READING

ปลูกจิตวิญญาณนักอ่าน ด้วย 4 เมล็ดพันธุ์หนังสือที่ว...

ปลูกจิตวิญญาณนักอ่าน ด้วย 4 เมล็ดพันธุ์หนังสือที่ว่าด้วย ‘หนังสือ’

เปิดคอลัมน์ใหม่จากนักวาดนักเขียนนิทานประจำเพจของเรา ‘เจลดา ภูพนานุสรณ์’ คราวนี้เจลดาขอลองทำหน้าที่หยิบหนังสือนิทานหรือหนังสือภาพสำหรับเด็กที่เธอประทับใจ มารีวิวหรือแนะนำ เผื่อว่าจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาหนังสือนิทานมาอ่านให้เด็กๆ ฟังกันดูค่ะ

การเล่านิทานให้ลูกฟังเปรียบเหมือนการหย่อนเมล็ดพันธุ์นักอ่านลงในจิตใจของลูก คุณพ่อคุณแม่รดน้ำพรวนดินให้เมล็ดพันธุ์ด้วยความรัก ความอบอุ่นที่ตลบอบอวลอยู่ในบรรยากาศระหว่างเล่านิทาน และในอนาคตเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะเติบโตออกดอกผลทำให้ลูกเกิดนิสัยใฝ่รู้ มีทักษะทางภาษา สติ สมาธิที่ดี และจิตใจที่อ่อนโยน เปิดกว้าง

บนโลกนี้มีเมล็ดพันธุ์หนังสือดีๆ มากมายที่มีทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ ซึ่งแฝงไว้ด้วยแก่นหรือเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสาร เพียงแค่รอให้คุณพ่อคุณแม่เลือกหยิบมาอ่านหรือเล่าให้ลูกฟัง

แต่ก่อนที่จะคว้าหนังสือที่มีสีสันสดใสและเนื้อหาตรงใจมาอ่าน เราขอประเดิมคอลัมน์ด้วยการแนะนำ หนังสือที่ว่าด้วย ‘หนังสือ’ ที่จะทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และเจ้าตัวเล็กได้มองเห็นเสน่ห์และคุณค่าของหนังสือกันก่อน

1. นี่คือหนังสือ

เรื่อง: เบน สมิธ
แปล: ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
สำนักพิมพ์: มูลนิธิเอสซีจี

Soulreader_1-1

เมื่อลิงนักอ่านมาเจอกับลาที่ไม่เคยรู้จักหนังสือมาก่อน ลิงจึงต้องตอบทุกคำถามเพื่อไขข้อสงสัย และอธิบายให้ลาเข้าใจว่า “นี่คือหนังสือ”

Soulreader_1-2

“ส่งข้อความได้มั้ย”

“ไม่”

“ทวีตได้มั้ย”

“ไม่”

“ไว-ไฟได้มั้ย?”

“ไม่”

Soulreader_1-3

แล้วลาก็เริ่มเปิดหนังสือออกอ่าน จนลาได้เข้าใจว่าหนังสือทำอะไรไปไม่ได้มากกว่าการเป็นหนังสือธรรมดาๆ และนั่นก็ดีที่สุดแล้ว

2 . This is not a picture book!

เรื่อง: Sergio Ruzzier
สำนักพิมพ์: chronicle books

Soulreader_2-1

หนังสือนิทานเล่มนี้ต้องอาศัยความช่างสังเกตเล็กน้อย เพราะหากดูอย่างผิวเผิน หรืออ่านแค่ตัวหนังสือ จนลืมสนใจภาพประกอบแสนสวยละก็ นิทานเรื่องนี้ก็เป็นเพียงเรื่องราวของเป็ดตัวหนึ่งกับแมลงเพื่อนของมันที่บังเอิญเจอหนังสือซึ่งมีแต่ถ้อยคำ ไร้ภาพ เท่านั้น แต่เชื่อว่าเมื่อลองอ่านไปสัก 3-4 หน้า คุณพ่อคุณแม่และลูกจะพบความมหัศจรรย์ของภาพประกอบ เพราะฉากต่างๆ ที่เป็ดและแมลงเดินผ่านล้วนสอดคล้องล้อกันกับถ้อยคำสั้นๆ ของเป็ดที่กำลังพูดถึงหนังสือในมือของมัน

Soulreader_2-2
Soulreader_2-3

ภาพฉากเป็นตัวแทนอารมณ์ของเป็ดและแมลงเมื่ออ่านถ้อยคำในหนังสือไร้ภาพนั้นนั่นเอง และนี่คือเสน่ห์ของหนังสือ ถ้อยคำมีพลังในการสร้างภาพ และภาพเองก็มีพลังในการสร้างความรู้สึก

Tip: พ่อแม่ไม่ต้องรีบเปลี่ยนหน้าหนังสือเมื่ออ่านจบ ให้เวลาลูกได้ซึมซับความรู้สึกที่ภาพกำลังสื่อสาร หรืออาจจะชี้ชวนให้ลูกดูลายละเอียดต่างๆ ในภาพ

3. Willy’s stories

เรื่อง: Anthony Browne
สำนักพิมพ์: Walker books

Soulreader_3-1

คล้ายกับนิทาน นี่คือหนังสือ เพราะนิทานเรื่องนี้ก็ดำเนินเรื่องด้วย ลิง และมันมีชื่อว่า ‘วิลลี่’ แตกต่างตรงที่วิลลี่ไม่ได้แนะนำแค่หนังสือเล่มเดียว แต่เขาจะพาเราไปห้องสมุด และทะลุเข้าไปในหนังสือทุกเล่มที่เขาชอบ จึงเหมือนมีเรื่องราวของหนังสือหลากหลายเล่มภายในหนังสือเล่มนี้เล่มเดียว นั่นคือวิธีที่วิลลี่แสดงให้เราเห็นว่าเขามีความสุขและสนุกแค่ไหนเมื่อได้อ่านหนังสือ

Soulreader_3-2
Soulreader_3-3

สำหรับวิลลี่การผจญภัยของเขาเกิดขึ้นง่ายๆ เพียงเขาเปิดหนังสืออ่าน และเขายังพูดทิ้งท้ายไว้อีกว่า

“NEXT TIME, why don’t you come with me on my travels, or better still, why not go on some of your own? I can’t wait for MY new adventure…”

*หมายเหตุ : หนังสือนิทานเล่มนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว และ คำศัพท์เยอะ ไม่เหมาะกับเด็กวัยเริ่มหัดอ่าน

4. มหัศจรรย์หนังสือบินของนายมอริสเลสเมอร์

เรื่อง: วิลเลียม จอยซ์
แปล: ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
สำนักพิมพ์: มูลนิธิเอสซีจี

Soulreader_4-1

ในขณะที่วิลลี่จาก Willy’s stories เชิญชวนเราเข้าห้องสมุด และเริ่มต้นการผจญภัยของตัวเองผ่านหนังสือ นายมอริส เลสมอร์ในหนังสือนิทานเล่มนี้ก็ถูกชักชวนไปที่อาคารแห่งหนึ่งที่มีหนังสืออยู่มากมายจากหญิงสาวผู้มากับฝูงหนังสือบินได้เช่นกัน

นายมอริส เลสมอร์มีความสุขกับการอ่านหนังสือ แนะนำหนังสือให้ผู้คน และเมื่อว่างเขาก็เขียนบันทึกเรื่องราวของตัวเอง วันเวลาผ่านไปจนเขาแก่ชรา เขาบอกลาเพื่อนหนังสือทุกเล่ม และโผบินขึ้นฟ้าไปกับฝูงหนังสือบินได้ เขาได้ชักชวนเด็กหญิงคนหนึ่งมายังอาคารแห่งนี้เช่นเดียวกับที่หญิงสาวเคยชักชวนเขา

Soulreader_4-2
Soulreader_4-3

“หนังสือของมอริส เลสเมอร์ บินขึ้นไปหาเด็กหญิงและกางหน้ากระดาษออก

เด็กหญิงเริ่มอ่าน แล้วเรื่องราวของเราก็จบลง ณ จุดเริ่มต้น…ด้วยการเปิดหนังสือ”

หมายเหตุ: หนังสือนิทานเล่มนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว ไม่เหมาะกับเด็กวัยเริ่มหัดอ่าน

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เดินไปถึงชั้นวางหนังสือแล้วไม่รู้ว่าจะหยิบหนังสือนิทานเล่มไหนดี ลองหยิบหนังสือที่พูดถึง ‘หนังสือ’ ดู ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ 4 เล่มนี้ แต่ยังมีหนังสือที่คล้ายกันอีกมาก ลองเปิดอ่านแล้วหยิบสักเล่ม

หนังสือดีๆ เล่มหนึ่ง หรือหนังสือที่ถูกใจเพียงหนึ่งเล่ม ก็สามารถจุดประกาย และปลูกฝังจิตวิญญาณของนักอ่านให้แก่ลูกได้ มาร่วมกันโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์หนังสือใส่ใจลูกไปด้วยกัน

ฉันขอยืมประโยคทิ้งท้ายจากหนังสือของนายมอริส เลสเมอร์ที่ว่า แล้วเรื่องราวของเราก็จบลง ณ จุดเริ่มต้น…ด้วยการเปิดหนังสือ


Jlada P.

กระต่ายน้อยประจำเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก ผู้ชอบไปนั่งหย่อนใจ เอกเขนกอยู่ที่เฉลียง พร้อมความคิดที่ว่าโลกยังสวยเสมอ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST