READING

ลูกทำความผิด: พ่อแม่จะรับมือและสอนลูกอย่างไรดี?!...

ลูกทำความผิด: พ่อแม่จะรับมือและสอนลูกอย่างไรดี?!

ลูกทำความผิด

เวลาที่ ลูกทำความผิด เช่น หยิบของเพื่อนไปโดยไม่ได้รับอนุญาต โกหก ไม่ยอมรับผิด หรือมีพฤติกรรมไม่น่ารักในสายตาคนอื่น อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกโกรธ เสียใจ และผิดหวังในตัวลูก รวมถึงนึกโทษการเลี้ยงดูของตัวเองที่อาจมีผลต่อพฤติกรรมและการทำความผิดของลูกได้

แต่ถึงอย่างนั้น นอกจากการทบทวนและพิจารณาข้อผิดพลาดของตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า ลูกอาจทำผิดพลาดไปเพราะความไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจ หรือขาดประสบการณ์และวุฒิภาวะที่มากพอ ดังนั้น การลงโทษลูกด้วยวิธีรุนแรง ไม่ว่าจะทุบตี ตะคอก หรือด่าทอเสียงดัง ย่อมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะนอกจากไม่ได้ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมของลูกในระยะยาวแล้ว ยังทำให้ลูกมีพฤติกรรมแย่ลงได้

แล้วเมื่อ ลูกทำความผิด คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือหรือสอนให้ลูกได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้อย่างไร เรามาตั้งสติ แล้วเรียนรู้ไปด้วยกันนะคะ

1. ฟังเหตุผลของลูกก่อนเสมอ

ShouldSorry_web_1

ทุกการทำความผิดย่อมมีที่มา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้โอกาสลูกได้อธิบายในมุมของตัวเอง ว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น เช่น ลองให้ลูกอธิบายว่า ทำไมถึงหยิบของเพื่อนกลับมา ลูกอาจจะยอมรับว่าเป็นเพราะความอยากได้ หรืออธิบายว่าเป็นเพราะเจอของตกอยู่ จึงเก็บมาเฉยๆ

ผู้ใหญ่บางคนอาจมองว่าการให้อธิบาย ก็เหมือนเปิดโอกาสให้ลูกได้แก้ตัว แต่ความจริงแล้ว การรับฟังเหตุผล ไม่จำเป็นว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องเชื่อและตัดสินไปตามสิ่งที่ลูกพูด แต่จะช่วยลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะรับฟังและไม่ตัดสิน และยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หาทางปรับพฤติกรรมผิดๆ ของลูกได้

2. สอนให้ลูกขอโทษจากใจจริง

ShouldSorry_web_2

คุณพ่อคุณแม่รู้ดีว่า เมื่อลูกทำผิดควรบอกให้ลูกรีบขอโทษ เช่น ลูกตีเพื่อน รีบไปขอโทษเพื่อนเดี๋ยวนี้เลยนะคะ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ถูก แต่นอกจากการสอนให้ลูกรีบขอโทษแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกนึกถึงใจคนอื่น และอธิบายว่าลูกทำผิดอย่างไร เช่น ถ้ามีคนทำอย่างนี้กับลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ผลลัพธ์ของการกระทำนั้นเป็นอย่างไร เมื่อลูกเข้าใจความผิดของตัวเองมากขึ้นแล้ว ลูกก็จะพูดขอโทษออกมาด้วยความจริงใจ และระวังที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำเดิมอีก

3. สอนลูกรู้ว่าเมื่อทำผิดพลาดต้องแก้ไข

ShouldSorry_web_3

ถ้าเลือกได้คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกทำผิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ สอนให้ลูกเข้าใจว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ แต่เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องยอมรับความผิดและผลจากการกระทำนั้น เพื่อหาทางแก้ไข และเตือนตัวเองไม่ให้ทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมอีก

4. ใช้พฤติกรรมและคำพูดเชิงบวก

ShouldSorry_web_4

เมื่อลูกทำผิด บางครอบครัวอาจต้องการสอนให้ลูกเข็ดหลาบด้วยการลงโทษที่รุนแรงเพื่อให้ลูกหวาดกลัว และไม่ทำผิดซ้ำสอง แต่ความจริงแล้วการใช้พฤติกรรมเชิงลบกับลูกอาจได้ผลแค่เพียงระยะสั้น เช่น ลูกหยุดพฤติกรรมนั้นทันที  แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ลูกจะกลายเป็นเด็กกลัวความผิด ไม่ยอมรับ และปกปิดความผิดของตัวเอง เพื่อไม่ให้ถูกคุณพ่อคุณแม่ลงโทษ

แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เมื่อพบว่าลูกทำผิดก็คือการใช้พฤติกรรมและคำพูดเชิงบวก เช่น เปลี่ยนการต่อว่า “สอนกี่ครั้งแล้วทำไมถึงไม่จำ!” เป็น “ลูกลองช่วยนึกที่คุณแม่เคยสอนหน่อยสิคะ” หรือ “เราลองมาช่วยกันคิดว่าทำยังไงไม่ให้เกิดเรื่องนี้ดีนะ”

5. อย่าลืมแสดงออกว่ารักลูกเสมอ

ShouldSorry_web_5

เด็กๆ ก็ไม่ได้รู้สึกดีนักเวลาที่รู้ว่าตัวเองทำผิด ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกเข้าใจว่า เมื่อทำผิดแล้วจะไม่มีใครรักหรือให้อภัยได้

มีสำนวนภาษาอังกฤษกล่าวว่า ‘I love you, just not your behavior.’ หรือฉันรักคุณ ไม่ใช่พฤติกรรมของคุณ นั่นหมายถึง เมื่อลูกทำผิดหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่เจาะจงไปที่การกระทำนั้นๆ เช่น “แม่ไม่ชอบที่ลูกแย่งของเล่นน้อง” แทนการพูดเหมารวมว่า ลูกเป็นเด็กไม่ดี หรือเป็นพี่ที่ไม่น่ารัก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่เป็นที่รัก ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ขาดความมั่นใจ และไม่รู้ว่าจะแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดได้อย่างไร

 

— อ่านบทความ: 9 คำพูด toxic ที่ไม่ควรพูดเมื่อลูกทำผิด
อ้างอิง
verywellfamily
askdrsears

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST