อ่าน ‘สงคราม’ ให้ลูกฟัง

เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม…

ขอเปิดบทความด้วยท่อนหนึ่งจากเพลง กล้วยไข่ โดยศิลปินวงเฉลียง เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่า สงครามจะไม่อาจทำลายความไร้เดียงสาของเด็ก แต่ความไร้เดียงสาของเด็กอาจจะเป็นความหวังที่จะหยุดสงครามลงได้

เด็กไม่ได้เกิดมาพร้อมความเกลียดชังและแก่งแย่งแข่งขัน แต่โลกจะสอนให้เขาค่อยๆ รู้จักมันขึ้นมาทีละน้อย หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นการสร้างทัศนคติที่ดี สอนให้ลูกรู้เท่าทันกิเลสที่แฝงอยู่ในตัวเราทุกคน สอนให้ยับยั้งความเกลียดชัง และหาสันติวิธีในการดำรงชีวิต เพื่อที่โลกของเราจะได้ไม่ต้องพบเจอกับสงครามอีก

สงครามอาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่  และซับซ้อนเกินจะอธิบายให้เข้าใจ งั้นเรามาทำให้มันง่ายขึ้นผ่านการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังกัน

1. ทำไม

เขียน: นิโกไล พอพ็อฟ
สำนักพิมพ์:
มูลนิธิเอสซีจี

readwar_1-1

‘ทำไม’ เป็นนิทานภาพ ไม่มีตัวหนังสือ บอกเล่าเรื่องราวของสงครามที่เริ่มต้นด้วยการแก่งแย่ง ดำเนินไปอย่างโหดร้าย และจบด้วยความหดหู่ แต่เคลือบแฝงไว้ภายใต้ภาพตัวการ์ตูนน่ารักอย่างกบและหนู

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อหนูต้องการดอกไม้ของกบ จึงเข้าไปแย่งมาเป็นของตน กบจึงใช้กำลังแย่งชิงดอกไม้กลับมาและแย่งร่มของหนูมาด้วย จากนั้นต่างฝ่ายต่างไปรวบรวมสมัครพรรคพวกของตัวเองเพื่อทำร้ายอีกฝ่าย ความรุนแรงและความเสียหายค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น… จากจุดเริ่มต้นคือดอกไม้ดอกเดียว นำไปสู่จุดจบที่ทุกอย่างถูกทำลายย่อยยับ

readwar_1-2
readwar_1-3

ฉันเคยนำนิทานเรื่องนี้ไปอ่านให้เด็กๆ ฟัง เด็กคนหนึ่งถามขึ้นว่า “ทำไมเขาไม่ขอกันดีๆ”

เด็กอีกคนถามว่า “ทำไมต้องเอาดอกไม้ดอกนั้นด้วย ในเมื่อก็มีดอกไม้ดอกอื่นอีกเต็มไปหมด”

และเมื่อฉันถามเด็กๆ ไปว่า “ทำแบบนี้ดีไหม?” ทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่”

ดูเหมือนว่าตอนเป็นเด็ก ทุกคนจะเข้าใจได้โดยง่ายว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ไม่มีเด็กคนไหนอยากทะเลาะกัน แต่ทำไมเมื่อเราเติบโต เรากลับมีจิตใจที่คับแคบลง และโหดร้ายขึ้น ทำไมจึงเกิดสงครามขึ้นมาได้… นี่คือคำถามที่ ‘ทำไม’ ได้ทิ้งเอาไว้ให้ผู้อ่านทุกคนไปขบคิด

2. สงครามสุดบ๊อง

เรื่องและภาพ: เอริก บาตู
แปล: น้านกฮูก
สำนักพิมพ์: แปลน ฟอร์ คิดส์

readwar_2-1

เรื่องราวของพระราชาติงต๊องที่รู้สึกเบื่อหน่อยทุกอย่างรอบตัว ที่ปรึกษาจึงแนะนำให้พระราชาก่อสงครามเพื่อรักษาอาการเบื่อ เป็นเหตุผลของการเกิดสงครามที่ฟังไม่ขึ้นเอาซะเลยใช่ไหม นี่ล่ะ สงครามสุดบ๊อง…

readwar_2-2

‘สงครามสุดบ๊อง’ พูดถึงสงครามโดยไม่มีภาพการต่อสู้ ทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรงแม้แต่น้อย แต่ก็สามารถบรรยายความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามให้เห็นได้อย่างชัดเจน

readwar_2-3

ผลจากการที่พระราชาติงต๊องออกคำสั่งให้ชาวบ้านรื้อถอนอิฐหินจากบ้านเรือนและปราสาทมาสร้างป้อมปราการ (แต่ก็สร้างไม่แข็งแรง) โค่นต้นแอปเปิ้ลเอาไม้มาทำอาวุธ (แต่ก็ใช้งานไม่ได้จริง) บ้านเมืองจึงได้รับความเสียหายตั้งแต่ยังไม่เกิดสงคราม และได้ตอกย้ำประเด็นนี้ด้วยคำพูดของพระราชาคิดดีที่นำทัพมาจากต่างเมืองว่า

“อาณาจักรแห่งนี้ ไม่มีสวนผลไม้ ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีแม้ป้อมปราการ ช่างเป็นดินแดนที่ไร้ค่าจริงๆ

ไม่น่าครอบครองเลยสักนิด พวกท่านควรฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง ให้ดีเสียก่อนนะ”

สงครามสุดบ๊องแสดงให้พเห็นถึงความไร้สาระของเกิดสงคราม เมื่อเกิดสงครามทุกสิ่งจะจบลงด้วยความพังพินาศ แล้วเรายังอยากจะครอบครองความพังพินาศเหล่านั้นหรือ

3. The Journey รอนแรม

เรื่องและภาพ: francesca Sanna
แปล: สุมาลี
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์

readwar_3-1

‘รอนแรม’ พูดถึงบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสงครามจนจำเป็นต้องอพยพหนี หรือที่เราเรียกว่า ผู้ลี้ภัย ซึ่งเขียนจากเรื่องจริงของเด็กหญิงสองคนในศูนย์ผู้ลี้ภัยของประเทศอิตาลี  เรื่องและภาพบ่งบอกความรู้สึก และเส้นทางของผู้ลี้ภัย ความยากลำบาก และความทุกข์ที่พวกเขาต้องประสบ

readwar_3-2

ความหวังที่จะได้อยู่ในดินแดนที่ปราศจากสงคราม จึงทำให้พวกเขาต้องเดินทาง  นิทานได้สร้างความรู้สึกสะเทือนใจ และย้ำเตือนให้รู้ถึงผลกระทบอันแสนโหดร้ายของสงครามว่ามันได้พรากอะไรไปจากตัวละครบ้าง และพวกเขาต้องละทิ้งอะไรไปบ้างเพื่อจะได้มีชีวิตที่สงบ สันติ

readwar_3-3

“เราเล่านิทานเรื่องใหม่ให้กันฟัง

เรื่องดินแดนที่เรากำลังจะมุ่งหน้าไป

ดินแดนที่มีป่าเขียวขจี เต็มไปด้วยเหล่านางฟ้าใจดีเต้นระบำ

และบอกให้เรารู้คาถาวิเศษที่จะใช้หยุดสงครามได้”

 

นิทานทั้งสามเล่ม ได้นำเสนอแง่มุมต่างๆ ของสงคราม ก็หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำให้เด็กๆ จะได้เข้าใจและตระหนักถึงผลเสียของสงคราม ด้วยการช่วยกันปลูกฝัง และทำให้ลูกรู้ว่าสงครามเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ ในวันข้างหน้าเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น พวกเขาก็จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะต่อต้านการเกิดสงคราม และรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ… นี่เป็นอีกหนึ่งคาถาวิเศษที่จะใช้หยุดสงครามในโลกนี้ได้


Jlada P.

กระต่ายน้อยประจำเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก ผู้ชอบไปนั่งหย่อนใจ เอกเขนกอยู่ที่เฉลียง พร้อมความคิดที่ว่าโลกยังสวยเสมอ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST