READING

คุยกับสามผู้ก่อตั้งมูลนิธิเมล็ดฝัน: ไม่ว่าต้นไม้จะ...

คุยกับสามผู้ก่อตั้งมูลนิธิเมล็ดฝัน: ไม่ว่าต้นไม้จะใหญ่โตแค่ไหนก็เกิดมาจากเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เมล็ดเดียว

คงจะดีไม่น้อยถ้าเด็กจะสามารถได้เรียนรู้ตามความถนัด ตามความสนใจของตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่เด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่เขาสนใจจะทำให้เกิดความภูมิใจในตัวเองและสามารถสร้างความเป็นตัวเองได้ และเพราะเด็กทุกคนต่างมีศักยภาพในตัวเองที่ไม่เหมือนกัน การเล่นและการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่หลากหลายเป็นส่วนสำคัญในการค้นหาศักยภาพในตัวเด็ก

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ คุณดุจฤดี อึ้งทรงธรรม (หมวย), คุณอลิสสา อุปศรี (กิ๊บ) และ คุณคุมิ มัทสุโอะ (คุมิ) ก่อตั้ง ‘มูลนิธิเมล็ดฝัน’ องค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาโดยเน้นการพัฒนาศักยภาพและสร้างความภูมิใจให้เด็ก แห่งนี้ขึ้นมาจากประสบการณ์ในการทำงานด้านเด็กและอุดมการณ์ที่มีร่วมกัน คืออยากให้เด็กมีสิ่งแวดล้อมที่เติบโตอย่างสนุก เรียนรู้ด้วยความสนใจของแต่ละคน เพี่อให้มีความภูมิใจในตัวเอง สร้างความเป็นตัวเองได้

คุณดุจฤดี อึ้งทรงธรรม (หมวย), คุณอลิสสา อุปศรี (กิ๊บ) และ คุณคุมิ มัทสุโอะ (คุมิ)

“การเล่นที่เด็กไม่รู้สึกว่าโดนบังคับ คือการเรียนรู้ของเด็ก”

อะไรคือจุดขับเคลื่อนที่ทำให้มารวมตัวกันก่อตั้งมูลนิธิเมล็ดฝันขึ้นมา

หมวย: อย่างแรกต้องย้อนไปที่วิสัยทัศน์ของเราก่อน คือการมุ่งเน้นการสร้างทัศนคติที่ทำให้เห็นคุณค่าความแตกต่างของแต่ละคน แต่ละวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความเท่ากันในสังคม ซึ่งตรงนี้เราได้มาจากประสบการณ์ของเพื่อนๆ และพวกเราที่ทำงานองค์กรเกี่ยวกับเด็กเหมือนกัน เราก็มาวิเคราะห์ว่าการให้มันเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ว่าอะไรที่ทำให้มันยั่งยืนหรือว่ามันมีความต่อเนื่อง

หนึ่งเลยก็คือคนทำงานด้านเด็ก รวมไปถึงคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ภาครัฐ ภาคเอกชน รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองแล้ว ก็น่าจะพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กเกิดการพัฒนาได้

กิ๊บ: เราอยากจะให้ผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องสร้างความภูมิใจและการสร้างเสรีภาพของเด็ก อย่างตัวกิ๊บกับพี่หมวยเคยไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น เห็นเขาสอนเด็กเกี่ยวกับสร้างความเป็นตัวของตัวเอง เลยมองว่ามันต่างกับประเทศไทย กลับมาก็เลยอยากจัดกิจกรรมที่ต่างออกมาจากที่เคยทำ คือเริ่มเน้นให้เด็กเลือกเอง ทำเอง

ที่สำคัญคือเมื่อก่อนเราทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนต่างๆ ครูที่นั่นเขาตั้งใจทำงานมาก แต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสด้านอื่นมากนัก เราก็เลยรู้สึกอยากเป็นกำลังใจให้พวกเขาด้วยว่าทำต่อไปเถอะ ยังไงก็มีเพื่อนๆ หรือคนที่ทำงานเหมือนกับพวกเรานะ แล้วก็คอยสร้างกำลังใจให้กับคนทำงานด้านเด็กด้วยกัน

ไปฝึกงานด้านไหนที่ญี่ปุ่นถึงทำให้เห็นความแตกต่างอย่างนั้น

กิ๊บ: กิ๊บฝึกงานที่โรงเรียนอนุบาล คือกิ๊บเป็นคนชอบหนังสือมาก เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดเด็กมาสิบปี เลยได้ทุนไปฝึกงานด้านเด็ก กิจกรรมด้านเด็ก ซึ่งมันต่างจากที่เราเคยทำ พอเห็นแล้วก็เลยอยากนำกิจกรรมนั้นมาเผยแพร่

อยากให้ลองช่วยยกตัวอย่าง

หมวย: ถ้าเป็นของพี่น่าจะเป็นเรื่องของการเล่น ที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจังหวัดไหนเขาจะมีพื้นที่ให้เด็กเล่น แต่บ้านเรา แค่ต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ก็มีความต่างกันแล้ว บ้านเราค่อนข้างอยู่ในกรอบ ในหลักสูตร การจัดพื้นที่เล่นครูก็เข้าใจว่ามันต้องเป็นไปตามนั้น

กิ๊บ: จากที่ตัวเองได้เรียนรู้มา คิดว่ามุมมองของผู้ใหญ่ของทั้งสองที่ก็แตกต่างกัน ตอนไปฝึกงานกิ๊บได้มีโอกาสไปอยู่ร่วมในกระบวนการคิดของครูที่นั่น กิ๊บรู้สึกว่าเขาทำกันยาวนานและลึกซึ้งกว่าเรามาก จากตัวเราเองที่ทำกิจกรรมแบบคิดแผนว่าวันนี้ทำอะไร เสาร์อาทิตย์นี้จะจัดกิจกรรมอะไรดี แต่ครูที่นั่นเขามองที่เป้าหมายปลายทางจริงๆ เลยว่าอยากให้เด็กเรียนรู้อะไรผ่านการเล่น โดยที่ผู้ใหญ่เตรียมการทุกอย่างแล้วมาเล่นด้วยกัน กิ๊บเลยมองว่าผู้ใหญ่ที่นั้นเขามีพลังมาก และเขาก็คอยสังเกตเด็กตลอดเวลา

หมวย: แต่จริงๆ หลักสูตรของไทยกับญี่ปุ่นคือมีการเล่นเหมือนกันนะ แต่การนำมาใช้ และการเข้าใจอาจจะต่างกันไปบ้าง

หมายความว่าการเล่นที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

กิ๊บ: ผู้ใหญ่ต้องมาเล่นกับเด็ก เล่นกับทุกอย่างรอบตัว อาจจะเป็นของเล่นที่มีขายทั่วไปบ้าง ขยะ หรือของเหลือใช้ ที่ผู้ปกครองเอามาทำความสะอาดแล้วให้ลูกถือมาโรงเรียน ส่วนครูก็จะจัดมุมไว้ให้ ครูมีกรรไกร มีสก็อตเทป มีอุปกรณ์วางไว้ให้ใช้ เด็กๆ ก็จะคิดเองว่าจะทำเป็นของเล่นอะไร เด็กๆ จะได้ทำของเล่นแบบอิสระ ครูก็คอยช่วยหาอุปกรณ์เพิ่มให้และคอยช่วยดู แต่ไม่ใช่ว่าดูเพื่อบอกว่าไม่ใช่นะ ต้องทำแบบนี้ ต้องติดตรงนั้น เด็กก็จะมีความอยากทำเรื่อยๆ แล้วพออยากทำเรื่อยๆ เด็กก็ต้องคิดเรื่อยๆ มันก็จะเกิดการเรียนรู้ของเขาเอง

เห็นได้ชัดเลยไหมว่าเด็กไทยไม่ได้ถูกส่งเสริมให้เล่นขนาดนั้น

กิ๊บ: ก็รู้จากประสบการณ์ตัวเอง ทั้งจากตอนเด็กๆ กับการจัดกิจกรรมห้องสมุดในโรงเรียน  เราเห็นว่าที่มันไม่เหมือนกันเลย ไม่เหมือนตรงที่ว่าครูอาจจะต้องเล่นกับเด็กจริงๆ ไม่ใช่ว่ายืนดูเด็ก หรือว่าการเตรียมสภาพแวดล้อมที่ของเรายังไม่ค่อยมี

อย่างการจัดบอร์ดบ้านเรา เน้นการจัดบอร์ดอย่างที่เห็นกัน แต่ที่ญี่ปุ่นเขาจะเป็นบอร์ดที่จากผลงานเด็กจริงๆ เช่นภาพวาด หรือการแนะนำตัวก็จะเป็นรูปที่เด็กๆ วาดเอง เขาเน้นการมีส่วนรวมของเด็กในห้อง โต๊ะ เก้าอี้ต่างๆ เคลื่อนที่ได้ตลอด

จริงแล้วครูไทยเราก็ตั้งใจทำงานมาก แต่ก็อาจจะขาดไอเดียหรือวิธีการที่ทำ แล้วมันไม่ยาก เราก็เลยอยากเอาวิธีการตรงนั้นมาแนะนำเผยแพร่ หรือถ้ามีโอกาสก็อยากให้ลองไปดูด้วยตาตัวเอง เลยเกิดเป็นโครงการ Study Tour ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนที่เราพยายามจะจัดทุกสองปี เพราะบางทีการได้เห็นด้วยตาตัวเองมันจะเก็ต แล้วก็อยู่ไปได้นาน คนที่ได้ก็คือเด็ก แล้วครูก็สนุกไปด้วย

มีความเปลี่ยนแปลงหลังจากโครงการ Study Tour เกิดขึ้นหรือหลังจากที่มูลนิธิเริ่มผลักดันบ้างไหม

กิ๊บ: มีค่ะ อย่างแรกเลยทุกคนบอกได้ไอเดียดีมาก อย่างที่สองคือทุกคนมีเครือข่ายกันในแต่ละรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นก็จะมีทั้งครู ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน เขาก็จะแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่ม อย่างเช่นเมื่อก่อนเคยตักอาหารให้เด็ก เดี๋ยวนี้เปลี่ยนให้เด็กตักอาหารเอง ให้เด็กบอกเองว่าจะตักเท่าไร อิ่มไหม ตักเพิ่มไหม หรือการเล่นก็เป็นการเล่นที่มีอิสระมากขึ้น พยายามจัดกิจกรรมแบบให้เด็กคิดเอง เลือกเอง จากที่เคยให้ทุกคนทำเหมือนกัน ก็มีให้เด็กได้เลือกมากขึ้น เราเห็นแบบนี้ก็ดีใจ

คุมิ: ผู้ใหญ่เริ่มสังเกตเด็กๆ มากขึ้น แล้วผู้ใหญ่เองก็ภูมิใจและมั่นใจมากขึ้น สามารถถ่ายทอดและแชร์ปัญหากันได้ กลายเป็นเครือข่ายเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน

หมวย: บางคนจากเคยใส่กระโปรงไปทำงาน ก็เปลี่ยนเป็นใส่กางเกงวอร์มไปเล่นกับเด็ก เพื่อนๆ ครูก็ตกใจว่าทำไมใส่กางเกงมา เขาก็บอกว่าเอาไว้เล่นกับเด็ก เราก็ต้องใส่ชุดแบบนี้ แล้วก็ถ่ายรูปมาให้เราดูว่าใส่กางเกงวอร์มไปทำงานทุกวัน (หัวเราะ)

คำว่า ‘สอน’ ของบ้านเรา มันมีกรอบว่าเด็กต้องอ่านออกเขียนได้ จริงๆ ครูปัจจุบันที่เราทำงานด้วยกัน เขาก็เข้าใจว่าการเล่นสำคัญ แต่มันยังทำไม่ได้ ไม่แน่ใจว่ามันติดอะไร แต่เขาก็รู้แหละว่าการเล่นมันพัฒนาเด็กได้ มันถึงได้ออกมาเป็นชั่วโมงกิจกรรมหรือชั่วโมงศิลปะ แค่มันยังไม่ได้ออกมาเป็นภาคปฏิบัติทั้งหมด

เป็นเพราะว่าบ้านเราไม่มีแนวคิดเรื่องการปล่อยเด็กเล่นอย่างอิสระมาก่อนหรือเปล่า

กิ๊บ: ครูบ้านเราทำงานหนักนะ เพราะว่าครูหนึ่งคนต้องดูแลเด็ก 20-30 คน แล้วหลักสูตรบ้านเราก็มีข้อจำกัดเยอะ นอกจากดูเด็กแล้วยังต้องพัฒนาตรงนั้น ทำเอกสารตรงนี้ ก็อาจจะไม่ค่อยมีเวลารีแล็กซ์หรือเล่นกับเด็ก

อย่างครูญี่ปุ่นเขาวางงานไว้ข้างหลังเลย ชั่วโมงที่เล่นกับเด็กเขาก็จะเล่นกับเด็ก หรือถ้าไม่เล่น เขาก็ดูเด็กเล่นหรือเตรียมของเอาไว้ พับกระดาษวางไว้ แล้วคอยสังเกตเด็กๆ แต่ครูบ้านเราอาจจะงานเยอะ แล้ววิธีการของบ้านเราแต่ละรุ่นก็เป็นแบบนี้มา

ครูบ้านเรา ถ้าไม่สอนหนังสือก็อาจจะถูกมองว่าปล่อยให้เด็กเล่นแบบนี้ได้ยังไง

กิ๊บ: ใช่ๆ คือคำว่า ‘สอน’ ของบ้านเรา มันมีกรอบว่าเด็กต้องอ่านออกเขียนได้ จริงๆ ครูปัจจุบันที่เราทำงานด้วยกัน เขาก็เข้าใจว่าการเล่นสำคัญ แต่มันยังทำไม่ได้ ไม่แน่ใจว่ามันติดอะไร แต่เขาก็รู้แหละว่าการเล่นมันพัฒนาเด็กได้ มันถึงได้ออกมาเป็นชั่วโมงกิจกรรมหรือชั่วโมงศิลปะ แค่มันยังไม่ได้ออกมาเป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดเหมือนที่ญี่ปุ่น

มีหลายคนถามเราว่าไม่เห็นครูญี่ปุ่นจะสอนเขียนเลย แต่ทำไมเด็กเขียนกันได้ ก็เพราะเขามีหนังสือนิทาน มีหนังสือภาพ หรือมีวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้เด็กเรียนรู้พอเด็กเรียนรู้ พอเด็กสนใจ เด็กก็หยิบดินสอขึ้นมาลองเขียน ครูก็ค่อยบอกว่าเขียนแบบนี้นะ

ที่ญี่ปุ่นเข้าใจกันดีว่าถ้าลูกมาโรงเรียนก็จะได้เล่น ไม่ได้มาเพื่อการอ่านออกเขียนได้

คุมิ: เมื่อก่อนโดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาลก็ยังมีการสอนหนังสือเป็นหลัก คล้ายกับโรงเรียนประถม แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้าใจกันแล้วว่า การสอนหนังสือตั้งแต่อนุบาลกับเริ่มสอนตอนประถมผลออกมาไม่ค่อยต่างกัน คือให้เล่นดีที่สุด จะได้มีทักษะในการคิด แล้วในระดับโลกก็รับรองว่าการให้เด็กมีทักษะคิดด้วยตัวเอง การแก้ไขปัญหา อันนี้มาจากการเล่นของเด็กปฐมวัย อันนี้คือกระแสปัจจุบันของคนญี่ปุ่น

ซึ่งมีความแตกต่างจากของไทยอยู่

หมวย: ตอนนี้เท่าที่เราได้สัมผัสกับพ่อแม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็เข้าใจมากขึ้น เขาก็เริ่มเลือกโรงเรียนให้ลูกมากขึ้น หรือก็ไม่เลือกเลยก็มี (หัวเราะ) หมายถึงเลือกโฮมสกูลให้ลูกแทนไปเลย ซึ่งพี่มองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีนะ

ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว

หมวย: เปลี่ยนนะ อย่างเฉพาะกลุ่มที่เจออย่างกลุ่ม Study Tour ที่ไปด้วยกันมา กลับมาเขาก็มีคอนเซปต์ชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นเมื่อสิบปีก่อน ต้องมีเด็กเยอะๆ มีรายได้เยอะๆ โรงเรียนถึงจะอยู่ได้ มีเรื่องของความอยู่รอดของโรงเรียน ความอยู่รอดของการบริหาร แต่ที่พี่เจอกับกลุ่ม Study Tour คือเขาบอกว่ามีเด็กไม่เยอะหรอก รายจ่ายก็พอประมาณ ส่วนเรื่องที่พ่อแม่คาดหวังว่าลูกฉันเข้ามาแล้วจะเน้นวิชาการสำหรับการไปสอบแข่งขัน เขาก็จะบอกไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าที่นี่ไม่ใช่เป้าหมายของคุณ เราก็เออ เขาเจ๋งดีนะ ชัดเจนไปเลย

เพราะแบบนี้หรือเปล่า ทางมูลนิธิเลยจัดกิจกรรมพัฒนาด้วยกิจกรรมผ่านการเล่นให้ผู้ปกครองไม่ใช่แค่เปิดอบรมเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านเด็ก

หมวย: ใช่ค่ะ เพราะส่วนใหญ่ผู้ปกครองที่พาลูกมาก็จะมีความคิดคล้ายกันคืออยากให้ลูกได้เล่นแบบอิสระ มีน้องผู้ชายที่ชอบหนังสือมากๆ คุณแม่ก็พามาบ่อย แต่เขาจะไม่ค่อยคุยกับพวกเราแล้วก็แทบไม่ทำกิจกรรมเลย จะอ่านแต่หนังสืออย่างเดียว มาทีไรก็อ่านหนังสือ อยู่แต่มุมหนังสือ จนวันนึงเขาเจอของเล่นที่เขาชอบ เขาก็เริ่มโอเค เริ่มเข้ามาทำกิจกรรมกับเพื่อนมากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายอย่างที่เขาไม่อยากทำ เราก็ไม่ได้บังคับ บอกพ่อแม่ว่าอย่าไปบังคับ เราอยากให้เด็กทุกคนรู้สึกว่าพื้นที่นี้ปลอดภัย ไม่ได้โดนบังคับ

กิ๊บ: เด็กบางคนตอนที่เรากำลังเล่านิทานก็วิ่งไปแอบ ไปเล่นอยู่คนเดียว เหมือนเขาไม่อยากฟัง แต่จริงๆ เขาก็ฟังอยู่ เพราะการฟังนิทานไม่ใช่นั่งฟังอย่างเดียว เขาวิ่งไปวิ่งมาแต่เขาก็ได้ยิน

แต่เด็กที่กล้าวิ่งไปวิ่งมา ก็เป็นเพราะเขารู้สึกปลอดภัย แต่ถ้าผู้ใหญ่มองเขาด้วยสายตาตำหนิว่าทำไมไม่นั่งฟังเหมือนเพื่อน เขาก็จะเริ่มอึดอัด พอเป็นแบบนี้ บางครอบครัวเลยไม่ค่อยอยากพาลูกไปทำกิจกรรม เพราะจะรู้สึกเปรียบเทียบ เดี๋ยวลูกไม่เล่นแบบคนอื่น ลูกไม่ให้ความร่วมมือ คุณแม่ก็จะเกรงใจลูกที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรม เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร เราอยากให้เด็กรู้สึกสนุก เรารอได้

การเล่นแบบอิสระสามารถส่งเสริมหรือพัฒนาศักยภาพอะไรในตัวเด็กได้บ้าง

คุมิ: ถ้าตอบแบบวิชาการก็เยอะนะคะ งั้นขอตอบแบบเมล็ดฝัน คือพวกเรามองว่าการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาเด็กได้ในทุกด้าน ไม่ใช่ว่าทำกิจกรรมอันนี้แล้วจะสามารถพัฒนาด้านสังคมเพิ่มขึ้นมาเลย เพราะการเล่นนั้นหมายถึงสิ่งที่เด็กรู้สึกว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ของเล่นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเด็กเล่นแล้วรู้สึกมีความสุข เราก็ถือว่าเป็นการเล่น เมื่อเด็กมีสมาธิในการเล่น ยังไงก็เกิดประโยชน์ อันนี้คือหัวใจหลักการคิดของพวกเรา

เพราะฉะนั้นเวลาที่พวกเราจะทำกิจกรรม เหมือนที่กิ๊บบอกว่าที่ญี่ปุ่น การศึกษาปฐมวัยเน้นเรื่องการจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อม คือการเล่นของเด็กมีหลายแบบ เขาต้องหาตัวเองให้เจอว่าตัวเองชอบอะไรมากที่สุด แต่บางทีถ้าเขาแบบนั่งเฉยๆ ก็จะไม่รู้อะไร แต่ที่สำคัญคือผู้ใหญ่ต้องสังเกตเด็กว่าเด็กคนนี้ชอบเล่นตรงไหน คนนี้อยู่มุมนี้หรืออยู่ที่มุมเดิมทุกวัน ถ้างั้นต้องเปลี่ยนมุมหรือเปล่า หรืออย่างเช่นด้านสังคม เด็กคนนี้ไม่ค่อยเล่นกับคนอื่นนะ เขาอาจจะยังไม่รู้จักความสนุกของการเล่นด้วยกัน อาจจะต้องมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำร่วมกัน เป็นเกมหรือกิจกรรมที่ถ้าไม่ช่วยกันก็จะไม่สนุก ซึ่งการเล่นที่เด็กไม่รู้สึกว่าโดนบังคับ คือการเรียนรู้ของเด็ก

กิจกรรมสำหรับเด็กที่มูลนิธิพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

กิ๊บ: เราไปจัดนิทรรศการหนังสือภาพที่เชียงราย ซึ่งโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการเผยแพร่นิทาน เราเชื่อจากประสบการณ์ที่ทำงานมาว่าหนังสือจะมีพลังไม่ได้อยู่ที่การอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่เป็นการสื่อสารระหว่างเพื่อนกับเพื่อนที่เปิดหนังสือแล้วนั่งดูด้วยกัน

ทำไมถึงต้องเป็นนิทรรศการหนังสือภาพ

กิ๊บ: เพราะหนังสือภาพมีพลังค่ะ อันนี้กิ๊บเห็นได้จากตัวเองก่อน เมื่อสักยี่สิบปีที่แล้วไปเจอหนังสือภาพเล่มนึงแล้วชอบมาก ทั้งเล่มมีแต่ภาพสตรอว์เบอร์รี่ เป็นสตรอว์เบอร์รี่ในแก้ว สตรอว์เบอร์รี่ในบ้าน ขนมจากสตรอว์เบอร์รี่ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเก็ตอะไรบางอย่างในการทำงาน เราเปลี่ยนวิธีคิดว่าสตรอว์เบอร์รี่ยังทำได้หลายอย่าง

หลังจากนั้นก็ดูหนังสือภาพเยอะมาก เราก็เลยอยากให้เด็กๆ ได้เจอแบบเรา เลยอยากทำเป็นนิทรรศการ วางหนังสือเยอะๆ ให้เด็กๆ เลือกเองหยิบเองได้เลย

ส่วนหนังสือภาพที่เราคิดว่าดี ก็จะเป็นหนังสือภาพที่ไม่ต้องสอนหรือให้คำตอบอะไรมาก เพราะสุดท้ายเด็กแต่ละคนก็อาจจะได้คำตอบไม่เหมือนกันอยู่ดี

คุมิ: เด็กแต่ละคนมีศักยภาพ เขาจะเลือกเองว่ากำลังอยากเรียนรู้อะไรจากความสนใจของเขาตอนนี้ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือก็ต้องเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าเขาโดนบังคับว่าคุณอายุเท่านี้ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ บอกเขาว่าอ่านเหอะ มันสนุกมาก เขาไม่อยากอ่าน แต่เขาก็ต้องอ่าน ก็ทำให้เขาไม่ชอบ

หมวย: แล้วพลังหนังสือภาพอีกอย่างคือมันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และเด็กกับเด็กที่เขาดูหนังสือด้วยกัน เราเลยเน้นหนังสือเป็นเครื่องมือ พวกเราใช้การเล่านิทานเป็นละลายพฤติกรรมเวลามีกิจกรรม เด็กๆ มีส่วนร่วมได้ และบางทีผู้ใหญ่เองนั่นแหละที่จะมีความสุขกับตรงนั้นเหมือนกัน

ทำไมถึงไปจัดไกลถึงเชียงราย

กิ๊บ: เรามีเพื่อนที่ทำร้านหนังสือมือสองอยู่ที่นั่น เขารู้จักกับเทศบาลนครเชียงราย รู้จักทุกคนในพื้นที่ ก็เลยได้จัด และจัดต่อเนื่องทุกปีมาสี่ปีแล้ว สิ่งสำคัญที่เราได้ไปทุกปีน่าจะเป็นเรื่องของการเห็นความสำคัญของผู้ใหญ่ในเทศบาลเชียงรายที่เห็นความสำคัญของกิจกรรมที่เราไปจัด

หมวย: ที่จริงก็อยากจะไปจัดหลายที่ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้หลักๆ ก็จัดที่มูลนิธิของเราเพราะถ้าออกไปต่างจังหวัด หรือไปข้างนอกก็มีค่าใช้จ่าย แล้วเราไม่ได้มีหน่วยงานมาสนับสนุน แต่รายได้มาจากการบริจาคและการเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ มากกว่า

ในมุมคนทำมูลนิธิ คิดว่าโครงการควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอะไร

คุมิ: เป้าหมายของโครงการนี้คืออยากให้ทำต่อไปเรื่อยๆ อยากทำในที่ต่างๆ มากขึ้น อยากเผยแพร่หนังสือภาพที่ดี หมายถึงไม่ได้เป็นหนังสือเพื่อสอน เราอยากปรับมุมมองของคนที่ทำหนังสือสำหรับเด็กด้วย อยากให้คนไทยรู้ว่าหนังสือภาพสำหรับเด็กที่สวยๆ มีเยอะมาก แต่ไม่ค่อยเห็นในห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชนก็ไม่มี รู้สึกเสียดายว่าทำไมเขาไม่เอามานะ บางทีอาจเป็นเพราะผู้ใหญ่ยังไม่เก็ต เราก็พยายามเผยแพร่นิทรรศการหนังสือให้ผู้ใหญ่เห็นว่า ถ้าเรามีหนังสือสวยๆ แล้วจัดวางดีๆ เด็กก็จะเลือกหยิบเอง

หมวย: เบื้องต้นจะเป็นงานส่วนท้องถิ่น เพราะว่าเป็นกิจกรรมภายในท้องถิ่นของเขาโดยตรง แต่ก็อยู่ที่มุมมองของผู้บริหารแต่ละที่ บางที่ไม่ใช่เขาไม่สนใจ แต่เขายังไม่เคยเจอเรา ถ้ามีคนรู้จักเรามากขึ้น เราก็อยากไปจัดในที่ที่เขาต้องการ เพราะความต้องการไม่ได้อยู่ที่เรา มันอยู่ในพื้นที่ของเขา เราแค่ไปทำให้เขาเห็น ต่อไปเขาจะได้ทำให้เด็กๆ ของเขาเอง

— สนใจติดตามข่าวคราวกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิเมล็ดฝันได้ที่ เฟซบุ๊กเพจมูลนิธิเมล็ดฝัน
Text and Photo: ชนานาฏ ทองมณี

Guest Writer

นักเขียนรับเชิญ (แทบ) ไม่ซ้ำหน้า ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวที่ (แทบ) ไม่ซ้ำใคร

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST