Play no matter what 01: PLAY IN CRISIS เล่นแม้ยามยาก

อย่างหนึ่งที่คิดว่าเราหลายคนเริ่มเห็นพ้องต้องกัน และอีกหลายคนก็กำลังพยายามปรับจูนสายตาของตัวเองเพื่อมองให้เห็นสิ่งนั้นอย่างทะลุปรุโปร่งทุกที่ทุกเวลา ก็คือคุณค่ามหาศาลที่เกิดขึ้นระหว่าง ‘การเล่น’ ของเด็กๆ

‘การเล่น’ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ ‘การเรียนรู้’ ที่มีคุณค่าและมีความหมายสำหรับชีวิตของเด็กๆ ต่อไปได้, มหัศจรรย์ชะมัด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตัวเร่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้นี้ก็คือโคโรนาไวรัส ต้นเหตุของโรค COVID-19 นี่แหละ

เจ้าไวรัสซึ่งเป็นต้นเหตุของการปรับและเปลี่ยนวิถีชิวิต รวมถึงวิธีคิดทั้งหลายอย่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้มันจะสร้างอุปสรรคและข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของเราทุกคนมากมายในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่หลายคนหันมาสนใจและให้คุณค่ากับการเล่นของเด็กๆ และยอมรับว่าการเล่นจำเป็นและสำคัญกับเด็กๆ มาก ไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากแค่ไหน

และถ้าตั้งสติกันให้ดีแล้ว เราคงจะฉกฉวยอะไรจากสถานการณ์นี้ได้อีกมาก รวมถึงโอกาสที่เปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างให้ดีขึ้น เพื่อเด็กๆ ของเราเด็กๆ

ว่าแต่… เราจะฉกฉวยโอกาสแบบไหน หรือฉกฉวยอะไรกันดีนะ…

No Text_Post_1

ขอเริ่มจาก ชวนทุกคนข้ามน้ำข้ามทะเลไปเที่ยวแดนไกล ผ่านเรื่องเล่าจากข่าวที่ผ่านตาบ่อยครั้งในช่วงนี้กันค่ะ

ดูเหมือนว่าหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์กันแล้ว โรงเรียนก็เริ่มทยอยกลับมาเปิดได้ตามปกติ และเด็กๆ ก็คงกำลังเตรียมตัวกลับคืนสู่การเรียนรู้ ในรูปแบบของการไปเรียนที่โรงเรียนอย่างที่คุ้นเคยมาตลอด

เรื่องเล่าแสนน่ารักจากประเทศแคนาดา เล่าว่า เด็กชั้นประถมกว่าสี่ร้อยคนที่เพิ่งได้กลับไปเรียนหนังสือ ใช้เวลาในสัปดาห์แรกที่เปิดเรียน ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างห้องเรียนกลางแจ้งไว้ที่หน้าประตูโรงเรียน ห้องเรียนนี้เด็กๆ ตั้งชื่อให้ว่า Snow Fort เพราะมันสร้างจากหิมะ ตั้งแต่ผนังที่โอบล้อมขนาดใหญ่ เฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะและเก้าอี้ ลามไปถึงของตกแต่งประดับประดาก็ไม่เว้น ห้องเรียนนี้มีหลังคาเป็นท้องฟ้า แถมยังมีอุโมงค์ มีหน้าต่าง มีบันได สมจริงทุกอย่าง

เด็กๆ ทุกคนชอบใจ ภูมิใจ และยิ่งรอคอยที่จะไปโรงเรียนในแต่ละวัน เพื่อที่จะได้นั่งเรียนในห้องเรียนใหม่และบรรยากาศใหม่ที่แสนมหัศจรรย์และพิเศษมากๆ แบบนี้

เด็กๆ บอกว่า ห้องเรียนนี้หนาวกว่าปกตินิดหน่อย ก็แค่แต่งตัวให้อุ่นเข้าไว้ แต่ที่สำคัญก็คือห้องเรียนกว้างๆ แบบนี้ ได้ขยับ ได้วิ่ง ได้เคลื่อนไหว ก็ช่วยให้อุ่นขึ้นได้เยอะ

ที่น่ารักไม่แพ้เด็กๆ ก็คือคุณครูที่มองว่าเด็กๆ ต้องพรากจากอะไรมามากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า และสิ่งนี้แหละที่จะชุบชูใจให้เด็กๆ ในวันที่พวกเขาได้กลับมาใช้วันเวลาที่โรงเรียนอีกครั้ง

สิ่งที่คุณครูพูดมันสำคัญจัง เพราะมันแสดงให้เห็นว่า คุณครูให้คุณค่ากับความรู้สึกของเด็กๆ มากแค่ไหน คุณครูยอมให้เด็กๆ เล่น แถมยังเล่นไปกับเด็กๆ เพื่อร่วมมือกันทวงคืนหลายสิ่งหลายอย่างที่หายไป เช่น ความรู้สึกอุ่นใจ  ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยที่เด็กๆ ควรจะได้รับ เมื่อพวกเขาได้กลับมาเชื่อมต่อและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือเป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่าการเป็นแค่ตัวฉัน

คุณครูที่ให้เวลากับการสร้างความรู้สึกว่าได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ได้ลงมือทำอะไรบางอย่างจนสำเร็จไปด้วยกัน ไม่ถึงกับร่วมทุกข์ร่วมสุข แต่ก็เป็นการร่วมเหนื่อยร่วมสนุกไปด้วยกัน

คุณครูที่ให้ความสำคัญกับการเล่นใหญ่ การที่เด็กๆ จะได้มีพื้นที่ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ และไม่ด่วนตัดโอกาสเพื่อเร่งที่จะเรียนให้ทันหลังจากที่โรงเรียนต้องหยุดไปกะทันหันจากที่เด็กๆ คิดว่าจะต้องลงแรงกับโปรเจ็กต์เฉพาะกิจนี้ด้วยเวลาที่นานกว่านั้น ปรากฏว่าเด็กๆ ใช้เวลาแค่ 4 วันก็สร้างห้องเรียน Snow Fort นี่จนเสร็จ แล้วก็เริ่มต้นการเรียนรู้ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและเป็นพลังให้กับหัวใจแบบนี้ไปยาวๆ

No Text_Post_2

ขอข้ามทะเลไปอีกที คราวนี้ไปเที่ยวประเทศอังกฤษบ้าง

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เด็กๆ ที่ประเทศอังกฤษกำลังจะได้กลับไปโรงเรียนอีกครั้ง หลังจากการล็อกดาวน์ประเทศที่แสนจะยาวนาน

หลายคนตั้งคำถาม การเรียนออนไลน์ทำลายความเป็นนักเรียนรู้ที่ตื่นเต้นกับโลกกว้างใบนี้ไปหรือยัง หัวใจของเด็กๆ ณ วันนี้ พร้อมกลับไปลุยที่โรงเรียนเหมือนเดิมแล้วหรือยัง…

แค่ผู้ใหญ่สงสัยและฉุกใจตั้งคำถามนี้ขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าดีจัง โดยยังไม่ต้องลงมือทำอะไรเลยด้วยซ้ำ (แต่ว่าเด็กๆ ก็แสนโชคดีที่ผู้ใหญ่หลายคนฉกฉวยโอกาสนี้ลงมือทำอะไรตั้งดีๆ ได้ตั้งเยอะ)

หลายบทความที่เราอ่านเจอ พบว่านักการศึกษา นักจิตวิทยา และ play advocates ทั้งหลาย พยายามที่จะเตือนสติกันและกันผ่านข้อเขียนมากมายว่า ถ้าโรงเรียนกลับมาเปิดคราวนี้ เราต้องช่วยกันทำอย่างไรก็ได้ให้การเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่กลับไปเป็นแบบเดิมอีก

ก็คือเริ่มจากการที่ไม่ต้องมีเรียนชดเชยก่อน แล้วก็ไม่ต้องเพิ่มคาบเรียน ให้เป็นการขโมยเวลาเล่นของเด็กๆ มาชดเชยชั่วโมงเรียนที่ขาดหายไป

ผู้ใหญ่ที่นั่นเตือนกันและกันว่า อย่าเผลอทำให้ตารางเวลาของเด็กๆ อัดแน่นไปด้วยงานของหลายเดือนที่ผ่านมา อย่ายอมให้ช่วงเวลาที่โรงเรียนมันต่อเนื่องยาวนานจนลืมช่วงพักกาย พักใจ พักสมอง จนเด็กๆ ต้องใช้พลังไปจนหมดหน้าตัก และไม่มีเวลาที่จะได้พักเพื่อเติมหรือสร้างพลังแห่งการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่

และต่อให้เรียนไม่ทันยังไง ผู้ใหญ่ก็จงอย่าไปเบียดบังช่วงเวลาปิดเทอม ที่เด็กๆ ควรจะได้ฝึกการริเริ่มสร้างสรรค์ ผ่านการวางแผนว่าวันนี้พวกเขาจะเริ่มโปรเจ็กต์อิสระอะไรดี (หรือใครจะเรียกแบบระทึกใจหน่อยๆ ว่า ‘เล่นตามใจทั้งวันอย่างไรดี’ ก็ได้)

และผู้ใหญ่ที่นั่นก็ยังคอยเตือนกันและกันอีกว่า อย่ามัวแต่กังวลกับวิชาพื้นฐาน จนลืมให้ความสำคัญกับศิลปะ ดนตรี กีฬา การค้นคว้า และการเลือกทำโปรเจ็กต์อิสระจากคลับหรือชมรมที่แต่ละคนสนใจ

แถมผู้ใหญ่ (ที่หมายถึงคนใหญ่คนโต) ก็ยังเตรียมทุ่มงบประมาณมหาศาล (คิดเป็นเงินไทยก็คงเป็นเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท) เพื่อจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อดูแลเรื่องอารมณ์และจิตใจของเด็กๆ ที่ต้องปรับตัวกับการมาโรงเรียนอีกครั้งหลังจากหยุดอยู่บ้านมานาน และเด็กบางคนอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิตช่วงที่ผ่านมา

แล้วแทนที่จะเรียนกันไปยาวๆ โดยไม่ต้องปิดเทอม รัฐบาลยังรีบสั่งการให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลโอกาสทางการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กๆ อย่างเต็มที่ ในวันที่ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติได้ มีการขอความร่วมมือจากชุมชน เครือข่าย ผู้คนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด พื้นที่เล่น และแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนทั้งหลาย ให้จัดกิจกรรมให้ตื่นตาตื่นใจที่สุด ให้เด็กๆ มีทางเลือกที่จะทำกิจกรรมนอกหลักสูตรตามความสนใจ รวมไปถึงเทศกาลและงาน อีเวนต์มหัศจรรย์อีกมากมาย ที่จะให้ประสบการณ์ที่คุ้มค่า ชดเชยการล็อกดาวน์อันยาวนานของเด็กๆ เพื่อซ่อมเสริมและเติมพลังชีวิต รวมทั้งหล่อเลี้ยงพลังแห่งวัยเด็กให้ยังคงอยู่ต่อไป

เพราะใช่ว่าผ่อนคลายจากการล็อกดาวน์แล้ว เด็กๆ จะต้องย้ายจากการกักตัวที่บ้านมาเป็นกักตัวอยู่แต่ในห้องเรียนเสียเมื่อไหร่

ผู้ใหญ่ยังต้องช่วยเตือนสติกันเองว่า พ่อแม่ต้องไม่ตั้งความหวังกับการกลับมาเรียนครั้งนี้ เพราะเด็กๆ ไม่ใช่หุ่นยนต์ เด็กๆ มีหัวใจ บางคนต้องใช้เวลาซ่อมและสร้างอะไรๆ ที่ถูกทำลายไปในช่วงที่ผ่านมา อย่าคิดว่าเปิดเรียนแล้ว เด็กๆ ต้องกลับมาทำหนึ่งสองสามสี่ได้ครบถ้วนทุกอย่างตามที่ผู้ใหญ่คาดหวัง เพราะมันจะกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งที่เด็กๆ จำต้องแบกรับไว้ แล้วจะกลายเป็นความเครียดโดยไม่รู้ตัว

ข้ามมหาสมุทรกลับมาที่บ้านเรา ในขณะที่หลายคนเล็งเห็นแล้วว่าการเล่นมีความสำคัญกับเด็กๆ นักเล่นของเราอย่างมหาศาล ผู้ใหญ่อย่างเราต้องทบทวนว่า เรากำลังจะส่งเด็กๆ ของเรากลับเข้าสู่การเรียนรู้แบบเดิมๆ และอาจจะเป็นโหมดที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิมอยู่หรือเปล่า

และเราจะฉกฉวยโอกาสจากวิกฤตที่โคโรนาไวรัสมอบให้เราไว้ได้อย่างไรบ้าง

อ้างอิง: https://www.cbc.ca/news/canada/manitoba/marie-anne-gaboury-snow-fort-winnipeg-1.5921947

อ้อมขวัญ เวชยชัย

ใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย คุณครูผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST