READING

หน้าที่เลี้ยงลูก เป็นของใคร: เมื่อการเลี้ยงลูกไม่ใ...

หน้าที่เลี้ยงลูก เป็นของใคร: เมื่อการเลี้ยงลูกไม่ใช่งานของคนใดคนหนึ่ง

หน้าที่เลี้ยงลูก

ถึงแม้ว่าโดยธรรมชาติและสัญชาตญาณ การเลี้ยงดูลูกจะเป็นหน้าที่หลักของคนเป็นแม่ แต่สังคมครอบครัวปัจจุบัน ไม่ว่าจะพ่อหรือแม่ต่างก็มีภาระหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบไม่น้อยไปกว่ากัน หน้าที่เลี้ยงลูก จึงไม่ควรถูกกำหนดให้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งอย่างที่ผ่านมา

ครอบครัวรุ่นใหม่ และครอบครัวในอุดมคติที่หลายคนต้องการ จึงไม่ใช่ครอบครัวที่ปล่อยให้ หน้าที่เลี้ยงลูก กลายเป็นภาระรับผิดชอบของคุณแม่เพียงคนเดียว แม้ว่าหลายครอบครัว จะตกลงใจใช้ให้คุณแม่ผันตัวมาเป็นแม่ฟูลไทม์ แต่ถึงอย่างนั้น การแบ่งบทบาท หน้าที่ และทีมเวิร์กระหว่างคุณพ่อคุณแม่ ก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวไม่ควรมองข้าม

และถ้าวันนี้ การเลี้ยงลูกยังทำให้ใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังเหนื่อยอยู่คนเดียวแล้วละก็ เราอยากชวนคุณพ่อคุณแม่ มาช่วยกันปรับจูนแนวคิดและการใช้ชีวิต เพื่อแบ่งเบา หน้าที่เลี้ยงลูก ไม่ให้เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสของใครคนใดคนหนึ่งกันดีกว่าค่ะ

1. สร้างทีมเวิร์ก

parentingshared_web_1

คุณพ่อต้องละลายความคิดหรือทัศนคติที่ว่า ไม่มีทางเลี้ยงลูกได้ดีเท่าคุณแม่ ถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่บางอย่าง เช่น การเอาลูกเข้าเต้าเพื่อให้นม ที่คุณพ่อทำแทนไม่ได้ แต่นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกดูดนมจากขวด อาบน้ำ เล่นกับลูก หรือพาลูกเข้านอน ล้วนเป็นสิ่งที่คุณพ่อสามารถแตะมือทำแทนและให้ความช่วยเหลือคุณแม่ได้

นอกจากการช่วยเลี้ยงดูลูกแล้ว คุณพ่อยังสามารถช่วยแบ่งเบาหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น ซื้อของเข้าบ้าน ทำอาหาร ทำงานบ้าน และดูแลตัวเองมากขึ้น ส่วนคุณแม่ เมื่อมีคนช่วยแบ่งเบาหน้าที่แล้วก็จะได้มีเวลาพักผ่อน ดูแลตัวเอง และจัดสรรเวลา กลับมาดูแลความเรียบร้อยอื่นๆ ภายในบ้านได้อีกด้วย

2. ทุกคนควรมีเวลาส่วนตัว

parentingshared_web_2

ไม่ว่าจะเป็นเวลาเพื่อนอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก หรือแม้แต่การมีเวลาว่างเพื่อดูแลร่างกายและจิตใจตัวเอง การมีเวลาส่วนตัวก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้การเลี้ยงลูก ทำให้เวลาส่วนตัวในชีวิตหายไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการทุ่มเทร่างกายและจิตใจไปกับการเลี้ยงลูกตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและเครียดสะสม ส่งผลต่อคุณภาพการเลี้ยงลูกได้

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือการแบ่งหน้าที่ ผลัดเวร และจัดสรรเวลาให้แต่ละคนสามารถมีเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเอง อาจจะวันละ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อชาร์จพลังงานชีวิตของตัวเองกลับมารับมือกับการเลี้ยงลูกอีกครั้ง

3. เข้าใจอารมณ์คุณแม่

parentingshared_web_3

สิ่งที่ดูเหมือนจะเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับคุณพ่อก็คือภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของคนเป็นแม่ เพราะการเลี้ยงลูก นอกจากจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าแล้ว คุณแม่ยังต้องรับมือกับความเครียดและความกังวลตามสัญชาตญาณ รวมถึงความแปรปรวนของอารมณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายหลังคลอดลูก

ดังนั้น คุณพ่ออาจต้องพยายามทำความเข้าใจกับสภาพจิตใจและอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของคุณแม่หลังคลอดให้มากกว่าช่วงเวลาปกติสักหน่อย เพื่อให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นและดำเนินต่อไปได้

4. ไม่มีหน้าที่ ‘ของฉัน’ และ ‘ของเธอ’

parentingshared_web_4

ถึงแม้การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบระหว่างคุณพ่อคุณแม่จะช่วยลดทอนความเหนื่อยล้าซึ่งกันและกันได้ แต่การแบ่งหน้าที่ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจ การให้ความร่วมมือ และความยืดหยุ่นที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนหน้าที่ของตัวเองได้ในเวลาที่เหมาะสม

ดังนั้น การแบ่งหน้าที่จึงไม่ใช่การกำหนดหรือยึดติดว่า สิ่งนี้คือหน้าที่ของฉัน สิ่งนั้นคือหน้าที่ของเธอ แต่งานบ้านและงานที่เกี่ยวกับลูก สามารถปรับเปลี่ยนคนรับผิดชอบได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่น ปกติคุณแม่จะเป็นคนตื่นมาให้นมลูกกลางดึก แต่ถ้าวันไหนคุณแม่เหนื่อยมากจนตื่นไม่ไหว คุณพ่อก็สามารถตื่นมาทำหน้าที่นั้นแทนได้เสมอ

5. ชื่นชมและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

parentingshared_web_5

ถึงแม้การเลี้ยงลูกจะเป็นงานที่พ่อแม่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจไปที่ลูกน้อย แต่การให้กำลังใจ ชื่นชม ขอบคุณ และขอโทษซึ่งกันและกันก็เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่ และการเลี้ยงลูกผ่านไปด้วยดีได้

ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือการหันมาให้กำลังใจกัน ขอบคุณที่แต่ละคนพยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี ขอบคุณที่ช่วยเหลือและเข้าใจกันมาตลอด และสุดท้าย อย่าลืมทบทวนว่าในแต่ละวันเราเผลอทำอะไรกระทบกระทั่งหรือทำร้ายจิตใจกันเอง แล้วกล่าวขอโทษกันและกันด้วยนะคะ

อ้างอิง
scarymommy
pewresearch

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST