DON’T WORRY BE DADDY: เดิน

หลายครั้งผมชอบมองว่าการเลี้ยงลูกเหมือนการเล่นเกม RPG (Role Playing Game)

สำหรับคนที่ไม่ค่อยเล่นเกม—RPG เป็นเกมประเภทที่เราต้องไปสวมบทบาทตัวละครในเกม เนื้อหาการเล่นก็เป็นกิจจะลักษณะ ที่ตอนเริ่มเล่นเราอาจจะไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ ต้องอาศัยการเล่นเยอะๆ เพื่อให้มีประสบการณ์เยอะๆ ถึงจะเล่นผ่านด่านได้ อีกจุดนึงที่ RPG เด่นมากคือการพูดคุยกับตัวละครอื่นๆ ในเกม เช่นถามทาง หรือพูดคุยเพื่อสืบหาเบาะแสต่างๆ… เลี้ยงลูกแม่งเป็นแบบนั้นเลยครับ!

 

ตัวพ่อแม่เองก็ต้องเก็บประสบการณ์การเลี้ยง การรับมือลูก เรียนรู้ว่าลูกตัวเองอยู่เหนือระดับเหตุและผลเท่าไหร่ และที่สำคัญที่สุด การเลี้ยงลูกในช่วงสองขวบปีแรก ตัวลูกเองก็ต้องเก็บค่าประสบการณ์ให้ได้ตามเกณฑ์สากลโลกด้วยนะครับ เช่น ถึงช่วงวัยนี้ เด็กคว่ำแล้วนะ วัยนี้ต้องเริ่มนั่งแล้วนะ วัยนี้ต้องมองตามผู้ใหญ่แล้วนะ ฯลฯ ไอ้พวกเป้าหมายต่างๆ นี้ก็มาในรูปแบบที่เรียกกันว่า ‘พัฒนาการอันสมวัย’ ซึ่งก็จะถูกเขียนและอ้างอิงมาจากสถิติของเด็กโดยทั่วไป ดังนั้นเด็กในช่วงสองขวบแรก ก็จะโดนเดดไลน์จากพัฒนาการอันสมวัยไล่ตามโดยไม่รู้ตัว ถ้าทำได้ก็ไม่ถือว่าเก่งกาจอะไรด้วยนะ คือแค่ปกติ… เท่านั้น

 

ส่วนมนุษย์พ่อแม่ก็ดีใจตามประสา ถ่ายรูปอัปเฟซบุ๊ก แล้วก็จดจ่อกับพัฒนาการขั้นต่อไป แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ตามเกณฑ์ ก็เครียดนอยด์แดก ทำยังไงดี ลูกเราไม่ปกติแล้วแน่ๆ เลย…

 

สำหรับไทธรรม์นั้นร็อกแอนด์โรลมาก เพราะช่วงวัยที่ควรจะพลิกตัว ทารกไทธรรม์ก็ไม่ยอมพลิกตัว แต่จะนั่งก่อนท่าเดียว เวลาให้นอนหงายก็พยายามซิตอัปทำตัวงอๆ จะลุกนั่งให้ได้ พอนั่งได้ก็โอนเอนไปมา หน้าทิ่มเตียง แรกๆ ก็รู้สึกสนุกกับลูกเราที่อยู่ดีๆ ก็มีฟีเชอร์นั่งเป็นเวอร์ชั่นเบต้าให้ลองก่อน แต่ปรากฏหมอบอกว่า การให้เด็กทารกนั่งมากๆ ทั้งที่กระดูกสันหลังยังไม่แข็งแรง (หรือถ้าหมอจะพูดให้ถูกกว่านี้คือ มันไม่มีอะไรแข็งแรงเลยสักอย่างมากกว่า) มานั่งหลังตรงแบบนี้อาจจะทำให้กระดูกสันหลังคดงอได้ เพราะสิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดของทารกคือหัว

 

อะ หมอพูดมีเหตุผล กลับบ้านมาพยายามไม่ให้ไทธรรม์นั่งละ แล้วเป็นไงล่ะ? อีไทธรรม์แม่งก็เลยเหมือนทารกที่พยายามจะมีซิกซ์แพ็กส์ให้ได้ คือซิตอัปหน้าดำหน้าแดงตลอดเวลา ส่วนวิชัยและมยุรีก็เหมือนพ่อแม่ใจทราม เพราะดูผิวเผินจะเหมือนเราจับลูกกดติดที่นอนอยู่นั่นแหละ

พอพ่อแม่ไม่ยอมให้นั่ง ทีนี้ไทธรรม์ก็เลยหาอย่างอื่นทำ คือการนอนคว่ำหน้า และชันคอขึ้น

“เออ ทำแบบนี้ก็ได้นี่หว่า” ทารกไทธรรม์คงคิดในใจ

 

หลักไมล์ที่ใหญ่ที่สุดไมล์หนึ่งของเด็กทารกก็คือการเดิน​ ซึ่งดูทรงแล้วไทธรรม์น่าจะมีโอกาสเดินเร็วกว่าปกติ เพราะเวลาไปไหนมาไหนจะตื่นเต้นตื่นตัวมาก ไม่ยอมนั่งรถเข็น แต่จะชอบให้อุ้มสะพายไว้ด้านหน้าและเดินไปด้วยกันมากกว่า แต่จนแล้วจนรอดไทธรรม์ก็ไม่ยอมเดินซักที

 

ยิ่งพอคลานได้แล้วนะ การเดินดูเหมือนเป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับเด็กไปโดยปริยาย

จะเดินทำไมล่ะ? ก็คลานได้แล้วนี่ อยากไปไหน ก็คลานเอาสิ

 

สำหรับพ่อแม่ เรื่องมันจะแอบเจ็บปวดตรงนี้ครับ ตรงที่เห็นลูกๆ คนอื่นพัฒนาการล้ำหน้าลูกเราไปแล้ว อายุน้อยกว่าไทธรรม์ แต่เดินได้แล้ว… เด็กบางคนยังไม่ครบขวบเลย เริ่มออกเสียงจะพูดได้อยู่แล้ว

 

ถ้าหนูจะรีบขนาดนี้ อย่าให้รู้นะว่าห้าขวบยังไม่เข้ามหา’ลัย

 

ทีนี้เวลาพาไทธรรม์ไปเที่ยวสวนสาธารณะที่มีเด็กเยอะๆ เลยเหมือนลูกเราจะมีเวอร์ชั่นไม่อัปเดตอยู่คนเดียว สมาคมแม่ๆ ก็จะเสวนาเรื่องลูกๆ ตัวเองที่เดินได้แล้วนั่นนี่ ไอ้เราก็จ๋อยๆ พยายามหาผ้าต่างๆ มาประคองให้ไทธรรม์ซ้อมเดิน อีไทธรรม์ก็ทิ้งตัวลงคลานอยู่นั่นแหละ ไทธรรม์ก็คงคิดเนอะว่า คลานเอาเร็วกว่าอยู่แล้วนี่หว่า จะมายุ่งยากอะไรอีก

 

ทีนี้ ตามลำดับตำราพัฒนาการเด็กอันสมวัยเขียนไว้ว่า ก่อนที่เด็กจะลุกเดิน เด็กจะต้อง ‘ตั้งไข่’ ก่อน—การตั้งไข่ก็คือการพยายามลุกยืนและทรงตัวให้ได้บนขาสองข้างให้ได้ก่อน เราก็ประเมินว่า อย่างน้อยๆ กว่าจะลุกขึ้นยืนเองได้เนี่ย มันก็ควรจะใช้เวลานานเลยแหละ แล้วดูทรงจากไทธรรม์ที่ชอบคลานเป็นจรวดทางเรียบแบบนี้ ก็น่าจะใช้เวลาคร่าวๆ มากกว่าสองเดือนแหละ

 

วันหนึ่งพาไทธรรม์ไปสวนสาธารณะ ผมกับมยุรีก็นอนเล่นบนเสื่อ ไทธรรม์ก็คลานไปมา ในระยะสายตา ก็เป็นวันธรรมดาวันหนึ่งไม่มีอะไรมาก

วิชัย: ตัวเองว่า ไทธรรม์จะเดินตอนไหนวะ

มยุรี: ไม่รู้เลยว่ะ

 

ยังไม่ทันสิ้นเสียง ‘ว่ะ’ ไทธรรม์ลุกขึ้นยืนและก้าวขาเดินทันทีสี่ก้าว!

เฮ้ย เดี๋ยว! มึงต้องตั้งไข่ก่อนสิวะ!

อืม…ก็นั่นแหละครับ ไทธรรม์ก็เดินได้ด้วยประการฉะนี้…จบ (ตัดจบเป็นหนังอาร์ตเลยมึง)

 

ก็เลยกลายเป็นว่าไทธรรม์เดินได้ก่อนตั้งไข่ ดังนั้นเวลาไทธรรม์จะลุกเดินก็ต้องคลานไปจับอะไรสักอย่าง เพื่อเกาะและยันตัวเองขึ้นยืน แล้วค่อยเริ่มเดิน

อืม… ชีวิตก็เท่านี้ พัฒนากง พัฒนาการอะไร อย่าไปซีเรียสเลยครับ

 

นี่ยังดีนะที่ไทธรรม์เซอร์ไพร์สลุกเดินในสวนสาธารณะแบบนี้ มีลูกสาวพี่ที่รู้จักคนหนึ่ง ปกติยังเดินไม่ได้ แต่ซนมาก คลานเก่งและคลานเร็วมาก พี่คนนั้นนึกสนุกจึงพาลูกไปแข่งขันคลานเร็วที่ห้างดังแห่งนึง กะว่าลูกสาวชนะชัวร์

 

พอถึงเวลาแข่ง ลูกสาวประจำที่พร้อมคู่แข่งคนอื่น

กรรมการปล่อยตัวให้เด็กเริ่มคลาน

ลูกสาวลุกขึ้นเดิน

อืม โดนตัดสิทธิ์

จบ.


Vichai Matakul

วิชัย มาตกุล นักเขียนและครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่งบ้าน SALMON HOUSE เขียนหนังสือมาหลายเล่ม มีเล่มหนึ่งชื่อ Don’t worry, be daddy ที่เขียนถึงมยุรี—ภรรยา และไทธรรม์—ลูกชาย ตั้งแต่อยู่ในท้องถึงแรกคลอด คอลัมน์นี้จึงเป็นเรื่องราวของไทธรรม์ หลังจากนั้น…

RELATED POST