READING

PLAY NO MATTER WHAT LOST IN PLAY: อิสรภาพในช่วงเวล...

PLAY NO MATTER WHAT LOST IN PLAY: อิสรภาพในช่วงเวลา (1)

อิสรภาพ

ได้อ่านข่าวสั้นๆ ที่น่ารัก ก็คือนายกเทศมนตรีแห่งเทศบาลเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในอิตาลี ขอความร่วมมือให้โรงเรียนงดให้การบ้านเด็กๆ ในช่วงปิดเทอมใหญ่ และนายกเทศมนตรียังมอบหมายภารกิจให้เด็กๆ ออกไปเดินเล่นและดูพระอาทิตย์ตกดินแทน

แม้ไม่ได้จริงจังถึงขั้นตั้งเป็นกฎมาบังคับใช้ แต่ก็เป็นแนวทางปฏิบัติและเป็นหลักใหญ่ใจความที่สื่อสารว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนั้นเห็นความสำคัญของอะไรบ้าง

ผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในตัวเด็กๆ จะไม่กังวลจนเกินไปว่าเมื่อว่างจากการเรียนแล้ว เด็กๆ จะใช้เวลาอย่างสูญเปล่าและไร้ค่า แต่กลับเชื่อมั่นว่า เด็กๆ ควรได้ช่วงเวลาที่จะทำความรู้จักโลกใบนี้อย่างเป็นธรรมชาติและเวลาที่จะนำไปสู่การทำความรู้จักตัวเองกลับคืนมา

No Text_Post_1

ในตอนนี้ เราชวนทุกคนมาคิดและสงสัยเกี่ยวกับ ‘ อิสรภาพ ในช่วงเวลา’ เราเพิ่งมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในวงของผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็กๆ ว่าด้วยเรื่องช่วงเวลาอิสระ มีคุณค่ามหาศาลกับเด็กๆ อย่างไรบ้าง 

การปล่อยให้เด็กได้เล่นอิสระ เล่นโดยไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการจัดวางหรือสอดแทรกการเรียนรู้ใดๆ เข้าไป มีประโยชน์กับเด็กคนนั้นจริงหรือเปล่า จะเป็นการปล่อยเวลาอันมีค่าให้ผ่านไปกับการเล่นเรื่อยเปื่อย จะเป็นประโยชน์กับเด็กคนนั้นน้อยกว่าการเตรียมการหรือกะเกณฑ์อะไรเอาไว้หรือเปล่า แล้วมันจะทำให้เด็กๆ ของเราจะเสียโอกาสการเรียนรู้อะไรไปบ้างไหม

การเล่นอิสระที่ปราศจากแผนการโดยผู้ใหญ่ก็จริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่หายไปจากการเล่นของเด็กๆ สักนาทีเลยนะ ทั้งการวางแผน การคิด เลือก ตัดสินใจ การตั้งเป้าหมาย การจัดลำดับความสำคัญทั้งหลาย การชั่งน้ำหนักและประเมินตนเองในแต่ละช่วงเวลา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในตัวเด็กๆ อย่างเป็นธรรมชาติ และแอบซ่อนตัวอยู่ในเวลาเล่นอิสระทั้งหมด เป็นกระบวนการคิดเชิงเหตุผลที่จริงจังและมหัศจรรย์ทั้งสิ้น

เราเชื่อว่า ยิ่งผู้ใหญ่เข้าไปมีบทบาทจัดแจงการเล่นหรือจัดการช่วงเวลาเล่นอิสระของเด็กๆ มากเท่าไร ความเป็นไปได้จากร้อยจากพันที่เด็กๆ จะนึกฝัน ก็จะยิ่งลดน้อยลงเหลือเท่าที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้เท่านั้น 

ที่โรงแรมมหัศจรรย์ของเรา จึงพยายามปกป้องช่วงเวลาอิสระของเด็กๆ อย่างเต็มที่ เรามีช่วงเวลาตอนเย็นของทุกวันที่จะประกาศเสียงดังเลยว่า เด็กๆ  จะได้ใช้เวลาอิสระในแบบที่เป็นสุขใจ โดยที่เราไม่เตรียมกิจกรรมอะไรไว้ให้ แม้แต่ช่วงเวลาเล่านิทาน เราก็คิดว่าไม่มีดีกว่า แต่ใครอยากให้อ่านเล่มไหนตอนไหน ก็มาจูงมือเราไปนั่งอ่านด้วยได้ตลอดเวลา 

No Text_Post_2

ในช่วงเวลาเปิดบ้านอิสระ เด็กๆ จะเป็นเจ้าของ ‘เวลา’ ของตัวเอง เป็นคนเลือกเองว่าจะใช้เวลาที่มีนี้อย่างไร จะใช้หมดไปกับอะไร หรือกับใครบ้าง จะทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ หรือจะทดลองสิ่งใหม่ๆ จะทำสิ่งที่ใครมองว่ามีสาระหรือไม่มีสาระก็ได้ เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นก็ได้ อยากจะใช้เวลาเรื่อยเปื่อยเพื่อผ่อนคลายและคิดเพ้อฝันถึงแต่เรื่องมหัศจรรย์ในจินตนาการก็ยังได้แล้วเพราะแบบนั้น เด็กๆ ก็เลยไม่ได้เป็นเพียงเจ้าของช่วงเวลา แต่ยังเป็นเจ้าของ ‘หัวใจ’ และ ‘ตัวตน’ ในฐานะคนคนหนึ่ง ที่เลือกเองได้ คิดเองได้ ดูแลจัดการตัวเองได้ เป็นเจ้าของชีวิตนี้ ที่เราต้องทำมันให้ดี และเต็มที่ และรับผิดชอบมันในทางที่เราเลือกแล้วได้ 

แล้วยิ่งถ้าเด็กๆ ได้รับช่วงเวลาเหล่านั้นกลับคืนมามากเท่าไรเด็กๆ ก็จะยิ่งใช้มันได้อย่างคุ้มค่า และสร้างสิ่งซึ่งมีความหมายกับชีวิตทั้งชีวิตของตัวเองได้มากขึ้น

อันที่จริง เราก็คิดว่าเป็นความกล้าหาญเหมือนกันที่พื้นที่เรียนรู้อย่างเราเก็บค่าบริการจากการที่เปิดให้เด็กๆ เข้ามาใช้พื้นที่และเวลาอย่างอิสระ โดยที่พวกเราไม่ได้สอนอะไรอย่างจริงจัง แค่เล่นเป็นเพื่อนหรือคุยฟุ้งฝันเป็นเพื่อนเท่านั้น อาจจะมีที่เราไปจุดติดไฟอะไรบางอย่างสำเร็จ จนเด็กๆ ต้องเก็บอะไรบางอย่างไปครุ่นคิดต่ออีกหลายวัน หรืออยากจะลุกมาใช้เวลาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันสำคัญกับหัวใจของเขาบ้างเท่านั้น

แม้ในกิจกรรมที่มี structure หรือมีเป้าหมายมากขึ้นมาอีกหน่อยอย่างเวิร์กชอปทั้งหลาย เรายังพยายามใช้เวลารวมพล ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพูดอยู่เสมอว่าเวลานอกเหนือจากนั้น เด็กๆ จัดสรรได้เองตามสบายเลยนะ ขอให้รู้เลยว่าเราเชื่อใจในตัวเด็กๆ ว่าจะทำสิ่งมหัศจรรย์ได้เท่าที่ใจของแต่ละคนคิด จะเป็นไปตามแผนหรือไม่เป็นก็ได้ จะเริ่มต้นวันด้วยการเล่นก่อนก็ได้ จะทำงานไปเล่นไป จะทำไปจนเหนื่อยแล้วค่อยพักก็ได้ จะมาปั่นงานให้เสร็จตามที่ตั้งใจเอาทีหลังสุดก็ได้ ถือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สูญเปล่าสักนิดเพราะเวลาเป็นของเด็กๆ ไม่ใช่ของใคร (แต่เราช่วยได้ โดยการบอกเด็กๆ ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่าเรามีเวลาอยู่ด้วยกันกี่วัน กี่ชั่วโมง น้อยหรือมากแค่ไหน)

บรรยากาศที่โรงแรมมหัศจรรย์ถึงมีแต่คำว่าสบายๆ เราถึงได้เห็นภาพเด็กๆ เลือกใช้เวลาทำงานตามพลังงานของตัวเองในช่วงเวลานั้นๆ อยู่ตามมุมต่างๆ ตรงนั้นตรงนี้บ้าง เปลี่ยนกลุ่มเปลี่ยนแก๊งไปเรื่อยๆ บ้าง โต๊ะนี้มีคนที่ทำงานอยู่แล้วลุกไป มีคนใหม่มาแตะมือทำงานไปด้วยบ้าง มีคนถนัดเริ่มงานกะเช้าบ้าง กะบ่ายบ้าง ภาพจำของกิจกรรมที่โรงแรมมหัศจรรย์คือการได้เห็นเด็กๆ นั่งขีดๆ เขียนๆ ทำงานอยู่บนโต๊ะ ไปพร้อมๆ กับที่มีคนวิ่งขึ้นวิ่งลง และล้อมวงเล่นเกม หรือนอนอ่านนิทานเล่นในเวลาเดียวกันแบบนี้เสมอ 

เราจะเห็นเด็กๆ นั่งทำงานอยู่บนห้องสมุด แต่ตาก็เหลือบดูเพื่อนกำลังเล่นบอร์ดเกมกันเสียงดัง หัวเราะไปด้วยแล้วก็ก้มหน้าลงทำงานต่อ เราจะเห็นเพื่อนมาชวนเพื่อนไปเบรกบ่าย แล้วคนที่ถูกชวนก็บอกว่า “เดี๋ยวตามไป ขอทำตรงนี้ให้เสร็จก่อน” เราจะเห็นแก๊งที่ล้อมวงกันเล่นการ์ดเกม ที่พอเล่นจบเกมแล้วก็วงแตกโดยปริยาย ทุกคนพากันแยกย้ายบอกว่า “ไปทำงานดีกว่า”

เราอยากให้เด็กๆ รับรู้ด้วยตัวเองว่า ไม่มีใครรู้จักและเข้าใจจังหวะของตัวเราเองได้ดีกว่าตัวเราเองหรอก และถ้าค่อยๆ เฝ้าดูไป เราจะเห็นเด็กๆ ดึงตัวเองกลับมาได้เมื่อสนุกจนเกินไป เมื่อรับรู้ว่ามีสิ่งสำคัญที่รอเขาอยู่ตรงหน้าเองได้ และผ่อนบ้างได้เมื่อเริ่มรู้สึกว่าตึงจนเกินไปแล้ว

เด็กๆ เป็นเจ้าของช่วงเวลาของตัวเองอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องมีใครมากำหนดว่า ตอนไหนคือช่วงเวลาเรียน (ที่ยังไม่ใช่เวลาเล่น) และตอนไหนคือช่วงเวลาเล่น (ช่วงเวลาพักที่แยกออกมาจากเวลาเรียน ที่ได้รับอนุญาตให้เล่นได้โดยเฉพาะ)

ฟังดูย้อนแย้งและไม่น่าเป็นไปได้ แต่งานวิจัยบอกว่า เด็กๆ ที่ได้รับอิสรภาพในช่วงเวลาจะสามารถจัดการกับตัวเองให้ไปจนถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ดีกว่าเด็กๆ ที่ช่วงเวลาในชีวิตถูกกำหนดไว้อย่างเป็นแบบแผนว่าตอนไหนต้องทำอะไร

ในตอนถัดไป เราตั้งใจจะบอกเล่าว่า สำหรับพวกเราแล้ว เรามองเห็นอะไรใน ‘ อิสรภาพ แห่งช่วงเวลา’ ในการเล่นของเด็กๆ อีก ประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของก็หนึ่งอย่าง แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ชวนคุยกันได้อีกนะคะ

ปิดท้ายด้วยข่าวที่อ่านเจออีกข่าว ซึ่งไม่แน่ใจว่ารู้สึกอย่างไร แต่คิดว่าน่าสนใจที่จะมาบอกเล่าค่ะ

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่เพิ่งผ่านมา มีการจัดช่วงเวลาให้เด็กๆ ได้ ‘เล่น’ โดยเฉพาะ 

พื้นที่สาธารณะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือลานกว้างหน้าพิพิธภัณฑ์ ทุกคนจับมือกันกำหนดช่วงเวลาเฉพาะ เช่น บ่ายวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ในแต่ละเดือน ให้เด็กๆ ได้ออกมาเล่นกันเต็มที่ เพื่อชดเชยการเล่นที่ขาดหายไปตลอดฤดูหนาวและล็อกดาวน์ที่ผ่านมา เรียกว่า Ultimate Play Day มีกิจกรรมพิเศษสำหรับครอบครัวและผู้คนทุกเพศทุกวัย เหมือนงานเทศกาลย่อมๆ และมุมเล่นเล็กใหญ่ที่เปิดรอให้เด็กๆ (และผู้ใหญ่) ได้มาเล่นอย่างอิสระ

ใจหนึ่งก็คิดว่า โอ้โห การเล่นมันหายไปจากชีวิต ถึงกับต้อง make time หรือกู้คืนผ่านการกำหนด ‘เวลาเล่นลูกเดียว’ เป็นวาระประจำเมืองกันเลยเหรอ แต่ก็นั่นแหละ เพราะต่อให้รู้ว่าการเล่นมันสำคัญแค่ไหน แต่เราก็รู้ว่าไม่ได้หาเวลาเล่นกันได้ง่ายๆ (เท่านี้ก็ปั่นงานปั่นการบ้านกันดึกดื่นทุกวันแล้ว) นี่ถ้างานของเราไม่ใช่การเล่น เราก็คงไม่มีเวลาเล่นหรือคิดหาอะไรสนุกๆ มาชวนทุกคนเล่น คงไม่ได้ทุ่มเทพลังงานและจริงจังกับการเล่นขนาดนี้เหมือนกัน 

แต่ลึกๆ อ่านข่าวจบแล้วก็คิดว่า เด็กๆ ที่อยู่ในบ้านเมืองที่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการเล่นและร่วมกันสร้างพื้นที่ สร้างโอกาส ให้ได้เล่นอย่างอิสระแบบนี้ช่างโชคดีเหลือเกิน

คิดอีกที จะว่าไปแล้วผู้ใหญ่ก็แค่ต้องให้คืนเวลา ไม่ต้องถึงกับจัดเทศกาลใหญ่โตก็ได้ เพราะแค่มีเวลาว่าง เด็กๆ ก็จะพามันไปสู่การเล่นได้ตลอดเวลาเลยนั่นแหละ แล้วก็ทำได้ทันทีเลยด้วยนะ ไม่ต้องตระเตรียมอะไรมากมายเลย


อ้อมขวัญ เวชยชัย

ใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย คุณครูผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST