READING

นิทานที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้การเข้าสังคม...

นิทานที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้การเข้าสังคม

เมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน สิ่งที่ลูกจะต้องพบเจอคือ สภาพสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมทักษะการปรับตัวและเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมใหม่ให้ลูกไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

อาจจะเริ่มจากใช้วิธีพูดคุยเพื่อให้ลูกเข้าใจว่าโรงเรียนคืออะไร ทำไมเด็กๆ ถึงต้องไปโรงเรียน พาลูกไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักเรียนใหม่ เพื่อให้ลูกได้สำรวจและรู้สึกคุ้นเคยกับพื้นที่มากขึ้น

แต่นอกจากนั้น หนังสือนิทานเองก็เข้ามามีบทบาทในการช่วยเตรียมตัวรับมือกับสิ่งแปลกใหม่เช่นเดียวกัน วันนี้เราจึงมีหนังสือนิทานที่จะช่วยฝึกทักษะและช่วยให้ลูกเรียนรู้การเข้าสังคมมาแนะนำ 3 เรื่องด้วยกันค่ะ

1. ยิ้มสิจ๊ะ Let’s smile !

เรื่อง: ธีรยุทธ นบน้อม
ภาพและแปล: Laudine Dubeaux
สำนักพิมพ์: บรรยากาศ

socializing_fb_1-1

หนังสือนิทานสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) เกี่ยวกับเด็กหญิงยิ้ม ที่ไม่เคยฉีกยิ้มเลย ใบหน้าของเธอบึ้งตึงทำให้เธอไม่มีเพื่อน แม้แต่ฝูงผีเสื้อยังบินหนีเธอ นั่นทำให้เธอเศร้ามาก จนกระทั่งเธอได้พบกับควายตัวหนึ่งที่มีรอยยิ้มกว้าง และมีเพื่อนมากมาย ควายตัวนั้นมอบกระจกให้เธอส่อง เธอจึงพบสาเหตุที่เธอไม่มีเพื่อน เป็นเพราะใบหน้าบูดบึ้งนี่เอง เธอจึงลองยิ้มดู… นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอมีเพื่อน และฝูงผีเสื้อก็ไม่บินหนีเธออีกต่อไปแล้ว

socializing_fb_1-2

การยิ้มดูจะเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แต่บ่อยครั้งเราก็หลงลืมมันไป อย่างเด็กๆ ที่อยู่แต่ในบ้าน ห้อมล้อมไปด้วยคนที่รักและพร้อมจะเข้าหา จึงอาจลืมที่จะส่งยิ้มเพื่อแสดงความเป็นมิตรและสร้างความประทับใจแรกให้กับคนอื่น

นิทานเล่มนี้จึงมาบอกเด็กๆ ว่า “ยิ้มสิจ๊ะ” เพราะมิตรภาพเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงแค่เรายิ้ม

socializing_fb_1-3

2. เด็กชายต้นกล้า กับ ถั่วเขียวขี้เซา

เรื่อง: พิณประภา ขันธวุธ
ภาพ: จินดาพัฒน์ บุญกนกวงศ์
สำนักพิมพ์: คุณป้าใจดี

socializing_fb_2-1

เด็กชายต้นกล้าในนิทานเล่มนี้เองก็ไม่มีเพื่อนเช่นกัน ไม่ใช่เพราะเขาไม่ยิ้มนะ แต่เป็นเพราะเขาเพิ่งย้ายมาจากโรงเรียนอื่น และด้วยรูปร่างที่เล็กจิ๋วของเขา ทำให้เขาถูกเพื่อนล้อ การเริ่มต้นเข้าสังคมใหม่ที่ไม่ค่อยดีเช่นนี้ ทำให้เด็กชายต้นกล้าเลือกที่จะนิ่งเงียบ ไม่ยอมพูดคุยกับใครเลย เขาจึงไม่มีเพื่อน

นิทานได้เลือกวิธีที่จะคลี่คลายปัญหาของเด็กชายต้นกล้าได้อย่างสร้างสรรค์ โดยใช้กิจกรรมที่เด็กส่วนใหญ่มักจะได้ทำในโรงเรียน อย่างการเพาะต้นถั่วเขียวมาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจของเด็กชายต้นกล้า คุณครูสั่งการบ้านให้ทุกคนเพาะต้นถั่วเขียว และย้ำให้พูดคุยกับถั่วเขียว เพื่อมันจะได้เติบโตได้ดี เด็กชายต้นกล้าจึงต้องเริ่มพูด

“ถ้าเธอไม่พูดกับฉันก่อน ฉันก็ไม่รู้ว่าเธออยากมีเพื่อนอย่างฉันหรือเปล่าไงจ๊ะ”

socializing_fb_2-2

นอกจากนิทานจะพูดถึงประเด็นความมั่นใจแล้วนั่น ยังย้ำเรื่องการพูดจาไพเราะด้วย จากเหตุการณ์ที่เด็กชายต้นกล้าพูดไม่เพราะกับต้นถั่วเขียวในตอนแรก ทำให้มันไม่ยอมงอกโผล่ขึ้นมาจากดิน จนกระทั่งเขาพูดจาทักทายด้วยถ้อยคำไพเราะ ต้นถั่วเขียวจึงค่อยงอกออกมาทักทายเขากลับ ดังนั้นเด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าการสร้างมิตรภาพไม่ได้ขึ้นกับความกล้าทักทายเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่พูดด้วย

หมายเหตุ: นิทานเล่มนี้มีการสะกดคำว่า ‘จ้ะ’ และ ‘จ๊ะ’ ผิด
socializing_fb_2-3

3. เพื่อนคนแรก

เรื่องและภาพ: ศักดา วิมลจันทร์
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์คิดดี้

socializing_fb_3-1

หนังสือนิทานภาพไร้ข้อความเล่มนี้นำเสนออีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการเข้าสังคม นั่นคือการเปิดใจและการอนุญาตให้ตัวเองได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

socializing_fb_3-2

เรื่องราวของน้องฝ้ายที่ไปโรงเรียนอนุบาลจ๊ะจ๋าเป็นวันแรก นิทานเลือกใช้ลูกโป่งเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกที่ปิดกั้นของเด็ก โดยเด็กทุกคนจะได้รับลูกโป่งคนละ 1 ใบ ก่อนจะมีกิจกรรมละลายพฤติกรรมเป็นการเล่นเหยียบลูกโป่งใบนั้น เด็กคนอื่นๆ เมื่อลูกโป่งแตกก็สนุกสนานและเริ่มรู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกัน ยกเว้นน้องฝ้ายที่กอดลูกโป่งของตัวเองไว้แน่น และนั่งเหงาอยู่คนเดียว จนมีเด็กหญิงอีกคนเข้ามาทำความรู้จักกับน้องฝ้าย ในที่สุดลูกโป่งก็หลุดลอยออกจากมือของน้องฝ้ายไป และในตอนนั้นนั่นเองที่น้องฝ้ายได้มี เพื่อนคนแรก

socializing_fb_3-3

 

นิทานไม่จำเป็นต้องสอนองค์ความรู้ หรือปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้น แต่นิทานยังสามารถหยิบยกเรื่องราวปัญหาที่ใกล้ตัวเด็กออกมาบอกเล่า และคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อเสริมสร้าง EQ และเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ที่อ่านนั่นเอง

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกกำลังจะถึงวัยเข้าโรงเรียนก็อย่าลืมหาหนังสือนิทานที่มีแก่นเกี่ยวกับการปรับตัวมาเป็นเครื่องมือเพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกได้ก้าวเข้าสังคมใหม่อย่างกล้าหาญนะคะ


Jlada P.

กระต่ายน้อยประจำเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก ผู้ชอบไปนั่งหย่อนใจ เอกเขนกอยู่ที่เฉลียง พร้อมความคิดที่ว่าโลกยังสวยเสมอ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST