READING

ทำไมเด็กต้องร้องไห้ แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไรกับการร้อ...

ทำไมเด็กต้องร้องไห้ แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไรกับการร้องไห้นั้น

พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าการร้องไห้งอแงของลูกเป็นเรื่องกวนใจและน่ารำคาญ อาจเพราะชุดความเชื่อที่คิดว่าน้ำตาเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ คนที่ร้องไห้เป็นคนอ่อนแอ และเพราะความหวังดี ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กอ่อนแอ จึงพยายามสอนให้ลูกเข้มแข็งด้วยการห้ามไม่ให้ลูกร้องไห้ออกมา หรือถ้าลูกร้องไห้แล้ว ก็อยากจะทำทุกทางให้ลูกหยุดร้องไห้ให้เร็วที่สุด

สำหรับผู้ใหญ่บางคน การได้เห็นเด็กร้องไห้บ้างนานๆ ครั้ง ได้เข้าไปปลอบไปโอ๋บ้าง นานๆ หน ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดูดีอยู่ แต่หากต้องเจอกับเด็กที่ร้องไห้งอแงบ่อยหรือง่ายเกินไปแล้วละก็ จากความน่ารักน่าเอ็นดู ก็จะกลับกลายเป็นตรงข้ามแล้วคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่อย่างเราควรจะให้ความสำคัญกับการร้องไห้ของเด็กหรือไม่อย่างไรนั้น เราลองชวน พญ.ปรารถนา เจรียงประเสริฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ มาให้คำตอบว่าการร้องไห้ของเด็กบอกอะไรเราได้บ้าง

เด็กร้องไห้เพราะอะไร

การร้องไห้ต้องแบ่งตามช่วงวัย เช่น ถ้าเป็นเด็กทารก พัฒนาการทางภาษายังไม่ดี สื่อสารยังไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น การร้องไห้ในเด็กวัยทารก ก็เป็นวิธีการที่เด็กใช้สื่อสารกับผู้เลี้ยงดูเขา

การร้องไห้ของเด็กทารก อาจจะหมายถึงทุกอย่าง เช่น ท้องผูก ปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระ ปวดท้อง หิว คัน หรือรู้สึกไม่สบายตัว

แต่ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นอีกนิด เริ่มพูดคุย สื่อสารได้บ้าง การร้องไห้ของเขาก็จะเริ่มสื่อถึงอารมณ์มากขึ้น เช่น กังวลใจ เสียใจ ผิดหวัง เศร้าใจ เช่น ในเด็กเล็กบางคนอยากได้ของเล่น แต่พ่อแม่ไม่ซื้อให้ เขาก็จะแสดงความผิดหวังออกมาเป็นการร้องไห้

ลักษณะการร้องไห้ของเด็กทารกแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน และไม่ได้มีรูปแบบการร้องไห้ที่ชัดเจนว่าหิวจะร้องไห้ยังไง พ่อแม่ต้องสังเกตว่าลูกร้องไห้แบบนี้ ลูกต้องการสื่อสารอะไรกับเรา

ระหว่างร้องไห้เพื่อสื่อสารกับร้องไห้เพราะอาการโคลิก (Baby colic)

อาการโคลิกมักพบในเด็กทารก ตั้งแต่อายุสองสัปดาห์ขึ้นไป แต่ไม่เกินสี่เดือน การร้องไห้แบบโคลิกจะเป็นการร้องไห้ที่รุนแรง เวลาเด็กร้อง เขาจะงอขา กำหมัดแน่น หน้าแดงก่ำ อาจจะร้องไห้นานสามชั่วโมงไม่หยุด ร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมๆ และเป็นแบบนี้ทุกวัน นานประมาณสามเดือน

สาเหตุยังไม่ชัดเจน ว่าเพราะอะไรกันแน่ แต่อาการโคลิกไม่ได้กระทบต่อระดับสติปัญญาหรือว่าพัฒนาการของเด็ก หมอแนะนำให้พ่อแม่คอยสังเกตและพยายามกำจัดปัญหาเบื้องตนที่ทำให้เด็กร้องไห้ เช่น ผ้าอ้อมเปียกหรือเปล่า ลูกหิวหรือเปล่า มีแผลมดกัดแมลงกัดไหม ให้แก้ตรงนี้เบื้องต้นไปก่อน แต่ถ้าแก้ไขตรงนี้ไปหมดแล้ว เด็กก็ยังร้องไห้อยู่ ผู้ปกครองอาจจะต้องทำใจ แล้วก็รอเวลาให้เด็กดีขึ้น

แต่ถ้าผู้ปกครองบางคนยังรู้สึกกังวล ก็พาลูกไปพบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด เผื่อช่วยแก้ไขอะไรได้ เช่น เด็กบางคนแพ้นม จึงร้องไห้เพราะรู้สึกไม่สบายหลังการกินนม เมื่อเปลี่ยนนมก็อาการดีขึ้น ร้องไห้น้อยลง

วิธีการเลี้ยงดูมีผลต่อการร้องไห้ของลูกหรือไม่ เช่น ให้ลูกนอนหลับไม่เพียงพอ ลูกจึงตื่นมาร้องไห้งอแงทุกเช้า

ให้ลองเช็กเบื้องต้นก่อนว่าเด็กนอนพอหรือเปล่า ส่วนมากที่เด็กงอแง อันแรกอาจจะเป็นเพราะว่ากลางคืนนอนดึกเกินไป นอนไม่ครบแปดชั่วโมง พ่อแม่ลองพยายามเลื่อนเวลานอนให้เร็วขึ้น และสังเกตดูว่าตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วลูกเป็นยังไง ลูกรู้สึกสดชื่นหรือเปล่า อย่างที่สองก็คือบรรยากาศตอนเช้า พอลูกไม่ยอมตื่น ก็ใช้วิธีเพิ่มเสียงดังในการปลุกลูกมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นตะคอก และต่อว่าเด็ก พอบรรยากาศตอนเช้าเป็นแบบนี้ เด็กจะรู้สึกเครียด และอาจจะร้องไห้ออกมา เพราะฉะนั้นหมอแนะนำให้ปรับบรรยากาศตอนเช้าให้มันสนุกสนานมากขึ้น ถ้ามีพี่น้อง ลองให้พี่น้องแข่งขันกันว่าใครจะลุกมาอาบน้ำได้ก่อน หรือพ่อแม่อาจจะปลุกด้วยการเล่นจักจี้กับลูก ก็จะทำให้เด็กตื่นขึ้นมาด้วยบรรยากาศตอนเช้าที่ดีกว่า

แต่บางครอบครัวลูกก็มักจะร้องไห้ตอนกลางดึก

สาเหตุที่เด็กเล็กร้องไห้ตอนกลางคืน มีสองอย่าง คือฝันร้ายกับละเมอ ซึ่งวิธีจัดการก็ไม่เหมือนกัน ถ้าฝันร้าย เด็กมักจะเป็นตอนช่วงรุ่งสาง มีอาการตกใจ ตื่นกลัว วิ่งมาเล่าความฝันให้ฟัง วิธีแก้ คือพ่อแม่ต้องปลอบใจให้ลูกสงบลง แล้วก็ให้เขากลับไปนอนตามปกติ แต่ว่าถ้าเป็นอาการละเมอ เด็กจะไม่ตื่น แต่อาจจะมีตะโกนขึ้นมา ร้องอืออาขึ้นมา พูดนิดหน่อยบ้าง เป็นเรื่องเป็นราวบ้าง แต่ว่าไม่ได้ลืมตาตื่น ถ้าเด็กละเมอแบบนี้ เราไม่ต้องไปลุก เพราะจริงๆ เขาหลับอยู่ เขาเหมือนแค่กำลังฝันหรืออะไรสักอย่าง มันเป็นกระบวนการของร่างกายที่มีการขยับตัว แต่ถ้าผู้ปกครองไม่รู้ ไปกระตุ้นหรือไปปลุกเขา เด็กตกใจตื่นขึ้นมาก็อาจจะร้องไห้หนักกว่าเดิม

เด็กที่ไปโรงเรียนทุกครั้ง ร้องไห้ทุกครั้ง เป็นเพราะอะไร

ส่วนมากอาการนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กวัยอนุบาลหรือวัยประถม เพราะว่าชีวิตตอนปิดเทอม เขาสบายมาตลอด พอเปิดเทอมปุ๊บ ต้องตื่นเช้า ต้องมีการปรับตัวหลายอย่าง เด็กจะรู้สึกวิตกกังวล เลยส่งผลให้ร้องไห้

ผู้ปกครองควรจะหนักแน่น ทำให้ลูกรู้ว่า ไม่ว่าอย่างไรลูกก็ต้องไปโรงเรียนทุกวัน พยายามไม่ให้ลูกหยุดเรียนพร่ำเพรื่อ

การร้องไห้ที่มาจากความไม่อยากไปโรงเรียน ก็มีความรุนแรงแตกต่างกัน บางคนร้องไห้นิดเดียว แต่ก็ยอมไปทุกวัน บางคนก็ร้องไห้หนัก จนมีอาการปวดหัว ปวดท้องร่วมเข้ามาด้วยทำให้ผู้ปกครองเริ่มสับสนว่าวันนั้นควรจะให้ลูกหยุดดีไหม ข้อแนะนำก็คือให้ดูตามความรุนแรง ถ้าลูกป่วยจริง อาเจียน ไข้ขึ้นสูง หน้าแดง แบบนี้ก็อนุญาตให้หยุดได้ แต่ถ้าปวดหัวหรือปวดท้องนิดหน่อย อย่างนี้ไม่ควรให้ลูกหยุด และก็บอกลูกว่าถ้าไปโรงเรียนแล้วหนูไม่ไหวจริงๆ ให้ขอคุณครูไปห้องพยาบาล เพราะมันจะมีกลุ่มโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ร้องไห้และกังวลเรื่องการไปโรงเรียนบ่อยๆ เราเรียกว่า ภาวะกลัวการไปโรงเรียน (School Refusal)

ถ้าพ่อแม่รู้สึกว่าลูกเราร้องไห้ง่ายกว่าลูกคนอื่น

แสดงว่าพ่อแม่พยายามไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเบื้องต้นว่าธรรมชาติของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน หรือเลี้ยงดูเหมือนกันทุกอย่าง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพ่อแม่คือเข้าใจธรรมชาติของลูก ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นก่อน ลองสังเกตว่าลูกจะร้องไห้ในเหตุการณ์อะไรบ้าง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยง ผู้ปกครองบางคนชอบแหย่ให้ลูกร้องไห้ ไปขู่ให้ลูกกลัวโดยไม่จำเป็น ถ้าเรารู้ว่าลูกเป็นเด็กเซนซิทีฟ เราก็ไม่ควรไปกระตุ้น

เด็กบางคนผ่านโซนของเล่นในห้างฯ เห็นทีไรก็ร้องไห้อยากได้ของเล่นทุกที เราก็หลีกเลี่ยงโดยไม่ต้องไปเดินผ่านตรงนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือเข้าใจลูกเรา สังเกตลูกเราเยอะๆ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น

ลูกร้องไห้ง่ายเพราะว่าเป็นเด็กอ่อนแอหรือไม่

หมอคิดว่าการร้องไห้ไม่ใช่ความอ่อนแอนะ อาจจะเป็นชุดความเชื่อที่เรามีตั้งแต่ดั้งเดิม บางครอบครัวก็ตั้งกฎขึ้นมาเลยว่าห้ามร้องไห้ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ต้องเข้มแข็ง อดทน ซึ่งจะส่งผลเสียกับเด็ก เพราะถ้าเด็กถูกห้ามไม่ให้ร้องไห้ ความอึดอัดจะสะสมอยู่ข้างใน เขาไม่สามารถระบายออกมาได้ เด็กบางคนไม่รู้จะทำยังไง เขาก็ทำร้ายตัวเอง ทำลายข้าวของ

ถ้าให้หมอเปรียบเทียบนะ ให้ลูกร้องไห้ยังดีกว่าที่จะปล่อยให้ลูกทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนอื่น เพราะฉะนั้นการร้องไห้ไม่ใช่ความอ่อนแอหรอก

ไม่อยากพาลูกออกไปไหน เพราะกลัวลูกร้องไห้เสียงดังรบกวนคนอื่น

ถ้าเขาไม่ได้ออกไปไหนเลย เขาก็ไม่ได้เจอสังคม ไม่ได้เจอสถานการณ์ต่างๆ หมอก็คิดว่าพาลูกออกไปข้างนอกบ้าง แต่เราก็ต้องทำข้อตกลงกับเขาก่อนออกจากบ้าน ว่าวันนี้แม่จะไปห้างฯ นะ แต่ว่าวันนี้เราจะไม่มีการซื้อของเล่นนะ และถ้าสมมติลูกร้องไห้จะเอาของเล่น แม่ก็จะพาลูกกลับบ้านทันที ลูกก็อดไปทำนู่นทำนี่อีกหลายอย่าง แต่ถ้าลูกทำตัวน่ารัก ไม่ร้องไห้งอแง ลูกจะได้สิทธิ์พิเศษไปกินขนม ลองพูดให้เขาเห็นว่าถ้าเขาทำแบบนี้ จะได้ผลอย่างไร แล้วเราก็ต้องพูดจริงทำจริง ถ้าไปแล้ว เขาร้องไห้อาละวาดขึ้นมา เราก็พากลับทันที เราก็ทำให้เขาเสียสิทธิ์ที่จะได้กินขนม ให้ลูกเห็นว่าเราเอาจริง ครั้งต่อไปเขาก็จะพยายามไม่ร้องไห้งอแงอีก

ถ้ากลัวว่าเสียงลูกร้องจะไปรบกวนคนอื่น ก็รีบเปลี่ยนสถานที่ พาเด็กไปอยู่ที่อื่น เช่น อยู่ในห้างฯ แล้วลูกร้องไม่หยุด ก็พาลูกออกไปเดินหน้าห้างฯ ไปอยู่ลานจอดรถ ที่อากาศโล่งๆ หรือเข้าไปนั่งในรถเปิดแอร์เย็นๆ แล้วค่อยๆ พูดกับเขา

ถ้าให้หมอเปรียบเทียบนะ ให้ลูกร้องไห้ยังดีกว่าที่จะปล่อยให้ลูกทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนอื่น เพราะฉะนั้นการร้องไห้ไม่ใช่ความอ่อนแอหรอก

แล้วพ่อแม่ควรจัดการอย่างไร

สำหรับเด็กเล็กที่ไม่ใช่วัยทารก หมอจะแบ่งออกเป็นสองสถานการณ์ สถานการณ์แรก คือ เด็กร้องไห้เพราะรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง กับสถานการณ์ที่สอง คือ ร้องไห้อาละวาดเพราะถูกขัดใจ

สถานการณ์แรก ถ้าลูกร้องไห้ เพราะเสียใจ หรือผิดหวัง เทคนิคแรกที่หมอจะแนะนำ คือ พ่อแม่ควรสะท้อนอารมณ์ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าถ้าเราเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ คนนี้ ที่เจอสถานการณ์แบบนี้ เขาน่าจะรู้สึกอย่างไร แล้วเราก็สะท้อนออกไป เช่น หนูกำลังเสียใจอยู่ใช่ไหม หนูกำลังผิดหวังอยู่ใช่ไหม ซึ่งเทคนิคการสะท้อนอารมณ์ตรงนี้ จะเกิดผลดีต่อเด็ก เพราะจะช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น พัฒนาเรื่อง EQ ของเด็ก พอคุณแม่สะท้อนอารมณ์มาอย่างนี้ จะทำให้เขารู้สึกว่าแม่เข้าใจ และกจะสงบลงได้ง่ายขึ้น ส่วนเทคนิคที่สอง คือเบี่ยงเบนความสนใจ เราจะไม่ให้เด็กร้องไห้นาน พอเด็กร้องไห้สักพักพ่อแม่ก็เข้าไปหา และชวนไปทำอย่างอื่น แป๊บเดียวเด็กก็จะลืมเรื่องที่เขาเสียใจ  และเทคนิคที่สาม คือชมเชยวันไหนที่ลูกร้องแป๊บเดียวหยุด ก็ชมว่าเขาเก่งขึ้น เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าพ่อแม่อยากให้เขาร้องไห้แป๊บเดียว ต่อไปเขาก็จะพยายาม

ในสถานการณ์ที่สอง ถ้าเด็กร้องอาละวาดงอแง จะเอาของเล่นให้ได้วิธีที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือ เพิกเฉย ไม่สนใจ ก็ปล่อยเด็กร้องไห้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าไม่ว่าเขาจะร้องแค่ไหน พ่อแม่ก็ไม่ตามใจ เมื่อนั้นแหละ พฤติกรรมร้องไห้อาละวาดก็จะน้อยลง แต่ถ้าผู้ปกครองทำในทางตรงกันข้าม พอเด็กร้องไห้อยากได้ของเล่น ก็ตัดรำคาญด้วยการตามใจ ให้ของเล่นไปเลย เด็กจะได้หยุดร้อง เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า นี่คือจุดอ่อนของพ่อแม่ ถ้าอยู่ห้างฯ แล้วทำแบบนี้จะได้ของเล่น รอบหน้าเขาก็จะทำอีก

ความเข้าใจจากพ่อแม่ ช่วยให้เด็กหยุดร้องไห้ได้

ถ้าเด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจและอยู่เคียงข้างเขา ยอมรับที่เขาเป็นแบบนี้ เขาก็จะสงบลง แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมรับ เขาก็ยิ่งเครียด และร้องไห้ต่อไป

พ่อแม่จะแสดงออกว่าเข้าใจได้อย่างไร

บางทีพ่อแม่ลืมที่จะใช้ภาษากาย เรามักจะพูดปลอบให้เด็กหยุดร้องไห้เพียงอย่างเดียว แต่สีหน้า ท่าท่าง น้ำเสียง การโอบกอด และการลูบหัว ก็สามารถปลอบประโลมเขาได้เหมือนกัน การปลอบที่ดีคือใช้ทั้งภาษาพูดและภาษากายร่วมกัน

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำเลยเมื่อลูกร้องไห้งอแง

การตำหนิลูก หรือพูดว่า หยุดร้องไห้เดี๋ยวนี้นะ! ทำไมหนูเป็นเด็กอย่างนี้ หมอว่ามันไม่โอเค เพราะเด็กจะรู้สึกเสียใจมากขึ้นกว่าเดิม บางทีพ่อแม่ไปขู่ลูกว่าจะทิ้ง ขู่ว่าจะไม่รัก เพื่อให้เขาหยุดร้องไห้ ซึ่งการขู่เด็กแบบนี้ จะทำให้เด็กตอบสนองออกมาสองแบบด้วยกัน เช่น ขู่แล้วอาจจะร้องไห้หนักกว่าเดิม หรือ ขู่แล้วเด็กหยุดร้องก็จริง แต่ข้างในใจเด็กจะรู้สึกปั่นปวนมาก เพราะฉะนั้น วิธีเหล่านี้ไม่ควรทำ หรือคุณพ่อคุณแม่บางคนยิ่งลูกไม่ยอมหยุดร้องไห้ก็ใช้วิธีตีซ้ำ ซึ่งมีแต่จะส่งผลเสียต่อจิตใจและอารมณ์ของเด็กทั้งนั้น

 

 

สัมภาษณ์วันที่ 29 ตุลาคม 2561

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST