READING

ลูกชอบให้อุ้ม : อนุบาลแล้วนะ! จะอุ้มต่อหรือพอแค่นี...

ลูกชอบให้อุ้ม : อนุบาลแล้วนะ! จะอุ้มต่อหรือพอแค่นี้?

ลูกชอบให้อุ้ม

ลูกชอบให้อุ้ม เพราะช่วงปีแรกของชีวิตลูก การอุ้มคือสะพานที่เชื่อมต่อความรักความอบอุ่นระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ลูกจะชอบการถูกอุ้มมากเป็นพิเศษ

 

แต่เมื่อลูกโตขึ้น เดินและวิ่งด้วยตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกก็ยังชอบร้องขอให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มอยู่ดี จนคุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ลูกโตเกินกว่าที่จะอุ้มหรือยัง และถ้ายังยอมอุ้มอยู่ จะถือว่าตามใจลูกมากไปหรือเปล่า และการอุ้มลูกไปจนถึงวัยอนุบาล นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะหนักแล้ว หาก ลูกชอบให้อุ้ม มีผลเสียต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกหรือไม่ เรามีคำตอบค่ะ

1. เริ่มลดการอุ้มในวัยหัดเดิน

holdbaby_web_1

ช่วงเวลาปฏิบัติการเลิกอุ้ม สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงที่ลูกเริ่มหัดเดิน คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากค่อยๆ ลดการอุ้ม กระตุ้นให้ลูกเดินด้วยตัวเอง เพื่อส่งเสริมให้ลูกพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้โลกใบใหญ่ด้วยสองขาของตัวเอง

ทางด้าน Emily Taylor ผู้อำนวยการ calmfamily.org ได้ให้ความเห็นในฐานะคุณแม่ว่า เมื่อลูกถึงวัยที่สามารถเดินเองได้อย่างมั่นคงจนวิ่งได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว แต่บางครั้ง การเดินนานๆ หรือการพยายามก้าวเท้าตามให้ทันคุณพ่อคุณแม่ ก็ยังเป็นภารกิจที่เมื่อยล้าและเหนื่อยเกินไปสำหรับเด็กวัยอนุบาล ดังนั้น การอุ้มลูกอาจจะง่ายกว่าการพยายามบังคับให้ลูกเดินต่อไป เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความกดดันให้กับลูกแล้ว ยังทำให้ลูกงอแงมากขึ้น

อีกทั้งการเลี้ยงลูกในปัจจุบัน คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญหลายคน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีคำว่า #อุ้มติดมือ มีแต่คำว่า #อุ้มกันต่อไป ดังที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยกล่าวไว้ว่าให้คุณพ่อคุณแม่ อุ้ม กอด และให้นมลูกให้นานที่สุด ไม่ต้องกลัวคำว่าติดแม่หรือกลัวว่าจะเป็นการตามใจลูกมากเกินไปโดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของลูก การอุ้ม กอด และให้นมคือต้นทุนที่มีแต่ผลลัพธ์ที่ดีที่จะติดตัวลูกไปจนโต

2. อุ้มเท่าที่จำเป็นและเอาที่พ่อแม่ไหว

holdbaby_web_2

#เดินบ้างอุ้มบ้าง สำหรับลูกวัยอนุบาล ไม่ได้ตัวเล็กอุ้มไปไหนมาไหนได้ง่ายเหมือนตอนเป็นทารก การอุ้มอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับบาดเจ็บ บริเวณสะโพก หลัง แขน และหัวไหล่ได้

และอาการบาดเจ็บหลังจากอุ้มลูกนี่แหละคือ หนึ่งในสัญญาณที่บอกคุณพ่อคุณแม่ว่า ถึงเวลาเลิกอุ้มลูกได้แล้ว

ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและคับขัน เช่น ลูกตกใจกลัว ลูกรู้สึกไม่สบายหรือเหนื่อยล้าเกินไป รวมทั้งทำข้อตกลงระหว่างกันว่าเมื่อไหร่ที่คุณพ่อคุณแม่จะอุ้มได้ เช่น อุ้มเฉพาะตอนที่ลูกง่วงนอนกลางวันระหว่างการเดินทาง ขี่หลังได้เฉพาะตอนที่อยู่ในที่คนไม่พลุกพล่าน หรือ อุ้มในระยะทางสั้นๆ จากประตูบ้านไปขึ้นรถ

3. แม้วัยอนุบาล ก็อุ้มเพื่อสร้างสัมพันธ์กันได้

holdbaby_web_3

#ความรู้สึกที่ดีจากการอุ้ม LaDonna Dennis ผู้ก่อตั้งและผู้สร้าง Mom Blog Society แนะนำว่า การอุ้มลูกวัยอนุบาลในช่วงเวลาที่เจอหน้ากันหลังเลิกเรียนเป็นวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้สานต่อความสัมพันธ์กับลูกได้เป็นอย่างดีอีกครั้งหลังจากต้องอยู่ห่างกันหลายชั่วโมง

การอุ้มลูกขึ้นไว้ในอ้อมแขน และให้สายตาของทั้งคู่อยู่ในระดับเดียวกัน จะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ใกล้ชิด และพูดคุยกันได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น

4. อุ้มต่อตราบเท่าที่ลูกจะยอมให้อุ้ม

holdbaby_web_4

#การอุ้มคือความทรงจำที่ดี Becky Mansfield คุณแม่ลูกสี่ นักบำบัดพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้ง YourModernFamily.com แนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรจะอุ้มลูกต่อไป ตราบใดที่ลูกยังยอมให้อุ้มอยู่ เพราะวันหนึ่งลูกจะโตเกินกว่าที่จะยอมให้อุ้มอีกต่อไป

เบ็กกี้กล่าวต่อว่า คำว่าลูกโตแล้ว จะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยทำร่วมกันหายไป ลูกจะค่อยๆ พึ่งพาคุณพ่อคุณแม่น้อยลง ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ดังนั้นลูกที่อยู่ในวัยอนุบาล คือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะเก็บเกี่ยวทุกอย่างของลูกไว้ และหนึ่งในนั้นก็คือการอุ้ม จนกว่าจะถึงวันที่ลูกเป็นฝ่ายปฏิเสธด้วยตัวเอง

อ้างอิง
calmfamily
momblogsociety
yourmodernfamily
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST