READING

คุยกับ ครูก้า—กรองทอง บุญประคอง: ลูกโตขึ้นจะเป็นคน...

คุยกับ ครูก้า—กรองทอง บุญประคอง: ลูกโตขึ้นจะเป็นคนอย่างไร ช่วงปฐมวัยคือคำตอบ, ทำไมถึงต้องผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ปฐมวัยเป็นฉบับแรก

เข้าใกล้ความจริงไปอีกนิดแล้ว กับพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

จากนี้จึงเหลือเพียงขั้นตอนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณา หากผ่าน ก็จะสามารถประกาศใช้และทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองเด็กปฐมวัยอย่างสมบูรณ์เป็นฉบับแรก

และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็คงคุ้นหน้าผู้หญิงผมสั้น ใส่แว่น ร่างเล็ก ที่ยิ้มทีตาจะปิดมิดหมีไปทั้งดวงอย่าง ครูก้า—กรองทอง บุญประคอง ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ที่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ผลักดันแคมเปญรณรงค์ใน change.org เพื่อให้การยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้คลอดออกมาพร้อมๆ กันด้วย

แต่เพราะเราคิดว่า ครูก้าอาจตอบคำถามเรื่องที่ว่า ทำไมเราถึงต้องยกเลิกการสอบเข้า ป.1 มามากเกินไปแล้ว ทั้งที่จริง เนื้อหาในพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีอะไรอีกมากที่คุ้มครอง ดูแล ส่งเสริม และพัฒนาให้เด็กปฐมวัยเติบโตอย่างมีคุณภาพ และเติบโตในแบบที่ควรจะเป็น

M.O.M เลยถือโอกาสนี้ ชวนครูก้า มาพูดคุยถึงความสำคัญของปฐมวัย คำที่ฟังดูยาก ไม่คุ้นหู แต่กลับเป็นคำที่หมายถึงช่วงวัยแสนสำคัญของมนุษย์ ที่อาจพูดได้ว่า เราอยากเห็นลูกของเราเติบโตขึ้นไปเป็นแบบไหน จะสร้างได้ก็จากช่วงปฐมวัยนี้นั่นแหละ

“ก่อนนี้เราใช้คำว่าอนุบาล เลยทำให้คนเข้าใจไปว่า เด็กอนุบาลคือเด็กเล็กที่แค่เลี้ยงดู บริบาล กินอยู่หลับนอน ซึ่งไม่ใช่ ปฐมวัยคือช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิต คือรากฐานของชีวิต เป็นช่วงที่ดีที่สุดในชีวิตคนเรา ซึ่งสำคัญมาก”

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับช่วงปฐมวัยมากถึงขนาดที่ควรมีพ.ร.บ.คุ้มครอง

คำว่า ‘ปฐมวัย’ มีที่มาจากท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา เป็นผู้ตั้งขึ้น ถอดความจากคำภาษาอังกฤษคือ early childhood เพราะก่อนนี้เราใช้คำว่าอนุบาล เลยทำให้คนเข้าใจไปว่า เด็กอนุบาลคือเด็กเล็กที่แค่เลี้ยงดู บริบาล กินอยู่หลับนอน (หรือบางคนเรียกเด็กอนุบาลว่าเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งท่านอาจารย์หม่อมบอกว่าไม่ใช่นะ ที่จริงแล้วมนุษย์เราเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ในท้องแม่ด้วยซ้ำไป)

ซึ่งไม่ใช่ ปฐมวัยคือช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิต คือรากฐานของชีวิต เป็นช่วงที่ดีที่สุดในชีวิตคนเรา ซึ่งสำคัญมาก แต่ในอดีตเราละเลยเด็กช่วงปฐมวัยมาตลอด สิ่งที่เรากำลังทำคือ การทำอย่างไร ให้เด็กได้รับโอกาสในช่วงที่ดีที่สุดและมีความหมายที่สุดของชีวิต ก่อนหน้านี้หมายถึงอายุ 0-5 ขวบ บ้างก็ว่า 0-6 ขวบ แต่ตอนนี้ขยายไปถึง 8 ขวบ เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสมองมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลสะท้อนที่เกิดขึ้นจริงในสังคมการเรียนรู้บ้านเรามันบอกว่า การดูแล ส่งเสริม และพัฒนาเด็กในวัยที่เป็นรากฐานของชีวิตแค่ 6 ขวบนั้นยังไม่มั่นคงพอ ล่าสุด unicef ได้ระบุว่า ช่วงปฐมวัยที่ถือว่าเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ 0-8 ขวบ

เด็กบ้านเราจบอนุบาลไปต่อประถมฯ แล้วรอยเชื่อมต่อมันไม่เชื่อมกัน มันก้าวกระโดดเกินไป ครูประถมฯ จะบอกครูอนุบาลว่า ต้องเตรียมเด็กให้พร้อมก่อนส่งมานะ ต้องอ่านออกเขียนได้ บวกลบเลขได้นะ มันเลยทำให้เกิดความแกว่งในระบบการศึกษาอนุบาล และพอขึ้นมาประถมปุ๊บ ก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนกันอย่างเดียวเลย ชีวิตวัยเด็กที่สดใสหายไปในทันที

พ.ร.บ.ฉบับนี้ เลยขยายโดยระบุชัดเจนไปเลยว่า ปฐมวัยคือ 0-8 ขวบ เพื่อดูแลให้รากฐานของเด็กแข็งแรงมั่นคงจริงๆ ส่งกันให้ถึงฝั่ง จนเราสบายใจ

แต่ก่อนนี้ เราไม่เคยมีกฎหมายอะไรที่โฟกัสชัดเจน ว่าจะส่งเสริม ดูแล คุ้มครอง และพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างครบองค์ประกอบรอบด้าน และเอื้อให้เกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเลย

ไม่เคยมี มีแต่การไปฝากไว้ตามที่ต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุขดูแลแม่และเด็กตั้งแต่ในครรภ์ แล้วเขาเป็นหน่วยงานที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก เพียงแต่ว่าขอบเขตของงานยังไม่ครอบคลุมทุกด้านของปฐมวัย

ถัดมาคือกระทรวงมหาดไทย ที่ทำหน้าที่ดูแลประชากร ก็ดีนะคะ ดูเขากระตือรือร้นที่จะดูแลลูกหลานของเขาให้มีคุณภาพมากที่สุด แต่ที่ผ่านมาส่งไปแต่นโยบายกับงบประมาณให้เกิดศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ แต่… กระทรวงเองไม่มีความเชี่ยวชาญ คนดูแลเด็กมาจากไหน ดูแลกันอย่างไร มีผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กช่วยดูแลศูนย์เด็กเล็กหรือเปล่า จะให้พ่อแม่ครอบครัวของเด็กเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ควรจะไปเชื่อมกับหน่วยงานไหนดี เหมือนเขาก็พอมองเห็นทางนะ แต่ในความเป็นจริง มีอุปสรรคอีกมากมายที่อยากทำให้ดีก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ

อันที่สามคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ภารกิจของกระทรวงคือต้องดูแลคนทุกวัย เขาเลยต้องดูแลเด็กด้วย ซึ่งคำว่าเด็กในนิยามของกระทรวงนี้ ครอบคลุม 0-18 ปี ซึ่งมันกว้างมาก จนเขาไม่สามารถโฟกัสที่ปฐมวัยอย่างเดียวได้

สุดท้ายคือกระทรวงศึกษาธิการ อันนี้ดูเหมือนจะรับผิดชอบโดยตรงเลยใช่ไหม แต่ว่าภารกิจหลักของเขาคือการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปถึงระดับมหาวิทยาลัย เขาเลยให้น้ำหนักในการดูแลตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป ดังนั้น มันเลยไม่มีเจ้าภาพตัวจริง ทุกอย่างแยกกันหมดเลย

ในความเป็นจริง สิ่งที่เราทำในการดูแลเด็กปฐมวัย เหมือนเอางบประมาณลงไปซื้อขนมให้เด็กกิน แต่เราไม่ได้มีแนวทาง หรือแผนการที่ชัดเจน ว่าเด็กจะโตไปอย่างไร เพราะงานเขาเยอะมาก

อีกอย่างคือทุกคนดูแลตามความถนัดของตัวเอง แต่มันมีความซ้ำซ้อนกันไปหมด เลยต้องผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.นี้ เพื่อให้มีคนดูแลเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง มีเจ้าภาพที่รับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยความเชี่ยวชาญ ด้วยหลักวิชาการอย่างแท้จริง และสามารถบูรณาการความร่วมมือกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้

พ.ร.บ.นี้จึงออกแบบมาสมบูรณ์มาก เพื่อจะดูแลเด็กวัย 0-8 ปี และไม่ใช่แค่เพียงตัวเด็กเท่านั้น แต่เป็นการดูแลทั้งระบบนิเวศของเด็กเลย

อะไรคือระบบนิเวศรอบตัวเด็ก

คือทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นการเติบโตของเขา ไม่ใช่แค่แม่อย่างเดียว แต่หมายถึงพ่อ หมายถึงสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีความรู้และมีเวลา สามารถสนับสนุนดูแลเด็กให้มีคุณภาพมากที่สุดได้

ต่อมาคือโรงเรียน ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนา ช่วยเผยแพร่ความรู้ที่จะส่งกลับไปยังหน่วยครอบครัว พ่อแม่จะได้ทั้งความรู้และสิทธิในการดูแลลูก เช่น การลาช่วงคลอดหรือลาเพื่อเลี้ยงลูก ก็จะอยู่ในนั้นด้วย

การพัฒนาเด็กต้องพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม อย่างทุกวันนี้ แต่ละที่ก็โฆษณาว่าเขาจะพัฒนาเด็กให้สอบเข้าที่โรงเรียนดีๆ ได้ แต่ความจริงควรจะบอกว่าจะพัฒนาให้เด็กสามารถดูแลจัดการชีวิตของตัวเอง ให้มีคุณค่าต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น ต่อธรรมชาติ พร้อมอยู่กับโลกในอนาคตได้อย่างไร และโลกในอนาคตก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ 4.0 ซะด้วยนะ

ด้านการปกป้อง คือเรามีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กมาตลอดเป็นสิบๆ ปี แต่ไม่เคยมีใครทำอะไร เพราะเรามีความกลัวอะไรบางอย่าง ครูอนุบาลเขาก็อยากจะสอนเด็กในแบบที่เขาเรียนมา ว่าเด็กปฐมวัยต้องเรียนรู้ด้วยวิธีการแบบไหน หลักการปฐมวัยไม่เคยเปลี่ยน แต่เขาไม่เคยทำงานแบบนั้นได้ เพราะมันมีเงื่อนไขเรื่องการสอบ มันจึงเป็นเรื่องที่แปลกมาก

ที่ใน พ.ร.บ. มีการระบุเรื่องหนึ่งขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง นั่นคือเรื่องการสอบ เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า การสอบเป็นการโยนเงื่อนไขลงไปให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเด็กตามหลักการปฐมวัย รวมทั้งยังสร้างความสับสนให้กับคนเป็นพ่อแม่ ว่าเราควรจะส่งเสริมลูกอย่างไร จึงจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงต่อชีวิตลูก การสร้างความเข้าใจในการเลี้ยงลูกอย่างถูกวิธีจึงทำได้ยากขึ้นไปด้วย

มันไม่ใช่พ.ร.บ.ที่พูดเรื่องการสอบเข้า ป.1 อย่างเดียวแบบที่หลายคนเข้าใจ

ใช่ พ.ร.บ. นี้พูดทุกเรื่องที่สำคัญรอบตัวเด็กปฐมวัย จริงๆ พ.ร.บ. ร่างแรกๆ ก่อนที่จะนำเสนอเพื่อพิจารณาสมบูรณ์กว่านี้อีก แต่มีการตัดออกไปบ้าง ใช้คำว่ายอมเสียส่วนน้อย เพื่อรักษาหลักการสำคัญก็ว่าได้ เพราะเราอยากผลักดันเข้าไปก่อน ให้ประเทศมี พ.ร.บ. ที่คุ้มครองเด็กปฐมวัยให้ได้ก่อน

บางคนบอกว่า การยกเลิกการสอบจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำ และต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อเข้าโรงเรียนดังๆ

ทุกวันนี้มีการสอบ แต่ก็มีการใช้เงินใช่หรือไม่ ตาเราไปจับจ้องผิดเรื่อง เราไปมองว่าเด็กคนรวยได้เปรียบกว่า จริงๆ แล้วความได้เปรียบไม่เกี่ยวกับสถานะ แต่เกี่ยวกับโอกาสของเด็ก ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจพอ

เราได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณหนึ่ง จักรวาล เขาไม่ได้โตมาในครอบครัวที่ร่ำรวย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ดีมาก แต่พ่อเขาเข้าใจและให้โอกาส ใจของพ่อ ใจของลูกต่างหากที่สำคัญ เราพบว่าคนที่เก่ง คนที่มีคุณค่าต่อตัวเอง และคนที่สร้างคุณค่าให้สังคมหลายคน เขาก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยอะไร

และอันที่จริง โรงเรียนดังๆ หลายแห่งก็มีระบบโควตาอยู่แล้ว เช่น ส่วนหนึ่งเป็นโควตาบุคลากร อีกส่วนเป็นโควตาผู้อุปถัมภ์ ซึ่งอันนี้ต้องใช้เงินอยู่แล้ว และอีกส่วนคือรับจากการสอบ เราแค่อยากขอเด็กแค่หนึ่งจากสามส่วนเท่านั้นเอง ว่าไม่ต้องสอบเข้าได้ไหม ใช้วิธีไหนก็ได้ที่ต้องไม่กระทบเด็ก

โรงเรียนอาจบอกว่า เพราะสองกลุ่มแรกรับด้วยระบบโควตา เลยไม่รู้ว่าเด็กจะเก่งหรือไม่ เขาเลยขอสอบเพื่อคัดเด็กเก่งเข้ามาหน่อย

คำถามคือข้อสอบวัดเด็กได้จริงหรือ เพราะ ณ วันที่เด็กสอบ เขายังอายุไม่เต็มหกขวบด้วยซ้ำ จริงหรือที่ข้อสอบบนกระดาษวัดความเก่งได้ในเด็กวัยนี้ได้จริง คุณวัดความดีก็ไม่ได้ด้วย การวัดด้วยข้อสอบยังใช้กับคนโตๆ ไม่ได้เลย

“วัยเด็กเล็กจึงเป็นวัยที่ควรเรียนด้วยความรู้สึก เป้าหมายไม่ใช่ความรู้ ความเก่งของเด็กจึงไม่ได้หมายความว่า เด็กคนนั้นมีความรู้มากเท่าไร แต่คือเขารู้สึกกับตัวเองอย่างไร ว่าเขาทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก”

แล้วความเก่งมีอยู่จริงไหมในเด็กปฐมวัย

โอ้โห (หัวเราะ) ใช้คำว่ามหัศจรรย์ดีกว่า ที่เด็กแต่ละคนไม่มีใครเหมือนกัน มันเป็นความมหัศจรรย์ที่เราต้องให้โอกาสเท่านั้นถึงจะเห็น มนุษย์เราขับเคลื่อนด้วยพลังอะไรบางอย่างข้างใน เมื่อเรามีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายอะไรบางอย่าง เราจะไปดึงพลังนั้นออกมาใช้ และเมื่อเราเห็นว่าพลังนั้นขับเคลื่อนเราได้ ใจเราก็จะมา คราวนี้เราอยากทำอะไรเราทำได้หมดเลย เพราะเราใช้ใจทำ

วัยเด็กเล็กจึงเป็นวัยที่ควรเรียนด้วยความรู้สึก เป้าหมายไม่ใช่ความรู้ ความเก่งของเด็กจึงไม่ได้หมายความว่า เด็กคนนั้นมีความรู้มากเท่าไร แต่คือเขารู้สึกกับตัวเองอย่างไร ว่าเขาทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก

ถ้าประสบการณ์ที่เราให้กับเด็กทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาอยากรู้เรื่องใด แล้วเขาสามารถทดลอง ผิดพลาด และแก้ไขจนประสบความสำเร็จได้ นั่นคือความเก่งของเขา เขาเคยปีนต้นไม้ เขาเคยไปถึงได้แค่กิ่งนี้ เขาลองตั้งเป้าหมายใหม่ ว่าจะไปให้ถึงอีกกิ่งที่สูงกว่า แล้วเขาหาวิธีเพื่อจะไปให้ถึง โดยที่เราไม่ต้องไปติวว่า เขาต้องเอามือจับอย่างไร เอาขาข้างไหนขึ้นไปก่อน เขาค้นพบวิธีไปสู่กิ่งนั้น จนเก็บมะม่วงมากินได้ เขาจะบอกกับตัวเองว่าเขาเก่งจัง มันจะเป็นความรู้สึกติดตัว เป็นพลังที่เขาจะไม่ได้เอาไว้ใช้แค่ปีนต้นไม้เท่านั้น มันใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตจนเขาตาย

พอเขาได้พิสูจน์แล้วว่า เรานี่เก่งไม่เบา เด็กจะพกพาความเก่งไปพร้อมกับความเชื่อมั่นในตัวเอง รวมกับคลังความคิดสร้างสรรค์ คลังของความพยายามแก้ไขปัญหา

จากประสบการณ์ที่เขาผ่านมามากมาย เขาจะมองเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายในชีวิต มองเห็นทางเลือก มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต นี่คือความเก่งที่เกิดมาจากความรู้สึกก่อน ไม่ใช่ความเก่งที่เกิดจากว่า คุณมีความรู้แค่ไหน คุณจำอะไรได้บ้าง ถามเรื่องนี้คุณตอบได้ไหม ไม่ใช่แบบนั้น

เด็กที่เก่งจากความจำ ถามได้ตอบได้ กลุ่มนี้จะขาดไหวพริบ เพราะเราจะต้องถามสิ่งนั้นจริงๆ เขาถึงจะตอบได้ แต่เขาไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งนั้นสิ่งนี้ในชีวิตเข้าหากันได้ แต่เด็กที่มีประสบการณ์เยอะๆ ไม่จำเป็นต้องเจอโจทย์เดิม เขาจะสามารถหยิบคลังประสบการณ์ของเขามาดู ว่าจะเอาประสบการณ์เรื่องไหนมาแก้โจทย์นี้ดี หรือว่าอันนี้แก้แล้วยังไม่ได้ ลองแบบอื่นดีไหม

ฉะนั้น เด็กที่ได้รับโอกาสในการเติบโตจากประสบการณ์จริง เรียนรู้ผ่านการเล่น จะเป็นเด็กที่เผชิญกับโลกอนาคต ที่เราบอกว่าไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไรได้ สมัยก่อนเราเตรียมเด็กเพื่อไปตอบโจทย์อนาคตที่เราคิดไว้ ว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ถามว่าปัจจุบันใช้ได้จริงไหม ปรากฏว่าก็เสียของ ใช้การไม่ได้

คิดว่าคนเริ่มระแคะระคายไหม ว่าอนาคตข้างหน้ามันคาดเดาได้ยาก ไม่เหมือนที่ผ่านมา

คิดว่าคนทั่วไปเริ่มรู้แหละ ว่าอนาคตมันจะไม่เหมือนปัจจุบัน แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร เพื่อความสบายใจก็เลยเดินตาม ว่าใครทำอะไร เราก็เข้าไปตามเขาดีกว่า เป็นหลักประกันให้อุ่นใจดี

ยิ่งพอเรามีลูกเล็ก แล้วลูกจะเข้าโรงเรียน เราก็ยิ่งคิดเยอะ เราอยู่กับความกลัว จนเราไม่ได้มองว่า โลกข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร บางคนยังอยู่กับฝันร้ายเก่าๆ ที่สอบเอนทรานซ์ไม่ได้ ทั้งที่ตอนนี้ไม่มีเด็กคนไหนเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้แล้ว มหาวิทยาลัยแย่งกันรับเด็ก เพราะรูปแบบการเรียนมันเปลี่ยนไป จนทำให้หลายมหาวิทยาลัยต้องปิดตัว

แต่พ่อแม่ก็ยังกังวลอยู่ เอาความกลัวมาลงที่ลูก ผลักดันให้ลูกได้เข้าเรียนตามเส้นทางที่วางไว้ ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดจากความรัก เรายังยืนยันว่า สิ่งที่พ่อแม่ทำคือความรัก

เลยอยากชวนพ่อแม่มาตั้งสติกันใหม่ ว่ามาตั้งเป้าหมายกัน ว่าสิ่งที่เราคาดหวังในตัวลูกคืออะไร เราอยากเห็นลูกเราเป็นแบบไหน โตมาเป็นคนอย่างไร และเมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว เส้นทางที่เราจะไป มันสอดคล้องกับเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ไหม

ช่วงที่เขากำลังฟอร์มความเป็นเขาอยู่ เราบ่มเพาะอะไรเข้าไปบ้าง ให้เขาเป็นคนแบบที่เราตั้งใจ เราเอาเวลาที่เขาเติบโตไปใช้กับอะไรบ้าง

ครูก้าเองเคยตั้งเป้าหมายเอาไว้ ว่าจะเลี้ยงลูกให้เขาดูแลตัวเองได้ แต่ด้วยความรัก ระหว่างการเลี้ยงดู เราก็ช่วยเหลือเขา ตัดสินใจให้เขามาตลอด จนถึงวันหนึ่ง ที่เราจะพาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้าน แล้วเราถามลูกว่าจะใส่ชุดไหน ลูกบอกไม่ได้ ลูกตัดสินใจเลือกชุดที่จะใส่ไปเที่ยวนอกบ้านไม่ได้ มันเลยทำให้เราฉุกคิด ว่าที่เราเลี้ยงเขามา มันไม่ตรงกับเป้าหมายเลย

เราอยากให้เขาดูแลตัวเองได้ แต่แค่เลือกเสื้อผ้าไปเที่ยวยังทำเองไม่ได้ มันต้องมีอะไรผิดบางอย่างแล้ว เราซื้อเลโก้มา เรายังกลัวว่าเขาจะต่อไม่เหมือนข้างกล่องเลย ทั้งที่เลโก้มันเป็นของเล่นปลายเปิด เราเลยต้องกลับมาทบทวนตัวเองใหม่ ทบทวนเป้าหมาย และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ใหม่ทั้งหมดเลย

แล้วถ้าเป้าหมายที่พ่อแม่ตั้งไว้ คือการอยากให้ลูกเป็นเลิศทางวิชาการล่ะ

ก็ต้องถามย้อนกลับไปว่า เพราะอะไร (เพราะอยากให้ลูกมีหน้าที่การงานที่ดี—เราตอบ) แล้วมีหน้าที่การงานที่ดีไปเพื่ออะไร (เพื่อจะได้มีความสุข—เราตอบ)

งั้นครูก้าก็จะตอบว่า ทำไมความสุขมันต้องเดินทางยาวไกลขนาดนั้นถึงจะเจอ เรียนไปก็สุขใจไปด้วยไม่ได้เหรอ แบบพอถึงตอนนั้นเด็กสุขไม่เป็นแล้ว เพราะเขาเห็นว่า การจะมีความสุขมันมีเงื่อนไขทั้งนั้นเลย จะมีความสุขต้องเรียนที่นี่ได้ ต้องทำให้แม่ภูมิใจ แล้วตัวเขาใจเขาอยู่ที่ไหน ความสุขที่แท้จริงคืออะไร

เด็กๆ เนี่ย เขามีทุกสิ่งที่มนุษย์เราต้องการ (ครูก้าพาเราลุกไปยืนดูเด็กอนุบาลกำลังเล่นด้วยกัน) เห็นเด็กๆ เล่นของเล่นกล่องเดียวกับเพื่อนได้ เราเห็นอะไรเมื่อเทียบกับการสั่งว่า “นั่งคนละโต๊ะนะ อย่าให้เพื่อนลอกนะ” เรากำลังบ่มเพาะพลังอะไรให้เขาอยู่

จริงๆ มันไม่ใช่การบ่มเพาะด้วย ควรเรียกว่าเรารักษาพลังให้เขามากกว่า เพราะเขามีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ความอยากเรียน อยากรู้ อยากทำ และอยากดี เด็กทุกคนมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว

เช่น เรื่องการบ้าน เราบอกว่าเราหวังดี อยากให้เด็กมีวินัย ได้ทบทวนบทเรียน แต่เรากำลังเอาเวลาที่บ้าน ไปใช้กับการแก้ความกลัวของครู ของพ่อแม่ จนลืมว่าเวลาที่บ้านคือเวลาอะไร

เราไม่เคยให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการมีความสุขเมื่ออยู่ที่บ้านเลย ต่อไปลูกจะอยากอยู่บ้านไหม เขาจะไม่มีความรู้สึกกับคำว่าบ้าน บ้านไม่ใช่ที่ที่เขาจะอยู่แล้วสบายใจ แต่เขาจะเรียนรู้ว่าความสุขคือการหาเงิน แล้วเอาเงินไปซื้อความสุขข้างนอกบ้าน นั่นคือสิ่งที่เราปลูกฝังให้กับเขา

วันธรรมดาพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เสาร์อาทิตย์ก็ยังให้ไปเรียนกัน การอยู่บ้าน ล้างรถ ตัดต้นไม้นี่ก็มีความสุขแล้ว แต่เด็กไม่ได้สัมผัส แม่ไม่ได้มีโอกาสแสดงความเป็นแม่ เพราะเราเห็นแต่แม่ที่เป็นครูที่บ้าน เพราะต้องกลับมาทำการบ้าน

ดังนั้น เรื่องการบ้าน มันเหมือนเราโยนระเบิดไปที่บ้าน ไปขโมยเวลาที่พ่อแม่ลูกเขาจะได้มีความสุข นอนกลิ้งเกลือกปล้ำกัน จนไม่มีเวลาทำแบบนั้น มีแต่ความเครียดเข้ามารบกวน

และที่บอกว่าการบ้านเป็นการฝึกความรับผิดชอบ จริงหรือ… ครูก้าเถียงเลย เพราะครูก้าไม่เคยทำการบ้านเลยตอนเด็ก แต่ทุกวันนี้เรามีความรับผิดชอบด้วยจิตสำนึก แม่ครูก้าไม่เคยดุ ไม่เคยตี และไม่เคยบ่น แม่พูดคีย์เวิร์ดอยู่แค่ “เกรงใจเขานะลูก เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เท่านั้นแหละ นี่คือจิตสำนึกที่แม่ปลูกฝัง และเราก็จะระมัดระวังตัว ให้ทำสิ่งที่ไม่กระทบคนอื่น

ถ้าให้ประเมินตัวเอง ครูก้าก็ว่าครูเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบประมาณนึงนะ ไม่ได้สร้างปัญหาให้สังคมเท่าไร ถามว่ามันมาจากไหน ไม่ได้มาจากการบ้าน แต่เราเห็นพ่อแม่เราเป็น

แต่พ่อแม่สมัยนี้ไม่ได้มีเวลาเป็นแบบนั้นให้ลูกเห็น เด็กเขาเลยไม่รู้ว่าจะเอาใครเป็นโมเดล เพราะเด็กวัยนี้เขาเรียนรู้ผ่านการซึมซับ เด็กจะเป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ได้เป็นอย่างที่เราบอกให้เขาเป็น

การเรียนเสริมสมัยนี้ อาจไม่เคร่งเครียดอย่างการติวหรือเปล่า ยุคนี้มีคอร์สเสริมพัฒนาการมากมาย ที่ไม่ได้เอาเด็กๆ เข้าไปนั่งทำชีตแบบแต่ก่อน เรียนได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ถ้าลูกเราไม่เรียน ก็กลัวว่าพัฒนาการจะไม่เท่าคนอื่น

พ่อแม่รุ่นนี้เติบโตมาจากอะไร มาจากการติวใช่ไหม เราเลยไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่เคยเชื่อว่าตัวเองเป็นคนสำคัญของลูก เพราะว่าสมัยเรา ถ้าเราจะเก่งได้ พ่อแม่จะพาเราไปติว ดังนั้น เราจะเชื่อมั่นในครู ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง

แต่แท้จริงแล้ว ลูกต้องการพ่อแม่ ต้องการสัมผัส วิชาที่ไม่มีใครสอนได้คือวิชาชีวิต ลูกต้องการดูว่าพ่อแม่ใช้ชีวิตอย่างไร ลูกต้องการดูว่าพ่อแม่มองโลกอย่างไร เมื่อมีสถานการณ์หนึ่งเข้ามา พ่อแม่โต้ตอบกับสถานการณ์นั้นอย่างไร ขับรถไปมีคนปาดหน้า พ่อแม่ทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ลูกเฝ้ามองเราอยู่ แต่เราไม่เคยเชื่อในตัวเอง เพราะเราถูกทำลายความเชื่อนั้นมาตั้งแต่สมัยเรายังเด็ก พ่อแม่ก็พาเราไปเรียนพิเศษ แล้วก็ไม่เชื่อว่าเราสามารถเรียนได้ด้วยตัวเอง

อย่างครูก้าสมัยนั้น โชคดีว่ามันยังไม่ได้มีการเรียนพิเศษอะไรขนาดนั้น มันเลยทำให้เรามีความเชื่อมือ เชื่อมั่น เชื่อว่าเรานั้นจะทำได้ทุกอย่าง แต่เด็กรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้ค้นพบตัวเองในมุมนี้เลย เพราะเรารุกล้ำเข้าไปในอิสรภาพของเด็กมาก เราไม่เคยเชื่อ ว่าเด็กเขาจะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง แม่ต้องช่วย ครูต้องช่วย ฉะนั้น เมื่อตอบคำถามว่าฉันคือใคร เด็กก็จะตอบว่า ฉันคือคนที่ต้องมีคนช่วย

เช่น การเรียนว่ายน้ำ เด็กกับน้ำเป็นของคู่กัน ให้เล่นน้ำเรียกเท่าไรก็ไม่ขึ้น แต่ให้เรียนว่ายน้ำ เรียกเท่าไรก็ไม่ลง มันเป็นแบบนั้นเพราะอะไร เพราะคนสอนไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กหรือเปล่า ถามว่าเด็กอนุบาลจำเป็นต้องรู้ไหม ว่าท่าฟรีสไตล์มันว่ายอย่างไร สิ่งที่เขาต้องการคือเขาอยากเล่นน้ำกับพ่อแม่ เวลาไปทะเล เรียกแล้วขึ้นไหมล่ะ (หัวเราะ)

นอกจากความสุข เขากำลังเรียนรู้ด้วย เขาได้ทดลองตัวเองกับน้ำ เขาเคยเดินบนบกด้วยท่าแบบหนึ่ง พอเขาลงไปในน้ำ เขาพบว่ามันไม่เหมือนกัน งั้นเขาจะต้องทำท่าอย่างไร เขาลองดำน้ำได้ไหม เขาออกแบบท่าแปลกๆ ได้ไหม เขาไม่เอาท่าฟรีสไตล์ เพราะเขาไม่เห็นภาพว่ามันคืออะไร แต่เขารู้จักปลาดาว ปลาวาฬ เขาอยากเป็นปลานีโม่ เขาก็เลียนแบบปลาที่เขาอยากเป็น นั่นคือเขารู้จักตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราทำให้เด็กไม่รู้จักตัวเอง เพราะเราไม่เชื่อว่าเขามีตัวเองอยู่

แต่พ่อแม่ก็อาจบอกว่า พาลูกไปติวก็ไม่ได้เสียหาย อย่างน้อยเขาก็ได้ทบทวน ได้รู้ก่อนและรู้เยอะกว่าคนอื่น

ของดีคือโอกาส โอกาสคือการใช้เวลา แต่เราเอาโอกาสและเวลาของลูกไปใช้กับเรื่องที่อาจจะไม่มีความหมาย หรือไม่จำเป็นต้องใช้กับอนาคตของเขาเลย

อันที่สองคือ ที่เราเรียกว่าของดี วิชาดี แต่พอมันไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของลูกคือ ทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ ที่มันจะติดตัวเขาไปยาวนาน ที่เราพยายามจะสร้างพลังในการอยากเรียนอยากรู้ของเขาให้มาก ก็เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะต้องเจอกับโจทย์อะไรบ้างในอนาคต แต่พอเราไปทำลายพลังนั้น ลูกจะไม่พร้อมที่จะอยู่กับอนาคต ยิ่งเจอโจทย์ ตัวเขาจะตัวหดลงไปเรื่อยๆ

คนอื่นคิดสร้างสรรค์ได้ แต่เราทำไม่ได้ ตัวเขาก็หดไปอีก ไอ้วิชาการที่ฉันรู้เยอะ รู้ล่วงหน้ากว่าคนอื่น ทำไมไม่มีใครใช้ เขาก็หดไปอีก ลูกเราจะตัวเล็กมากในความรู้สึกเขา

เราก็ไม่รู้ว่า วันนั้นที่เราไม่ได้อยู่ข้างๆ เขาแล้ว เขาจะอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขได้อย่างไร แถมเขาหาความสุขง่ายๆ ไม่เป็นอีก ปล่อยให้ลูกได้เป็นตัวเขา คืนชีวิตวัยเด็กให้กับเขาเถอะ

เห็นครูก้าพูดเรื่อง พ.ร.บ., เรื่องยกเลิกการสอบเข้า ป.1, เรื่องปฐมวัย เยอะมาก ทำไมถึงอยากสื่อสารเรื่องนี้

แต่ก่อนถ้าเราพูดเรื่องนี้ เสียงของเราจะไม่ได้ดังมาก เราเลยเลือกจะพูดในจุดที่คนอยากฟัง (หัวเราะ) อยู่กับคนที่คิดตรงกัน แต่ยุคนี้ถือเป็นความโชคดีมาก เมื่อก่อนนักการศึกษาพูดอะไรจะไม่มีใครฟัง แต่พอหมอพูดเรื่องเดียวกัน จะมีคนฟังทันที เราก็ค่อยยังชั่ว มีหมอมาช่วยพูด

แถมปัจจุบัน วิทยาศาสตร์มีเครื่องมือมาช่วยพิสูจน์ สามารถสแกนเข้าไปดูสมองได้ เห็นที่มาที่ไป เห็นว่าอะไรเป็นต้นเหตุของอะไร เรายิ่งดีใจว่า ทุกอย่างมันตรงกับความเชื่อเรา วิทยาศาสตร์ช่วยพิสูจน์ให้แล้ว มันเลยทำให้คนฟังเรามากขึ้น เรายิ่งมั่นใจและยิ่งกล้าพูดมากขึ้น

เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ท่านอาจารย์หม่อมดุษฎีไปเรียนวิชา early childhood ที่อเมริกา ซึ่งถือว่าทันสมัยมากในยุคนั้น คุณแม่ของท่านซึ่งเป็นครู ก็ส่งหนังสือสมองของหลวงวิจิตรวาทการให้ท่านอ่าน ท่านก็บอกคุณแม่ว่า ท่านจะไปเป็นครู ส่งหนังสือสมองมาทำไม

พอวันแรกที่ไปเรียน อาจารย์ก็ให้หนังสือสมองอ่าน ท่านก็สงสัยอีกว่า จะเป็นครูเด็กเล็ก จะรู้เรื่องสมองที่เป็นเรื่องของแพทย์ของนักวิทยาศาสตร์ไปทำไมกัน

ต้องบอกว่าตั้งแต่ตอนนั้น ทฤษฎีการศึกษาและจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย ซึ่งความรู้นั้นได้มาจากการสังเกต แต่ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพิสูจน์ให้สิ่งนั้นน่าเชื่อถือมากขึ้น

ดังนั้น ความรู้เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องใหม่ ท่านอาจารย์หม่อมฯ นำความรู้เรื่องนี้เข้ามานานแล้ว ท่านถึงได้เป็นคนแรกที่เปิดศูนย์เลี้ยงเด็ก (Nursery) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

จนมาถึงยุคนี้ ครูก้าว่ามันพีกสุด ทั้งเรื่องผลกระทบเชิงลบที่ชัดเจนขึ้น พีกทั้งเรื่องโลกที่เปลี่ยนไปไว และก็มีเครื่องมือมาพิสูจน์เรื่องนี้ชัดเจน ดังนั้น ถ้าเรายังอาศัยความเชื่อที่ว่า ถ้าเรายังไม่มั่นใจในเรื่องใด ก็เดินเกาะกลุ่มตามคนเยอะๆ ไปก่อน อยากให้ตั้งสติใหม่ ว่ามันจริงหรือเปล่า มาตั้งสติกันว่าการศึกษา ซึ่งก็คือการใช้ชีวิตของลูกในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตเขา มันควรจะเป็นอย่างไร เด็กต้องการโอกาสอะไร และโอกาสแบบไหนจะนำไปสู่อะไร

“คนคนนี้มีนิสัยอย่างไร มีมุมมองต่อโลกอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแบบไหน มันมีที่มาจากปฐมวัย คือช่วงอายุ 0-8 ปี นี่แหละ”

เราพูดได้เต็มปากเลยใช่ไหม ว่าช่วง ‘ปฐมวัย’ นั้นสำคัญจริงๆ

ใช่ พูดได้เลย ในเชิงสมองมันคือการฟอร์มลักษณะโครงสร้างของเซลล์สมอง ที่สุดท้ายมันจะพัฒนาไปเป็นลักษณะนิสัย พฤติกรรม และความคิดของคนคนหนึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือ คนคนนี้มีนิสัยอย่างไร มีมุมมองต่อโลกอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแบบไหน มันมีที่มาจากปฐมวัย คือช่วงอายุ 0-8 ปี นี่แหละ

ครูก้ามั่นใจใน พ.ร.บ. ฉบับนี้แค่ไหน ว่าจะผ่านและได้ประกาศใช้

เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะผ่านหรือไม่ผ่านนะ ที่เราทำได้จึงเป็นการพยายามให้ความรู้กับพ่อแม่ให้มากที่สุด ส่งเสียงออกไปยังวงกว้างที่สุด ว่าปฐมวัยคือช่วงวัยที่สำคัญจริงๆ

แต่สุดท้าย ถ้าเราจะรอให้พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างทั่วถึงเสียก่อน ให้โรงเรียนมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกันเสียก่อน โดยไม่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐด้วยกฎหมาย และมีกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นรูปธรรม เด็กก็คงจะยังต้องทนทุกข์ยากกับการเรียนไปอีกนาน

 

 

สัมภาษณ์วันที่ 31 ตุลาคม 2561

Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST