ส่งท้าย pride month กันด้วยการแนะนำหนังสือนิทาน ที่พูดถึงการยอมรับความหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือเพศสภาพ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนให้ลูกเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของผู้คน เพราะการยอมรับในความแตกต่าง นอกจากจะช่วยให้ลูกรู้จักเคารพและให้เกียรติคนอื่นแล้ว ยังช่วยให้ลูกรู้จักทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
พิเศษ! กิจกรรมแจกนิทาน เพียงให้เด็กๆ วาดรูปในหัวข้อ ‘ครอบครัวของฉัน’ แล้วคุณพ่อคุณแม่นำมาคอมเมนต์ใต้โพสต์นี้ เราจะสุ่มแจกหนังสือนิทานน่ารักๆ ส่งไปให้เด็กๆ ถึงบ้าน ทั้งหมด 5 รางวัล (รางวัลละ 1 เล่ม) เลยค่ะ
หมดเขต: 15 ก.ค. 2565
ประกาศผลและติดต่อกลับทาง inbox: ภายในวันที่ 16 ก.ค. 2565
1. นิทานเรื่อง คุณแม่ของฉันเป็นโจรสลัด
เรื่อง: Jodie Lancest-Grant
ภาพ: Lydia Corry
แปล: ภัทรภร วิวัฒนาการ
สำนักพิมพ์: ไอโซพอด บุ๊คส์
ราคาปก: 250 บาท
บิลลี่ มีแม่เป็นโจรสลัดสองคน บิลลี่รู้ดีว่าครอบครัวเขาแตกต่างจากครอบครัวอื่น เมื่อแม่ทั้งสองของเขาได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมล่องเรือกับเด็กๆ ที่โรงเรียน บิลลี่ก็กังวลว่าทุกคนจะเห็นความแปลกประหลาดของครอบครัวเขา บิลลี่ให้แม่ซ่อนความเป็นโจรสลัดของตัวเองไว้ แต่ระหว่างการล่องเรือได้เกิดพายุลูกใหญ่ แม่ทั้งสองของบิลลี่กลับช่วยให้ทุกคนรอดจากพายุมาได้ เพราะความรู้ความสามารถของโจรสลัด
เหตุการณ์นั้นทำให้บิลลี่เปลี่ยนความคิด เขารู้แล้วว่าครอบครัวของเขาไม่จำเป็นต้องเหมือนครอบครัวอื่นก็ได้
ประเด็นเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกัน อาจจะละเอียดอ่อนเกินกว่าวัยของเด็กจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ นิทานจึงใช้สัญลักษณ์ ‘โจรสลัด’ มาเป็นตัวนำที่แสดงถึงความแตกต่างของครอบครัวบิลลี่ โดยวางเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงไว้ภายใต้ความเป็นโจรสลัดอีกที แต่ก็สามารถทำให้เด็กเรียนรู้ว่าว่า ครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่ที่เป็นผู้หญิงกับผู้ชายเสมอไปก็ได้
นอกจากนั้นในบางภาพยังมีสัญลักษณ์สีรุ้ง สีประจำกลุ่มคนมีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) อยู่ในลำแสงของพลุที่จุดขึ้น เพื่อส่งให้เรือแล่นหนีออกจากพายุได้สำเร็จอีกด้วย
นิทานทำให้เห็นว่าแม้ครอบครัวของบิลลี่จะแตกต่างไม่เหมือนใคร แต่ในยามคับขัน แม่และแม่ของบิลลี่ก็สามารถทำหน้าที่ผู้ปกครองได้อย่างดีเยี่ยม
เราลองนำนิทานเรื่องนี้ไปอ่านให้เด็กวัย 6 ขวบฟัง น้องคนหนึ่งกล่าวถึงตัวละครแม่ว่า “แม่อาจจะมีพ่ออยู่ก่อน แล้วก็เลิกกัน แล้วก็แต่งงานใหม่กับแม่อีกคน”
น้องอีกคนกล่าวว่า “แม่คนหนึ่งอาจจะเป็นพ่อมาก่อน แล้วเขาก็ไปทำศัลยกรรมเพราะเขาอยากเป็นผู้หญิง” ยังมีอีกหลากหลายเหตุผล และความเป็นไปได้ เพราะเรื่องเพศเป็นสิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หากลูกคุ้นชินกับความหลากหลายทางเพศก็จะทำให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ง่ายขึ้น
ช่องทางการสั่งซื้อ: https://www.facebook.com/ISOPODBOOKS/
2. นิทานเรื่อง My Shadow is Pink เงาของฉันไม่เหมือนใคร
เรื่องและภาพ: สก็อตต์ สจ๊วต
แปล: ณัฐฑา ภูมะธน และ ณฐพร สารโกศล
สำนักพิมพ์: แฮปปี้เดซี่
ราคาปก: 280 บาท
เด็กชายคนหนึ่งมีเงาสีชมพู แตกต่างจากพ่อของเขาที่มีเงาสีน้ำเงิน สิ่งที่เงาสีชมพูชอบที่สุด คือการได้สวมชุดกระโปรงแล้วเต้นรำ แต่เด็กชายไม่ยอมทำตามเงาของตัวเอง เพราะรู้ว่าพ่อจะไม่ชอบใจ
วันแรกของการไปโรงเรียน คุณครูขอให้นักเรียนทุกคนแต่งตัวในแบบที่เงาของตัวเองชอบ เด็กชายจึงสวมชุดกระโปรงไปโรงเรียน เขารับรู้ได้ว่าพ่อรู้สึกไม่ดี และเขาแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เขาหนีกลับบ้านและร้องไห้เสียใจ
ในตอนนั้นพ่อของเขาจึงสวมชุดกระโปรงเข้ามาหา พ่อเดินจูงมือเขากลับไปที่โรงเรียนอีกครั้ง เมื่อพ่อยอมรับในความแตกต่างของเขา เขาก็มีความกล้าหาญมากพอที่จะเป็นตัวของตัวเอง
สก็อตต์ สจ๊วต แต่งนิทานเรื่องนี้ให้กับ คอลลิน—ลูกชายของเขา เนื่องจากช่วงหนึ่งคอลลินมักจะพกตุ๊กตาเอลซ่าติดตัวเสมอ และเด็กคนอื่นที่โรงเรียนก็ล้อเลียนเขา
ในฐานะพ่อ สก็อตต์จึงแต่งนิทานเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อแชร์เรื่องราว และหวังให้ผู้อ่านกล้าจะยอมรับ และ รักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง
เงา คือสัญลักษณ์แทน ตัวตนที่แท้จริงและความปรารถนาลึกๆ ภายในจิตใจ ที่หลายคนจำเป็นต้องเก็บซ่อนไว้ หากพ่อแม่รักและยอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น ลูกก็จะรักตัวเอง และกล้าหาญที่จะเป็นตัวของตัวเอง
ความรักและการเคารพตัวเองที่ถูกสร้างจากครอบครัว จะเป็นเกราะป้องกันให้ลูก แม้คนอื่นๆ อาจจะยังไม่ยอมรับ ลูกก็จะสามารถก้าวผ่านคนเหล่านั้นไปได้ เพราะเขามีคนที่เข้าใจรออยู่ที่บ้านแล้ว
*ในภาพที่นำมาประกอบเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ เวอร์ชันไทยสามารถสั่งซื้อได้ที่ :
Facebook: https://www.facebook.com/happydaisystory.books/
Shopee: https://shope.ee/8zRRlsk5q4
เมื่อลูกเห็นว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ผิดแปลกแต่อย่างใด ลูกจะสามารถใช้ชีวิตยู่อย่างเข้าใจตัวเอง และเคารพผู้อื่น ความสุขอย่างเท่าเทียมก็จะเกิดขึ้นในสังคม
COMMENTS ARE OFF THIS POST