัวเองจะดูแลครอบครัวไม่ไหว ก็เลยตกลงกันใหม่ ว่าเราจะเป็นฝ่ายย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นดีกว่า

หลังจากแต่งงานไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น มีอะไรที่เหมือนกัน หรือมีอะไรที่ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ที่เหมือนกันก็คงจะเป็นวัฒนธรรมเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน เรื่องมารยาทก็คล้ายกัน คือคนญี่ปุ่นก็เหมือนกุลสตรีไทยที่เรียบร้อยหน่อย แต่ที่ต่างกันเลยก็คือเรื่องระเบียบวินัย สามีแพทจะเป๊ะมากเรื่องเวลา เรื่องการใช้เงิน ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ตอนอยู่เมืองไทย เราใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย แต่พอแต่งงานมาอยู่ญี่ปุ่นแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวเยอะ เช่น เมื่อก่อนเราซื้อของไม่ค่อยดูราคา แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็เริ่มต้องหัดดูราคา คำนวณเงิน แล้วก็จดบันทึกว่าแต่ละเดือนเรามีบัดเจ็ตเท่าไร

“ตั้งแต่ท้อง แพทไม่เคยต้องยืนบนรถไฟเลย
ทุกครั้งจะมีคนลุกให้เรานั่งเสมอ”

หลังจากปรับตัวแล้วก็วางแผนมีลูก

แพทใช้วิธีทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้ว ซึ่งที่ญี่ปุ่นดีมาก คือถ้าทำเด็กหลอดแก้วแล้วสำเร็จ รัฐบาลจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย

แต่ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จ… แพทไม่แน่ใจ เพราะโชคดีมากที่ทำครั้งเดียวแล้วติดเลย (หัวเราะ)

สวัสดิการสำหรับคนท้องและเด็ก

พอรู้ว่าท้องและมีการตรวจว่าเด็กหัวใจเต้นแล้ว แพทก็ต้องไปที่อำเภอ ไปลงทะเบียนเพื่อรับสมุดบันทึกการตั้งครรภ์ แล้วก็พวงกุญแจกลมๆ เป็นเหมือนแท็กเอาไว้ห้อยติดกระเป๋า เวลาเราไปไหนมาไหน คนญี่ปุ่นจะสังเกตที่แท็กนี้

ตั้งแต่ท้อง แพทไม่เคยต้องยืนบนรถไฟเลย ทุกครั้งจะมีคนลุกให้เรานั่งเสมอ

ส่วนสวัสดิการของรัฐที่นี่คือมีการจ่ายค่าคลอดให้ แพทจำได้ว่าเราจ่ายเองแค่ประมาณ 30% ของค่าคลอดทั้งหมด คือเขาจะมีการคำนวณอะไรสักอย่างที่แพทไม่แน่ใจ แต่ที่ญี่ปุ่นมีเงินประมาณสองหมื่นบาทก็คลอดลูกได้แล้ว จำได้ว่าเคยจ่ายค่าตรวจครรภ์ถูกสุดประมาณหกสิบบาท บางอย่างฟรีเลยก็มี

พอลูกคลอดแล้ว เด็กก็จะมีสวัสดิการ ถ้าเจ็บป่วย พวกค่ารักษาพยาบาลก็ฟรี ฉีดวัคซีนก็ฟรี ซึ่งเป็นสวัสดิการปกติของที่นี่

“เหมือนเป็นที่รู้กันว่า ถ้าท้องเราต้องคลอดเอง ไม่มีการเลือกว่าจะผ่าคลอดไหม จะผ่าคลอดได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขที่ต้องผ่าจริงๆ เท่านั้น”

เทคโนโลยีการคลอดของประเทศญี่ปุ่น

คือญี่ปุ่นเหมือนจะเป็นประเทศที่เจริญเรื่องเทคโนโลยีเรื่องการแพทย์ก็จริง แต่เรื่องตั้งครรภ์ เรื่องคลอด ที่นี่ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ อย่างตอนแรกแพทเข้าใจว่าคนท้อง คุณหมอจะต้องให้กินโฟเลตเสริม แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย เขาไม่ได้ให้กินอะไรเป็นพิเศษ คุณหมอแค่บอกให้กินอาหารที่มีประโยชน์ แต่ต้องงดพวกของดิบหรือปลาดิบที่คนท้องจะไม่กินกัน

แล้วที่ญี่ปุ่นจะเน้นให้คลอดตามธรรมชาติ เหมือนเป็นที่รู้กันว่า ถ้าท้องเราต้องคลอดเอง ไม่มีการเลือกว่าจะผ่าคลอดไหม จะผ่าคลอดได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขที่ต้องผ่าจริงๆ เท่านั้น

แพทก็เคยถามคุณหมอนะ ว่าทำไมต้องคลอดเอง คุณหมอก็บอกว่ามันเป็นคัลเจอร์ คุณแม่ญี่ปุ่นทุกคนรู้อยู่แล้ว ว่าการคลอดลูกจะต้องเจ็บ แต่เขาก็จะภูมิใจกับความเจ็บปวดนั้น เราก็เลยโอเค งั้นเราคลอดธรรมชาติก็ได้ แต่ขอบล็อกหลังเหมือนผ่าตัดได้ไหม แต่คิดไปคิดมา เออ เราลองสักตั้งก็ได้ คลอดธรรมชาติเหมือนที่คนที่นี่เขาคลอดกันก็ได้ เพราะคนที่นี่เขาจะคลอดเองเหมือนแม่นาก (หัวเราะ) คือไม่มีการใช้ยา ไม่บล็อกหลัง แต่ว่าเขาก็มีเทคโนโลยีช่วยนะคะ เช่น ตอนที่เราเบ่ง เขาจะมีเครื่องตรวจวัดหัวใจตลอดเวลา คือแม่ต้องปวดท้องเอง เบ่งเองก็จริง แต่ก็จะมีเซฟตี้ทุกอย่าง

อย่างแพทต้องใช้ยาเร่งคลอด เพราะว่าปากมดลูกไม่เปิด คุณหมอก็ไม่ยอมผ่า แล้วน้ำคร่ำก็ไม่เดิน คุณหมอก็ให้ใช้ยาเร่งคลอดอยู่สามวัน น้องก็ไม่ยอมออกมา เราก็ปวดท้องทรมานอยู่อย่างนั้น พยายามถามคุณหมอว่า ไม่ผ่าเหรอคะ หมอก็บอกว่าไม่เป็นไร เรายังคลอดเองได้ แล้วหมอกับพยาบาลเขาก็มาอยู่ให้กำลังใจเราเป็นทีมตลอดสามวัน จนน้องคลอด

คนญี่ปุ่นมีทัศนคติไม่ดีต่อการผ่าคลอดหรือเปล่า

เขาก็ไม่ได้เหยียดการผ่าคลอดนะคะ เหมือนมองว่าเป็นเรื่องน่าเห็นใจมากกว่า เพราะคุณแม่ญี่ปุ่นส่วนมากจะกลัวการผ่าคลอดมากกว่าคลอดธรรมชาติ เขาจะกังวลว่าถ้าผ่าจะต้องมีการเจ็บแผลหลังคลอดนะ จะฟื้นตัวช้ากว่านะ

แต่สุดท้าย ไม่ว่าวิธีไหน ถ้าแม่และลูกปลอดภัยเขาก็ถือว่าเพอร์เฟกต์

หลังคลอดแล้ว ถ้าคุณแม่ทำงานประจำ จะมีสิทธิ์ลาคลอดอย่างไร

ตอนนี้แพทไม่ได้ทำงานแล้ว แต่เท่าที่ทราบ พออายุครรภ์แปดเดือนก็เริ่มลาคลอดได้แล้ว แล้วหลังคลอดก็ลางานได้อีก 1 ปี โดยที่ยังได้เงินเดือนตามปกติ

ที่ญี่ปุ่นเขาจะไม่มีการจ้างพี่เลี้ยงหรือแม่บ้านมาเลี้ยงลูก ถ้าอยู่ที่นี่แล้วมีพี่เลี้ยงอุ้มลูกเดินตามไปไหนมาไหน แพทรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ทำแล้วเขิน แพทยังไม่เคยเจอคุณแม่ญี่ปุ่นบ้านไหนมีพี่เลี้ยงเด็กเลยสักคน

แล้วสิทธิ์การลาของสามี

จริงๆ เขาก็ให้สามีลาได้ แต่ว่าที่บริษัทสามีไม่มีใครเขาลากันเลย เหมือนผู้ชายเขายกหน้าที่เลี้ยงลูกให้เป็นเรื่องของคุณแม่อยู่แล้ว ก็เลยไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้ว เขาให้สามีลางานช่วงภรรยาคลอดลูกได้กี่วัน เพราะไม่เห็นมีใครลาเลย (หัวเราะ)

“คิดว่าหลายอย่างมันอยู่ในหนังสือนิทานที่แม่อ่านให้ลูกฟัง ส่วนวินัยและมารยาท คือถ้าคนรอบข้างมีมารยาท มีระเบียบ เด็กก็เรียนรู้จากตรงนั้น”

การเลี้ยงลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น

คิดว่าที่ญี่ปุ่นเน้นเรื่องการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเยอะมาก แล้วก็จะมีอีเวนต์เกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกเดือน แล้วเขาก็จะมีสังคมของคุณแม่ คือเป็นสังคมของแม่ที่มีลูกอายุใกล้ๆ กัน เวลาไปไหนก็จะไปกันเป็นกลุ่ม

ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นก็เลี้ยงลูกนอกบ้าน เพราะบ้านมันเล็ก (หัวเราะ) แพทก็จะเห็นเขาป้อนข้าวลูกนอกบ้าน ให้นมนอกบ้าน อาจเพราะสภาพอากาศดีด้วย ก็เลยเน้นเรื่องการพาลูกออกมาสูดอากาศ คือหนังสือเลี้ยงลูกที่ญี่ปุ่นเขาจะมีบอกเลยว่า ถ้าเป็นไปได้ หลังตื่นนอนหรือก่อนสิบโมง ให้พาลูกออกไปเดินเล่น เพื่อรับแสงแดดนอกบ้าน

แล้วคุณแม่ญี่ปุ่นก็ใจดี แพทยังไม่เคยเห็นใครที่ดุลูกด้วยการขึ้นเสียงแว้ดเลย เรื่องตีลูกก็ไม่มีเลยนะ แพทเคยถามพยาบาลว่าตีลูกเบาๆ ได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่ได้ ถ้าลูกทำไม่ดี เช่น ลูกไปดึงผมคนอื่น เขาจะให้จับมือลูกออกมา หรือดีที่สุดก็คือดูลูกให้ใกล้ชิด ถ้าเห็นว่าลูกจะดึงผมคนอื่น ให้คว้ามือเขาไว้ก่อน นี่คือวิธีการเลี้ยงช่วงแรกเกิดถึงขวบนึงนะ แต่ถ้าโตกว่านั้น ก็คงจะมีวิธีการพูดการสอนอีกแบบ แต่ไม่เคยเห็นการตะโกนดุด่าหรือตีลูกต่อหน้าสาธารณะ หรือทำให้ลูกอายเลย

ระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นเกิดจากการเลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบหรือเปล่า

จริงๆ คนญี่ปุ่นเลี้ยงลูกแบบให้อิสระมากกว่า ช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่า แพทเห็นเด็กญี่ปุ่น ป.1 เขาก็นั่งรถไฟไปโรงเรียนเองแล้ว

และคิดว่าหลายอย่างมันอยู่ในหนังสือนิทานที่แม่อ่านให้ลูกฟัง ส่วนวินัยและมารยาท คือถ้าคนรอบข้างมีมารยาท มีระเบียบ เด็กก็เรียนรู้จากตรงนั้น เช่น ในรถไฟ ถ้าทุกคนเงียบ เด็กก็อาจรู้สึกว่ามันไม่ควรมีเสียงเขาดังขึ้นมาคนเดียว แพทว่ามันเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมแล้วก็การสอนด้วย

“มันเป็นเป้าหมายของคนญี่ปุ่นนะ ว่าภายในอายุสามขวบ ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังครบหนึ่งหมื่นเล่ม”

ส่วนตัวคุณแพทเลี้ยงลูกสไตล์ไหน

ก็คงสไตล์ญี่ปุ่น เพราะแพทก็อ่านหนังสือเลี้ยงลูกของญี่ปุ่น แล้วก็มีที่ปรึกษาเป็นคุณครูญี่ปุ่น เขาก็จะเน้นการเลี้ยงลูกยังไงให้มีความสุข เลี้ยงลูกยังไงให้ลูกเชื่อฟัง เขาบอกว่าให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน วันละสิบเล่มขึ้นไป คือมันเป็นเป้าหมายของคนญี่ปุ่นนะ ว่าภายในอายุสามขวบ ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังครบหนึ่งหมื่นเล่ม

เทคนิคของแพทเองก็คือ ทำแสตมป์ เวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังหนึ่งรอบก็จะได้หนึ่งแสตมป์ วันนึงแพทตั้งใจทำให้ได้อย่างน้อย 10 แสตมป์ ตอนนี้ริโตะ 11 เดือน แพททำไปได้ 2,000 แสตมป์แล้ว

ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่า ริโตะเขาจะเป็นเด็กที่อยู่กับหนังสือได้ ทุกเช้าตื่นมาเขาจะไปที่ชั้นหนังสือก่อน เอาหนังสือมาเปิดดู บางทีก็เอามากินบ้าง ฉีกบ้าง เราก็ปล่อยเขา (หัวเราะ)

อีกอย่างที่แพททำคือจะเอาหนังสือไว้ในทุกที่ที่เขาอยู่ จะมีหนังสือใส่กล่องไว้ตามที่ต่างๆ เหมือนเขากินนอนอยู่กับหนังสือ ส่วนของเล่นก็จะเก็บไว้ในถัง ถ้าเขาอยากเล่น ก็ต้องใช้ความพยายามไปเอาออกมาหน่อย

สภาพแวดล้อมหรือสังคมที่ญี่ปุ่น เอื้อต่อการเลี้ยงเด็กมากกว่าเมืองไทยหรือเปล่า

ตอนอยู่เมืองไทย ก่อนท้อง แพทไม่เคยเห็นโลกของเด็กเลย ไม่รู้เลยว่าเด็กจะต้องไปเล่นที่ไหน แต่ที่ฟูกุโอกะ เดินออกจากบ้านสามนาที ก็เจอห้องสมุดเด็กที่เข้าไปใช้ได้ฟรี เดินไปอีกสิบนาทีก็เป็น Children Center คือเป็นตึกสามชั้น ที่เป็นพื้นที่สำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ข้างในจะมีทั้งห้องซ้อมดนตรี โต๊ะปิงปอง มีของเล่น มีกิจกรรม ชั้นบนสุดมีลานสำหรับปั่นจักรยาน มีอีเวนต์สำหรับเด็ก

ข้อดีอีกอย่างคือแพทว่า ที่ญี่ปุ่นมีหนังสือเด็กเยอะมาก ร้านหนังสือเยอะมาก ไปไหนก็หาซื้อหนังสือเด็กได้ พวกร้านของเล่นก็มีเยอะ หรือเป็นเพราะแพทอยู่ฟูกุโอกะก็ไม่รู้ แต่เราคิดว่ามันเป็นเมืองที่เหมาะกับการเลี้ยงลูกมาก

“อ่านเจอในนิตยสารเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก เขาบอกว่าในอนาคต สิ่งที่เกี่ยวกับเชิงเทคนิค ต่อไปเราจะมีหุ่นยนต์มาทำแทน เขาก็บอกว่าเราควรเน้นให้ลูกเรียนรู้ในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ เช่น ครีเอทีฟ การวางแผน มนุษยสัมพันธ์ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่น และก็ความสามารถในการเข้าใจตัวเอง แม่ที่คิดถึงแต่เรื่อง IQ เป็นแม่ที่ล้าหลังไปแล้ว”

แพลนอนาคตของน้องริโตะ

ไม่ได้วางแผนเลย แพทคิดว่าอนาคตของใครก็เป็นของคนนั้น แม่ก็มีหน้าที่คอยสนับสนุน สังเกตว่าลูกชอบอะไร ถนัดอะไร แล้วก็คอยหยิบยื่นโอกาสให้เขา

แพทจะไม่กำหนดว่าโตขึ้นลูกต้องเป็นอะไร แต่อยากให้เขารู้ว่าเขาชอบอะไรมากกว่า แล้วก็เลี้ยงให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง ให้เขาอยู่กับสังคมได้ แพทเพิ่งอ่านเจอในนิตยสารเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก เขาบอกว่าในอนาคต สิ่งที่เกี่ยวกับเชิงเทคนิค ต่อไปเราจะมีหุ่นยนต์มาทำแทนแล้ว เขาก็บอกว่าเราควรเน้นให้ลูกเรียนรู้ในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ เช่น เรื่องครีเอทีฟ การวางแผน มนุษยสัมพันธ์ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่น และก็ความสามารถในการเข้าใจตัวเอง แม่ที่คิดถึงแต่เรื่อง IQ เป็นแม่ที่ล้าหลังไปแล้ว

แล้วแพลนระยะสั้น เช่น การเลือกโรงเรียนอนุบาล

เท่าที่สังเกต ริโตะเขาเป็นเด็กมีพละกำลัง ชอบปีนป่าย ก็เลยคิดว่าจะให้เข้าโรงเรียนที่ไม่ต้องเรียนมาก ที่นี่โรงเรียนอนุบาลแต่ละที่จะมีคอนเซ็ปต์แตกต่างกัน เช่น โรงเรียนนี้เน้นการออกกำลัง โรงเรียนนี้เน้นเรื่องการเรียน แต่ของแพทคิดว่าริโตะน่าจะเหมาะกับโรงเรียนที่ได้เล่น ได้ออกกำลังกายเยอะๆ

ส่วนแพลนที่ใกล้กว่านั้น คือคิดว่าปีหน้าอาจจะเริ่มพาเขาไปฝากเนอร์เซอรีสัปดาห์ละสองวัน เพราะอยากให้เขาได้เจอสังคมอื่นๆ บ้าง คือแพทอ่านเจอมาว่า มันไม่เกี่ยวกับว่าเราจะต้องมีเวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด แต่มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของการใช้เวลา เช่น ตอนที่อยู่ด้วยกันเราได้สบตาลูกหรือเปล่า สนใจเขาหรือเปล่า ไม่ใช่อยู่กับลูกทั้งวัน แต่เอาแต่เล่นมือถือ หรือมัวแต่ทำกิจกรรมของตัวเอง แล้วปล่อยลูกนั่งเล่นคนเดียว

เนอร์เซอรีญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

ก็มีมาตรฐานนะคะ สตาฟทุกคนต้องมีใบอนุญาต แล้วเขาก็มีการกำหนดจำนวนด้วย ว่าต้องมีคนดูแลกี่คนต่อเด็กกี่คน เรื่องอาหารการกิน เท่าที่เคยลองไปดูมาก็ดี พนักงานที่เตรียมอาหารให้เด็กเขามียูนิฟอร์ม มีหมวก หน้ากาก ผ้ากันเปื้อน ถุงมือจริงจัง เราเห็นแล้วแบบ โอ้โห…

อาหารของเด็กญี่ปุ่น

ถ้าเป็นพวกปลาดิบ เขาจะยังไม่ให้กินตั้งแต่เด็กนะคะ ทุกอย่างต้องสุกแล้ว กว่าจะเริ่มกินปลาดิบหรือของดิบได้ ก็ประมาณวัยประถมฯ แต่ถ้าเป็นพวกข้าวปั้นหรือถั่วเน่านี่ เขากินกันตั้งแต่เด็กเล็กเลย

ปัญหาคลาสสิกของการเลี้ยงลูกที่ต่างประเทศคือเรื่องภาษา

ภาษาเป็นเรื่องที่แพทกังวลมากตั้งแต่ตอนท้องเลย เพราะเคยได้ยินมาว่า ถ้าเราไปเลี้ยงลูกที่ต่างประเทศ เด็กจะไม่ยอมพูดภาษาแม่ เราก็กลัวว่าเขาจะพูดแต่ภาษาญี่ปุ่น ก็เลยพยายามหาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กหลายภาษา

แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นจะเป็นภาษาหลักของเขา เพราะเราคุยกับสามีด้วยภาษาญี่ปุ่น เวลาอยู่กันสามคนเขาก็จะได้ยินภาษาญี่ปุ่น แต่ถ้าอยู่กับลูกสองคน ก็พูดภาษาไทยกับเขา แล้วก็ภาษาอังกฤษ ก็อยากให้เขาคุ้นด้วย ก็เลยพยายามพูดภาษาอังกฤษเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตอนเช้าก็ good morning หรือพูดเป็นประโยคสั้นๆ แล้วก็ชอบอ่านนิทานภาษาอังกฤษให้เขาฟัง

อีกอย่างคือแพทมีเพื่อนที่นี่เป็นฝรั่งเยอะ ทุกสัปดาห์จะมีการพาลูกออกไปเพลย์กรุ๊ปกับแม่ๆ ที่เป็นฝรั่ง ลูกก็จะมีโอกาสได้เล่นกับเด็กฝรั่งด้วย

ถ้าพูดถึงเป้าหมาย ตอนนี้หลักๆ เลยคืออยากให้ริโตะพูดได้สามภาษา ไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ไหม (หัวเราะ)

ปกติเด็กที่โตต่างประเทศน่าจะได้เปรียบเรื่องภาษา ทำไมคุณแพทถึงกังวลเรื่องนี้

แพทว่าถ้าเป็นสังคมไทย การที่เด็กลูกครึ่งพูดอีกภาษานึงได้ ไม่จำเป็นต้องภาษาอังกฤษ เราจะรู้สึกว่าเท่ใช่ไหมคะ แต่ที่ญี่ปุ่น พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าใครๆ ก็พูดไม่ได้ หรือพอเป็นภาษาที่สามอย่างภาษาไทย ลูกก็อาจจะเขิน เพราะพูดไปก็ไม่มีใครฟังออก พอถึงวัยที่ไปโรงเรียนเขาอาจรู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องหัดพูดภาษาไทยก็ได้นี่

ตอนแรกแพทอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษ ก็พยายามพูดภาษาอังกฤษกับลูกมาก แต่ตอนหลังเราคิดว่า อยู่ที่นี่ภาษาอังกฤษลูกยังออกไปเรียนข้างนอกได้ แต่ภาษาไทย ถ้าเราไม่ใช่คนสอน แล้วใครจะสอนเขาได้

 

ขอบคุณภาพถ่าย: พณิตา อาโอกิ
                                         สัมภาษณ์วันที่ 5 ตุลาคม 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST