PLAY NO MATTER WHAT ขอคืนพื้นที่ให้ ‘การเล่น’ (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้) ตอนที่ 1

“การเล่นไม่ทำร้ายใคร ไม่ตัดสินคุณค่าในตัวใคร ไม่มีใครมาจัดอันดับในโลกของการเล่น ทุกคนเล่นเป็น ทุกคนเล่นได้ ทุกคนสนุกในรูปแบบหรือหนทางการเล่นของตัวเองได้ การเล่นเลยดีต่อหัวใจ ดีต่อตัวตนของเด็กๆ อย่างนี้”

จริงๆ แล้ว เราเริ่มต้นนั่งลงเขียนบทความ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะสื่อสารว่า ‘การเล่น ก็คือการเล่น’ การเล่นก็เป็นไปเพื่อให้ได้เล่นเท่านั้น และการเล่นก็ไม่ใช่การเรียนรู้

แต่มันฟังดูออกจะเหิมเกริมไปหน่อย แถมยังชวนงงและ ขัดกับทุกทฤษฎีที่ใครๆ ก็พูดกันมาตลอด

เราก็เลยต้องตั้งสติใหม่ เพราะเล่นมากไปเลยทำให้สื่อสารอะไรออกมาตรงๆ ไม่ค่อยได้ ทุกอย่างที่พูดออกมาเลยฟังดูท้าทาย คล้ายๆ เป็นปริศนา ชวนให้งุนงง ชวนให้สงสัย ชวนให้อยากถกเถียงอยู่เสมอ

ถ้างั้น ขอเริ่มต้นใหม่แบบนี้นะคะ

No Text_Post_1

ในขณะที่นักเล่นทั้งหลาย ซึ่งก็หมายถึงเด็กๆ ของพวกเรา เล่นเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และความมหัศจรรย์ของโลกใบนี้ แต่เด็กๆ ไม่เคยคิดที่จะให้คุณค่าหรือให้ความหมายกับการเล่นว่าคือการเรียนรู้เลยนะ เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว การเล่น มันสมบูรณ์ในตัวของมันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ใครเอาการเรียนรู้มาผูกติดเพื่อให้มันมีคุณค่ามากขึ้นก็ได้

แต่เป็นธรรมดาสำหรับผู้ใหญ่ ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ อาจจะหมายความว่าไม่มีคุณค่า

มันจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นแบบนี้ ก็คือผู้ใหญ่ต้องมองให้เห็นว่า การเล่นมีคุณค่าในตัวของมันเองให้ได้ เราถึงจะเป็นผู้ปกป้องทุกโอกาสในการเล่นของเด็กๆ ได้อย่างสุดหัวใจ

การเล่น สำหรับเด็กๆ แล้ว เป็นธรรมชาติ เรียกว่าเป็นสัญชาตญาณเลยด้วยซ้ำ การเล่นอยู่ในเนื้อในตัวเด็กๆ และถ่ายทอดออกมาจากเบื้องลึกของหัวใจ โดยที่เด็กๆ ไม่ได้ต้องคิดอะไร ไม่ได้ต้องหาความหมาย หรือหาเหตุผลให้กับการเล่นว่าเราเล่นไปเพื่ออะไรเลย

เด็กๆ เล่นเพื่อได้เล่น และเพราะแบบนั้นการเล่นก็เลยเป็นทุกอย่างสำหรับเด็กๆ 

การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของเด็กทุกคน การเล่นไม่ต้องสอนกัน เด็กที่ไหนก็เล่นเป็น เล่นได้ และเด็กก็สามารถคิดค้นหาหนทางในการเล่นสนุกได้ทุกวัน (นี่ไม่ได้หมายถึง การเล่นกีฬาหรือเล่นเกมกระดานที่มีกติกาหรือวิธีเล่นเฉพาะที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเล่น แต่หมายถึงการเล่นอย่างเป็นอิสระ เล่นอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น วิ่งเล่น ปีนป่าย เล่นสมมติตามจินตนาการ เล่นกับสิ่งรอบตัว หยิบจับสำรวจดูว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นทำอะไรได้บ้าง เล่นพูดภาษาต่างดาว เป็นการเล่นแบบที่เกิดขึ้นจากแรงขับภายใน ความรักสนุก และความกระหายใคร่รู้ในหัวใจของเด็กๆ อย่างแท้จริง)

ลองนึกภาพ หากเราเดินจูงมือเด็กสักคนเดินไปบนถนน เขาก็คงจะไม่เดินไปเรื่อยๆ ธรรมดา แต่จะกระโดดหย็องแหย็งไปมาตามช่องของก้อนอิฐแต่ละก้อนที่เรียงบนพื้น กระโดดข้ามรอยแตกที่พื้นบ้าง กระโดดเหยียบรอยเปื้อนที่ดูเหมือนจะเป็น check point ในเกมบ้าง ในหัวของเด็กน่าจะกำลังตั้งโจทย์อะไรบางอย่าง เหมือนเล่นเกมผ่านด่านที่ตื่นเต้นมากๆ อยู่ พอหันไปเห็นเงาอะไรหน่อยก็จะทึกทัก ชี้บอกว่าเงาประหลาด เหมือนสิ่งนั้นบ้างสิ่งนี้บ้าง เงาอันไหนดูน่ากลัวหน่อยก็ชวนกันวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงแล้วก็ส่งเสียงดังพอสนุกสนานพอให้หัวใจสูบฉีดบ้าง เห็นเจ้าแมวเดินผ่านก็จะลงไปนั่งคุยกับเจ้าแมวได้เป็นเรื่องเป็นราว เดินต่อไปอีกไม่กี่ก้าว เจอชิ้นส่วนปริศนา (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือของธรรมดา aka เศษขยะ) ที่ตกอยู่บนพื้น ก็พุ่งเข้าใส่ ไปเก็บมาเป็นสมบัติ จะเอาไปซ่อน จะเอาไปทำอะไรต่ออะไรตามแผนการลึกลับสุดที่ผู้ใหญ่จะนึกได้ เด็กๆ เล่นสนุกแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ไหลลื่นไปได้เรื่อยๆ และไม่มีตีบตันเลยนะ มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นล่ะ ที่มองไม่เห็นว่าโลกมหัศจรรย์ได้ขนาดนี้

การเล่นยังเป็นมิตรกับเด็กๆ ทุกคนเหมือนกัน การเล่นไม่ทำร้ายใคร ไม่ตัดสินคุณค่าในตัวใคร ไม่มีใครมาจัดอันดับในโลกของการเล่น ทุกคนเล่นเป็น ทุกคนเล่นได้ ทุกคนสนุกในรูปแบบหรือหนทางการเล่นของตัวเองได้ การเล่นเลยดีต่อหัวใจ ดีต่อตัวตนของเด็กๆ อย่างนี้

No Text_Post_2

ที่เริ่มต้นแบบนี้ เพราะมันสำคัญที่เราจะมองให้เห็นคุณค่าของการเล่น ตั้งแต่เริ่มได้เล่น และให้ถือว่าเป็นโชคดีของมนุษย์ที่การเล่นมาพร้อมกับคุณค่ามหาศาล แต่เราไม่จำเป็นต้องเอาคุณค่าปลายทางมาปักเป็นธงเพื่อให้การเล่นทั้งหมดนำเราไปสู่ตรงนั้น

เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น คุณค่าในตัวเองของการเล่นก็จะหายไป กลายเป็นว่าเราจะมัวไปจับจ้องอยู่แต่ว่า เด็กๆ จะได้เรียนรู้สิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ไปหรือยัง การเล่นอิสระในแบบที่สุขใจธรรมดาก็เลยกลายเป็นการเล่นที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อเด็กๆ สู้เอาเวลาไปเรียนหนังสือดีกว่า อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้หรือเสริมพัฒนาการอะไรบ้าง

แต่เด็กๆ นักเล่นและผู้ใหญ่ที่หลงรักในการเล่น จะเห็นได้เลยว่า แค่เด็กๆ ได้มีวัยเด็กที่มีอิสระในการเลือกเล่นในแบบที่ตัวเองเป็นสุขใจ ได้ทดลองหนทางเล่นสนุกใหม่ๆ ได้ท้าทายตัวเอง ได้มีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง ได้รับรู้ถึงชีวิตชีวาและหัวใจที่เต้นตึกตักอยู่ข้างในตัวเอง ได้สลายพลังส่วนเกินและความขุ่นข้องหมองใจทิ้งไป ได้เข้าใจว่าโลกใบนี้มันเต็มไปด้วยเรื่องสนุกมากมายแบบนี้เอง มันน่าอยู่และมหัศจรรย์แบบนี้เอง การเล่นให้ได้ทุกอย่างนั่นแหละ การเรียนรู้ต่างหาก ที่ถ้าทำไม่ถูกวิธีก็อาจจะทำลายธรรมชาติทั้งหมดที่เด็กมีได้แบบดื้อๆ 

ที่เล่ามาทั้งหมด เราเพียงแค่ไม่อยากให้อะไรไปบดบังคุณค่าของการเล่นในตัวมันเองเลย แม้แต่การเล่นในแง่ที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ ก็อาจจะทำให้รูปแบบของการเล่นที่เด็กคนหนึ่งควรได้มีประสบการณ์ถูกตีกรอบและจำกัดเอาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ตั้งใจไว้ ว่าในตอนหน้า จะพูดถึงคุณค่าที่แฝงมากับการเล่น ซึ่งก็คือพูดถึงการเรียนรู้ด้วยนี่แหละ

หวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้ชวนกันมองเห็นหน้าตาของการเล่นในมุมมองที่หลากหลาย ที่ถึงแม้จะไม่เห็นว่าเล่นแล้วเรียนรู้อะไร ก็ยังรู้ว่ามันสำคัญมากๆ 

เพราะหากมีแว่นวิเศษ และถ้าทุกคนหาแว่นอันนั้นของตัวเองเจอนะ ก็จะมองเห็นการเรียนรู้อยู่ในทุกอย่าง แล้วเราจะพยายามชวนคุยในเรื่องนี้ไปด้วยกันต่อไปนะคะ


อ้อมขวัญ เวชยชัย

ใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย คุณครูผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST