READING

PLAY NO MATTER WHAT Ep. 04 การเรียนรู้ที่หน้าตาเหม...

PLAY NO MATTER WHAT Ep. 04 การเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุก (1)

การเล่น

พยายามสื่อสารมาสองตอนแล้วว่า ‘การเล่น’ มีคุณค่าอยู่ในตัวของมัน โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครเอาไปผูกไว้กับการเรียนรู้เลยก็ได้เพราะถ้าถามนักเล่น ซึ่งก็หมายถึงเด็กๆ ว่า เราเล่นกันไปเพื่ออะไร ก็ไม่น่าจะมีใครตอบว่าเล่นเพื่อเรียนรู้เลยล่ะ

วันนี้ ก็เลยอยากจะชวนคุยกันต่อ แต่เป็นประเด็นที่ว่า แล้วถ้าอย่างนั้น การเรียนรู้ที่ดูเหมือน การเล่น สนุกล่ะ มีอยู่จริงหรือเปล่า แล้วโรงเรียน (หรือพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ) ที่เห็นคุณค่าของการเล่นสนุกล่ะ มีอยู่จริงไหม แล้วถ้ามี หน้าตาจะเป็นแบบไหนนะ

เรื่องนี้ก็เป็นอีกความหมกมุ่นสนใจที่เราสามารถคุยกับใครต่อใครไปได้ตลอดทั้งชีวิตเลยค่ะ

Play

ถึงจะเชื่อสุดหัวใจแล้วว่า ‘การเล่น’ เป็นสิ่งที่ดีแสนดีและมีประโยชน์แค่ไหน แต่ว่า ‘การเรียน’ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราทิ้งไปไม่ได้ (อันนี้ขอคิดดังๆ แทนผู้ใหญ่รอบตัวเด็กๆ ค่ะ)

ยิ่งในตอนนี้ ทุกตัวละครที่มีหน้าที่ในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาให้ดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ คุณครู โรงเรียน และใครต่อใครอีกมากมาย ก็น่าจะกำลังกลุ้มใจกับสถานการณ์ที่กำลังต้องเผชิญอยู่ตอนนี้ เหมือนทำอย่างไรก็ปลดล็อกตัวเองไม่ได้ มองไปทางไหนก็ไม่เห็นหนทางที่ถูกใจ เหมือนถูกถล่ม ถูกทับให้จมอยู่กลางข้อจำกัดทั้งหลาย ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะยังคงสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมายให้กับเด็กๆ ของเราต่อไปได้บ้าง

เราเชื่อว่าทุกคนก็พร้อมจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อฉกฉวยทุกโอกาสที่จะดูแลวันเวลาให้เด็กๆ ยังคงได้เป็นเด็ก คือได้เล่นสนุกและในขณะเดียวกัน การเรียนรู้ก็ต้องไม่หยุดชะงักไปด้วย

เป็นโจทย์เดียวกับที่ขับเคลื่อนความคิดของเราอยู่ทุกวันมาเป็นสิบปี ตั้งแต่ก่อนที่จะได้รู้จักกับโควิด-19 นี่เสียอีก เราเองก็ต้องคอยเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า อย่ายึดติดกับกรอบเดิมๆ หรือการเรียนในรูปแบบเดิมๆ อย่าจับจ้องอยู่แต่กับการเรียนรู้ที่มีหน้าตาเหมือนเดิม โลกใบนี้กำลังหมุนด้วยอัตราเร่ง และกำลังเหวี่ยงทุกสิ่งทุกอย่างกระจุยกระจาย เพื่อให้เราเลือกหยิบเอาชิ้นส่วนที่วิเศษพอสำหรับสร้างอะไรบางอย่างขึ้นใหม่ และเหวี่ยงเพื่อสลัดเราให้พ้นจากกรอบที่ยึดถือมานานแสนนาน 

บางที หน้าตาของการเรียนที่เราคุ้นเคยและถูกแยกออกจากการเล่นอย่างสิ้นเชิง อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว

เราคอยเตือนตัวเองเสมออยู่ว่า ต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบ การเรียนรู้ไม่ได้ต้องเกิดที่โรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น อาจจะเกิดที่โรงแรม หรือที่อื่นๆ บ้างก็ได้ (ตลกดีที่คิดแบบนี้จริงๆ) 

การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหนก็ได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในเวลาของแต่ละคาบเรียน หรือเฉพาะตอนที่อยู่ในห้องเรียน นั่งคัด นั่งเขียน หรือท่องตำรา ไม่ใช่แม้แต่ตอนที่กำลังเรียนออนไลน์เท่านั้นด้วยนะ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเองอย่างมหัศจรรย์เสมอ ตราบเท่าที่หัวใจของนักเรียนรู้ยังฝังแน่นอยู่ในตัวเด็กๆ (และในตัวผู้ใหญ่อย่างเราที่จะต้องเป็นเพื่อนเรียนรู้เคียงข้างกันไปด้วยกันกับเด็กๆ ด้วย).

การเรียน

โรงแรมครีมเองก็ผ่านช่วงเวลาแห่งความสะดุดและหยุดชะงักมาแล้วสามรอบถ้วน รวมเวลาแล้วก็ประมาณครึ่งปีได้เลยนะ เป็นครึ่งปีที่เราก็ครุ่นคิดกับสิ่งเหล่านี้ และอยากแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบนี้เพื่อให้ทุกคนสบายใจว่า การเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่เคยหยุดชะงัก แม้ว่าจะไม่ได้ไปโรงเรียน หรือไม่ได้ ‘เรียนหนังสือ’

เพราะเด็กๆ เรียนรู้อยู่ทุกวันและตลอดเวลา เอาจริงๆ การเรียนรู้ของเราทุกคนเริ่มต้นตั้งแต่ day one ที่เราเกิด ไม่ใช่วันแรกของการไปโรงเรียนด้วยซ้ำ

ดังนั้น หากการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติเช่นนี้จะหยุดชะงัก ก็ไม่ใช่เพราะว่าเด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนหรอก แต่จะเป็นเพราะ ‘พลังความกระหายใคร่รู้’ ถูกทำลาย หรือที่เขาเรียกกันว่าหมดไฟ หรือไม่ก็เป็นเพราะ ‘ตัวตนนักเรียนรู้’ ของเด็กๆ ถูกตัดสินและประเมินคุณค่าแบบผิดๆ แล้วบอกว่าเด็กคนนั้นเป็นนักเรียน (รู้) ที่ไม่เอาไหน จนมันซึมเข้าไป จนเขาเชื่อไปแล้วว่าเขาเป็นเช่นนั้น จนไม่เหลือแรงเหลือพลังที่จะเรียนรู้อะไรต่อไปได้ ไม่สนุก ไม่สนใจ และไม่อยากยินดียินร้ายอะไรทั้งสิ้น การเรียนรู้ของเด็กๆ จะหยุดชะงัก หากเรายังไม่สามารถก้าวข้ามการเรียนรู้แบบเดิมๆ ที่นอกจากจะไม่สามารถหล่อเลี้ยง แล้วยังทำลาย ‘sense’ หรือความสามารถในการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติที่เราทุกคนมี ทำลายความช่างสงสัย ทำลายโอกาสในการครุ่นคิดอะไรเรื่อยเปื่อยเพื่อให้ได้พบเจอคำตอบที่ตามหา (แม้บางครั้งอาจจะเจอสิ่งที่ไม่ได้ตามหา แต่ก็มหัศจรรย์ไม่แพ้กันได้) ความเป็นนักเรียนรู้ของเราจะสิ้นสุดลงตรงนั้น ถ้าเราถูกทำให้เชื่อว่านักเรียนรู้ที่ดีก็คือคนที่ฟังครูพูดอย่างตั้งใจ ไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย ยื่นตำราอะไรให้ก็ไปท่องมา และอ่านออกเสียงพร้อมกันทั้งชั้น แต่ไม่ได้เกิดการประมวลผลอะไรออกมา แถมพอสิ้นสุดวัน ยังยอมให้ผู้ใหญ่เอาเวลาที่ควรได้เล่นอิสระมานั่งทำการบ้านส่ง ทำแบบฝึกหัดที่หาความเชื่อมโยงอะไรกับชีวิตของตัวเองไม่ได้สักอย่าง แต่ก็นอนแล้วตื่นมาเรียนแบบนี้ซ้ำๆ จนลืมไปหมดแล้วว่า การพยายามค้นหาความหมาย พยายามทำความเข้าใจอะไรสักอย่าง มันเป็นอย่างไร ลืมไปหมดแล้วว่าความสุข ความมหัศจรรย์ใจ หรือความรู้สึกหัวใจเต้นตึงตังเมื่อได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ มันเป็นอย่างไร ลืมแม้กระทั่งวิธีการใช้เวลาว่างเพื่อหาหนทางเล่นสนุกไปหมดสิ้น

แล้วแทนที่เด็กๆ จะเล่นสนุกเพื่อเข้าใจหัวใจตัวเอง เข้าใจร่างกายตัวเอง เข้าใจโลก เข้าใจคนอื่น เข้าใจสถานการณ์ แล้วสั่งสมและกลั่นกรองเป็นประสบการณ์ เข้าใจแม้กระทั่งสิ่งซึ่งมองไม่เห็นด้วยตา อย่างคุณค่าหรือปรัชญาความคิดใดๆ แต่เราต่างถูกทำให้เข้าใจว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในรูปแบบ เวลา และสถานที่เฉพาะ ถูกทำให้กังวลว่ามีหนังสือเรียนหรือยัง นั่งเรียนที่โต๊ะเรียบร้อยดีแล้วหรือยัง คุณครูจะมาสอนแล้วหรือยัง พอหมดเวลาเรียนแล้วก็ อ้าว จดการบ้านแล้วหรือยัง

อาจฟังดูไม่น่ารักเท่าไร แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น ไม่ได้สำเร็จรูปเสียจนเอามาบรรจุใส่ตำราได้ ไม่ได้ต้องถูกกะเกณฑ์ด้วยข้อบังคับ ข้อกำหนด หรือกฎระเบียบทั้งหลาย จนไม่คำนึงถึง ‘หัวใจของนักเรียนรู้’ 

หากลองทบทวนดูก็จะพบว่า การเล่น ดูแลหัวใจของนักเรียนรู้ได้ดีกว่ามาก ดูแลเซ้นส์ของการเรียนรู้ที่จะต้องใช้ไปตลอดชีวิตได้ดีกว่ามาก และการเรียนรู้ของเด็กๆ จะไม่มีทางหยุดชะงัก หากหัวใจของนักเรียนรู้ยังคงเต้นตึกตักอยู่ในตัวเด็กๆ เสมอ

.
.

(ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นนะคะ ยังชวนคุยไปไม่ถึงไหน ขอมาชวนคุยต่อในตอนถัดไป ยังคงวนเวียนอยู่กับการเรียนรู้ที่หน้าตาเหมือนการเล่นสนุกค่ะ)


อ้อมขวัญ เวชยชัย

ใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย คุณครูผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST