READING

เด็กขี้ฟ้อง: ในการฟ้องมีอะไรซ่อนอยู่ กับ 4 สาเหตุท...

เด็กขี้ฟ้อง: ในการฟ้องมีอะไรซ่อนอยู่ กับ 4 สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเด็กขี้ฟ้อง

เด็กขี้ฟ้อง

เมื่อถึงวัยหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ย่อมอยากให้ลูกเล่าเรื่องราวที่พบเจอในชีวิตประจำวันให้ฟัง แต่บางครั้งการบอกเล่าของลูกก็เริ่มมีแต่เรื่องที่ไม่ดีของคนอื่น จนดูเหมือนลูกกลายเป็น เด็กขี้ฟ้อง แต่ความจริงแล้วเวลาที่ลูกมีเรื่องไม่ดีมาฟ้องก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดี หากจุดประสงค์เป็นเพราะลูกต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ ฟ้องเพื่อเพื่อรักษาความถูกต้อง หรือปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและคนอื่น ลูกจึงต้องฟ้องใครสักคนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีความถี่ในการฟ้องมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเรื่องที่นำมาฟ้อง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข หรือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกรู้สึกไม่พอใจ ก็นำมาฟ้อง โดยที่ไม่คิดหาทางแก้ไขด้วยตัวเอง ก็เป็นไปได้ว่าลูกเริ่มเคยชินกับพฤติกรรม เด็กขี้ฟ้อง เสียแล้ว

คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตพฤติกรรมและทำความเข้าใจเหตุผลที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้ฟ้อง เพื่อหาทางปรับพฤติกรรม ไม่ให้การฟ้องของลูกเป็นไปในทางลบหรือตั้งใจทำร้ายคนอื่น

M.O.M จึงรวบรวม 5 สาเหตุที่ทำให้ลูกช่างฟ้องมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

1. เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของลูก

mischievous_web_1

นักจิตวิทยา เผยว่า เด็กช่วงวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่เริ่มเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และยังไม่เห็นความสำคัญของความต้องการของผู้อื่น เมื่อเด็กวัยนี้เผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ได้ดังใจ หรือไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็จะพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด เช่น จากที่เคยเป็นเจ้าของของเล่นทุกชิ้นในบ้าน และเล่นได้โดยไม่ต้องแบ่งใคร พอไปโรงเรียนแล้วต้องแบ่งของเล่นกับคนอื่น ก็กลัวว่าเพื่อนจะมาแย่งของเล่น จึงรีบไปฟ้องคุณครู เพื่อที่จะไม่ต้องแบ่งของเล่นกับใคร

หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องตำหนิหรือต่อว่าลูกรุนแรง แต่ควรทำความเข้าใจและสอนให้ลูกรู้จักปรับตัว รับฟังความต้องการของคนอื่น และลองแก้ปัญหาด้วยความเห็นอกเห็นใจดูก่อน

2. ต้องการเรียกร้องความสนใจ

mischievous_web_2

เมื่อลูกเริ่มต้องไปโรงเรียน การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากบ้านที่มีคุณพ่อคุณแม่คอยให้ความสนใจ เป็นโรงเรียนที่มีคุณครูและเพื่อนๆ อีกหลายคน ลูกอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นที่รักและสนใจเหมือนเดิม จึงต้องการเรียกร้องความสนใจ อยากเป็นที่รัก และอยากให้คุณครูมองว่าตัวเองเป็นเด็กดีกว่าคนอื่นๆ ด้วยการพยายามทำให้คุณครูเห็นหรือบอกเล่าพฤติกรรมที่ไม่ดีของเพื่อน เช่น ฟ้องว่าเพื่อนแอบกินขนมในห้องเรียน ไม่แบ่งของเล่นให้เพื่อน เพราะต้องการเป็นที่รักและสนใจของคุณครูนั่นเอง

3. ต้องการเรียกร้องความถูกต้อง

mischievous_web_3

บางครั้งการฟ้อง เกิดขึ้นเพราะลูกต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เมื่อกำลังรู้สึกว่าถูกเพื่อนเอาเปรียบ หรือคิดว่าเพื่อนทำไม่ถูกต้อง เช่น เห็นเพื่อนลอกข้อสอบ หรือเห็นคนอื่นถูกรังแก

การฟ้องในลักษณะนี้ถือเป็นพฤติกรรมเชิงบวกที่คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมในความกล้าหาญที่จะปกป้องสิทธิ์ของตัวเองและคนอื่น แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อลูกมาฟ้อง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรวางตัวเป็นกลาง เปิดใจที่จะรับฟังคำอธิบายหรือหาคำตอบจากทุกฝ่าย ไม่รีบเข้าข้างลูก และพยายามตัดสินสถานการณ์ด้วยเหตุผลเสมอ

4. ต้องการเอาคืน

mischievous_web_4

สถานการณ์การเอาคืนของเด็กๆ มักเกิดขึ้นที่โรงเรียน เวลาที่ลูกถูกเพื่อนแกล้ง แย่งของเล่น หรือถูกทำให้ไม่พอใจ และไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร จึงเลือกที่จะเอาเหตุการณ์ไปฟ้องคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครู เพราะคาดหวังให้ผู้ใหญ่ช่วยจัดการปัญหาให้ การฟ้องลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนให้ลูกรู้จักรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเองก่อน เพราะหากลูกติดนิสัยช่างฟ้อง แล้วต้องการให้คนอื่นคอยช่วยแก้ปัญหาอยู่เสมอ ก็จะทำให้ลูกไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง ขาดทักษะการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อลูกในระยะยาวได้

อ้างอิง
Parents One
iNews

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST