READING

คุยกับเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพราะอะไรเด็กถึงมีพฤต...

คุยกับเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพราะอะไรเด็กถึงมีพฤติกรรมก้าวร้าว

จากประเด็นลูกสาววัย 11 ปี มีนิสัยติดการใช้โทรศัพท์มือถือหนักมาก คุณแม่ทั้งเตือนทั้งห้ามเท่าไร นอกจากลูกจะไม่ยอมรับฟังแล้วยังตอบโต้ด้วยการเขียนข้อความรุนแรงถึงคุณแม่อีกด้วย

เรานึกสงสัยว่า เพราะเหตุใจเด็กอายุเพียงเท่านี้จึงได้มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรง สาเหตุของการกระทำที่เด็กแสดงออกเช่นนี้เกิดจากอะไร จึงชวน คุณเม—เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา มาพูดคุยและอธิบายว่า ในมุมมองของนักจิตวิทยาที่ทำงานกับเด็ก คุณพ่อคุณแม่จะยื่นมือเข้าไปช่วยขัดเกลาพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกได้อย่างไรบ้าง

ทำไมเด็กธรรมดาคนหนึ่งถึงกลายเป็นเด็กก้าวร้าวไปได้

จากในข่าว การที่เด็กเขียนจดหมายต่อว่าคุณแม่ เกิดจากการที่ไม่ได้รับการสอนและไม่มีการตั้งกติกา เด็กไม่เคารพกติกาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปในข่าว ถึงแม้จะไม่มีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก แต่สันนิษฐานได้ว่า การที่ลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับคุณแม่ แสดงว่าลูกไม่ได้ให้ความเคารพคุณแม่

ในขณะเดียวกันลูกก็รู้สึกว่าคุณแม่ไม่ได้ให้ความเคารพต่อตัวเขาเช่นกัน พฤติกรรมที่แสดงออกมา จึงรุนแรงและก้าวร้าวมากกว่าปกติ

ทุกคนในครอบครัวต้องปฎิบัติตามกติกาที่ตั้งมาเช่นกัน…

คุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ใช้เวลาร่วมกับลูก ไม่ใช้เวลากับหน้าจอมือถือมากกว่าอยู่กับลูก หรือใช้หน้าจอเลี้ยงลูก ความสัมพันธ์แบบนี้ต่อให้อยู่ใกล้กัน แต่หมือนต่างคนต่างอยู่  แสดงว่าความสัมพันธ์นั้นไม่ได้มีอยู่จริง เป็นแค่การอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน

การกำหนดกติกาในช่วงเวลาของครอบครัว เช่น ขณะกินข้าวควรมีกล่องเก็บมือถือ คีย์เวิร์ดคือทุกคนต้องทำตามกติกา ไม่ใช่มีแต่เด็กเท่านั้นที่ต้องทำ และเด็กจะรู้สึกอยากปฏิบัติตามกฎเพราะไม่ได้สร้างมาเพื่อเขาเพียงคนเดียว

การตั้งกติกากับการห้าม ต่างกันอย่างไร

ถ้าคุณแม่บอกกับลูกว่าให้หยุดเล่นมือถือ มันคือการเข้าไปในรูปแบบของศัตรู ลูกจะสร้างกำแพง และคิดว่าทำไมคุณแม่ต้องห้าม เพราะยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ยิ่งคุณแม่ห้ามไม่ให้เล่น และลูกไม่ทำตาม ความสัมพันธ์จากที่แย่อยู่แล้ว ก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก

ดังนั้นคุณแม่อย่าเพิ่งห้ามลูก แต่ควรเดินเข้าไปหาลูกแล้วบอกกับลูกว่า อยากมีช่วงเวลาที่ดีกับลูก ชวนลูกไปเที่ยว ใช้เวลาร่วมกับลูก แต่คุณแม่จะต้องรู้จักลูกของตัวเองก่อน เพราะเด็กคนนี้อาจจะไม่ใช่เด็กที่เราเคยรู้จักในวันนั้นแล้ว

ตามข่าวเด็กวัย 11 ปี เป็นวัยเข้าสู่วัยรุ่น วัยต่อต้าน คุณแม่ควรเข้าไปในฐานะคนที่มีความสำคัญกับลูกก่อน เมื่อลูกต้องการคุณแม่ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว คุณแม่จึงบอกกติกากับลูกว่า คุณแม่อยากใช้เวลากับลูกนะ ดังนั้นลูกใช้มือถือน้อยลงได้ไหม ชวนลูกดูหนัง ชวนลูกไปช้อปปิง ชวนลูกไปเที่ยว ทำให้ลูกรู้ว่าคุณแม่ต้องการลูกจริงๆ และลูกก็ต้องการคุณแม่เช่นกัน โลกในอินเทอร์เน็ตก็เทียบเท่าแม่ในชีวิตจริงไม่ได้

และหลายครั้งที่คุณแม่เองอาจเป็นชนวนให้ลูกติดโทรศัพท์มือถือ เพราะวัยรุ่นต้องการเป็นที่รัก การยอมรับ แต่ถ้าลูกรู้สึกว่าอยู่บ้าน ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีอะไรให้ทำ จึงทำให้ติดมือถือ นอกจากนี้คุณแม่บางท่านใช้วิธีพิมพ์ข้อความหาลูก เช่น ส่งข้อความไปบอกลูกว่า แม่มารับลูกที่หน้าโรงเรียน หรือบอกให้ทำตามคำสั่งผ่านข้อความ ทำให้เด็กเคยชินเพราะได้รับคำสั่งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นคุณแม่จึงควรใช้โทรศัพท์มือถือสื่อสารกับลูกให้น้อยลง และสื่อสารต่อหน้าให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกรู้ว่าแม่ต่างหากที่กำลังสื่อสารกับลูกไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ

ที่สำคัญที่สุดคือ คุณแม่ควรคุยกับลูกอย่างจริงจังว่า เป็นห่วงลูกอย่างไรไม่ใช่บอกลูกว่าใช้มือถือแล้วไม่ดีอย่างไร อย่าไปโทษที่ตัวเด็ก แต่ใช้วิธีแสดงความห่วงใยแทน ยกตัวอย่างเช่น บอกกับลูกว่า แม่เป็นห่วงลูกนะ เล่นมือถือแล้วทำให้สายตาสั้น หรือคุณแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กมีบุคลิกดี

คุณแม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองออกไปว่า ต้องการให้ลูกทำอย่างไร ไม่ใช่ไปบอกว่าไม่ต้องการให้เขาเป็นแบบนี้ เพราะลูกอาจจะมองว่า ถ้าไม่ให้เป็นแบบนี้แล้วจะให้เป็นแบบไหน ไม่ให้เล่นมือถือแล้วจะให้ทำอะไร

เด็กในวัย 11 ปี กำลังอยากทำกิจกรรมที่สนุก ท้าทาย แต่คุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะสนุกไปกับลูกไหม คุณแม่อาจจะช่วยหาที่เที่ยวสำหรับเด็กวัยรุ่น แค่ใช้เวลาศึกษาลูกสักหน่อยก็จะรู้ว่าเขาต้องการอะไร

การตีหรือลงโทษมีประโยชน์หรือไม่

กรณีในข่าว เด็กเขียนข้อความบรรทัดสุดท้ายว่า ‘ขอให้ทำจริงนะ’ แสดงว่าคุณพ่อคุณแม่บางครั้งขู่ลงโทษลูก แต่ไม่เคยทำจริง หรือลงโทษแต่ก็ไม่ได้บอกว่าทางแก้คืออะไร เช่น หากลูกใช้โทรศัพท์มือถือและมีข้ออ้างว่าใช้ทำการบ้าน ต้องคุยกับเพื่อน ต้องหาข้อมูล คุณแม่ก็ควรเข้านั่งและหาข้อมูลไปพร้อมกับลูก จะได้เข้าใจลูกมากขึ้น โดยการเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกไม่ใช่ตั้งกำแพงกับลูก

กรณีที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรลูกก็ดื้อและไม่ยอมทำตามกติก

ถ้าเด็กดื้อมาก ถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่ได้เล่นโทรศัพท์มือถือแล้วจะร้องไห้โวยวายลงแดง ซึ่งเป็นไปได้ เพราะการเล่นอินเทอร์เน็ตก็เหมือนการเสพสารเสพติด เพราะสมองจะตอบสนองอย่างเดียวกับเวลาที่ได้รับสารเสพติด ดังนั้นถ้าถึงขั้นที่ไม่สามารถวางมือถือได้ ถ้าวางแล้วจะต้องลงไปชักดิ้นชักงอหรือกระทำอะไรที่รุนแรงต่อตัวเอง ทำร้ายคุณแม่ หรือทำร้ายคนอื่น ก็ต้องพาไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือพบจิตแพทย์

จะระวังการใช้โทรศัพท์มือถือของลูกอย่างไร ในเมื่อออกไปนอกบ้านเขาก็จะเห็นทุกคนใช้กัน

ในกรณีที่เพื่อนรอบตัวลูกมีโทรศัพท์มือถือเหมือนกัน  ลองให้ลูกบอกเหตุผลที่เขาจำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือ ในกรณีที่จำเป็นต้องซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูก คุณแม่ต้องตั้งกติกาชัดเจนให้ลูกตั้งคำมั่นสัญญา และยอมรับผลของการที่ทำตามสัญญาไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนกลางคืน ลูกต้องเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ที่คุณแม่ จะได้นอนหลับเต็มที่ ถ้าลูกไม่สามารถทำตามที่ตกลงกันไว้ แสดงให้เห็นว่าลูกยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และคุณแม่ก็จะทำโทษลูกตามที่ตกลงกันไว้

ทั้งนี้มีกฎหมายในหลายประเทศที่ระบุว่า ไม่อนุญาตให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรืออายุน้อยกว่า 18 ปี มีมือถือไว้ในครอบครอง และระบุว่าผู้ใหญ่ที่ให้โทรศัพท์มือถือลูกก่อนวัย ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่พ่อแม่ เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้

สุดท้าย ถ้าเด็กแสดงความก้าวร้าวรุนแรงออกมาแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร

ความรุนแรง ถ้ามีการตอบสนองด้วยความรุนแรง ความรุนแรงก็จะทวีคูณ เด็กแต่ละคนเลือกแสดงความรุนแรงด้วยวิธีที่แตกต่างกัน เด็กบางคนเลือกที่จะระบายออกมา แต่เด็กบางคนเลือกที่จะเก็บไว้ในใจ

กรณีเด็กในข่าวเลือกที่จะเขียนระบายออกมา เป็นการส่งสัญญาณบอกว่าเด็กไม่ไหวแล้ว จึงต้องระบายออกมา เท่าที่พอจะทำได้

การที่เด็กใช้ถ้อยคำรุนแรง บอกได้ว่าสิ่งที่เด็กได้รับมาก็รุนแรงมาก ดังนั้นคุณพ่อและคุณแม่จึงไม่ควรใช้วิธีที่รุนแรงกับลูก ทั้งการใช้น้ำเสียง การประชดประชัน โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกาย

ถ้าหากเด็กเลือกที่จะเก็บไว้ในใจ เด็กก็อาจจะไประบายออกกับคนอื่นที่อ่อนแอกว่า หรือที่เราเรียกว่าการบูลลี่คนอื่น รวมทั้งเก็บกด ซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมที่แปลกแยกเพราะไม่พอใจในชีวิตตัวเอง เหมือนบาดแผลที่มันเกิดขึ้นแล้ว ดีที่สุดมันก็จะกลายเป็นแผลที่แห้งสนิท แต่มันก็ยังมีอยู่แน่นอน

ทางออกที่ดีที่สุดคือการช่วยลูก อาจจะเริ่มจากเข้าใจลูกก่อน ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูก

ทำไมเด็กถึงเลือกที่จะต่อต้านคุณแม่เพื่อแลกกับการเล่นโทรศัพท์มือถือ

กรณีที่เด็กเขียนจดหมายถึงคุณแม่ บางทีเด็กอาจจะรู้สึกว่า ถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือก็ไม่เหลืออะไร เพราะเขาไม่เชื่อว่าสายสัมพันธ์มันมีอยู่จริง และเขาเชื่อว่าสายสัมพันธ์ในโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อนในอินเทอร์เน็ต หรือเกมออนไลน์เป็นสิ่งเดียวที่เขาได้รับการยอมรับ และคุณแม่กลับไปทำลายโลกเดียวของเขา ทำให้เขาแสดงพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว

เราจึงต้องมองย้อนกลับไป โลกในชีวิตจริงของเด็กคนนี้เป็นอย่างไร ได้รับการยอมรับไหม ไม่มีพ่อแม่หรือเพื่อนที่เข้าใจเขาใช่ไหม ดังนั้นปัญหานี้ ผู้ใหญ่ต้องมองให้รอบด้าน ไม่ได้มองว่าเป็นเพียงเรื่องของเด็กที่ติดโทรศัพท์มือถืออย่างเดียวเท่านั้น

 

สัมภาษณ์วันที่ 4 ธันวาคม 2561

Panitnun W.

'แพม' ไม่มีลูกเป็นของตัวเอง แต่รักเด็กเป็นชีวิตจิตใจ ว่างไม่ได้ต้องหาคลิปเด็กมาดู ถ้าได้ดูคลิปเด็กก่อนนอนนี่คือจะฟินมาก และที่ชอบมากอีกอย่างคือ แซลมอน ความฝันคือ ถ้ามีเงินจะเปิดฟาร์มแซลมอน

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST